“พ่อเมืองกรุงเก่า” นำถุงยังชีพประทานจากสมเด็จพระสังฆราช มอบแก่ประชาชนผู้ประสบอุทกภัย

“พ่อเมืองกรุงเก่า” ลงพื้นที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ประชาชน “มอบรถวีลแชร์ประชาชนผู้พิการ” เสริมสร้างขวัญกำลังใจ สร้างความสุขให้กับประชาชนในช่วงสถานการณ์น้ำท่วม

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โปรดให้ตนพร้อมด้วยนางวัชราภรณ์ รุ่งสาคร ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เชิญถุงยังชีพประทานและอาหารปรุงสุก ลงพื้นที่มอบให้แก่ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในเขตพื้นที่ตำบลปลายกลัด อำเภอบางซ้าย โดยในขณะที่ได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนนั้น ได้พบกับคุณยายจรินทร์ ชูศรี และนายปรเมธ (น้องเต้) ซึ่งเป็นผู้พิการทางขาไม่สามารถเดินได้ ซึ่งจากการพูดคุยสอบถามได้รับทราบว่า รถวีลแชร์เดิมของน้องเต้ชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ ประกอบกับได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่จึงไม่สะดวกในการเดินทางและการใช้ชีวิต

“ทันทีที่ผมและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้พบและทราบเรื่องดังกล่าว จึงได้นำเงินส่วนตัวมอบหมายให้เลขานุการผู้ว่าราชการจังหวัดจัดซื้อรถวีลแชร์โดยทันที และสั่งการให้นายปกรณ์เกียรติ กาฬษร นายอำเภอบางซ้าย พร้อมด้วย นายวีระ เกิดปราชญ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 ตำบลปลายกลัด และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้แทนนำรถวีลแชร์ จำนวน 1 คัน มอบให้กับนายปรเมธ (น้องเต้) เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งได้ส่งมอบรถวีลแชร์เรียบร้อยแล้วเมื่อวันนี้ เพื่อเป็นการสนองพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทำให้พี่น้องประชาชนได้ใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขโดยเร็ว และเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย ในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในช่วงประสบภัย และถือเป็นหน้าที่ของพวกเราชาวมหาดไทยที่ต้องอุทิศ ทุ่มเท กำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนทุกข์น้อยลงจนหมดไป สุขมากขึ้นอย่างยั่งยืน และหลังจากน้ำลด จะได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ติดตามชีวิตความเป็นอยู่ พร้อมทั้งใช้กลไกการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยืนโดย ศจพ.อำเภอบางซ้าย ติดตามให้คำแนะนำความช่วยเหลือตามแนวทางต่อไป” ผวจ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวเน้นย้ำ
ด้านนางจรินทร์ ชูศรี ผู้เป็นยายของน้องเต้ กล่าวด้วยความรู้สึกที่ตื้นตันใจว่า ตนและหลานรู้สึกซาบซึ้งและปลื้มปิติที่พ่อเมืองแม่เมืองไม่ทอดทิ้งตนและครอบครัว และไม่คิดว่าผู้หลักผู้ใหญ่คือท่านผู้ว่าฯ และคุณนาย จะลงพื้นที่มาเยี่ยมเยียนพวกเราถึงบ้านถึงเรือน และยิ่งไปกว่านั้น พอท่านเห็นความเดือดร้อน ความทุกข์ยาก ท่านสั่งให้เลขาของท่านซื้อรถวีลแชร์ให้หลานโดยทันที เป็นความตื้นตันที่พูดออกมาแค่ไหนก็ไม่สามารถบอกถึงความประทับใจของตนได้ทั้งหมด ได้แต่อยากบอกว่า ขอบคุณท่านผู้ว่าฯ นิวัฒน์ รุ่งสาคร และคุณนายวัชราภรณ์ รุ่งสาคร ที่ไม่ทอดทิ้งประชาชน และให้การอนุเคราะห์ตนและหลานในครั้งนี้

ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบัน มีประชาชนได้รับผลกระทบน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือน รวม 7 อำเภอ 33 ตำบล 207 หมู่บ้าน 23,624 ครัวเรือน และพื้นที่การเกษตรกว่า 22,283.67 ไร่ รวมทั้งบ่อปลา กระชัง โค กระบือ ศาสนสถาน รวม 161 แห่ง ได้แก่ วัด 145 แห่ง โบสถ์ 1 แห่ง มัสยิด 15 แห่ง โรงเรียน 36 แห่ง สถานที่ราชการ (รพ.สต.) 15 แห่ง ถนน 9 สาย โดยถนนสามารถสัญจรไป-มาได้ปกติ โบราณสถาน นอกเกาะเมือง 83 แห่ง ไม่กระทบกับโครงสร้าง ส่วนโบราณสถานสำคัญภายในเกาะเมืองอยุธยา ได้ป้องกันขั้นสูงสุด ยังสามารถมาท่องเที่ยวได้ตามปกติ

“ในด้านภาพรวมการช่วยเหลือ ได้แจกจ่ายถุงยังชีพพระราชทาน และถุงยังชีพที่ ภาคเอกชน สมาคม มูลนิธิ แจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัย รวมแล้วประมาณ 207,834 ชุด พร้อมทั้งดูแลรักษาสุขภาพผู้ประสบภัย ผู้ป่วยติดเตียง กลุ่มเปราะบางอื่นๆ พร้อมทั้งแจกจ่ายยา ป้องกันโรคที่มากับน้ำ พร้อมจัดทีมสุขภาพจิต เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด และได้กำหนดจุดศูนย์อพยพ (พักพิงชั่วคราว) รวม 276 จุด พร้อมทั้งได้ประกอบอาหารเลี้ยง และมอบหมายให้อำเภอ ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำรวจและเสริมความแข็งแรงของแนวป้องกันน้ำ โดยได้รับการสนับสนุนกำลังทหารจากกองพันทหารม้าที่ 5 กรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ มาประจำในพื้นที่ เพื่อป้องกันอุทกภัย เพื่อรองรับระดับให้สูงขึ้น พร้อมทั้งได้ส่งมอบเครื่องจักรกลวัสดุและอุปกรณ์ต่าง ๆ ลงในพื้นที่ เช่น รถขนย้ายผู้ประสบภัย เครื่องสูบน้ำ ขนาด 14 นิ้ว เรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์ เรือพาย รถประกอบอาหาร รถผลิตน้ำดื่ม และเต็นท์นอน และจัดหาสารสกัดจุลินทรีย์ (EM) มอบให้อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และท้องที่ นำไปทิ้งหรือฉีดพ่นลงในน้ำแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียบริเวณหมู่บ้าน ชุมชน ที่น้ำท่วมขัง และเมื่อน้ำลดลงแล้ว หากพื้นที่ที่น้ำไม่สามารถระบายออกได้เอง จะได้จัดหาเครื่องสูบน้ำท่วมขังหรือเครื่องสูบน้ำระยะไกล มาสูบออกจากพื้นที่ต่อไป” ผวจ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวในช่วงท้าย

Leave a Reply