ตามไปดู “ศูนย์เรียนรู้โคกหินแห่” แห่ง “เมืองหนองหารหลวง” ถิ่นมั่นในพุทธธรรม

 “จังหวัดสกลนคร” ในอดีตคือเมืองหนองหารหลวง แห่งอาณาจักรขอมโบราณมีประวัติศาสตร์มายาวนาน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยมีการขุดพบฟอสซิลไดโนเสาร์บริเวณแนวทิวเขาภูพาน อำเภอวาริชภูมิ ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์

ในยุคสงครามเย็น “เทือกเขาภูพาน”  คือ สมรภูมิการสู้รบระหว่างคนไทยด้วยกันเอง จนเป็นที่มาของเพลง “ภูพานปฏิวัติ” เป็นบทเพลงปฏิวัติที่ถูกแต่งขึ้นโดย “จิตร ภูมิศักดิ์” หรือแม้กระทั่งยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เทือกเขาภูพานก็เคยเป็นแหล่งสะสมอาวุธใช้สำหรับต่อต้านกองทัพทหารญี่ปุ่นอันเนื่องมาจากขบวนการเสรีไทย ในอำเภอวาริชภูมิในปัจจุบัน ยังมี ‘ถ้ำเสรีไทย’ กลายเป็นสถานที่รำลึกทางประวัติศาสตร์ในขณะที่จังหวัดสกลนครเองก็ถือว่าเป็นดินแดนแห่งธรรม มีปูชนียสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาหลายแห่ง เช่น พระธาตุเชิงชุม พระธาตุดูม และมีพระเกจิอาจารย์ดังที่เป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ อาทิ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต, พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, และหลวงปู่เทสก์ เทสก์รังสี เป็นต้น

จังหวัดสกลนครอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 647 กิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 18 อำเภอ ปัจจุบันเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญในแถบภาคอิสาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงภูมิศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมภูไท อิสานล้านช้างและภูมิประเทศที่สวยงาม

“ทีมข่าวเฉพาะกิจ” ขับรถชมบรรยากาศสองข้างทางในช่วงฤดูฝนซึ่งตามท้องทุ่งมีชาวนากำลังไถนา ถอนกล้า หว่านข้าวกันแล้ว สังเกตในภาคอีสานตามทุ่งนาเกษตรกรไม่นิยมโค่นต้นไม้เหมือนภาคกลางที่นิยมให้ทุ่งนาโล่ง หากจะมีบ้างก็คือ ต้นตาล  ภาคอีสานชาวนาปล่อยให้ต้นไม้ปกคลุมต้นข้าวได้อย่างเต็มที่ ถามพระภิกษุและชาวบ้านตอบตรงกันว่า “เสียดาย” ต้นไม้ แต่ในใจเรา คิดเองว่า อาจเป็นเพราะภาคอีสานมีภูเขาน้อย อาจเป็นไปได้ว่าต้องการ “บังลม” ที่พัดแรงกว่าภาคกลางหรือภาคเหนือ เนื่องจากไม่มีภูเขาบดบัง

ผ่านเทือกเขาภูพานเห็นป้าย “ผาเสวย”  ด้วยความอยากรู้จึงลงไปดู จึงรู้ว่า ณ ที่แห่งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 และสมเด็จพระพันปี ทั้งสองพระองค์เคยเสด็จเยี่ยมประชาชนในปี 2497 โดยทางรถยนต์ และได้พักเสวยพระกระยาหารกลางวัน ณ ที่นี่ เพื่อรำลึกถึงพระองค์ ภาครัฐและประชาชนจึงได้ตั้งชื่อว่า “ผาเสวย”  ผาแห่งนี้ตั้งอยู่ระหว่างรอยต่อจังหวัดสกลนครและจังหวัดกาฬสินธุ์

ขับรถผ่าน “เทือกเขาภูพาน” ป่าไม้อุดมสมบูรณ์สองข้างทางหน่วยงานภาครัฐเตือนระวังช้างป่าและ “ห้ามให้อาหารลิง” เป็นระยะ ถนนยามฤดูฝนแบบนี้สวยงามผ่านโค้งหักศอกหลายช่วงทางก่อนจะถึงที่ตั้งบ้านเรือนชุมชนถนนเส้นทางไกลลิบตา บรรยากาศสมกับเป็นเมืองแห่ง “พระอรหันต์”

