“เชื่อมจิต” คดีแรกที่รัฐเป็นเจ้าภาพ คุม ‘ฆราวาส’ สอนธรรมะ

วันที่ 1 กันยายน 2567 เรื่องราวเชื่อมจิตที่ผ่านการถกเถียงของผู้คนมาระยะหนึ่ง ขณะนี้ต้องพึ่งกระบวนการทางกฎหมายเพื่อหาทางยุติข้อขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยกับฝ่ายที่เห็นตรงข้าม ถึงตอนนี้เป็นเรื่องที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) สุราษฎร์ธานี ยื่นขอคุ้มครอง น้องไนซ์ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้ผู้ปกครองหยุดดำเนินการนำเด็กไปทำกิจกรรมต่างๆ และให้ผู้ปกครองร่วมมือกับ พม.ในการวางแผนเลี้ยงดูเด็ก

28 สิงหาคม 2567 ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องปฏิบัติตามดังต่อไปนี้

1.ห้ามผู้ร้องทั้งสองแสวงหาผลประโยชน์จากเด็กชายอายุ 9 ขวบ โดยห้ามไปทำกิจกรรมเชื่อมจิต หรือเผยแพร่คำสอนในสถานที่ต่างๆ สังคมออนไลน์ หรือทำกิจกรรมดังกล่าวภาพเสียงสื่อพิมพ์

2.ให้ผู้ถูกร้องทั้งสองนำเด็กชายอายุ 9 ขวบ เข้าพบและรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ ประจำสถาบันสุขภาพจิตภาคใต้ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายใน 15 วัน นับแต่วันนี้ โดยให้แพทย์ตรวจรักษาให้คำปรึกษา 2 ครั้ง ภายใน 6 เดือน และให้ผู้ตรวจรักษาทำรายงานต่อศาล และให้ผู้ร้องกำกับดูแลใช้อำนาจปกครองผู้ร้องคำสั่งมีผลภายใน 6 เดือน นับแต่ทราบคำสั่ง 

หลังทราบคำสั่งศาล เพจนิรมิตเทวาจุติ โพสต์ข้อความว่า ตามที่ศาลได้มีคำสั่งห้ามพ่อแม่ แสวงหาผลประโยชน์จากน้องไนซ์ โดยห้ามนำไปทำกิจกรรมเชื่อมจิต หรือเผยแพร่คำสอนในสถานที่ต่างๆ หรือสังคมออนไลน์

เพื่อปฏิบัติตามคำสั่งของศาล จึงขอประกาศว่าในการทำกิจกรรมต่างๆ ของน้องไนซ์ เพื่อการเจริญปัญญา ตามแนวทางแห่งองค์พุทธะ ขอประกาศว่าพ่อและแม่ของน้องไนซ์ ไม่รับค่าวิทยากร (ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ประกาศชัดเจนว่าไม่รับค่าวิทยากรอยู่แล้ว) และผลประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบ

ในส่วนของการที่พ่อแม่น้องไนซ์ ร่วมสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมกับลุงหมอนั้น พ่อกับแม่ของน้องไนซ์จะยังไม่ขายที่ดินส่วนที่เหลือให้สายธรรมแห่งองค์พุทธะ เพื่อตัดข้อครหา เรื่องการหาผลประโยชน์จากน้องไนซ์ ในเรื่องที่ดินสร้างสถานธรรม คำสั่งศาลนี้มีผล 6 เดือน ถัดจากนี้ถือเป็นอันสิ้นสุดคำสั่ง

หลังจากนี้ไปอีก 6 เดือน จะพบกับรูปแบบการเจริญธรรม เจริญปัญญา ตามแนวทางแห่งองค์พุทธะ เพื่อยกระดับจิตให้ขาวรอบยิ่งขึ้นต่อไป

อุทธรณ์ได้-ไม่ได้

นางนัฐพร วงศ์ทวิชาติ หรือแม่นก ได้ออกมากล่าวว่า การให้น้องมาสอนธรรมเราไม่ได้รับผลประโยชน์อะไร สามารถไปพิสูจน์ไปตรวจสอบได้ทั้ง 3 ช่องทางไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก YouTube หรือ tiktok ทางพ่อแม่ไม่มีผลประโยชน์อะไรจากน้องเลย

ในส่วนของการตรวจสุขภาพจิตเรามองศาลอาจจะมอง ว่า น้องมีความเครียดเรื่องของข่าว ทางครอบครัวจะมีการอุทธรณ์ในเรื่องการสอนธรรมของน้อง เพราะเรามีหลักฐานเพิ่มเติม ส่วนกรณีที่ศาลมองว่าทางเรามีผลประโยชน์ ตรงนี้ทางศาลอาจจะมองว่าโดยปกติคนเราการที่ลุกขึ้นมาทำอะไรแบบนี้ ถ้าไม่มีผลประโยชน์ไม่มีใครเขาทำกัน นั่นเป็นมุมมองทั่วไปที่มีการมองเป็นอย่างนั้น ซึ่งทางเรายังไม่ได้แสดงหลักฐานให้ทางศาลได้เห็นอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นจะนำหลักฐานทั้งหมดประกอบส่งยื่นในชั้นอุทธรณ์

