“มูลนิธิรามัญรักษ์” เป็นมาอย่างไร และ ทำอะไรบ้าง

 “ผู้เขียน” นอกจากเป็นเลขานุการมูลนิธิพระศรีสุทธิเวที เป็นกรรมการสมาคมไทย-รามัญแล้ว อีกตำแหน่งหนึ่งซึ่งทำมานานแล้วคือเลขานุการ “มูลนิธิรามัญรักษ์” ตำแหน่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้คือ จิตอาสา ล้วน ๆ บางตำแหน่งไม่ได้ทำอะไรเลยโดยเฉพาะมูลนิธิพระศรีสุทธิเวที ของ “เจ้าคุณขวัญ” วัดอรุณราชวราราม ท่านหาเงิน มอบทุนให้พระภิกษุ -สามเณรและดูแลโรงเรียนการกุศลวัดไตรรัตนาราม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ท่านก็ดูแลและทำงานของท่านไป วันก่อนท่านแจ้งว่าวันที่ 28 พฤษภาคม ปีนี้จะทอดผ้าป่าการกุศลเนื่องในโอกาสตั้งโรงเรียนครบ 10 ปี ขออนุญาตบอกบุญล่วงหน้าสำหรับท่านที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาหรือท่านที่อยากช่วยเหลือการศึกษาเด็กที่ยากจน

“มูลนิธิรามัญรักษ์” มูลนิธิแห่งนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อคนมอญโดยแท้ที่ขับเคลื่อนเรื่องคณะสงฆ์  ศิลปะวัฒนธรรม การศึกษา รวมทั้งเชื่อมโยงมอญ 2 แผ่นดินคือระหว่างมอญในประเทศไทยและมอญในประเทศพม่า

“ผู้เขียน” ริเริ่มทำงานเรื่องมอญมาตั้งแต่ยังดำรงความเป็น “สมณเพศ” คือเมื่อปี 2545 ในนาม “ชมรมส่งเสริมการศึกษาพระสงฆ์มอญ” ชื่อบอกอยู่แล้วว่าคือ ส่งเสริมการศึกษา เหตุนั้นเริ่มแรกก็คือหา พระภิกษุ -สามเณรมาเรียนบาลี เรียนพระปริยัติสามัญ แล้วฝากไว้ตามวัดต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด

สมัยก่อนจะหาวัดก็ยาก และยิ่งยากกว่าคือ สามเณรมอญบางคนยังไม่ได้สัญชาติ บรรดาเจ้าอาวาส เจ้าคณะ หรือกัลยาณมิตรทั้งหลาย..ไม่อยากเสี่ยงด้วย เพราะให้ที่พักพิงกับคนต่างด้าวโทษและค่าปรับสูง

นอกจากคน..สนิทและไว้ใจเราจริง ๆ จึงรับฝากให้อยู่ด้วย..ปัจจุบันสามเณรเหล่านี้ได้รับสัญชาติหมดแล้ว และภารกิจนี้ทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่ต่อเนื่อง

“มหาจุฬาฯ” ยุคก่อน มจร ไม่ได้เฟื่องฟูหรือมีชื่อเสียงขนาดนี้ “โยมอุปัฎฐาก – พระมอญ” ไม่นิยมส่งมาเรียนที่ประเทศไทย นิยมส่งไปเรียนที่ประเทศอินเดียหรือศรีลังกา

“ผู้เขียน” และพระมอญที่ร่วมกันตั้งชมรมเป็นกลุ่มแรกที่ชวน “พระมอญ” จากประเทศพม่ามาเรียนมหาวิทยาลัยสงฆ์ในประเทศไทยแบบเป็นองค์กรและเป็นทางการโดยมีหนังสือเชิญชวน พร้อมกับมอบทุนการศึกษาให้มาเรียนทั้ง มจร และ มมร.