ก่อนเข้าตัวเมืองจังหวัดสกลนครผ่าน “พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์จังหวัดสกลนคร” เป็นพระตำหนักที่สร้างขึ้นในบริเวณเทือกเขาภูพาน ใน พ.ศ. 2518 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นผู้ทรงเลือกพื้นที่สร้างพระตำหนักด้วยพระองค์เอง ทรงใช้แผนที่ทางอากาศและการเสด็จสำรวจเส้นทางบริเวณ ป่าเขา น้ำตก เป็นปัจจัยในการกำหนดเขตพื้นที่ก่อสร้างพระตำหนักและบริเวณพระตำหนักซึ่งประกอบด้วยเขตพระราชฐานชั้นในและเขตพระราชฐานชั้นนอก

หากจะว่าไปแล้วเป้าหมายการลงพื้นที่เพื่อติดตามผลสำเร็จในการทำโครงการโคก หนอง นา จังหวัดสกลนครครั้งนี้มิใช่ครั้งแรกของเรา เมื่อปีที่ผ่านมาเคยเดินทางมาแล้วรอบหนึ่งได้พบกับนักปราชญ์ชุมชน นักธุรกิจ เกษตรกรรุ่นใหม่ รวมทั้งเกษตรกรทั่วไป

คราวนี้เช่นกัน “ปลัดเก่ง” สุทธิพงษ์  จุลเจริญ ชี้พิกัดการลงพื้นที่ให้ไปพูดคุยกับ “นักธุรกิจจิตอาสา” คือบัญชา ราษีมิน – กาญจนี ละศรีจันทร์” สองสามีภรรยา ซึ่งทั้งสองคนเป็นสามีภรรยานักธุรกิจโรงงานเย็บผ้า หันมาทำโคกหนองนา เพราะใจรักและอยากทำเป็นตัวอย่างให้กับชุมชน ณ บ้านเจริญศิลป์ หมู่ 1 ตำบลเจริญศิลป์ อำเภอเจริญศิลป์ จ.สกลนคร และทั้งสองยังตั้งทีม “ครูพาทำ” เดินสายอบรมให้ความรู้ “ศาสตร์ของพระราชา” รูปแบบการทำโคก หนอง นา ให้ประสบความสำเร็จภายใต้สโลแกน “คิดถึง น้อมนำ ทำตาม” โดยใช้ “ศูนย์เรียนรู้โคกหินแห่” จังหวัดสกลนครเป็น “ต้นแบบ”

“ทีมข่าวเฉพาะกิจ” ได้รับการอำนวยความสะดวกจากพัฒนาการจังหวัดสกลนครโดยมี “พี่กบ” พัฒนาการอำเภอกุดบากและ “กำนันม่อน” หรือ “บัญชา ราษีมิน – กาญจนี ละศรีจันทร์” ทั้งที่พักและอาหารการเป็นอยู่ พร้อมกับพาไปดูพื้นที่ศูนย์เรียนรู้โคกหินแห่ ซึ่งเมื่อ 3 ปีที่แล้วยังเป็นทุ่งนาแห้งแล้ง มีแต่ “ก้อนกรวดหิน” ปัจจุบันกลายเป็น “ป่าผสมผสาน”  ตามหลักป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง บนเนื้อที่ 28 ไร่ ในขณะที่ “กาญจนี ละศรีจันทร์” มีพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งเข้าร่วมโครงการโคกหนองนาของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ไว้จำนวน 3 ไร่ มีการแบ่งสัดส่วนตามศาสตร์ของพระราชาอย่างลงตัว  “ทีมงาน” เคยร่วมเดินทางกับ “ปลัดเก่ง” ตอนที่มาเอา “มื้อสามัคคี” เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตอนนี้กลายสภาพเป็นสวนผสมผสาน “ร่มรื่น”  สมกับเป็นแปลงโคก หนอง นา “ต้นแบบ” ของครูพาทำ ยิ่งนัก

“ทีมข่าวเฉพาะกิจ” เมื่อถึงศูนย์เรียนรู้โคกหินแห่เดินดูทั่วรอบบริเวณนั่งจับเข่าคุยกับ “บัญชา ราษีมิน – กาญจนี ละศรีจันทร์” สองสามีภรรยา สังเกตเห็นทั้งคู่ใส่เสื้อสีเหลืองมีข้อความว่า “คิดถึง น้อมนำ ทำตาม” จึงถามเป็นคำถามแรกว่าหมายถึงอะไร

