ตามไปดูแปลงโคก หนอง นา “เศรษฐินีที่ดิน” จังหวัดกาญจนบุรี “แคว้นโบราณ ด่านเจดีย์ มณีเมืองกาญจน์ สะพานข้ามแม่น้ำแคว แหล่งแร่น้ำตก” นี่คือคำขวัญประจำจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญของประเทศไทยในอดีต กาญจนบุรีได้ชื่อว่าเป็นเมือง “ขุนแผน แคว้นโบราณ” เป็นจังหวัดหนึ่งที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันตกของประเทศไทย มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ รองจากจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตก มีชายแดนติดต่อกับประเทศพม่าระยะทางประมาณ 370 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดเป็นป่าไม้และภูเขาสูง โดยเฉพาะพื้นที่ทางด้านเหนือและตะวันตกของจังหวัด มีเขตพื้นที่ติดกับจังหวัดตากทางด้านทิศเหนือ แต่ก็ไม่มีถนนเชื่อมต่อกัน เนื่องจากมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเป็นมรดกโลกและมีป่าที่อุดมสมบูรณ์รกทึบสลับกับมีภูเขาอันสลับซับซ้อน จังหวัดกาญจนบุรีประกอบด้วยคนไทยหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรม นอกจากมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์แล้ว งดงามไปด้วยแหล่งโบราณสถานและแหล่งน้ำตก ดังคำขวัญของจังหวัด จังหวัดกาญจนบุรี แบ่งเขตการปกครองส่วนภูมิภาคออกเป็น 13 อำเภอ 95 ตำบล 959 หมู่บ้าน 206 ชุมชน มีประชากรทั้งหมดประมาณ 891,976 คน “ทีมข่าวเฉพาะกิจ” ได้รับการชี้แนะจาก “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ให้เดินทางไปสำรวจแปลงโคกหนองนาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ตามขอบชายแดน หรือไม่ก็ “ถิ่นทุรกันดาร” ในจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อไปดูความสำเร็จของแปลงโคกหนองนา ความรู้สึกของประชาชนที่เข้าร่วมทำโคกหนองนา มีความรู้สึกอย่างไร มีอะไรอยากจะเสนอแนะเพื่อปรับปรุงในการขับเคลื่อนต่อไปบ้าง “ทีมข่าวเฉพาะกิจ” ลงพื้นที่ไปสำรวจแปลงโคกหนองนา และพูดคุยกับชาวบ้านถึงสิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นได้อะไรจากการส่งเสริมของกระทรวงมหาดไทย ในการทำแปลงโคก หนอง นา บ้าง พร้อมกับแนวคิดคนที่จะทำแปลงโคกหนองนา จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ครั้งแรกนี้เราได้พูดคุยกับ “แรม เชียงกา” ถือว่าเป็นปราชญ์ชุมชน ต.หนองสาหร่าย อ.พนมทวน จังหวัด กาญจนบุรี ได้พูดถึงคุณสมบัติคนที่คิดจะทำเศรษฐกิจพอเพียงว่า “ คนทำโคกหนองนา อย่างน้อยต้องมีคุณสมบัติ 3 ประการ คือ หนึ่ง ต้องไม่มีหนี้ก้อนโต สอง ต้องไม่กลัวเปื้อนขี้โคลน ตากแดดได้ โดนฝนเป็น และบางครั้งต้องกล้าฆ่าสัตว์และ ประการที่สาม ต้องไม่อายทำกิน ต้องกล้าค้าขาย ตำบลหนองสาหร่ายของผมนี่ ตอนนี้เรามีเงินวิสาหกิจชุมชนหมุนเวียนปีหนึ่งประมาณ 190 ล้าน ทุกหมู่บ้านมีโรงงานชุมชนที่เป็นของส่วนรวมหมด เช่น ม.1 มีโรงสี ม. 2 มีโรงปุ๋ยอินทรีย์ ม.3.