เปิดอก !! 2 เจ้าคุณราช คีย์แมนขับเคลื่อนปฎิรูปพุทธศาสนา

สัมภาษณ์พิเศษ :  พระราชวรเมธี  ประธานคณะกรรมการประสานงานแผนยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา (คปพ.)  พระราชวรมุนี กรรมการประสานงานแผนยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา  (คปพ.) :  โดย  อุทัย มณี

………………………………

การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาถือเป็นวาระแห่งชาติ เพราะได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่กำหนดให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำการศึกษาวิเคราะห์ และจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปด้านต่างๆ  เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เว้นแม้กระทั้งสถาบันสงฆ์

สภาการปฎิรูปแห่งชาติ ภายใต้การนำของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทาง และมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้เสนอการปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนาทั้งหมด  4  ข้อ    คือ  ข้อ 1. ให้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุ ข้อ 2. เสนอให้แก้กฎหมายมหาเถรสมาคมฉบับที่ 24 พ.ศ.2541 ว่าด้วย การแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ และ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ในสาระสำคัญ คือ  การกระจายอำนาจ ในการปกครองคณะสงฆ์   ข้อ 3. ต้องมีกลไกนำหลักปฏิบัติตามพุทธบัญญัติ ที่ทรงไว้ซึ่งความดีอย่างถูกต้องมาปฏิบัติ เพื่อไม่ให้มีการบิดเบือนหรือแอบอ้างพระธรรมวินัย และ ข้อ 4.ให้ปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์ให้ทันเหตุการณ์ โดยราชการต้องให้ความสำคัญด้านการศึกษาของคณะสงฆ์ โดยเฉพาะศึกษาปริยัติธรรม แผนกบาลี และแผนกธรรม ไม่ได้ปรับปรุงแก้ไข ทำให้ค่านิยมในหมู่พระภิกษุ สามเณร และเยาวชนลดลง

ในการนี้มหาเถรสมาคม องค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย แต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ของมหาเถรสมาคม  จากนั้นคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ได้มีการประชุมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ตามภารกิจกรอบ งานคณะสงฆ์  6  ด้าน   ประกอบด้วย  1) ด้านการปกครอง  2) ด้านการศาสนศึกษา  3) ด้านการศึกษาสงเคราะห์ 4) ด้านการเผยแผ่ 5) ด้านการสาธารณูปการ 6) ด้านการสาธารณสงเคราะห์  และบวกด้านการพัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก  และเมื่อวันที่ 10   มกราคม 2560 ได้เสนอแผนแม่บทการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ระยะ 5  ปี พ.ศ. 2560 -2560   ต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคม ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบแผนแม่บทการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา และให้ดำเนินการได้ทันที และรวมทั้งคณะรัฐมนตรีก็เห็นชอบตามมติของมหาเถรสมาคม

 

◊ การปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนา 6+1 ตอนนี้มีอะไรที่เกิดเป็นรูปธรรมชัดบ้าง

(พระราชวรเมธี)   มส.ให้ความเห็นชอบแผนการปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนา คำถามว่าแผนนี้มาจากไหน ก็มาจากพระสังฆาธิการและชาวพุทธทั่วประเทศ เป็นการรวบรวมจากพระสังฆาธิการทุกภาคส่วน แล้วมาตกผนึกออกเป็น 6+1 ตามภาระงานที่คณะสงฆ์ทำอยู่นั้นเอง  และหากจะถามต่อว่า  6 ด้านมีอะไรบ้าง   ก็ คือ   1) ด้านการปกครอง 2) ด้านการศาสนศึกษา 3) ด้านการศึกษาสงเคราะห์ 4) ด้านการเผยแผ่ 5) ด้านการสาธารณูปการ 6) ด้านการสาธารณสงเคราะห์  การระดมนี้ก็มีคณะกรรมการที่มหาเถรสมาคมแต่งตั้งนั่นเองเป็นตัวหลักในการไประดมมา แล้วก็มาตกผนึกว่า คณะสงฆ์ นักวิชาการและชาวพุทธ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างใน 6 ด้านนี้ รวมทั้งบวก 1 คือ การพัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก

 

◊ กลุ่มคนที่เขาขอปฎิรูปก่อนหน้านี้เช่นกลุ่มนายไพบูลย์ นิติตะวัน ได้เข้ามาร่วมด้วยหรือไม่

