ปลัดมหาดไทยโค้ชชิ่งถอดบทเรียนการบริหารงานเชิงพื้นที่ที่ประสบผลสัมฤทธิ์ (Best Practice) ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ

ปลัดมหาดไทยโค้ชชิ่งถอดบทเรียนการบริหารงานเชิงพื้นที่ที่ประสบผลสัมฤทธิ์ (Best Practice) ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เน้นย้ำ “คน และ ตัวผู้นำ” คือปัจจัยแห่งความสำเร็จ ต้องบูรณาการการทำงาน ทำให้ทุกหมู่บ้านเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน” ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 เวลา 13.00 น. ที่ห้อง Convention ชั้น 4 อาคาร Convention Center โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมถอดบทเรียนการบริหารงานเชิงพื้นที่ที่ประสบผลสัมฤทธิ์ (Best Practice) รวม 6 ด้าน โดยผู้ว่าราชการจังหวัด 6 จังหวัด ได้แก่ 1) การขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนของจังหวัดอุดรธานี โดย นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี 2) การขับเคลื่อนหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ของจังหวัดอุบลราชธานี โดย นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี 3) การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนของจังหวัดเลย โดย นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย 4) การน้อมนำพระราชดำริ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเองและทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ของจังหวัดลพบุรี โดย นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี 5) การจัดทำผังภูมิสังคม (Geo – Social Map) ของจังหวัดมหาสารคาม โดยนายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม 6) การบริหารจัดการปัญหาหมอกควันและ PM 2.5 ของจังหวัดนครนายก โดยนายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก โดยมี หัวหน้าส่วนราชการระดับกรม หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด หัวหน้าสำนักงานจังหวัด คณะที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ ร่วมประชุม และถ่ายทอดสดไปยังศาลากลางจังหวัด ที่ทำการปกครองอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ผ่านระบบ DOPA Channel

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นการถอดบทเรียนการบริหารงานเชิงพื้นที่ที่ประสบผลสัมฤทธิ์ (Best Practice) 6 เรื่องตามภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย โดยมีผู้นำของจังหวัด คือ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 6 จังหวัด นำเสนอถึงผลงานที่ภาคภูมิใจ ตลอดจนถึงกลยุทธ์และกลวิธีในการนำไปสู่ความสำเร็จ และปัญหาอุปสรรคที่พบเจอจากการดำเนินงาน เพื่อผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าสำนักงานจังหวัด ปลัดจังหวัด ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ได้นำบทเรียนไปเป็นแนวทางในการประยุกต์ขับเคลื่อนและผลักดันปรับใช้กับงานในพื้นที่ของท่านได้ในอนาคต และถ่ายทอดในการทำงานในพื้นที่ได้ อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของการถอดบทเรียนในครั้งนี้

“จากการนำเสนอของผู้ว่าราชการจังหวัด 6 จังหวัด สิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดที่ถือเป็นปัจจัยความสำเร็จของทุกงานนั้น “ขึ้นอยู่กับคน” และ “ตัวผู้นำ” ดังเช่นการนำเสนอของผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ในเรื่องการจัดการสถานการณ์ภัยพิบัติฉุกเฉิน ซึ่งสิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นลำดับแรก คือ การบูรณาการร่วมกันเพื่อ “ป้องกันก่อนการเกิดเหตุ” โดยเฉพาะความตระหนักรู้และจิตสำนึกของพี่น้องประชาชน รวมถึงการน้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ไปประยุกต์ใช้และจัดการพื้นที่ ตลอดจนการสร้างทีมงานในการบูรณาการขับเคลื่อนงานต่าง ๆ ทั้งการดำเนินการระหว่างเกิดภัย และการฟื้นฟูเยียวยาหลังเกิดภัย ถ้าครบกระบวนการดังกล่าวจึงจะเป็นการทำงานบูรณาการอย่างยั่งยืน หรือในส่วนของการจัดทำผังภูมิสังคมของจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นการบริหารจัดการน้ำโดยบูรณาการข้อมูลผังน้ำชุมชน ด้วยการนำเอาระบบสารสนเทศมาใช้ ซึ่งสิ่งที่ต้องคำนึงถึงนอกจากเป็นการบูรณะฟื้นฟูแหล่งน้ำคูคลองแล้ว ยังต้องคำนึงถึงแหล่งน้ำสาธารณะอื่น ๆ ร่วมด้วย ทั้งที่ราบและที่สูง ที่สามารถใช้ประโยชน์เพื่อส่วนรวมได้ และยังจะส่งผลในการช่วยเสริมเรื่องการรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การน้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ตามศาสตร์พระราชา คือ ต้องทำ 1 อย่างให้ได้ประโยชน์มากกว่า 1 อย่าง เช่น ฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติให้มีความเหมาะสมกับการเป็นที่กักเก็บน้ำ และในส่วนของการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนของจังหวัดเลย ซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้นำเสนอเน้นย้ำถึงแนวทางการทำให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืนนั่นคือ การร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ และทำเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่าการจัดการขยะทำให้บ้านเมืองสะอาด แต่สิ่งสำคัญยิ่งไปกว่าบ้านเมืองสะอาด นั้นคือ “การช่วยกันดูแลอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” ที่จะเป็นผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน และสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ทำให้โลกใบนี้ได้อยู่ยืนยาว พร้อมทั้งต้องสื่อสารให้พี่น้องประชาชนทุกคนได้เป็นพลเมืองดีของโลก ด้วยการรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมกับการเป็นสื่อมวลชน เป็นผู้สื่อข่าว เพื่อสื่อสารให้กับสังคมได้รับรู้และตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า “คนเป็นผู้นำ” ต้องช่วยกันคิด ในฐานะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะต้องช่วยกันขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ โดยต้องเริ่มต้นจากรากฐานของพื้นที่ นั่นคือ “หมู่บ้าน” เพราะจุดแตกหักของการพัฒนาทุกด้านอยู่ที่หมู่บ้าน ที่พวกเราทุกคนได้มุ่งมั่นตั้งใจในการทำให้ทุกหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ตาม 17 เป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) ที่พวกเราทุกคนได้ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อน 76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน ด้วยการ “สร้างทีม” เป็นทีมอำเภอ ทีมตำบล ทีมหมู่บ้าน และนำแนวทาง 4 กระบวนการสำคัญมาใช้ในการทำงานของทีม คือ การร่วมกันพูดคุย ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมรับประโยชน์ และต้องทำอย่างเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการงานกับทุกภารกิจของกระทรวงมหาดไทย ทำให้พี่น้องประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในขั้นพื้นฐาน (Basic Need) มีความมั่นคงทางอาหาร มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย มีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อยู่ในศีลธรรมถ่ายทอดไปสู่ลูกหลาน ต่อยอดไปสู่ความต้องการขั้นสูง คือ การสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างอาชีพ ซึ่งสิ่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกท่านได้ดำเนินการประสบความสำเร็จในพื้นที่ได้นั้น ทั้งหมดอยู่ที่ “ใจ” หรือ “Passion” ของพวกเราทุกคน เพราะทุกสิ่งที่พวกเราได้ช่วยกันทำนั้น จะเป็นเครื่องตอกย้ำและเป็นตัวอย่างให้กับคนรุ่นหลังว่า งานของกระทรวงมหาดไทยและงานของทุกจังหวัดสามารถประสบความสำเร็จเกิดมรรคเกิดผลเกิดประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ ด้วยเพราะการที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกท่านในวันนี้ได้ร่วมกันวางรากฐานเอาไว้จนประสบความสำเร็จและเจริญรุ่งเรือง และเป็นเครื่องเตือนใจให้กับคนมหาดไทยรุ่นต่อไปว่า งานของพวกเราทุกคน คือ การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพื่อให้พี่น้องประชาชน ลูกหลานเยาวชนคนไทยของเราได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ให้สมกับเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ดี เป็นราชสีห์ผู้ภักดีต่อแผ่นดิน

Leave a Reply