มีธนาคารชุมชน เป็นต้น คนเดินวิถีนี้ไม่มีทางอด แต่จะให้ร่างกายสบายเหมือนคนเมืองไม่ได้ แต่ใจสุขกว่าคนเมืองเยอะ ความสามัคคีมีมากกว่าสังคมเมืองมาก ที่นี่อากาศดี อาหารปลอดสารพิษ คนส่วนใหญ่อารมณ์ดีไม่เครียด และโครงการ โคก หนอง นา ถือว่าเป็นนโยบายที่ดีมากที่รัฐส่งเสริมให้งบประมาณเข้าถึงครัวเรือนโดยตรง ตอนนี้คนนิยมกระจายไปทั่วประเทศ เพราะหลังเกิดโควิด คนเริ่มรู้แล้วว่า ความมั่นคงเรื่องอาหารเป็นสิ่งจำเป็นต่อครอบครัวมาก ” ครั้งที่ 2 ลงไปสำรวจแปลงโคก หนอง นา ที่อำเภอสังขละบุรี เป็นแปลงร่วม คือคนแรกเป็นอดีตตำรวจที่ย้ายมาประจำอยู่พื้นที่ชายแดนแห่งนี้นานมากกว่า 40 ปีแล้ว ส่วนคนที่สองเป็นแกนนำชุมชนคือ “ผู้ใหญ่บ้าน” ทั้งสองท่านทำร่วมกันในแปลงเดียวกัน เล่าว่า “ผมมาอยู่สังขละบุรีตั้งแต่ พ.ศ. 2520 พื้นเพเป็นคนจังหวัดพิจิตร สังขละบุรีสมัยก่อนมีแต่ป่าเขา วัดหลวงพ่ออุตตมะยังเป็นวัดเก่า มิใช่ที่ตั้งอยู่ในปัจจุบัน ตอนนั้นการเดินทางต้องอาศัยเรือในการเดินทาง หลังเกษียณก็อยากจะทำสวนทำไร่นา เพราะครอบครัวพ่อแม่ทำนามาก่อน แถวนี้ไม่มีใครทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเลย พอดีทาง พช. (กรมการพัฒนาชุมชน) เขาประชาสัมพันธ์โครงการโคกหนองนา เราก็อยากทำ เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับชุมชนตำบลหนองลูนี้ จึงอยากจะทำเป็นแบบอย่างเพื่อสร้างความมั่นคงเรื่องอาหารให้กับคนในชุมชนดูเป็นแบบอย่าง จึงไปสมัครขนาดแปลง 15 ไร่ ซึ่งสุดท้ายทาง พช. ก็ให้เข้าร่วมโครงการ ” ร.ต.อ.สุวิทย์ ราชสุภา อดีตตำรวจในวัยเกษียณเล่าให้ทีมงานฟัง อีกคนคือ น.ส.ภัทรา ฐิติเวชญาคุณ หรือ “ผู้ใหญ่แอ๊ด” บอกว่า ที่ดินแปลงนี้เป็นที่ดินของพี่เอง แต่มอบให้พี่สุวิทย์เป็นคนดำเนินการทำ คือ คิดและทำร่วมกัน “จริง ๆ แล้วเราสนใจศาสตร์พระราชา ที่ดินตรงนี้เดิมทีก็ไม่ได้ลงอะไรไว้มากมายเป็นที่ดินว่างเปล่า เราก็คิดว่ามีโครงการนี้มาน่าจะเกิดประโยชน์ แล้วก็เราอยากจะทำเป็นร้านค้าชุมชนเพื่อรับของในหมู่บ้านต่างๆ มาขายรวมกันที่นี่ คิดร่วมกันกับพี่สุวิทย์ ว่า เราอยากจะทำที่ตรงนี้ให้เป็นหนึ่งศูนย์เรียนรู้ระดับชุมชน สอง เป็นสถานที่แปรรูปผลิตภัณฑ์ของชุมชน และสามเป็นสถานที่กระจายสินค้าเหมือนศูนย์ OTOPด้วย..” การลงไปพูดคุยกับ ร.ต.อ.สุวิทย์ ราชสุภา และ น.ส.ภัทรา ฐิติเวชญาคุณ ครั้งนั้น ทำให้รู้แนวคิดของทั้ง 2 คนที่คิดจะต่อยอดใน “ขั้นก้าวหน้า” จาก โคก หนอง นา คือ ทั้ง 2 ท่านยังคิดต่อยอดจากการทำโคกหนองนาให้เป็นสถานที่ “ท่องเที่ยวเชิงเกษตร” มีร้านอาหาร ร้านกาแฟ มีโฮมสเตย์ มีสวนดอกไม้ เพื่อสร้างรายได้จากแปลงแห่งนี้ด้วย เนื่องจากสังขละบุรีเป็นเมืองท่องเที่ยวและติดชายแดนด่านเจดีย์สามองค์ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและประตูการค้าชายแดนที่สำคัญของชายแดนภาคตะวันตกของประเทศไทย แนวคิดต่อยอดธุรกิจ คงประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก ครั้งที่ 3 ล่าสุด เป้าหมายอยู่ที่อำเภอเลาขวัญ จ.