มติ มส. แก้ปัญหาไร้สัญชาติ “พระภิกษุ-สามเณร”

มติมหาเถรสมา่มคม เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา รับทราบและสั่งการให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ร่วมมือกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในการสำรวจข้อมูลพระภิกษุ -สามเณร เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาสิทธิขั้นพื้นฐานสถานะบุคคลพระภิกษุ -สามเณรที่มีสัญชาติไทย ที่ไม่มีสัญชาติไทย และที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่บวชอยู่ในประเทศไทย รวมทั้งให้เจ้าคณะจังหวัดทั้งสองนิกายรับทราบมติดังกล่าว เพื่อให้ความร่วมมือกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

“ผู้เขียน” อ่านแล้วมติดังกล่าวแล้ว สรุปใจความสำคัญก็คือ หน่วยงานต้นเรื่องการแก้ปัญหาสถานะบุคคลนี้มาจาก กรรมการสิทธิ มิใช่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือ มหาเถรสมาคม ที่ควรต้องเป็น “ต้นเรื่อง” เพราะ พระภิกษุ-สามเณรเหล่านี้ ความจริงเป็น..คนของท่าน หรือหากไม่ใช่คนของท่านก็เป็น บุคลากร ศาสนทายาทในพระพุทธศาสนา เป็น “ลูกพุทธเจ้า” ด้วยกัน

แต่เอาเถอะ..มส.รับทราบแค่นี้ก็ถือว่าเป็น..บุญของพระภิกษุ -สามเณรที่ไร้สัญชาติ เหล่านี้แล้ว

“ผู้เขียน”  จับเรื่องสามเณรที่ไร้สัญชาติมาตั้งแต่ปี 2546 ต่อมาในปี 2548 ยุคที่ “ปลัดเก่ง” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ เป็น หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี เราสองคนเคยช่วยเหลือสามเณรและคนไร้สัญชาติ หลายครั้ง แม้ตอนที่ “ปลัดเก่ง” ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ก็เคยให้ท่านช่วยติดตาม การอนุมัติขอสัญชาติ ให้แก่สามเณรที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งผู้เขียนบวชและส่งเรียนไว้  แต่ท่านเหล่านี้ยังไม่มีสถานะทางทะเบียนบ้านหรือไม่มีสัญชาติที่ยื่นเรื่องไปแล้ว..การอนุมัติเป็นไปได้ด้วยล่าช้า

วันก่อนมีข่าวสัมมนาปัญหาสามเณรไร้สัญชาติ ที่จังหวัดเชียงใหม่ก็ส่งให้กับ “ปลัดเก่ง” และ “คุณอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์” อธิบดีกรมการปกครอง ขอความกรุณาช่วยอนุเคราะห์แก้ปัญหาให้ด้วย..

ความจริงเรื่องนี้ “มหาเถรสมาคม” ต้องทำเป็น “วาระแห่งชาติ” ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด โดยให้กรรมการมหาเถรสมาคมอย่างน้อย “พระพรหมเสนาบดี” กรรมการมหาเถรสมาคม 1 รูปต้องอยู่ในกรรมการชุดนี้ ในฐานะเจ้าคณะภาค 7 ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่มีพระภิกษุ-สามเณรไร้สัญชาติมากที่สุด และให้เจ้าคณะภาคในเขตนั้นหรือเขตที่มีปัญหาเข้ามาร่วม แล้วดึง กรรมการสิทธิ กรมปกครอง สมช. กระทรวงศึกษา ทหาร ตำรวจ เป็นต้น เข้ามาร่วมเป็นคณะทำงานแก้ปัญหาเรื่องนี้

มิใช่แค่ “รับทราบ” หรือแค่ “สั่งการ” ให้เจ้าคณะจังหวัดร่วมมือกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จบแค่นี้…แบบนี้ภาษาวัยรุ่นเขาเรียกว่า “ไม่สุด”

ปัญหา “พระภิกษุ-สามเณร” ไร้สัญชาติ นอกจากตัด “โอกาส” ของพระภิกษุ -สามเณรแล้ว กระทบต่อความมั่นคงของชาติในหลากหลายมิติด้วย รวมทั้งเป็นช่องทาง “หากิน” ของพวกมิจฉาชีพที่อาศัย “จุดอ่อน”ตรงนี้ เรียกเก็บเงิน อันนี้รวมทั้ง “เจ้าหน้าที่รัฐ” บางคนด้วยเช่นกัน

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างมาก หากเป็นโรงเรียน ต.ช.ด. หรือโรงเรียนการกุศลในพระพุทธศาสนาที่อยู่ตามแนวชายแดน พระองค์จะสั่งการให้ทีมสภากาชาติหรือคณะทำงานของพระองค์แก้ปัญหาเด็กเหล่านี้ และเท่าที่ทราบกระทรวงศึกษาธิการกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยก็ “จับมือ” กันทำเรื่องนี้ ด้วยกันออกบัตรชนิดพิเศษให้เรียกว่า “นักเรียนรหัส G”  หมายถึง นักเรียนที่ยังไม่มีบัตรประชาชนคนไทย แต่ระหัสนี้ใช้ได้เฉพาะการศึกษาเท่านั้น

“ผู้เขียน” ขอชื่นชมกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ตั้งต้นเรื่องนี้ และรวมทั้ง “มหาเถรสมาคม” ด้วย ที่รับทราบเรื่องนี้ แต่หากให้ดี อย่างที่บอกไว้ คือ  มหาเถรสมาคม ต้องทำเป็น “วาระแห่งชาติ” ดึงทุกภาคส่วนมาแก้ปัญหา พระภิกษุ -สามเณร ไร้สัญชาติ เหล่านี้ บางรูปเกิดในประเทศไทย แต่การขอสัญชาติเป็นไปด้วยความล่าช้า  บางรูปเกิดในประเทศไทย ขาดเอกสาร ขาดคนรับรอง แบบนี้ภาครัฐต้องเร่งแก้ มิใช่ให้พระภิกษุ -สามเณรเหล่านี้ตกเป็น “เหยื่อ” ของพวกมิจฉาชีพ ต้องเสียเงินค่าดำเนินการหลักหมื่นหรือหลักแสน..แล้วไม่รู้ด้วยว่าจะได้หรือไม่ ได้เมื่อไร ส่วนบางรูปที่เกิดประเทศเพื่อนบ้าน แต่เป็นพระภิกษุ -สามเณร ตรงนี้อาจใช้โมเดลที่กระทรวงศึกษาธิการจับมือกับกรมการปกครองทำอยู่ตอนนี้ และหากท่านเหล่านี้จบปริญญาตรี ก็สามารถขอสัญชาติได้เลยหรือไม่

อันนี้คณะสงฆ์และภาครัฐ..ก็ต้องช่วยกันคิด ช่วนกันหาทางออก!!

Leave a Reply