ด้านทนายอนันต์ชัย ไชยเดช โพสต์ข้อความว่า ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณา 2553 มาตรา 174 วรรคท้าย คำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี กรณีลัทธิเชื่อมจิตให้เป็นที่สุด อุทธรณ์ไม่ได้

ดร.แทนคุณ จิตต์อิสระ ที่ปรึกษาสภาศิลปินเพื่อพระพุทธศาสนา หนึ่งในทีม Avengers ที่ติดตามเรื่องเชื่อมจิตกล่าวว่า ปกติถ้าศาลมีคำสั่งในลักษณะนี้แล้ว ถ้าพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่มีจิตสำนึกควรจะจบครับ เพราะเป็นหน้าที่ของกระทรวง พม. ที่ต้องเข้าไปดูเรื่องสวัสดิภาพอื่นๆ เช่น การศึกษา สุขภาพจิต การนำเด็กแสวงหาผลประโยชน์ และการบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งศาล เพราะศาลได้บอกว่ามีอำนาจหน้าที่อยู่แล้ว โดยการให้รายงานผลการตรวจทางการแพทย์ภายใน 15 วัน ที่ศาลสั่งและหลังจากนั้นอีกภายใน 6 เดือน เพื่อเป็นการยืนยันว่ามีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตหรือไม่อย่างไร

ถ้ามีปัญหานี้แล้วก่อนหน้านี้ได้นำเด็กที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต ไปทำกิจกรรมในลักษณะที่บิดเบือนหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา และมีผลกระทบต่อชื่อเสียงเกียรติคุณของความเป็นเด็ก สามารถจะกำหนดมาตรการในการควบคุมดูแลเพิ่มขึ้น เช่น ต้องแยกเด็กออกจากผู้ปกครองเพื่อเข้ารับการบำบัดรักษา

หรือถ้าหากยังมีพฤติกรรมที่แอบกระทำผิด เช่น นำเด็กไปสอนเชื่อมจิตโดยไม่เผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะและมีผู้นำหลักฐานไปให้ศาล หรือ พม. ศาลอาจจะกำหนดบทลงโทษ กับพ่อแม่และผู้ที่เกี่ยวข้อง

หรือถ้าหากว่ายังพบว่าผู้ปกครองมีการกระทำความผิดซ้ำ และถ้าหากมีหลักฐานอันเชื่อได้ว่า ผู้ปกครองมีอาการป่วย ศาลอาจจะมีคำสั่งให้เข้ารับการบำบัดรักษา ทั้งหมดนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวง พม. ที่อาจจะต้องบูรณาการฝ่ายวิชาชีพอีก โดยคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด อัยการคดีเด็กและเยาวชน

ปัญหาที่น่าห่วงคือหลังจาก 6 เดือนไปแล้ว ที่แม่ตีความไปเองว่า คำสั่งศาลมีอายุแค่ 6 เดือน ซึ่งในความจริงไม่ใช่ หากหลังจาก 6 เดือนแล้วยังกระทำอีก กระทรวง พม.จะส่งเรื่องให้ศาลเพื่อออกคำสั่งดำเนินคดีอย่างใดอย่างหนึ่ง

ขณะเดียวกัน เรื่องของเชื่อมจิตน่าจะเป็นกรณีแรกที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเข้ามาสร้างความกระจ่างให้สังคม เรื่องนี้ปรึกษาสภาศิลปินเพื่อพระพุทธศาสนา กล่าวว่า เท่าที่ทราบคดีนี้เป็นคดีแรกที่สำนักงานพระพุทธศาสนานำเรื่องหารือในที่ประชุมใหญ่ของมหาเถรสมาคม เพราะสำนักพุทธอ้างมาตลอดว่าไม่มีอำนาจในการจัดการกับฆราวาสที่สอนธรรมะบิดเบือนผิดเพี้ยน และทำหน้าที่เป็นเหมือนเลขาของที่ประชุม มหาเถรสมาคมต้องมีมติมหาเถรสมาคมออกมา

โดยมติมหาเถรสมาคมที่ 424/2567 มีรายละเอียดชัดเจนมากว่า คำกล่าวอ้างที่บิดเบือนคำสอน มีอะไรบ้างเช่น การกล่าวอ้างว่ามีแสงสีทองในขณะปฏิบัติสมาธิ ไม่มีอยู่จริง การเชื่อมจิตไม่มีอยู่จริง การเป็นอนาคามี แล้วกลับมาเกิดใหม่ได้ไม่มีอยู่จริง การเป็นลูกของพระพุทธเจ้า นอกจากพระราหุลแล้วก็ไม่มีอยู่จริง