กาญจนบุรี ชื่อชุมชนบ้าน “เลาขวัญ” มาจากราษฏรเชื้อสายลาวที่ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่บ้านเกาะบ้านเก่า และต่อมาได้มีชาวอำเภอบ่อพลอยได้อพยพเข้ามาอยู่เพิ่มขึ้น เมื่อทางราชการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้นจึงได้ตั้งชื่อว่า บ้านเลาขวัญ อำเภอเลาขวัญนั้นแต่เดิมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอำเภอพนมทวน ต่อมาจึงได้มีการแยก 3 ตำบล (ตำบลเลาขวัญ หนองโสน และหนองประดู่) ออกมาแล้วตั้งเป็น กิ่งอำเภอเลาขวัญ ขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2514 และเมื่อถึงวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2519 จึงได้มีพระราชกฤษฎีกาให้ยกฐานะขึ้นเป็น อำเภอเลาขวัญ ดังเช่นปัจจุบัน เป็นอำเภอที่ได้ชื่อว่า “แห้งแล้ง” ที่สุดในจังหวัดกาญจนบุรี ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร คือ ไร่อ้อย และมันสำปะหลัง “เงินยวง คิ้ววงศ์งาม” ต.หนองนกแก้ว อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี เกษตรกรระดับ “เศรษฐินี” ของอำเภอเลาขวัญ เพราะเธอเป็น “เมียกำนัน” และมีลูกสาวเป็น “ผู้ใหญ่บ้าน” ทีมข่าวลงพื้นที่มาแล้วทั่วประเทศไม่เคยเห็นใครที่มีที่ดินจำนวน 2,000 ไร่เท่ากับเงินยวง “มีที่ดินทั้งหมด 2,000 ไร่ แบ่งทำเป็นไร่อ้อยและมันสำปะหลัง เพราะอย่างอื่นมันทำไม่ได้ แต่ที่ดินของพี่โชคดี ทำอ่างเก็บน้ำไว้ ซึ่งน้ำไหลมาจากภูมิภาค พื้นที่ตรงนี้มันต่ำ ก็เลยมีน้ำขังในแปลงโคก หนอง นา ตลอดปี..” เงินยวง คิ้ววงศ์งาม พาเดินพลางเล่าไปรอบบริเวณแปลงโคก หนอง นา ของเธอ ที่ตอนนี้มีกล้วยน้ำว้าที่เป็นผลผลิตขายได้บ้างแล้ว มีฐานเรียนรู้ 4 -5 ฐาน ซึ่งเธอเล่าว่า เริ่มเข้าโครงการโคกหนองนา ของ พช. ตั่งแต่เดือนธันวาคม 2563 ด้วยการไปอบรมที่จังหวัดนครนายก หลังจากนั้นก็เริ่มขุดบ่อในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งเริ่มรู้จักโครงการโคกหนองนาจากการเปิดใน YouTube ดูเพราะใจเราก็ชอบด้านนี้อยู่แล้วพร้อมกับมีโครงการมาติดต่อด้วยก็เลยทำให้สนใจมากยิ่งขึ้น เข้าโครงการจำนวน 10 ไร่เป็นพื้นที่ สปก. การขุดบ่อก็ไม่มีปัญหาอะไรนอกจากห้ามเอาดินออกนอกพื้นที่ พอได้งบมาก็เริ่มลงมือทำแต่ในช่วงแรกก็เจออุปสรรคเนื่องจากในปีนั้นฝนตกเยอะเกินไปทำให้ดินสไลด์ เสียหายไปเยอะ พันธุ์ไม้ต่างๆที่ได้มาก็ขึ้นราเสียไป “หลังจากเข้าโครงการโคกหนองหนองนามา 3 ปี รู้สึกว่าชีวิตมีการเปลี่ยนแปลง ช่วยลดรายจ่ายได้เยอะมากพืชผักสวนครัวคือไม่ต้องไปซื้อเลยและเราก็ได้ทานพืชผักปลอดสารพิษ ผลผลิตส่วนใหญ่ตอนนี้คือกล้วยและเน้นไปที่ไม้ป่า ส่วนเรื่องพืชผักสวนครัวยังไม่ตอบโจทย์ในด้านการตลาด ยังวางแผนการผลิตไม่ได้ ซึ่งคงต้องหาแนวทางต่อไป แต่ส่วนใหญ่อำเภอเลาขวัญชาวบ้านก็ทำผักรับประทานกันเอง ตลาดจึงมีน้อย นอกจากผัก ไม้ยืนต้นประเภทผลไม้ ไม้ป่าแล้ว ที่แปลงนี้ก็ทำโรงเรือนไว้เป็นสถานที่พักผ่อนกับครอบครัวหรือเพื่อนบ้าน.” ในขณะที่ “ทีมข่าว” พูดคุยอยู่กับ เงินยวง คิ้ววงศ์งาม ได้มีเครือข่ายแปลงโคก หนอง นา มาร่วมพูดคุยด้วย ชื่อ “พิสิฐ์ มาสวิจิตร” ประธานเครือข่ายกสิกรรมอำเภอเลาขวัญ จ.