โดย.. ประสิทธิ์ แสงทับ ป.ธ.๙
” บุญเดิมเสริมส่งให้ ได้ดี
บุญยิ่งทำยิ่งทวี เพริศพริ้ง
บุญยิ่งมากยิ่งมี ความสุข
บุญติดตามไม่ทิ้ง เช่นเค้าเงาตนฯ..”
บุญทำเล็กบุญทำน้อยก็ขอให้ได้ทำทุกวันทำบ่อยๆก็มากเองท่านเปรียบเหมือน “น้ำหยดทุกวันไม่นานก็เต็มตุ่ม การได้สั่งสมบุญย่อมนำความสุขมาให้” และตามคุ้มครองผู้ทำเหมือนเงาติดตามตัวผู้ทำ ลองสังเกตความเป็นไปในชีวิตของคนเราแต่ละคนในแต่ละวันก็จะเห็นทั้งในส่วนที่เกิดกับเราเองและคนรอบข้างเรา ถามว่าทำไม เวลาเกิดอุบัติภัยใหญ่ๆ หลายคนเสียชีวิต ทำไมจึงมีคนหนึ่งรอดปลอดภัย อย่างเช่น เครื่องบินตกแล้วมีเด็กรอดชีวิต เรือล่มหลายคนเสียชีวิต มีคนหนึ่งรอดทั้งที่ทุกวันเวลาเดียวกันนั้นเขาต้องเดินทางไปแต่วันนั้นให้มีเหตุการณ์บางอย่างทำให้เขาไปไม่ทัน เหล่านี้ลองคิดไตร่ตรองให้ดีเถิด ไม่ใช่ความบังเอิญแน่นอน สิ่งหนึ่งนั่นคือพลังบุญบันดาลให้เขารอดปลอดภัย เรื่อง ”ของดีจากชาดก” วันนี้ ขอนำเรื่องในคัมภีร์พระพุทธศาสนามาเล่าเป็นอุทาหรณ์สอนใจพวกเราเพื่อจะได้ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต บุญจงทำกันไว้ บาปจงหลีกให้ห่างไกล บุญนำเราไปสู่ความสุข บาปนำไปสู่ความทุกข์หายนะ
“ ลูกเอ๋ย บวชให้แม่ได้เห็นชายผ้าเหลืองสักพรรษานะลูก” คำพูดนี้คิดว่า ชาวพุทธทุกคนต้องเคยได้ยินมา เกิดเป็นผู้ชายพ่อแม่พี่น้องก็เฝ้ารอให้มีอายุครบ ๒๐ ปีจะได้เข้าบวชเรียนเป็นญาติกับพระพุทธศาสนา คำว่าบวชก็คือการเว้นขาดจากบาปอกุศลทั้งหลาย คนบวชก็ได้รับอานิสงส์บุญพ่อแม่พี่น้องก็ได้ด้วย การบวชเป็นเรื่องของการเว้นขาดจากการกระทำบาปทำชั่ว ทางกาย วาจา และทางใจ เรานำเอาคำว่า “บวช” นี้ มาใช้ในภาษาไทย รากคำเดิมคือ “ปะวะชะ” ในภาษาบาลี แปลว่า งดเว้นเด็ดขาด ผู้ที่เป็นนักบวชก็คือ ผู้งดเว้น งดเว้นจากสิ่งที่เป็นข้าศึกทำร้ายความสงบของจิตใจ ผู้ที่บวช เขาเรียกว่า ประพฤติพรหมจรรย์ อันหมายถึง ความบริสุทธิ์ของจิตใจ การได้บวชเป็นสามเณรก็ดีล้วนมีอานิสงส์มาก ยิ่งการได้บวชปฏิบัติเป็นพระภิกษุก็ยิ่งเป็นประโยชน์อานิสงส์มากมายเหลือคณานับ ทำให้เกิดความร่มเย็น เป็นสุข สงบ เป็นบุญใหญ่ของผู้ได้บวชเอง และผู้ที่ให้การสนับสนุนให้ผู้อื่นได้บวช ได้อุ้มผ้าไตร ได้ถวายทานด้วยเคารพ ได้ส่งเสริมพระสัทธรรมให้มั่นคง ได้ช่วยจรรโลงพระศาสนา วันนี้จึงขอนำเอาเรื่อง สุบินสามเณร ในปัพพชาสูตร สุตตนิบาต มหาวรรคว่าด้วย การบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา เว้นขาดจากบาปอกุศลทางกาย วาจา ใจ ปัจจัยให้ได้เข้าเข้าถึงพระนิพพาน เริ่มเรื่องด้วยพุทธภาษิตคำสอนว่า
อุทะกัญฺหิ นะยันฺติ เนตฺติกา อุสุการา นะมยันฺติ เตชะนํ
ทารุง นะมะยันฺติ ตัจฺฉะกา ตะตานัง ทมยนฺติ ปณฺฑิตา.
แปลความว่า คนไขน้ำทั้งหลายย่อมไขน้ำ ช่างศรทั้งหลายย่อมดัดศร
ช่างถากทั้งหลายย่อมถากไม้ บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตน.