 “บัญชา” ตอบว่าคำแรกเลย คิดถึง คือ คิดถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทำอะไรไว้แล้วบ้าง ทฤษฎีใหม่กว่าที่ 40 ทฤษฎีที่ท่านทำไว้ โครงการพระราชดำริ 5,150 โครงการ ที่ท่านทำไว้ให้กับประเทศไทย หลักเศรษฐกิจพอเพียงต้องคิดถึงท่าน ท่านทำไว้ให้เรา เมื่อคิดแล้วก็ต้องน้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้มาปฏิบัติ และทำตามท่าน โคกหนองนานี้คือทฤษฎีใหม่แต่มีคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงมากำกับอีกทีหนึ่ง ต้องนำหลักคิดกับหลักปฏิบัติมาทำควบคู่กัน อันนี้ผมบอกได้เลยว่าไม่รวยหรอกครับแต่จะพบกับความสุขที่แท้จริง

“สิ่งที่เห็นวันนี้ ศูนย์เรียนรู้โคกหินแห่ จากทุ่งนา ไร่มันสำปะหลัง ที่แห้งแล้ง ปัจจุบันเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้นานาพันธุ์ทั้งใต้ดิน บนดินและไม้เศรษฐกิจ แตกต่างจากเมื่อ 3 ปีที่แล้วคือ หลักการพึ่งพาตนเอง การน้อมนำหลักศาสตร์พระราชามาใช้มันจะต้องพึ่งพาตนเองเป็นหลักให้ได้ เราจะไม่เอาเงินเป็นตัวตั้ง การทำให้พออยู่พอกินพอใช้โดยที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เรียกกันว่า”พอร่มเย็น”หลักการ 4 พอเป็นตัวหลักที่นำมาใช้ เมื่อพอเหลือพอกินแล้วก็นำไปทำบุญ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ถ้าเราทำแบบนี้ได้เรียกว่าเป็นหลักการพัฒนาสู่ความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมจะดี พื้นที่ของเรามี 28 ไร่ ถือว่าเป็นพื้นที่ใหญ่มาก แต่เราก็ไม่ได้ใช้แรงงานมากนักปีนึงเราจะใช้ 400 แรงคน หมายความว่าถ้าเราทำ 2 คนสามีภรรยาปีนึง 365 วันก็เท่ากับ 700 แรงแต่ถ้าเราตั้งไว้แค่ 400 แรงก็หมายถึงว่า 2 คนเราก็ยังเหลือเวลาอีก 300 แรงในการที่จะเอาชีวิตไปทำภารกิจอื่นๆ หรือไปช่วยเหลือคนอื่น สิ่งสำคัญคืออย่าลืมพึ่งพาตนเองซึ่งเราจะต้องเรียนรู้เสียก่อน..”

ศูนย์เรียนรู้โคกหินแห่ เราทำเป็นโมเดลให้ชาวบ้านและสังคมได้รับทราบและหากจังหวัดไหนผู้ใดอยากจะไปขยายผลต่อ ทางศูนย์ยินดีที่ให้คำปรึกษาและคำแนะนำ การศึกษาถ้าจะดีที่สุดเลยต้องมาเห็นด้วยตาตัวเอง แต่ถ้าหากว่าเราเรียนรู้แค่ไปฟังพูดจะไม่ตอบโจทย์ ต้องมาดูที่แปลงจริง