กาญจนบุรี ซึ่งเล่าว่าพื้นเพเป็นคนกรุงเทพมหานคร ย้ายมาทำเกษตรในอำเภอเลาขวัญสนใจเรื่อง “ศาสตร์ของพระราชา” จึงไปอบรมหาความรู้หลายแห่ง สำหรับการดำเนินการโคก หนอง นา และการทำงานร่วมกับเครือข่าย ตอนนี้ยังมีการเอามื้อสามัคคี โดยเฉลี่ยปีนึง 2-3 รอบ โดยการประสานจาก พช. ทั้งหมดมี 10 แปลง ที่ยังคงเกาะกันแบบเหนียวแน่น แต่มีบางแปลงที่เลิกทำหรือที่ยังทำได้ไม่เต็มร้อย เพราะ “เกษตรกรส่วนใหญ่ก็หวังว่าจะมีรายได้ แต่ทำโคกหนองนา มันไม่สามารถมีรายได้เห็นผลได้ในทันตา บางคนก็ยังมีหนี้ ธกส. และมีภาระที่ยังต้องแบกรับอยู่ พวกเขาเหล่านั้นก็จะมาทุ่มกับการทำโคกหนองนามากไม่ได้..” พร้อมทั้งเล่าต่อว่า สภาพอากาศอำเภอเลาขวัญเมื่อเทียบกับอำเภออื่น ๆ ในจังหวัดกาญจนบุรีแห้งแล้งกว่ามาก ประชาชนส่วนใหญ่ จึงลำบากในการทำพืชผลทางเกษตร แม้มีใจ ต้องพึ่งหน้าฝนอย่างเดียว ในขณะที่ “ทีมงาน” ลงพื้นที่แม้จะเป็นฤดูฝนอำเภอเลาขวัญเพิ่งเจอฝนเพียงไม่กี่ครั้ง “คุณสมบัติของผู้ที่ทำโคกหนองนาที่จะประสบความสำเร็จได้ ต้องมีความอดทน ความเพียร ดังที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้กล่าวถึง “มหาชนก” ให้เราทำไปด้วยความเพียรและ อดทนจึงจะประสบความสำเร็จ อันดับแรกให้คิดว่าปลูกเพื่อให้พอกินก่อนเมื่อพอกินแล้วถึงนำไปขาย เมื่อคิดอย่างนี้จะประสบความสำเร็จแต่คนที่ตั้งความหวังที่จะนำไปขายได้เลยหรือหวังรวยก็จะไม่ประสบความสำเร็จ หรือถ้าเหลือจากที่เราพอกินแล้วก็นำไปแบ่งปัน จะทำให้มีพวกพ้อง เพื่อนฝูง เมื่อแบ่งปันแล้วให้รู้จักการถนอมอาหารก่อน เราก็จะไม่โดนพ่อค้ากดราคา ผมคิดว่าถ้าคนคิดได้เช่นนั้นจะประสบความสำเร็จแน่นอน ดังเช่นทฤษฎีบันได 9 ขั้น เมื่อเรามีเครือข่ายและเก็บถนอมอาหารได้แล้วเราก็จะเริ่มขายจำหน่ายออก มีรายได้..” พิสิฐ์ มาสวิจิตร กล่าว พร้อมกับยกทฤษฎี “บัดได 9 ขั้น” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ว่า พื้นฐานคนจะเดินตามรอยศาสตร์ของพระราชา จำต้องเดินไปที่ก้าว กินข้าวทีละคำ ต้องลงมือทำ ตามขั้นตอน “ลัดคิว” ไม่ได้ “ทฤษฎีบันได 9 ขั้นของในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งในตัวมันก็บอกแล้วว่าเป็นบันได ต้องก้าวที่ละขั้น ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ 9 ขั้น เริ่มต้นจาก 4 พอ คือ พอกิน พอใช้ พออยู่ และพอร่มเย็น เราต้องตีโจทย์และลงมือทำตามขั้นตอนเริ่มต้น 4 พอนี้ให้สำเร็จก่อนแล้วจึงค่อยไปขั้นที่ 5 คือ ทำบุญ อันนี้เป็นเรื่องภายนอกแล้ว หมายความว่า ตัวเราและครอบครัวเราต้องเข็มแข็งก่อน เหมือนพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสรู้ก่อน ทำตัวเองให้สำเร็จก่อนแล้วค่อยไปดูแล บุคคลภายนอกที่เราควรดู เช่น พ่อแม่ พระสงฆ์ เป็นต้น..” “วิวัฒน์ ศัลยกำธร” หรือ “อ.