ไฟเขียว “สามเณร” ยังไม่จบประถม 6 ศึกษาต่อได้ทุกแห่งในสถานการศึกษาของรัฐ

วันที่ 16 มกราคม 2568   พระธรรมวชิโรดม เจ้าคณะภาค 6 ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการศาสนศึกษา มหาเถรสมาคม เปิดเผยว่า   ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ได้อนุมัติให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร รับสามเณรเข้าศึกษาระดับประถมศึกษาแล้ว เมื่อวันที่ 27 กรกฏาคม 2567 นางสมฤดี   ลันสุชีพ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษาปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการศึกษาลงนามหนังสือโดยระบุว่าคณะกรรมการรับนักเรียนของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบให้รับสามเณรเข้าศึกษาระดับประถมศึกษาในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครแล้ว  พร้อมนี้เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 ยังมีมติเห็น ชอบ“แนวทางการรับสามเณรเข้าศึกษาในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร อีกด้วย

พระธรรมวชิโรดม กล่าวต่ออีกว่า สืบเนื่องปัจจุบันเยาวชนที่ยังไม่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาเมื่อเข้ามาบวชเป็นสามเณรมีช่องทางการศึกษาได้หลากหลาย ไม่ว่าจะศึกษาในสถานศึกษาสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ หรือ สกร.(กศน.เดิม),สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานฐาน หรือ สพฐ., โรงเรียนการกุศลของวัด สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนหรือสช.หรือแม้กระทั่งโรงเรียนในสังกัดการปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต.,อบจ, รวมทั้งโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะในส่วนของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครนั้น ได้มีประกาศแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับสามเณรไว้แล้วโดยเน้นการจัดการศึกษาตามความเหมาะสมต่อ“สถานภาพและศักยภาพ”ของสามเณรและการออกเอกสารหลักฐานการศึกษาของสามเณรเช่น ปพ.1หรือใบประกาศนียบัตรจะต้องระบุคำนำหน้าชื่อเป็น“สามเณร”ตามสถานภาพในทะเบียนราษฏรอีกด้วย

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า พระภิกษุสงฆ์-สามเณรในประเทศไทย ในปีพ.ศ. 2567 (21กันยายน2567) มีจำนวนพระภิกษุสามเณร รวม 273,298 รูป โดยเป็นพระภิกษุ 242,839 รูป (มหานิกาย 212,040 รูป,ธรรมยุติ 30,778 รูป) และสามเณร 30,480 รูป (มหานิกาย 26,585 รูป,ธรรมยุติ 3,895 รูป) โดยมีการดำเนินการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติตามมติมหาเถรสมาคมแล้วจำนวน 242,810 รูป

 

Leave a Reply