ทุกวันนี้มีพระมอญและฆราวาสมาเรียนที่ มจร หลายสิบรูป รวมทั้ง มมร

“ผู้เขียน” ทอดผ้าป่าพร้อมกับพระมอญตั้ง “ศูนย์พัฒนาภูมิปัญญาไทยมอญ” ณ สมาคมไทยรามัญ เพื่อสอนหนังสือให้กับแรงงานมอญ พร้อมทั้งฝึกอาชีพ รวมทั้งประสานกับ กศน. กทม. มาร่วมเซ็น MOU กับสมาคมไทยรามัญ เพื่อต่อยอดการศึกษาให้กับแรงงาน

ทุกวันนี้ “ศูนย์พัฒนาภูมิปัญญาไทยมอญ” ก็ยังดำเนินการอยู่ ณ วัดสุธรรมวดี เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร

“มูลนิธิรามัญรักษ์” ตั้งในปี 2557 โดยใช้เงินกองทุน “ชมรมส่งเสริมการศึกษาพระสงฆ์มอญ” นั่นแหละเป็นทุนเริ่มต้น และมี พระปัญญาวุฒิ วุฑฒิโก วัดอัมพวัน บางขันหมาก ลพบุรีเป็นประธาน ตั้งแต่นั้นมา มูลนิธิขับเคลื่อนหลายเรื่องทั้งแจกมอบทุนการศึกษาให้เด็กและคนยากไร้ตามชายแดนครั้งหนึ่งไม่ต่ำกว่า 6 แสนบาท การจัดงาน “สงกราต์รามัญสราญรมณ์” จัดได้ประมาณ 3 ครั้งยกเลิกเพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก  จัดบวชสามเณร มอบทุนการศึกษา ลงพื้นที่ชุมชนมอญเขียนธรรมนูญผีมอญ สานสัมพันธ์ทำงานร่วมกับคณะสงฆ์และคฤหัสถ์มอญเมืองมอญทั้งเรื่อง การเซ็น MOU ระหว่างมหาวิทยาลัยสงฆ์มอญและ มจร,นำผ้าไตรจีวรไปถวายในงานสอบบาลีประจำปี 350 ไตร เชิญคณะสงฆ์มอญและประชาชนมอญมาร่วมงานวิสาขบูชาโลก ที่ประเทศไทย อันนี้ไม่นับรวมงานจิปาถะอีกหลายเรื่อง

หลังจากเจอพิษโควิด -19 กิจกรรมมูลนิธิรามัญรักษ์ ก็ “หยุดชะงัก”  เมื่อเร็ว ๆ นี้ ประชุมคณะกรรมการซึ่งมีมติว่า ปีนี้จะเดินหน้า 4-5 เรื่อง เช่น จัดงานสวดพระปริตรมอญให้กับพระบรมวงศานุวงค์,สานสัมพันธ์มอญสองแผ่นดิน,ลงพื้นที่นำร่องชุมชนมอญ 5 ชุมชน,สนับสนุนการศึกษาเด็กแรงงาน  รวมทั้งกิจกรรมปลายปีจะบริจาคของตามแนวชายแดนซึ่งจัดมาแล้ว 7 ครั้งต่อ

ส่วนเงินไปหาเอาข้างหน้า “หัวใจ” ต้องมาก่อนเหมือนจัดกิจกรรมทุกครั้ง

และรวมทั้งภายใน 1 -2 เดือนนี้จะนำ “พระแก้วมรกต” องค์ใหญ่ไปตั้งเพื่อให้ประชาชนคนมอญและคนพม่าได้กราบสักการะ ณ สมาคมมอญเมืองย่างกุ้ง ซึ่งสมาคมนี้ “ผู้เขียน”เคยไปเยี่ยมเยียนแล้วหลายครั้ง และจากการถาม นายกสมาคมมอญเมืองย่างกุ้ง ท่านบอกว่า..ยังไม่มีพระพุทธรูปไทย จึงขอรบกวนท่านว่า หาที่ตั้งให้ด้วย “มูลนิธิรามัญรักษ์” จะนำคณะไปถวายเร็ว ๆ นี้

ยังไม่มีเจ้าภาพ..หากท่านใดสนใจอยากบริจาคติดต่อมาได้ 08-6344-9902  แต่ขอเป็น “พระแก้วมรกต” ขนาดตั้งใจไว้หน้าตักประมาณ 25-30 นิ้ว เนื่องจากสมาคมมอญย่างกุ้งพื้นที่คับแคบ!!

เล่ามาทั้งหมดเพื่อให้ทุกท่านไม่ว่าจะเป็นคนไทย มอญหรือ พม่า จะได้รับรู้ว่าการขับเคลื่อนเรื่องศาสนา การศึกษา และ วัฒนธรรม มันเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่มีคนมอญกลุ่มเล็ก ๆ  กลุ่มหนึ่งทำงานแบบจิตอาสาอยู่ในนาม “มูลนิธิรามัญรักษ์”

Leave a Reply