ยักษ์” กล่าวถึงทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง ศาสตร์พระราชา ความสุขอย่างยั่งยืน ลองปรับใช้ไม่จนแน่นอน ทฤษฏีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง เป็นแนวทางที่ใช้ลำดับขั้นเพื่อเดินตามไปทีละขั้น ค่อยๆ ก้าวไปแบบยั้งยืนและมั่นคง ซึ่งหากใครทำตามได้ รับรองว่าไม่มีจนแน่นอน โดยแต่ละขั้นจะมีดังนี้ บันไดขั้นที่ 1-4 คือ เศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน ขั้นที่ 1 พอกิน พื้นฐานที่สุดของมนุษย์ คือ ความต้องการปัจจัย 4 และประการสำคัญที่สุดของปัจจัย 4 คือ อาหาร ขั้นที่ 1 ของแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนคือ ตอบคำถามให้ได้ว่า “ทำอย่างไรจึงจะพอกิน” โดยให้ความสำคัญกับ ข้าวปลาอาหาร ไม่ให้ความสำคัญกับเงิน ซึ่งเป็นเพียงแค่ “ตัวกลาง” ในการแลกเปลี่ยนตามมาตรฐานสากล โดยยึดหลักว่า “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาสิของจริง” เกษตรกรต้องเริ่มจากการอยู่ให้ได้โดยไม่ใช้เงิน มีอาหารพอมี พอกิน ด้วยการปลูกพืช ผัก ผลไม้ ให้พอกิน ชาวนาต้องเก็บข้าวไว้ให้เพียงพอสำหรับการมีกินทั้งปี ไม่ขายข้าวเปลือกเพื่อนำเงินไปซื้อข้าวสาร นอกจากนั้น หัวใจสำคัญของ “พอกิน” ยังมีความหมายรวมไปถึงความปลอดภัยในอาหาร กินอย่างไรให้มีสุขภาพดี ไม่สะสมเอาความเจ็บไข้ได้ป่วยไว้ในร่างกาย นี่คือความหมายของบันไดขั้นที่ ๑ ที่เกษตรกรต้องก้าวข้ามให้ได้ ขั้นที่ 2-4 พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น เกิดขึ้นได้พร้อมกัน ด้วยคำตอบเดียวคือ “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ซึ่งป่า 3 อย่างจะให้ทั้ง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม สมุนไพรสำหรับรักษาโรค ทั้งโรคคน โรคพืช โรคสัตว์ ให้ไม้สำหรับทำบ้านพักที่อยู่อาศัย และให้ความร่มเย็นกับบ้าน กับชุมชน กับโลกใบนี้ ซึ่งเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรไทย ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถแก้ปัญหาได้จริง และยังสามารถย้อนกลับไปแก้ไขปัญหาหนี้สินซึ่งสะสมพอกพูนจากการทำ เกษตรเชิงเดี่ยว ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากร ปัญหาความขาดแคลนนำ ภัยแล้ง ทั้งหมดล้วนแก้ไขได้จากแนวคิดป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่างขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ บันไดขั้นที่ 5-9 คือ เศรษฐกิจพอเพียงขั้นก้าวหน้า ขั้นที่ 5-6 บุญและทาน เครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงหรือโคก หนอง นา เชื่อมั่นว่าสังคมไทยเป็นสังคมบุญ สังคมทาน ไม่เน้นการแลกเปลี่ยนทางการค้า แต่เน้นการทำบุญ ไม่เน้นการสะสมเป็นของส่วนตัว แต่เน้นการให้ทานและสะสมโดยมอบให้เป็นทรัพย์สินส่วนรวมโดยวัด หรือศาสนสถานตามแต่ละศาสนาเป็นศูนย์กลาง เป็นการฝึกจิตใจ ให้ละซึ่งความโลภ และกิเลสในการอยากได้ ใคร่มี ลดปัญหาช่องว่างระหว่างชนชั้น ตามความหมายอันลึกซึ้งของคำ “ยิ่งทำยิ่งได้ ยิ่งให้ยิ่งมี” การให้ไปคือได้มา และเชื่อมั่นในฤทธิ์ของทาน ว่าทานมีฤทธิ์จริง และจะส่งผลกลับมาเป็นเพื่อน เป็นกัลยาณมิตร เป็นเครือข่ายที่ช่วยเหลือกันในทุกสถานการณ์ แม้ในวันที่โลกนี้ประสบกับวิกฤตการณ์ ขั้นที่ 7 เก็บรักษา ขั้นต่อไปหลังจากสามารถพึ่งตนเองได้ พอมี พอเหลือทำบุญ ทำทานแล้ว คือการรู้จักเก็บรักษา ซึ่งเป็นการตั้งอยู่ในความไม่ประมาท และการรู้จักเก็บรักษา ยังเป็นการสร้างรากฐานของการเอาตัวรอดในเวลาเกิดวิกฤตการณ์ โดยยึดแนวทางตามวิถีชีวิตชาวนาสมัยก่อนซึ่งเก็บรักษาข้าวไว้ในยุ้งฉางเพื่อ ให้พอมีกินข้ามปี คัดเลือกและเก็บรักษา “ข้าวพันธุ์” ไว้สำหรับเป็นพันธุ์ข้าวในปีต่อไป ซึ่งผิดกับวิถีชาวนาในปัจจุบันที่ใช้วิธีการขายข้าวทั้งหมด แล้วนำเเงินที่ขายได้ไปซื้อพันธุ์ข้าวเพื่อปลูกในปีต่อไป ส่งผลให้เกิดการขาดความมั่นคงและเปรียบเสมือนการใช้ชีวิตอยู่บนเส้นทางสาย ความประมาท เพราะหากเกิดภัยแล้ง น้ำท่วม ผลผลิตไม่ได้ตามที่ตั้งใจไว้ ย่อมหมายถึงปัญหาหนี้สินและการขาดแคลนพันธุ์ข้าวสำหรับปลูกในปีต่อไป นอกจากเก็บพันธุ์ข้าวแล้ว ยังเน้นให้รู้จักวิธีการถนอมอาหาร การสะสม อาหารไว้กินในยามหน้าแล้ง ด้วยการแปรรูปอาหารหลากชนิด อาทิ ปลาร้า ปลาแห้ง มะขามเปียก พริกแห้ง หอม กระเทียม เพื่อเก็บไว้กินในอนาคต ขั้นที่ 8 ขาย เนื่องจากเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่เศรษฐกิจการค้า แต่ก็ไม่ใช่เศรษฐกิจหลังเขา การค้าขายสามารถทำได้ แต่ทำภายใต้การรู้จักตนเอง รู้จักพอประมาณ และทำไปตามลำดับ โดยของที่ขาย คือ ของที่เหลือจากทุกขั้นแล้วจึงนำมาขาย เช่น ทำนาอินทรีย์ ปลูกข้าวปลอดสารเคมี ไม่ทำลายธรรมชาติ ได้ผลผลิตเก็บไว้พอกิน เก็บไว้ทำพันธุ์ ทำบุญ ทำทาน แล้วจึงนำมาขายด้วยความรู้สึกของการ “ให้” อยากที่จะให้สิ่งดีๆ ที่เราปลูกเอง เผื่อแผ่ให้กับคนอื่นๆ ได้รับสิ่งดีๆ นั้นๆ ด้วย การค้าขายตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นการค้าที่มองกลับด้าน “เพราะรักคุณจึงอยากให้คุณได้รับในสิ่งดีๆ” พอเพียงเพื่ออุ้มชู เผื่อแผ่ แบ่งปัน ไปด้วยกัน และ ขั้นที่ 9 เครือข่าย กองกำลังเกษตรโยธิน คือการสร้างกองกำลังเกษตรโยธิน หรือการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงทั้งประเทศ เพื่อขยายผลความ สำเร็จตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สู่การปฏิวัติแนวคิด และวิถีการดำเนินชีวิตของคนในสังคม ในชุมชน เพื่อการแก้ปัญหาวิกฤต 