“อธิการบดี มจร” เปิดสัมมนาพระไตรปิฎกศึกษา หวังเป็นฐานพัฒนาชุมชนสังคมยุคปัญญาประดิษฐ์

เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๕ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร เปิดเผยว่า เป็นผู้ดำเนินรายการงานสัมมนาทางวิชาการระดับสถาบันผ่านออนไลน์ จัดโดย สถาบันพระไตรปิฎกศึกษา ร่วมกับ ๑๐ สถาบันการศึกษา โดยมี พระศรีศาสนบัณฑิต, ผศ. ผู้อำนวยการสถาบันพระไตรปิฎกศึกษา มจร กล่าวรายงานในงานสัมมนาทางวิชาการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้จากพระไตรปิฎกสู่สาธารณชน พร้อมนำองค์ความรู้จากพระไตรปิฎกไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน สังคมประเทศ สิ่งสำคัญยิ่งเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญด้านพระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาในวาระวันสถาปนาครบ ๑๓๕ ปี มจร

พระธรรมวัชรบัณฑิต, ศาสตราจารย์ ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษภายใต้หัวข้อ“พระไตรปิฎก: เรียนรู้ เข้าใจ นำไปใช้ในโลกยุค NEXT NORMAL” ประเด็นสำคัญว่า จะศึกษาพระไตรปิฎกจะต้องสร้างความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพราะมองว่าเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ในทางพระพุทธศาสนา จึงต้องศึกษาอย่างเคารพ แต่สิ่งที่น่าห่วงมากคือจบการศึกษาระดับปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต มจร ยังไม่เข้าใจในพระไตรปิฎก ถือว่าเป็นโจทย์ของสถาบันพระไตรปิฎกศึกษาจะต้องสร้างความตระหนักให้กับนิสิต มจร เข้าใจในพระไตรปิฎก โดยมุ่งศึกษาเฉพาะเรื่องที่เราสนใจแลพเกี่ยวกับข้องกับชีวิต

การศึกษาพระไตรปิฎกจะต้องเรียนรู้ เข้าใจ นำไปใช้ในโลกยุค NEXT NORMAL โดยมุ่งศึกษาด้านการเข้าใจชีวิตให้ลึกซึ้งว่าชีวิตเป็นไปอย่างไร ซึ่งการอธิบายพระไตรปิฎกให้สามารถเทียบเคียงกับวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายได้อย่างลึกซึ้ง แต่การศึกษาพระไตรปิฎกซึ่งเป็นปริยัติธรรมจะต้องศึกษาวิปัสสนาควบคู่ไปด้วยเพื่อพัฒนาให้มีความนิ่ง ความสงบ โดยปัญญาเป็นฐานสำคัญจะต้องศึกษาวิปัสสนากรรมฐานเป็นฐานในการศึกษาพระไตรปิฎก โดยวิปัสสนากรรมเป็นปัญญาเห็นแจ้งยิ่งใหญ่กว่าปัญญาประดิษฐ์ AI เพราะเรามุ่งคุณค่าแท้มากกว่าคุณค่าเทียม จึงต้องศึกษากฎของไตรลักษณ์เพื่อการเข้าใจชีวิตอย่างแท้จริง โดยหัวใจสำคัญในการศึกษาพระไตรปิฎกจะต้องศึกษาหลักธรรม “ขันธ์ ๕ ไตรลักษณ์ ปฏิจจสมุปบาท กรรม” ซึ่งมีการเข้ายุคเสื่อมยุคเจริญมีการสลับกันไปมาถือว่าเป็นธรรมชาติของโลกซึ่งในกฎของกฎไตรลักษณ์ ซึ่งในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานมุ่งเข้าใจกฎของไตรลักษณ์ เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของชีวิตและโลก จะเข้าใจความจริงในชีวิต

ในยุคของ Fake News จะนำคำสอนในพระไตรปิฎกมาบูรณาการอย่างไร โดยยกหลักกาลามสูตรในยุคของการรับข้อมูลข่าวสารปลอม โดยไม่เพียงแค่รู้หลักในพระไตรปิฎกเท่านั้นแต่จะต้องฝึกปฏิบัติด้วยให้ตนเองมีสติและโยนิโสมนสิการในการรับข้อมูลข่าวสารในยุคที่มีข้อมูลข่าวสารเท็จจำนวนมาก จึงสอดรับการสื่อสารในยุคปัจจุบันจะต้องสร้างความตระหนัก ซึ่งการศึกษาพระไตรปิฎกเป็นสิ่งสำคัญแต่วิธีการของการศึกษาพระไตรปิฎกมีความสำคัญยิ่ง จะมีวิธีการศึกษาพระไตรปิฎกอย่างไรให้สามารถเข้าถึงพระไตรปิฎก พร้อมสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน

ภาคบ่ายจะมีการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “พระไตรปิฎกมรดกชาวพุทธ : เรียนรู้ เข้าใจ นำไปใช้ในชีวิตจริง” ดำเนินรายการสัมมนาทางวิชาการโดย พระปราโมทย์ วาทโกวิโท ดร. อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา มจร และเลขาศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร โดยกล่าวแนะนำวิทยากร ประกอบด้วย ๑)พระราชวัชรบัณฑิต (พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร) เจ้าอาวาสวัดจากแดง และผู้อำนวยการสถาบันโพธิยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านพระไตรปิฎก ๒)ศ.(พิเศษ) ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ราชบัณฑิต ผู้เชี่ยวชาญด้านพระไตรปิฎก ๓)แม่ชีวิมุตติยา (รศ.ดร.สภาพรรณ ณ บางช้าง) ประธานหอพระไตรปิฎกนานาชาติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านพระไตรปิฎก พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นโดยนักวิชาการ ๑๐ สถาบันการศึกษา

Leave a Reply