“ในแปลงมีพื้นที่ 28 ไร่แบ่งเป็นด้านบน 14 ไร่เป็นโคก เป็นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึงไว้สำหรับปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่างซึ่งเป็นศาสตร์ของพระราชาเดิมทีสภาพตรงนี้แล้ง ในอดีตตรงนี้ปลูกยูคาลิปตัส แล้วเอายูคาลิปตัสออกปลูกมันสำปะหลังแทนประมาณ 7 ปีดังนั้นสภาพดินเสียหาย เริ่มปรับปรุงดินเมื่อปี 2562ได้ไปเรียนรู้จากหลายๆที่ด้วยความที่พื้นที่ตรงนี้มีขนาดใหญ่การทำด้วยตัวคนเดียวก็ยากต้องอาศัยเครือข่าย เครือข่ายที่ตอบโจทย์ที่ดีที่สุดก็คือ”ครอบครัว” ทั้งภรรยา ลูก พี่น้อง ตรงนี้สำคัญมากหากขาดเสาหลักไปเราทำคนเดียวจะเหนื่อยมาก ต่อมาเราจะต้องได้คนที่มีจิตใจคล้ายกับเราในพื้นที่ช่วยกันสนับสนุน เราจะตั้งทีม”วิทยากร” ที่ท่านปลัดสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ณ ตอนนั้นเป็นอธิบดีกรมพัฒนาชุมชนได้จัดตั้งทีมวิทยากรจิตอาสาพัฒนาชุมชนขึ้นมา เราอยู่ในทีมนี้ด้วย ซึ่งมีวิทยากรทั้งหมด 11 ท่าน เราไปอบรมที่เชียงใหม่เป็นหลัก จังหวัดนครพนม ส่วนจังหวัดสกลนครยังไม่เท่าไหร่ทำมาตั้งแต่ปี2563 จนถึงปัจจุบัน เราอบรมมาแล้วทั้งหมด 25 ครั้ง อบรมรุ่นหนึ่งประมาณ 80 คน ตัวผมเองนั้นเป็นวิทยากรบรรยาย เมื่อปี 2565หลังจากอบรมในอำเภอโครงการบำบัดทุกข์บำรุงสุข ผมก็ได้ไปเยี่ยมลูกศิษย์ที่อำเภอไชยปราการ เขาเป็นพื้นที่ขยายผลไปสู่คนไทยเชื้อสายจีน คนที่นั่นมีความตั้งใจที่อยากจะทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง พวกเขามีการเทิดทูนในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่าท่านชี้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ ให้คนรู้จักคำว่า “ความพอ ความสุข”เขาอยากทำแต่ไม่มีโอกาส พอผมได้เข้าไปในพื้นที่ผมรับรู้ถึงสายตาของพวกเขาว่า เขาคาดหวังอยากจะให้เราถ่ายทอด..” กล่าวทิ้งท้ายด้วยใบหน้ายิ้มแย้มภาคภูมิใจในผลงานที่ตนเองได้ทำ

เมื่อทีมงานหันมาถาม “กาญจนี ละศรีจันทร์” ขอให้เล่าที่มาที่ไปในการทำแปลงโคกหนองนา เธอเล่าว่า  เริ่มลงมือทำแปลงโคกหนองนาตั้งแต่ปี 2565 โดยได้รับงบประมาณหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงจากกรมการพัฒนาชุมชน กระทวงมหาดไทย ซึ่งนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เคยมาที่นี่ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม2565 ตอนนั้นมาเอามื้อสามัคคี และงานเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10

“..จุดเริ่มต้นมาจากการไปอบรมพร้อมกับคุณบัญชากลับมาและได้ไปอบรมครูจิตอาสาพัฒนาชุมชนรุ่นที่1 ผู้ที่เข้ามาอบรมไม่เข้าใจว่าดินที่ขุดบ่อแล้วจะเอาไปไว้ไหน ถ้าเป็นจังหวัดเชียงใหม่จะมีเนินสูงอยู่แล้ว ที่โคกมันจะเก็บน้ำไม่ได้ แต่ตามหลักที่เราเรียนมานี้ความสามารถเก็บได้ ต้นไม้ที่สูง เราจึงขอเข้าร่วมโครงการดีกว่าและมาทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า ดินทั้งหมดที่เราขุดมานี้เราไม่ได้เอาดินออกจากพื้นที่เลยปั้นเป็นโคก ปั้นเป็นที่นาให้ครบและไม่เคลื่อนย้ายดินออกไป ซึ่งแปลงของคุณบัญชา 28 ไร่นั้นทำมาก่อน  ซึ่งถ้าเราเข้าใจบริบทของโคกหนองนา เราจะบริหารได้ไม่ยุ่งยากครั้งแรกที่เริ่มทำเราจะห่มดินทั้งหมด รักษาหน้าดิน การเชื่อมต่อน้ำคลองไส้ไก่ เรามีความชอบส่วนตัวอยากให้น้ำไปทางไหนเราก็ขุดตามความต้องการของเรา..”