4 ประการ อันได้แก่ วิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติ วิกฤตการณ์โรคระบาดทั้งในคน สัตว์ พืช วิกฤตเศรษฐกิจ ข้าวยากหมากแพงวิกฤตความขัดแย้งทางสังคม “ทีมข่าวเฉพาะกิจ” ได้ถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินโครงการโคก หนอง นา ทั้ง “เงินยวง คิ้ววงศ์งาม และ พิสิฐ์ มาสวิจิตร” กล่าวสรุปเหมือนกันว่า ทางกรมการพัฒชาชุมชน กระทรวงมหาดไทยได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือสนับสนุนดีแล้ว แต่อยากฝากให้ทางหน่วยงานราชการ เอาองค์ความรู้ว่าในแต่ละพื้นที่ ควรจะปลูกพืชชนิดไหน และให้การสนับสนุนอย่างถูกจุด เพราะแต่ละพื้นที่ก็มีสภาพแตกต่างกันไป อยากให้มีระบบมากกว่านี้ และต่อยอดทั้งต้นน้ำ และปลายน้ำ ภูมิสังคมในแต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์ที่ต่างกัน เพื่อที่จะนำงบประมาณพัฒนาได้อย่างตรงจุด กลุ่มโคกหนองนาของเราก็ได้ตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ทำการแปรรูปทางการเกษตร แต่ตลาดยังไม่กว้างเท่าที่ควร ในกลุ่มเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ เฉพาะที่อำเภอเลาขวัญ ใช้งบประมาณของตนเองดำเนินการเอาเอง “ตอนนี้เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่จริงที่ยังมีหนี้สินและภาระมาก การทำโคก หนอง นา มันต้องใช้เวลา จึงไม่สามารถรอเวลาได้ เพราะต้องการใช้เงิน กลุ่มเกษตรกรที่มาเข้าร่วมส่วนใหญ่จะมีเป้าหมายต้องการเงินไว ๆ แบบนั้น แต่หากถ้าเป็นคนรุ่นที่อายุ 60 ขึ้นไปแล้วไม่ได้สนใจเรื่องเงินมากนักก็อยากที่จะเผยแพร่องค์ความรู้ที่มีให้คนรุ่นใหม่มากกว่า เพราะการทำโคก หนอง นา หรือ ศาสตร์ของพระราชานี้ เป็นความมั่นคงให้ชีวิตและครอบครัวได้จริง ๆ ดีกว่าที่ไปเป็นพนักงานออฟฟิต หรือ ไปอยู่ตามโรงงาน ตอนนี้จะเห็นว่าบริษัทห้างร้าน โรงงานปิดกันเป็นจำนวนมาก หลายคนหมดทางไป ก่อหนี้ไม่รู้จบ..” การดำเนินโครงการโคก หนอง นา ในจังหวัดกาญจนบุรี สำนักงานพัฒนาการจังหวัดสรุปภาพรวมไว้ว่า มีจำนวน 634 แปลง แบ่งเป็น แปลงขนาด 15 ไร่ มีจำนวน 24 แปลง ขนาด 10 ไร่มีจำนวน 3 แปลง ขนาด 3 ไร่ มี 182 แปลง และขนาด 1 ไร่มีทั้งหมด 425 แปลง.. จำนวนผู้ชม : 608 Leave a ReplyFacebook Comments More Articles By the same author เจ้าคุณประสาร “ป่วย” ของดศาสนกิจทั้งปวง?? อุทัย มณี ก.ค. 29, 2023 วันที่ 29 ก.ค. 66 เฟชบุ๊ค พระราชสารวัชรบัณฑิต หรือ "เจ้าคุณประสาร"… สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ลงพื้นที่สระบุรี ให้กำลังใจวัดปลูกพืชผักภัยโควิด อุทัย มณี พ.ค. 24, 2020 วันที่ 24 พ.ค.2563 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช… “สมเด็จพระมหาธีราจารย์” แนะบัณฑิตใหม่ “มจร” เมื่อมีปัญญาต้องมีสติกำกับ ถึงจะไม่นำปัญญาไปใช้ทำลายล้าง อุทัย มณี ธ.