“เจ้าคุณหรรษา” พระนักวิชาการชื่อดัง ถามพรรคเพื่อไทย มีแนวทางป้องกันมิให้พระถูกจับสึกจนกว่าคดีถึงที่สุดได้อย่างไร พร้อมแนะให้แก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์มาตรา 29

วันที่ 8 พ.ย. 66 วันนี้เป็นวันครบรอบ 120 ปี ชาตกาล สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช,อดีตอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหารและอดีตนายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พระมหาเถระผู้ใหญ่ที่ถูกการเมืองเล่นทั้งการเมืองที่เกิดขึ้นจากสถาบันสงฆ์และการเมืองจากนักการเมือง เนื่องจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ยุคนั้น ท่านถือว่าเป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่มีหัวก้าวหน้ามากที่สุดในสถาบันสงฆ์จึงเป็นที่จับตาและเล่นงานท่านจนท่านต้องถูกจับติดคุกหลายปีตอนหลังยกฟ้องเป็นที่สุด กลับคืนสู่สมณเพศ โดยไม่ต้องบวชใหม่ เนื่องจากตอนติดคุกท่านมิได้เปล่งวาจาสึกเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว

วันนี้ พระเมธีวัชรบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณหรรษา” ผอ.วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (IBSC) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความในเพจส่วนตัวว่า

120 ปี ชาตกาล เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ฝากพรรคเพื่อไทยแก้ไข พรบ.คณะสงฆ์ มาตรา 29 เปิดทางให้กำหนดสถานที่ควบคุมจนกว่าคดีถึงที่สุด ดังมีรายละเอียดว่า

เห็นภาพข่าวนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เตือนว่าขออย่าแชร์ภาพพระ AI เที่ยวคาราโอเกะ https://thebuddh.com/?p=75168 ก็พลันอนุโมทนาสาธุ ที่ รมต.พรรคเพื่อไทย รวมถึงทีมงานที่ปรึกษาได้พากันเอาใจใส่และเป็นธุระในการทำหน้าที่ปกป้อง และคุ้มครองพระพุทธศาสนา

อย่างไรก็ดี สิ่งที่อยากจะฝากท่านรัฐมนตรี และทีมงานของท่านที่สังกัดพรรคเพื่อไทย ในฐานะที่เป็นรัฐบาลก็คือ อยากให้หันมาสนใจทำงาน #ในเชิงโครงสร้าง อันจะเป็นการเข้ามาช่วยรักษาพระศาสนาในระยะยาวจะเป็นรักษาพระศาสนาที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

นโยบายแห่งรัฐของรัฐบาลๆด้กล่าวถึงกฏหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 67 โดยได้ย้ำเตือนว่ารัฐจะเข้าไปสร้างระบบและกลไกส่งเสริมคุณธรรม รวมถึงการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา และการมีมาตรการและกลไกในการป้องกันด้วย

จากมาตรานี้ จึงเห็นสมควรให้มีแก้ไข พรบ. คณะสงฆ์ มาตรา 29 พระภิกษุรูปใดถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา ถ้าพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยตัวชั่วคราว และเจ้าอาวาสวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัดไม่รับมอบตัวไว้ควบคุม หรือพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม หรือพระภิกษุรูปนั้นมิได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่ง พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้

มาตรานี้ ถูกตราขึ้นในยุคจอมพลสฤทธิ์ ธนรัชต์ ในปี 2505 ซึ่งเป็นปีที่หลวงพ่ออาจถูกกล่าวหาว่า เป็นคอมมิวนิสต์ และเป็นเหตุแห่งการจับกุม คุมขัง และเป็นเหตุแห่งการบังคับให้หลวงพ่อลาสิกขา และจำพรรษาอยู่ในสันติปาลาราม จนในที่สุด ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องในปี 2509 โดยในคำพิพากษาตอนท้าย ศาลยังได้ย้ำกับหลวงพ่อว่า ให้นับว่าเป็นกรรมของท่านเอง

กรรมที่หลวงพ่อได้รับในวันนั้น นับเป็นทั้งอดีตกรรม และปัจจุบันกรรมที่ท่านต้องกลายเป็นนักโทษคุมขังระหว่างปี 2505-2509 ยังไม่รวมถึงข้อหาอื่นตั้งแต่ปี 2503 จนกาลผ่านมา 120 ปีแห่งชาตกาลของหลวงพ่อ ประวัติศาสตร์ดังกล่าวก็ตามมาหลอกหลอนพระผู้ใหญ่หลายท่านดังที่เกิดขึ้นในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา

ประเด็นคือ พรรคเพื่อไทยในขณะที่เป็นฝ่ายค้าน ก็ออกมาอภิปรายประเด็นนี้อยู่หลายรอบ ถึงประเด็นความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับสิ่งที่พระผู้ใหญ่ต้องมาเผชิญกับชะตากรรมดังที่ปรากฏ แต่ถึงวันนี้ ยังไม่ได้ยินว่า พรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะ รมต. ที่กำกับ และทีมที่ปรึกษาจะมีแนวทางต่อประเด็นนี้อย่างไร

ในส่วนของหลักสูตรสันติศึกษา มจร ได้กระตุ้นให้นิสิตท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้อำนวยการในกระทรวงยุติธรรมที่มีฐานะเทียบเท่าอธิบดี ได้ศึกษาวิจัยในประเด็นนี้

คำตอบที่ได้คือ การจะแก้ประเด็นนี้ในระยะยาวได้ จะต้องแก้ไขมาตรา 29 ดังที่ได้กล่าวในข้างต้น เพื่อเปิดทางให้กระทรวงยุติธรรม อาจจะโดยกรมราชทัณฑ์ เสนอให้มีการออกกฏกระทรวงให้สามารถกำหนดสถานที่ควบคุมพระสงฆ์เพิ่มเติม ซึ่งมิใช่ทัณฑสถาน อันจะทำให้ท่านสามารถประกอบศาสนกิจได้ จนกว่าคดีจะถึงที่สุด โดยไม่ต้องบังคับให้สละสมณเพศ หรือลาสิกขา ดังที่ปรากฏในมาตรา 29

ในโอกาส 120 ปี ชาตกาลของหลวงพ่ออาจ อาสภมหาเถระ จึงอยากจะฝากประเด็นนี้ ไปถึงพรรคเพื่อไทย ที่กำกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้หันมาพิจารณา และยกระดับสู่การแสวงหาแนวทางในการพูดคุย ปรึกษาหารือกระทรวงยุติธรรม มหาเถรสมาคม และภาคประชาสังคม รวมถึงคณะนิติศาสตร์ มจร เพื่อจะได้กำหนดแนวทางร่วมกัน เพื่อมิให้ประวัติศาสตร์หวนกลับมาหลอกหลอนพระผู้ใหญ่ หรือพระสงฆ์ในสังคมไทย

ประวัติศาสตร์จักได้จารึกไว้ให้โลกได้จดจำว่ารัฐบาลเพือไทย รวมถึงนักการเมืองที่เป็นชาวพุทธได้ตระหนักรู้ในประเด็นนี้ จึงได้ช่วยกันคุ้มครอง และออกแบบกลไกที่เหมาะสมต่อการรักษาพระศาสนาให้รุ่งเรืองต่อไป

หมายเหตุ..พ.ร.บ.คณะสงฆ์มาตรา 29 พระภิกษุรูปใดถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว และเจ้าอาวาสแห่งวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัดไม่รับมอบตัวไว้ควบคุม หรือพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุมหรือพระภิกษุรูปนั้นมิได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้

Leave a Reply