ที่ปรึกษาประธาน กมธ.ศาสนา “วอน” อัยการสูงสุด “สั่งไม่ฟ้อง” อดีตพระพรหมเมธี

วันที่  18 ม.ค. 2568  วานนี้ ดร.ณพลเดช มณีลังกา ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสภา และที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้โพสต์เฟสบุ๊คระบุว่า วันนี้ถือว่าเป็นวันมหาปีติอีกวันหนึ่ง ระยะเวลาเกือบ 7 ปี ที่ได้เห็นเจ้าคุณพรหมสิทธิซึ่งถูกจองจำและถูกใส่ร้ายต่างๆ นานา จนต้องถูกถอนสมณศักดิ์ ถูกถอดออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ถูกถอดจากกรรมการมหาเถรสมาคม และถูกถอดจากตำแหน่งเจ้าคณะภาค ถึงวันนี้ถือว่าได้ตำแหน่งเดิมกลับคืนมา

จากที่ผมเคยดำรงตำแหน่งเป็นอนุกรรมาธิการพุทธศาสนา สภาผู้แทนราษฎร ได้ศึกษาข้อกฎหมายและทำการโต้แย้ง ประเด็นที่ถกเถียงกันหลักๆ คือ สละสมณเพศ แปลว่า สึกหรือไม่สึก สุดท้ายผลก็คือไม่สึก ต้องบอกว่าวันนี้ฟ้าเปิดครับ เป็นวันที่ได้ตำแหน่งเดิมกลับมาครบโดยสมบูรณ์ ตามหลักของกฎหมาย หลักการกลับคืนสู่ฐานะเดิม (Restitutio in integrum) รวมถึงหลักความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล (Causation) สำหรับ Restitutio คำนี้มาจากภาษาละติน มีความหมายทางกฎหมายที่สำคัญ โดยหมายถึง:

– การทำให้คู่กรณีกลับคืนสู่สถานะเดิมก่อนที่จะมีการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหาย

– เป็นหลักการทางกฎหมายที่มุ่งเยียวยาความเสียหายโดยการทำให้ทุกอย่างกลับคืนสู่สภาพเดิมเสมือนไม่มีการกระทำนั้นเกิดขึ้น

– กฎนี้ยังครอบถึงกฎหมายระหว่างประเทศ หมายถึงการเยียวยาความเสียหายโดยการทำให้รัฐที่ถูกละเมิดกลับคืนสู่สถานะเดิมก่อนที่จะมีการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในพิธีมอบตราตั้งรักษาการเจ้าคณะภาค 11 โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ ท่านพูดชัดว่าตั้งใจว่าจะคืนตำแหน่งเจ้าคณะภาคให้แก่พระพรหมสิทธิในปลายปี แต่มีเหตุการเจ้าคณะภาค 11 มรณะก่อนจึงเร่งแต่งตั้ง ทั้งนี้ ผมได้ยินเสียงหนาหูของพุทธบริษัทกล่าวถึงว่า ควรชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นการเสียโอกาส ซึ่งลำดับการเป็นพระราชาคณะชั้นสมเด็จควรจะเป็นลำดับของท่านก่อน อันนี้ก็ต้องอยู่ที่ฟ้าประทานครับ ซึ่งผมคิดว่าฟ้ารู้ฟ้าเห็นครับ

อีกประเด็นหนึ่งคือกรณีอดีตพระพรหมเมธี (จำนงค์ ธัมมจารี) แห่งวัดสัมพันธวงศ์ ธรรมยุติกนิกาย ต้องขอเรียนว่าบ้านผมอยู่เยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ คนเยาวราชต่างอึดอัดในเรื่องนี้ครับ เพราะเห็นว่าจากกรณีพระพรหมดิลกและพระพรหมสิทธิ ซึ่งถูกใส่ร้ายด้วยคดีเงินทอนวัด เหมือนกรณีวัดสัมพันธวงศ์ที่ถูกอ้างว่ายักยอกเงินห้าล้านบาทในการสร้างหอสมุด ซึ่งศาลได้พิพากษาเห็นชัดแล้วว่าเป็นกรณีที่ไม่มีความผิด

ผมเห็นว่าควรจะดำเนินตามหลักความเสมอภาค (Principle of Equality) ซึ่งได้รับการบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งในมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน” หากประเทศไทยใช้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ หรือระบบกฎหมายจารีตประเพณี ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยผู้พิพากษาผ่านการตัดสินคดีความของศาล อดีตพระพรหมเมธีก็ต้องถือว่าพ้นมลทินหลังการตัดสินของพระพรหมสิทธิ

ขณะนี้ทราบว่าเรื่องอยู่ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ผมในฐานะที่เป็นตัวแทนของคนเยาวราชและคนสัมพันธวงศ์ ต้องขอวิงวอนครับ วงการพุทธศาสนาเสียหายมากแล้วครับ การนี้ควรมี “คำสั่งไม่ฟ้อง” ให้กับอดีตพระพรหมเมธี วัดสัมพันธวงศ์ จะถือเป็นของขวัญให้กับคนไทยในปีมงคลนี้ด้วยครับ

Leave a Reply