ในขณะเดียวกัน มหาเถรสมาคมได้ให้อำนาจสำนักงานพระพุทธศาสนา รายงานตรวจสอบ การกระทำความผิดอื่นๆ และสามารถแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษได้ถ้ามีการสอนที่บิดเบือน แต่ปัญหาคือ กฎหมายที่ให้อำนาจสำนักพุทธในการดำเนินคดีอาญายังไม่มี จึงได้แต่แจ้งความเรื่องการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งสำนักพุทธได้แจ้งความกับ ปอท. ในประเด็นนี้แล้ว

เป็นหนึ่งขอตามต่อ

ด้านมูลนิธิเป็นหนึ่งได้โพสต์ถึงกรณีเชื่อมจิตไว้ว่า เช้าวันนี้ (28 ส.ค.) ศาลมีคำสั่งห้ามนำน้องทำกิจกรรมและให้นำไปพบแพทย์ ให้ พม.ติดตามพฤติกรรมและรายงานให้ศาลทราบ

ตลอดระยะเวลา 9 เดือนที่เราพิสูจน์ความจริงในเรื่องคดีลัทธิเชื่อมจิต โดยมีทั้งกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในด้านที่สนับสนุนและต่อต้านเรา มีผู้เกี่ยวข้องหลายคนถูกดำเนินคดีจากการเข้ามาค้นหาความจริงและหยุดการกระทำของลัทธิดังกล่าวนี้

วันนี้สิ่งที่เราทำได้บรรลุจุดประสงค์หนึ่งแล้วคือ หยุดการเผยแพร่พุทธศาสนาที่บิดเบือนไปจากพระไตรปิฎก และเราจะติดตามต่อในคดีของ ปอท. ซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงินของลัทธิเชื่อมจิต ที่อาจเข้าข่ายแสวงหาผลประโยชน์โดยใช้เด็กเป็นเจ้าลัทธิหรือไม่อย่างไร เราจะรอติดตามต่อในเรื่องนี้

“ฆราวาส” มีเจ้าภาพจัดการ

อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตุว่า เพจนิรมิตฯ ท้ายโพสต์คำชี้แจงเมื่อ 28 สิงหาคม 2567 หนึ่งในนั้นคือ “หลังจากนี้ไปอีก 6 เดือน จะพบกับรูปแบบการเจริญธรรม เจริญปัญญา ตามแนวทางแห่งองค์พุทธะ เพื่อยกระดับจิตให้ขาวรอบยิ่งขึ้นต่อไป”

แหล่งข่าวด้านพุทธศาสนามองว่า ตรงนี้ต้องดูต่อไปว่าการสอนธรรมของเพจนิรมิตเทวาจุติจะเป็นรูปแบบใด หากเป็นในรูปแบบเดิมคงทำไม่ได้ ส่วนจะเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นอย่างอื่นก็อีกเรื่องหนึ่ง ที่จริงแล้วถ้าคุณแม่ เป็นคนสอนธรรมเองก็คงไม่มีปัญหา

ที่จริงเรื่องนี้ปัญหาเกิดขึ้นจากที่มาของตัวเด็ก การอ้างถึงพระพุทธเจ้าทั้งๆ ที่ไม่มีในพระไตรปิฎกนั้นย่อมถูกตรวจสอบได้ง่าย ขึ้นอยู่กับว่าจะมีคนตรวจสอบหรือไม่ กรณีนี้มีเพราะความมหัศจรรย์จนเกินความเป็นไป จึงทำให้ถูกจับผิดได้ง่าย

หากมองในด้านการตลาด ถ้าเปลี่ยนการสอนจากเด็กมาเป็นผู้ใหญ่ แม้จะไม่มีปัญหาก็จริง แต่จุดขายจะไม่มี โอกาสที่จำนวนผู้ศรัทธาจะลดลงก็มีความเป็นไปได้มาก เว้นแต่ผู้สอนจะมีประวัติความเป็นมาที่อัศจรรย์ไม่แพ้กับผู้สอนคนเดิม ส่วนจะจริงหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

กรณีเชื่อมจิตเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักพุทธฯ กับมหาเถรสมาคม ถือเป็นกรณีแรกที่เข้ามาสร้างความกระจ่าง จากการที่มีฆราวาสอ้างความเป็นมาที่ไม่เป็นความจริงมาสอนธรรมะ นับว่าเป็นเรื่องดีที่หากต่อไปมีบุคคลที่แอบอ้างว่าเป็นผู้วิเศษเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ จะมีหน่วยงานรัฐเข้ามาเป็นเจ้าภาพในการเข้ามาดูแลเรื่องเหล่านี้

 

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์

Leave a Reply