ปลัดมหาดไทย เป็นประธานพิธีทอดผ้าป่ากำแพงแก้วอุโบสถทองคำ วัดพระศรีอารย์ หวังต่อยอดและพัฒนาสู่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดราชบุรี

วันนี้ (1 ก.ย. 67) เวลา 09.00 น. ที่อาคารอเนกประสงค์วัดพระศรีอารย์ หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เดินทางไปตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดราชบุรี และเป็นประธานพิธีทอดผ้าป่ากำแพงแก้วอุโบสถทองคำ วัดพระศรีอารย์ พร้อมมอบโล่รางวัลชนะเลิศการประกวดสุนทรพจน์ จังหวัดราชบุรี โดยได้รับเมตตาจาก พระครูวิทิตพัฒนโสภณ เจ้าอาวาสวัดพระศรีอารย์ คณะสงฆ์วัดพระศรีอารย์ ร่วมพิธีโดยมี นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสุวิทย์ เถื่อนน้อย ผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมพิธี โดย นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พร้อมด้วย นางสาววริษฐา สงวนเสริมศรี นายณัชวันก์ อัลภาชน์ เตชะเสน รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พี่น้องชุมชนโพธาราม และประชาชนในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยคณะ กราบถวายสักการะพระครูวิทิตพัฒนโสภณ เจ้าอาวาสวัดพระศรีอารย์ แล้วเยี่ยมชมและสักการะพระพุทธรูปในพระอุโบสถทองคำวัดพระศรีอารย์ จากนั้นเยี่ยมชมแปลงผักสวนครัวโครงการกิจกรรมต่อยอดและขยายผลการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กิจกรรม “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” ของวัดพระศรีอารย์ เสร็จแล้วมอบโล่เกียรติคุณให้แก่นักเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดสุนทรพจน์ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แก่ นางสาวเพชราพร สายสุนทรเสถียร ระดับมัธยมศึกษาชั้นที่ 5 โรงเรียนบรมราชินีนาถราชวิทยาลัย และ รางวัลชนะเลิศ การประกวดสุนทรพจน์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น แก่ เด็กหญิงนันทพิชญา โสภา ระดับมัธยมศึกษาชั้นที่ 2
โรงเรียนมัธยมวัดดอนตูม และรับฟังการกล่าวสุนทรพจน์ ก่อนเข้าสู่พิธีทางศาสนา

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดราชบุรีในวันนี้ ได้มีโอกาสที่ดีในการมาร่วมพิธีทอดผ้าป่ากำแพงแก้วอุโบสถทองคำ วัดพระศรีอารย์ เพื่อการบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของพี่น้องชาวอำเภอโพธาราม ซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนาน เป็นที่เคารพบูชาของพี่น้องพุทธศาสนิกชนทั้งชาวจังหวัดราชบุรี ชาวไทย และพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ซึ่งตนในฐานะพุทธศาสนิกชน ได้ร่วมทำหน้าที่ในการ ทำนุบำรุงในพระพุทธศาสนา ตามหลัก “บวร” บ้าน วัด ราชการ โดยบูรณาการการมีส่วนร่วมจาก 7 ภาคเครือข่าย ร่วมกันสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามร่วมกันทำบุญจัดสร้าง อันแสดงถึงความรักสามัคคี การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ที่ได้มาช่วยกันพัฒนาวัดและสถานที่สำคัญของชุมชนแห่งนี้ ถือเป็นสิ่งดีงามที่เราทุกคนควรสืบสานและรักษาไว้ให้กับลูกหลานเยาวชนคนในรุ่นหลัง

“การทอดผ้าป่าครั้งนี้ เป็นความตั้งใจของพระครูวิทิตพัฒนโสภณ เจ้าอาวาสวัดพระศรีอารย์ ที่ท่านมีความตั้งใจที่จะพัฒนาวัดแห่งนี้ โดยประสงค์จะสร้างกำแพงบริเวณหน้าอุโบสถทองคำ เพื่อพัฒนาและบูรณะปฏิสังขรณ์ให้มีความสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย งดงาม เป็นสถานที่ศูนย์รวมจิตใจของประชาชน รักษาให้อยู่คู่กับชุมชนและลูกหลานคนโพธาราม สามารถต่อยอดและพัฒนาสู่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดราชบุรีในอนาคต ตนจึงอาสาขออนุโมทนาบุญในการรวบรวมปัจจัยในการทอดผ้าป่า ซึ่งได้รับความกรุณาจาก อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้บริหารจังหวัดราชบุรี และพี่น้องประชาชนผู้มีจิตศรัทธา ร่วมทำบุญสนับสนุนการจัดสร้างกำแพงดังกล่าว สรุปยอดเงินในการบริจาคในครั้งนี้ รวมเป็นเงินจำนวน 709,030 บาทถ้วน ขอขอบคุณและขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านที่ได้มาร่วมกันในวันนี้” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า วัดพระศรีอารย์ เดิมชื่อ “วัดสะอาน” สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2275 ต่อมาเป็นวัดร้าง ไม่มีพระจำพรรษา มีผู้พบอุโบสถหลังเล็กกว้าง 7.75 เมตร ยาว 15 เมตร สภาพชำรุดทรุดโทรมมาก ภายในพระอุโบสถมีพระประธานเก่าแก่เป็นอิฐเผาถือปูน ด้านทิศเหนือของอุโบสถมีสระดินขนาดใหญ่ จนประมาณปี พ.ศ. 2475 เริ่มมีพระสงฆ์มาจำพรรษาเรื่อยมา วัดสะอานเปลี่ยนชื่อเป็น วัดพระศรีอารย์ เมื่อปี พ.ศ. 2500 ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐาน พระอุโบสถทองคำร้อยล้าน รูปแบบอุโบสถเป็นศิลปะอยุธยาตอนปลาย ประดับด้วยลวดลายปูนปั้น จิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระมหาชนก ทศชาติ พระเจ้าห้าพระองค์ พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระปางมารวิชัยศิลปะเมียนมา สร้างด้วยหยกขาวทั้งองค์ อัญเชิญมาจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา นอกจากนี้ ยังมีพระพุทธรูปคู่วัด คือ “พระศรีอารย์” เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่พิมพ์พระศรีอารย์ซึ่งมีลักษณะเด่น คือ มีตาลปัตรอยู่ด้านหน้าองค์พระพุทธรูป จีวรจับจีบคล้ายพระพุทธรูปสมัยคันธาระ ภายในวัดมีต้นสาละที่นำมาจากประเทศอินเดีย และมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาสำหรับเยาวชน คือ การเข้าค่ายพุทธบุตร และค่ายยุววาทะศิลป์

 

Leave a Reply