 (พระราชวรเมธี)    อันนี้คนละส่วนกัน นั่นเขาเป็น สปช. (สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ )  เขาเสนอของเขาอยู่แล้ว ซึ่งมีทั้งหมด 4 ด้าน คือ นึ่ง เรื่อง ทรัพย์สิน สอง เรื่องการปกครองคณะสงฆ์ การกระจายอำนาจ สามเรื่องพระไตรปิกฎ การบิดเบือนพระธรรมวินัย และสี่ เรื่องการศึกษาของคณะสงฆ์  ซึ่งทั้งหมดตอนนี้แนวคิดนี้ทั้งหมดก็มารวมอยู่ใน 6 ด้าน และการทำงานก็คืบหน้าไปมากแล้ว

 

◊ สรุปแปลว่าการปฎิรูปคณะสงฆ์ คุณไพบูลย์ เป็นคนริ่เริ่มหรือคณะสงฆ์คิดกันเอง

(พระราชวรเมธี )  ไม่เลย  คณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคมคิดก่อนอยู่แล้วว่าการปฎิรูป  “เราต้องทำ เพราะรัฐธรรมนูญบังคับ” และมหาเถรสมาคมก็คิดต่อว่า การปฎิรูป ทำไมเราไม่ทำงานที่คณะสงฆ์ทำอยู่แล้ว 6  ด้าน 6 งานดังที่กล่าวมาแล้ว มหาเถรสมาคมจึงตั้งกรรมการขึ้นมา 6+1 แล้วไประดมความคิดเห็นมา

  (พระราชวรมุนี)    แนวคิดการปฎิรูปของคณะสงฆ์ คือแนวคิดบนฐานแนวคิดสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.)  บวกกับของคณะสงฆ์เอง  หากจะถามว่า สปช. เป็นคนจุดประกายไหม ก็ต้องยอมรับว่าก็มีส่วน ทำให้คณะสงฆ์ตื่นตัว

 

◊ คณะสงฆ์เคยคิดไหมว่า อยากจะปฎิรูปองค์กรตัวเองเหมือนกัน

(พระราชวรเมธี)   คณะสงฆ์เราคิด เพราะมันอยู่ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 อยู่แล้ว จะต้องปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนา

(พระราชวรมุนี)    คณะสงฆ์คิดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า กลุ่มคุณไพบูลย์พูดได้เร็วกว่าเรา คือ เริ่มต้นได้เร็วกว่าเรา เพราะเขาเป็นสภาปฎิรูปแห่งชาติ คือ คสช.ตั้งขึ้นมาเพื่อให้มาทำงานด้านการปฎิรูปโดยเฉพาะ

(พระราชวรเมธี)   คือ คณะสงฆ์คิดอยู่แล้วว่าต้องทำ คณะสงฆ์มิได้ปฎิเสธการปฎิรูป เพียงแต่ขอว่า ขอใช้กรอบที่คณะสงฆ์มีและทำอยู่แล้ว 6 ด้านมาเป็นฐานในการปฎิรูป  มหาเถรสมาคมจึงมอบหมายให้กรรมการมหาเถรสมาคม  3 รูปไปเจรจา คือ พระพรหมบัณฑิต พระพรหมโมลี และ พระพรหมมุนี ไปหาแนวทางว่า หากจะปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนาต้องทำอย่างไร หนึ่ง ไปดูข้อกฎหมาย มีอะไรขัดข้องไหม สอง ไปดูการบริหารจัดการว่ามีอะไรตัดขัดไหม ในที่สุดเมื่อไม่ขัดข้องหรือติดขัดอะไร มหาเถรสมาคมจึงเห็นชอบให้ดำเนินการ 6  ด้านตามที่กล่าวมาแล้ว

หลังจากมีมติเห็นชอบแล้วมหาเถรสมาคม ก็มีมติตั้งคณะกรรมการ 6 ด้านไปดูแล ไปกำกับ และเป็นครั้งแรกที่ มส.เห็นชอบให้คนผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วม โดยเอาคนที่เชี่ยวชาญมาร่วมช่วยคิด ช่วยทำ… ( มหาเถรสมาคมมีมติแต่งตั้งกรรมการฝ่ายต่าง ๆ เพื่อดาเนินงานปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาที่ประชุมมหาเถรสมาคมได้มีคาสั่งมหาเถรสมาคม ที่ ๒/๒๕๕๙ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ของมหาเถรสมาคม เพื่อให้การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ โดยคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ประกอบด้วย1 ) ฝ่ายปกครอง มี สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นประธานกรรมการ2) ฝ่ายศาสนศึกษา มี พระพรหมโมลี เป็นประธานกรรมการ3) ฝ่ายศึกษาสงเคราะห์ มี พระพรหมบัณฑิต เป็นประธานกรรมการ4) ฝ่ายเผยแผ่ มี สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เป็นประธานกรรมการ5) ฝ่ายสาธารณูปการ มี พระพรหมมุนี เป็นประธานกรรมการ6 ) ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ มี พระพรหมวชิรญาณ เป็นประธานกรรมการ และ คณะกรรมการพัฒนาพุทธมณฑลเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก  มี สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เป็นประธานกรรมการ..)