สามเณรสุบิน มีบิดามารดาประกอบอาชีพเป็นพรานเข้าป่าล่าสัตว์เลี้ยงชีวิต ลูกชายเติบโตด้วยบุญเก่าในอดีตชาติ มีจิตใจเลื่อมใสในศาสนาของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยมีคติไม่ตรงกัน พ่อชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แม่ก็มีอารมณ์จิตอุปนิสัยใจคอโน้มเอียง เหมือนกับพ่อ แต่ว่าสำหรับลูกชายกลับเป็นคนที่มีจิตน้อมไปในกุศลในพระพุทธศาสนา เฝ้าอ้อนวอนให้พ่อแม่เลิกล่าสัตว์ มาประกอบอาชีพอื่น แต่ไม่เป็นผล วันหนึ่งจึงหนีพ่อแม่ไปบรรพชาเป็นสามเณร ในสำนักครูบาอาจารย์ โดยตัดขาด ไม่มีโอกาสจะพบกับพ่อแม่เลยตั้งแต่ออกบวช
เมื่อกาลเวลาล่วงไปพอสมควร พ่อและแม่ของสามเณรล่วงกาลผ่านวัย ก็ตายจากโลกมนุษย์ไป ด้วยอำนาจกรรมที่ได้กระทำบาปมาทั้งชีวิต พระยายมก็ส่งยมทูต มาเชิญไปสู่ขุมนรก ในสำนักพระยายม ได้ทำการสอบสวนตามความเป็นจริงว่า เมื่อยังมีชีวิตอยู่ในมนุษย์โลกได้ทำกรรมที่เป็นบาปอะไรบ้าง แกก็รับทุกอย่างว่าได้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ตั้งแต่สัตว์เล็กถึงสัตว์ใหญ่ อาศัยกฎของกรรมอันนี้ ก็ปรากฏว่า ยมบาลได้ตัดสินให้ท่านทั้งสองจะต้องลงนรก ให้ยมทูตนำไป แดนนรก เมื่อนำไปแล้ว ตามธรรมดาสัตว์นรกที่มีกรรมที่เป็นบาปทั้งหมด เมื่อเข้าเขตของนรกแล้ว ก็ต้องลงไปในขุมนรกนั้นได้ทันที
แต่ด้วยอานิสงส์บางอย่าง ทำให้บิดามารดาของสามเณรนี้ลงไปนรก ไม่ได้ นายนิรยบาลจึงจับโยนลงไปเข้าขุมนรก ก็ปรากฏว่ามีหวายใหญ่มารองรับท่านทั้งสอง ไว้ เป็นหวายตาข่ายรองรับไว้ไม่ให้ตกลงไปในนรก พระยานิรยบาลได้ทำอย่างนี้ถึง 3 วาระ คนทั้งสองก็มิได้ลงลงไปในนรกได้ ทั้งนี้ก็ด้วยพลังบุญที่สุบินสามเณรบุตรชายได้บำเพ็ญไว้มาปกป้องคุ้มครอง เพราะว่า ขณะที่พ่อและแม่สามเณรถูกผลักลงนรกนั้นได้เห็นแสงไฟสว่างวาบขึ้น ก็คิดขึ้นมาในใจว่า แสงสว่างนี้คืออะไรหนอ มองดูไปก็คล้ายจีวรของพ่อสามเณรน้อยสุบินลูกชายของเราที่หนีไปบวช ตอนนั้นเมื่อทราบว่าลูกชายไปบวชเป็นสามเณร ไปบวช ท่านทั้งสองก็ยังเคยไปทวงให้สึก แต่สามเณรก็ไม่สึก ภาพสามเณรลูกชายนั้น ที่นุ่งห่มผ้าเหลืองที่พ่อกับแม่เห็นเพียงนิดเดียวเท่านั้น จิตใจนึกขึ้นมาได้ว่า สีจีวรคล้ายสีจีวรของสามเณรลูกชายของเราดุจดั่งสีของปลวไฟ เพราะแสงไฟบางตอนก็มีสีเหลือง จิตคิดประวัติไปเป็นอย่างนี้ จิตเป็นอนุสติชั่วขณะหนึ่ง เกาะอยู่กับสีผ้าจีวรของสามเณรลูกชาย เลยทำให้ประตูนรกนั้นไม่อาจทำอันตรายได้ ด้วยเพราะอานิสงส์ผลบุญที่สามเณรลูกชายแผ่ให้ไปนั้นปกป้องคุ้มครอง เป็นผลให้บิดามารดาทั้งสองไม่ต้องตกลงไปสู่ขุมนรกอเวจีนั้น
เมื่อยมทูตเห็นปรากฏการณ์เป็นเช่นนั้นจึงได้นำพ่อแม่สามเณรสุบินนั้นกลับมาสำนักพระยายมราช พระยายมก็ได้สอบถามว่า กรรมใดที่เป็นกุศลนั้น ท่านทั้งไม่เคยทำบ้างเลยหรือ สำหรับบิดามารดาของสามเณรก็กล่าวว่า กรรมใด ๆ ที่เป็นกุศล ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งแก่ตายไม่เคยทำเลย มีอย่างเดียวคือมีลูกชายอยู่คนหนึ่งชื่อสุบิน เขามิได้พอใจในการทำบาปที่เราทั้งสองนี้ทำ แต่กลับ สอนให้เราทั้งสองเลิกฆ่าสัตว์ตัดชีวิต สามเณรเองก็ไม่ทำ ในที่สุดก็ได้หนีไปบวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า..
Leave a Reply