จากการเดินสำรวจทั่วแปลงโคกหนองนา พบว่า ปัจจุบันผลผลิตทั้งหน่อไม้ กล้วย มะนาว กระท้อน รวมทั้งพืชผักกินใบชนิดต่าง ๆ เริ่มออกผลผลิตแล้ว  “กาญจนี ละศรีจันทร์” เล่าว่า ตอนนี้มีการต่อยอดผลผลิตในแปลงด้วยการทำข้าวอินทรีย์ กล้วย กระท้อน ขนุน สามารถนำมาแปรรูป

“เราจะรวมกลุ่มพี่น้องโคกหนองนาของเราในอำเภอเจริญศิลป์ เอามาร่วมกัน เช่น ข่าตะไคร้ของเราเยอะมากอาจจะนำมาทำน้ำมันหอมระเหย เครือข่ายโคกหนองนาเฉพาะอำเภอเจริญศิลป์มีทั้งหมด 21 แปลง ถือว่าเยอะ และแต่ละแปลงเริ่มมีความพร้อมแล้ว เกาะกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น ในฐานะที่เราเป็นครูระดับจังหวัด จังหวัดนี้มีทั้งหมด 488 แปลง มีศูนย์ที่สมบูรณ์แบบแล้วมี 430แห่ง แต่ละแห่งมีความสมบูรณ์เต็มที่ ”

หลังจากเดินสำรวจและพูดคุยกันเรียบร้อยแล้ว “บัญชา ราษีมิน – กาญจนี ละศรีจันทร์” ชวนให้ไปดูแปลงโคกหนองนาในวัดใกล้เคียง ที่ตอนนี้มีการขุดคลองใส้ไก่เอาไว้และวัดอนุเคราะห์ให้ใช้ศาลาเป็นศูนย์เรียนรู้โดยมีนายอำเภอในพื้นที่มาร่วมสนทนาด้วย เนื่องจากวัดแห่งนี้ได้รับงบเศรษฐกิจพอเพียงมาจากกระทรวงมหาดไทย และต่อจากนั้นทั้งคู่พร้อมทีมงานได้พาไปที่วัดศรีสุข บ้านสร้างฟาก ต. สร้างฟาก อ.เจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร เพื่อไปดูศาลาวัดที่มีอายุนับร้อยปีและที่สำคัญเป็นศาลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์รัชกาลที่ 9 เคยเสด็จมากราบพระบนศาลาการเปรียญโดยไม่มีในหมายกำหนดในช่วงปลายปี พ.ศ.2533  หลังจากที่พระองค์ท่านได้ถอดรองเท้าเข้าไปไหว้พระในศาลาการเปรียญแล้ว  มีภาพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใส่รองเท้าก้มลงผูกเชือกรองเท้าด้วยพระองค์เอง ซึ่งภาพนี้ถือว่าเป็นแรงบันดาลใจให้กับหลายคนว่า“แม้แต่พระมหากษัตริย์พระองค์ก็พึ่งตนเอง ทำด้วยพระองค์เอง”

การเดินทางลงจังหวัดสกลนครเพื่อไปดูความสำเร็จในการทำแปลงโคกหนองนา ที่สนับสนุนโดย กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย นอกจากทีมงานได้ร่วมพูดคุยกับชาวบ้านแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทุกครั้งหากมีโอกาส “ปลัดเก่ง” สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย จะโทรศัพท์พูดคุยกับ “เจ้าของแปลง” ทุกครั้ง เพื่อให้กำลังใจและขอให้นำความสำเร็จในการทำแปลงโคกหนองนา “ขยายผล” ไปสู่ชุมชนหมู่บ้านอื่น ๆ ต่อไป อย่างเช่นแปลงของ “บัญชา ราษีมิน – กาญจนี ละศรีจันทร์” นี้ก็เช่นกัน ปลัดเก่ง ได้โทรศัพท์ร่วมพูดคุยพร้อมกับแนะให้ทีมงานไปคุยกับเจ้าของแปลงอีกแปลงหนึ่งคือ “พี่เอื้อง”