 

◊ หลังจาก มส.เห็นชอบ เสนอรัฐบาล รัฐบาลเห็นด้วย มส.จืงตั้งกรรมการแต่ละด้านเพื่อขับเคลื่อน แต่บัดนี้ล่วงเลยมาเป็นปีแล้ว ประชาชนยังบอกว่าไม่เห็นคณะสงฆ์ปฎิรูปอะไรเลย เราจะตอบคำถามชาวพุทธเหล่านี้อย่างไร

 (พระราชวรมุนี)   ความจริงเราระดมความคิดเห็นมาแล้ว แล้วมาเขียนเป็นยุทธศาสตร์ แผนออกมาเป็น 13 โครงการ  

 (พระราชวรเมธี)   ก่อนที่จะถึงตรงนั้น ขอแทรกอธิบายเพิ่มเติม ก็คือว่า พอมหาเถรสมาคมตกผนึกว่าจะปฎิรูปภายใต้กิจการ 6 ด้าน +1 ที่คณะสงฆ์ทำอยู่แล้ว คณะกรรมการแต่ละด้านก็ไประดมความคิดเห็นมาว่าแต่ละด้านควรปฎิรูปอะไรบ้าง บวกกับความคิดเห็นของคณะกรรมการส่วนหนึ่งว่ามีอะไรที่จะต้องปฎิรูปบ้าง ปรากฎว่าแต่ละด้านนี้ต่างคนต่างคิดต่างคนตั้งทำ ยังไม่ได้ผนวกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงเป็นที่มาของการยกร่างแผนยุทธศาสตร์กิจการพระพุทธศาสนาคือ บูรณาการข้อมูลรวมกัน โดยอาศัยแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาลเป็นแนวทางคือล้อแผนชาติ 20 ปี แล้วก็ปรับมาเป็นแผนของยุทธศาสตร์พระพุทธศาสตร์ เพื่อความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี แต่เราก็มาปรับตามแบบแบบของบริบทพระพุทธศาสนาคือ “ให้พุทธศาสน์มั่นคง ดำรงศีลธรรม นำสังคมสู่สันติสุขอย่างยั่งยืน” หลังจากนั่นก็มาบูณณากำหนดแผนยุทธศาสตร์ พันธกิจ มาสร้างยุทธศาสตร์  4 ด้านคือ

  1. สร้างความมั่นคงด้านพระพุทธศาสนา
  2. ขบวนการบริหารจัดการภายในคณะสงฆ์
  3. ยุทธศาสตร์ที่ 3 คือพัฒนาองค์การเพื่อการเรียนรู้เชิงพุทธ คือ องค์ความรู้ทั้งหลาย และ
  4. มีทรัพยากรเพียงพอต่อการบริหารกิจการพระพุทธศาสนา

ถามว่ายุทธศาสตร์ 4 ด้านนี้พอไหม ตอบว่า พอ  ครอบคลุมหมดแล้ว และเพื่อให้ยุทธศาสตร์ 4 ด้านนี้บรรลุเป็นไปตามเป้าหมาย จึงมีการกำหนดกลยุทธในการที่ขับเคลื่อน จึงกำหนดไว้ 10 กลยุทธ์ เช่น ปลูกศรัทธา เพิ่มพัฒนาปัญญาดังนี้เป็นต้น หลังจากนั่น มส.จึงมีมติแต่งตั้งกรรมการขับเคลื่อน 2 ชุด ชุดแรก กรรมการประสานงานระดับภาคโดยมอบให้เจ้าคณะภาคเป็นประธานสรรหาและแต่งตั้ง ประกอบด้วยเจ้าคณะจังหวัดในเขตปกครอง พศจ.ในเขตปกครองนั่น ๆ รวมทั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เจ้าคณะภาคสรรหามาเพื่อขับเคลื่อในระดับภาค ชุดที่สอง คณะกรรมการประสานงานแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ (คปพ) อาตมาเป็นประธาน

