‘ความรอบรู้’ ตั้งอยู่บนหลักธรรม ‘พระพุทธเจ้า’ HEALTH LITERACY อาวุธทางปัญญา – วัคซีนของสังคม

โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง Health Literacy

คำว่า Literacy หรือที่ในภาษาไทยเรียกว่า “ความรอบรู้” หรือ “การรู้เท่าทัน” อาจจะเป็นคำที่ไม่คุ้นหูของคนไทยสักเท่าใด หากแต่คำๆ เดียวกันนี้กลับเป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ และเป็นสิ่งที่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนกำลังผลักดันให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

   นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอนโยบายเฉพาะประเด็นว่าด้วยความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ (Health Literacy for NCDs) อธิบายว่า Literacy เป็น  “วิธีการ” ที่จะนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ซี่งครอบคลุมในทุกๆ ด้าน

เมื่อ Literacy เป็นวิธีการ ก็ย่อมมีขั้นตอนในการดำเนินการ ซึ่งเริ่มจากการ “เข้าถึง” ข้อมูลความรู้ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ มีวิชาการรองรับ ซึ่งผ่านการกลั่นกรองแล้วว่าเป็นความจริง ตามมาด้วยการทำให้เกิดความ “เข้าใจ” ในสิ่งที่ได้รับมา และนำมาสู่การหา “ข้อสรุป” เพื่อตัดสินใจให้ได้ว่าจะ “ปฏิบัติ” อย่างไร นั่นหมายถึงจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาในเรื่องต่างๆ ได้อย่างไร

“ในทุกๆ ขั้นตอนของชีวิตมนุษย์ จำเป็นต้องใช้เรื่องความรอบรู้ในทุกๆ ด้าน องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้สอนเรื่องทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค รวมถึง “กาลามสูตร” คือฟังมาแล้วอย่าเพิ่งปลงใจเชื่อตามๆ กัน แต่ต้องไตร่ตรอง ทดลอง และปฏิบัติดูก่อน ถ้าดีจริงแล้วค่อยเชื่อ ซึ่ง Literacy ก็คือหลักใหญ่ใจความนี้”

นพ.ณรงค์ศักดิ์ มองว่า ความรอบรู้ด้านสุขภาพภาพในประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในขั้นของการ “เข้าถึงข้อมูล” แต่การเดินหน้าต่อไปให้ถึงการหา “ข้อสรุป” เพื่อตัดสินใจไปสู่การปฏิบัตินั้นยังอ่อนด้อยอยู่ โดยการทำงานในขั้นต่อไปคือ การพัฒนากระบวนการที่จะทำให้การรับรู้และความเข้าใจ เข้าใกล้กันมากที่สุด ซึ่งจะเป็นการ “ติดอาวุธทางปัญญา” ให้กับประชาชน และเป็นการสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” ให้กับสังคมไปพร้อมๆ กัน

“สังคมไทยทุกวันนี้เริ่มตื่นตัวแล้ว มีการตั้งคำถามว่าที่เราเข้าถึงข้อมูลนั้นๆ เป็นความจริงหรือไม่ จึงเริ่มมีกระแสชัวร์ก่อนแชร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่จะดีกว่านี้หากเราสามารถสร้างกระบวนการที่สามารถกลั่นกรองได้ตั้งแต่ต้นน้ำ คือก่อนที่ใครจะปล่อยข้อมูลเหล่านี้ออกมา ต้องมีความมั่นใจว่าเป็นข้อมูลที่ประจักษ์แล้ว มีหลักวิชาการรองรับ และได้ผลดี ซึ่งอาวุธทางปัญญาของเราก็คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ส่วนวิธีการค้นหาทุกข์เพื่อนำไปสู่การดับทุกข์ซึ่งก็คือข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ผ่านกลั่นกรองแล้ว เปรียบได้กับวัคซีนที่ฉีดเข้าไปเพื่อให้คนและสังคมเกิดภูมิคุ้มกัน”

ดังนั้น สิ่งที่ภาคีเครือข่ายและทุกภาคส่วนกำลังร่วมกันสร้างให้เกิดขึ้นจริง ก็คือการฝังกระบวนการ Literacy ในทุกๆ ด้านเข้าไปในตัวบุคคลและสังคม ซึ่งจะทำให้เขาเหล่านั้นไม่ถูกล่อลวงด้วย “กิเลส” ผ่านการตลาดในรูปแบบต่างๆ เช่น ลงทุนแบบนี้หรือซื้อหุ้นตัวนี้แล้วจะรวย กินยาตัวนี้แล้วจะแข็งแรง หรือสินค้าตัวนี้เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตขาดไม่ได้ เช่น โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ล่าสุด ฯลฯ เพราะหากมี Literacy แล้ว เขาก็จะเกิดกระบวนการอัตโนมัติขึ้นก่อนการตัดสินใจในเรื่องนั้นๆ ได้อย่างถูกต้อง

นพ.ณรงค์ศักดิ์ ย้ำประเด็นว่า การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายและการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ต่อการพัฒนาประเด็นว่าด้วย ความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ (Health Literacy for NCDs) ใน 4 กลุ่มหลักคือ 1.กลุ่มสื่อมวลชน 2.กลุ่มเอกชนและอุตสาหกรรม 3.กลุ่มระดับพื้นที่ (อบต. อบจ.) 4.กลุ่มกองทุน (เกี่ยวข้องกับงบประมาณด้านสุขภาพ) เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เพราะคนใน 4 กลุ่มนี้ ถือเป็น “จุดตั้งต้น” หรือเป็น “ต้นน้ำ” ให้มีความเข้าใจในกระบวนการสร้างและส่งต่อความรู้ไปสู่ประชาชน สังคม ชุมชม ก่อนที่จะขยายผลไปสู่การตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาวะของตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคมต่อไป

                                                                    /////////////////////////////

ขอบคุณ : สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

Leave a Reply