“ขนิษฐา จิตเจริญ” หรือ “พี่เอื้อง” แห่งบ้านเชียงแสน อ.พังโคน จ.สกลนคร เจ้าของ “สวนเอื้องคำ” เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง ซึ่งเป็นคำกล่าวของ “หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร” บิดาแห่งการเกษตรไทย คำพูดนี้หลายคนบอกว่าเป็นความจริง โดยเฉพาะเห็นชัดในช่วงที่ประเทศไทยเกิดการแพร่ระบาดของโควิด หลายครัวเรือน หลายชุมชน ห้ามออกจากบ้าน ห้ามติดต่อกับบุคคลภายนอก ทำให้อาหารเกิดขาดแคลน ต้องพึ่งพืชผักที่ปลูกไว้ในชุมชน ในครัวเรือน “มีเงิน แต่ไม่มีอาหาร”

“พี่เอื้อง” บอกว่าคนคิดจะทำโคกหนองนา คือ ต้องถามตัวเองก่อนว่ามีความพร้อมไหม ปลูกพืชแบบนี้ต้องมีใจรัก และสองมือเราต้องทำ การทำเกษตรเป็นงานที่ต้องมีความอดทน พยายาม คนที่อยากทำต้องคิดก่อนว่าเรารักมันไหม อดทนได้ไหม หากอยากทำจริงก็เริ่มจากปลูกผักลงกระถางให้รอบ ๆ บ้านก่อนว่าเราสามารถทำได้ไหม หากทำได้ก็ตัดสินใจศึกษาโคกหนองนาอีกที ศึกษาทั้งสภาพดินสภาพอากาศ น้ำ พื้นที่บริเวณรอบของเรา เราทำโคกหนองนานี้เราได้ความสุข มีกินไม่อดตาย ได้เพื่อนภาคีเครือข่าย มีอะไรก็แบ่งปันกัน ในอำเภอนี้มีเครือข่ายอยู่ 73 แปลง

 “ปัญหาและอุปสรรคในพื้นที่ ที่เจอ คือ เรื่องน้ำ บางคนขุดบ่อแล้วไม่เจอน้ำ ทั้งที่มีคลองชลประทานผ่านแต่พื้นที่สูง ขุดลึก 6 เมตรก็ยังไม่เจอน้ำ แต่ก็ได้พยายามส่งน้ำจากชลประทานเข้าไปก็ยังไม่ได้อีก เจาะบ่อบาดาลก็ไม่ได้ เจอแบบนี้ก็ทำไม่ได้ ซึ่งหากจะว่าแล้วาโคกหนองนานี้ เหมาะสมกับบริบทในสังคมไทย เพราะสังคมไทยเป็นสังคมเกื้อกูลเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน แต่ปัจจุบันสังคมแบบนี้เริ่มจางหายไปจากวิถีชีวิตคนไทยไปมาก การที่กระทรวงมหาดไทยนำโคกหนองนาให้กับประชาชนนอกจากให้ประชาชนมีอาหารที่มั่นคงแล้ว ยังถือว่าเป็นการรื้อฟื้นการเกื้อกูล ความรู้รักสามัคคี วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของคนอีสานด้วยอีกประการหนึ่งเช่นกัน..”

ตลอดระยะเวลาการเดินทางลงพื้นที่ของ “ทีมข่าวเฉพาะกิจ” ได้สัมผัสกับเจ้าของแปลงโคกหนองนา ในกลุ่มบุคคลหลายอาชีพ หลายกลุ่ม ทั้งพระภิกษุ นักการเมือง นักธุรกิจ และประชาชนทั่วไป สิ่งหนึ่งที่พวกเขาต้องการแสวงหานอกจากความมั่นคงทางอาหารแล้ว คือ ความสุข “อย่างยั่งยืน”

ก่อนจบขอยกคำพูดของ “องค์ทะไลลามะ”  ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวธิเบต พูดไว้ตอนหนึ่งว่า มนุษย์เป็นสิ่งที่แปลกที่สุดในโลก  เพราะเขายอมสละสุขภาพเพื่อหาเงิน แล้วก็สละเงินเพื่อให้สุขภาพฟื้นคืนมา  เขาห่วงอนาคตมาก จนไม่มีความสุขกับปัจจุบัน ผลคือเขาไม่อยู่ทั้งปัจจุบันและอนาคต  เขาอยู่เหมือนจะไม่มีวันตายและท้ายสุดเขาก็ตายไปโดยไม่ได้มีชีวิตอยู่จริง..

Leave a Reply