ค. 10, 2023 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จัดพิธีประสาทปริญญา… ว่อนเน็ต!! คำสั่งปลด!!!ไวยาวัจกรวัดพระธาตุพนม วรมหาวิหาร อุทัย มณี ก.พ. 04, 2024 วันที่ 4 ก.พ. 67 พระธรรมวชิรโสภณ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม… “สงฆ์ภาค 14” สัมมนาเข้ม!! “ตำรวจพระ” “หลวงพี่น้ำฝน” ประกาศ ขอเป็นหน้าด่านลุยเอง!! อุทัย มณี ก.พ. 28, 2024 วันที่ 28 ก.พ. 67 ที่วัดบางช้างเหนือ ตำบลคลองใหม่ อำเภอสามพราน… สมาคมศิษย์เก่า มจร เห็นชอบมอบรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นประจำปี’67 จำนวน 36 รูป/คน อุทัย มณี มิ.ย. 20, 2024 วันที่ 20 มิถุนายน 2567 วานนี้ ที่ สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย… พระราชาคณะ “สนองพระราชดำริ” สมัครเรียนบาลี “คึกคัก” อุทัย มณี ส.ค. 28, 2024 วันที่ 28 สิงหาคม 2567 สืบเนื่องจากการประชุมมหาเถรสมาคมเมื่อวันที่… ปลัดมหาดไทย เป็นประธานพิธีทอดผ้าป่ากำแพงแก้วอุโบสถทองคำ วัดพระศรีอารย์ หวังต่อยอดและพัฒนาสู่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดราชบุรี อุทัย มณี ก.ย. 01, 2024 วันนี้ (1 ก.ย. 67) เวลา 09.00 น. ที่อาคารอเนกประสงค์วัดพระศรีอารย์ หมู่ที่… สมณศักดิ์กับความเป็น “พระภิกษุ” อุทัย มณี ก.ค. 12, 2021 ช่วงนี้สังคมสงฆ์ดูอาจจะ “ครึกครื้น” อยู่พอสมควร หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าพระราชทาน “สัญญาบัตรพัดยศ” แด่พระสงฆ์มาอย่างต่อเนื่อง… Related Articles From the same category อธิบดี พช. กำชับทุกจังหวัด เร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างโครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” ย้ำต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน วันที่ 3 สิงหาคม 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน… “ในหลวง” พระราชทานหนังสือบทเจริญพระพุทธมนต์ 15,200 เล่ม แก่กระทรวงมหาดไทย มอบพุทธศาสนิกชนสวดสาธยาย เป็นพระราชกุศลถวายแด่เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานหนังสือบทเจริญพระพุทธมนต์… รอง กมธ.ศาสนาฯสภาฯชี้ข้อมูลไม่ชัดเจน ปมเพจดังแฉพระสงฆ์เชียงใหม่แชทหนุ่ม เตือนระวังถูกฟ้องหมิ่นประมาท เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานกรรมาธิการการศาสนา… ปลัด มท. Kick off เปิดงานวันดินโลกปี 2565 ที่วัดป่าศรีแสงธรรม ประกาศเจตนารมณ์ สร้างความอุดมสมบูรณ์ทำให้ดินเป็นแหล่งก่อกำเนิดอาหารอย่างยั่งยืน ปลัด มท. Kick off เปิดงานวันดินโลกปี 2565 (World Soil Day 2022) ภายใต้แนวคิด “อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน… ญาติผู้ป่วยติดเตียง “ปลื้มปีติ” กก.ศีล 5 หนกลาง ลงชุมชนเยี่ยมมอบเงินและอุปกรณ์ของใช้!! วันที่ 11 กันยายน 2566 ณ วัดเกิดการอุดม ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี…
Leave a Reply