และกรรมการชุดนี้ก็ขอให้ฝ่ายเลขานุการแต่ละด้านมาเป็นกรรมการในชุดนี้ รวมทั้ง รองผอ.สำนักงานพุทธทุกท้านมาร่วมเป็นด้วย หน้าที่ คฟพ. คือเราไปประสานงานกับคณะสงฆ์ให้ท่านเหล่านั้นเข้าใจแผนการปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนาว่ามีอะไรบ้างทีคณะสงฆ์ต้องทำตามแผนมส.เห็นชอบไปประสานกับเจ้าคณะหน เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด แล้วเราก็จัดประชุมครบทั้ง 4 หน เมื่อจัดประชุมเสร็จ เราก็เข้าสู่แผนปฎิบัติการประจำปี

(พระราชวรมุนี)  ตอนนี้เราเข้าสู่การปฎิบัติการ เรามีคณะกรรมการ 2 ชุด คือ ระดับภูมิภาคกับระดับชาติ  ระดับภูมิภาคก็คือ เจ้าคณะภาคคลุม ส่วนระดับชาติเพื่อเชื่อมโยงกับเจ้าคณะภาคและมหาเถรสมาคมก็คือ ชุดที่เจ้าคุณราชวรเมธี เป็นประธาน อาตมาเป็นกรรมการ  เมื่อเราตกผนึกทั้งยุทธศาสต์ แผน กลยุทธ์ การชี้วัดแล้ว เราก็มาคิดเป็น“แผนปฎิบัติการ 13 โครงการ โดย 13 โครงการนี้คึงเอาไว้ว่าจะปฎิบัติการตั้งแต่ปี 60-64 ”  ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ปฎิบัติการฉบับที่ 1 ที่ผ่าน มส.เรียบร้อยหมดแล้ว คน เงิน มีพร้อม อันนี้เป็นรูปธรรม

 

◊ ตั้งแต่ 60 จนจะเข้า 62 แล้ว คณะสงฆ์ทำอะไรไปแล้วบ้างที่พระคุณเจ้าคิดว่าประสบความสำเร็จ

(พระราชวรมุนี)  ได้ผลเกิดคาด ใน 13 โครงการนี้ คือ เดิม 13 โครงการนี้ มส.เห็นชอบแล้ว แต่ในปี 60 ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ขอให้ มส.มีมติแบบเร่งด่วนอีกรอบ ใน 4 โครงการ คือ หนึ่ง การทำฐานข้อมูลพระภิกษุ สามเณรทั่วประเทศตอนได้ 70% แล้ว  สอง การทำบัตรสมาทการ์ดเพื่อสิทธิผลประโยชน์ของพระภิกษุ -สามเณร ตอนนี้ได้ 65 %  สาม การทำวัด ด้วยกิจกรรม 5 ส. ซึ่งต่อมาพัฒนามาเป็นวัดประชารัฐในปี 61 มีวัดเข้าร่วม 1,500 วัด  สี่ การทำบัญชีรายรับรายจ่ายของวัด ได้ประมาณ 55%  อันนี้คือโครงการเร่งด่วนที่คณะสงฆ์กำลังทำ คือ เวลาจะทำงานแบบนี้เราจะต้องมีข้อมูลบิ๊กเบต้า (ฐานข้อมูล) อันนี้เราจะต้องใช้เวลา

 

◊ ตอนนี้ฐานข้อมูลพระภิกษุ -สามเณรอยู่ที่ไหน เพราะช่วงแรกรู้สึกมีพระท่านกังวล อาจจะไปตกอยู่ในมือคนประสงค์ร้าย

(พระราชวรมุนี)  อันนี้ข่าวโคมลอยไม่จริง ตอนนี้ฐานข้อมูลอยู่ที่สำนักงานพุทธแห่งชาติ แต่บางส่วนจริงว่าอยู่ที่ กระทรวงมหาดไทย

(พระราชวรเมธี) คือ ฐานข้อมูลที่เราให้พระภิกษุ-สามเณรกรองทั่วประเทศนี้ เกิดจากการประสานงานของ คปพ. ที่ออกแบบฟร์อมต้องการให้พระภิกษุสามเณรที่พรรษาตั้งแต่ 1 พรรษาขึ้นไปช่วยกรอกแบบฟร์อมโดยอาศัยมติของ มส.กำชับลงไป บางส่วนเสร็จแล้ว บางส่วนกำลังดำเนินการอยู่

 (พระราชวรมุนี)  หน่วยงานที่เก็บข้อมูลเหล่านี้ สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นหลัก ภายใต้การประสานงานของ คณะกรรมการประสานงานแผนยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา หรือ คปพ.

(พระราชวรเมธี) ในส่วนของสมาร์ดการ์ดที่กลัว  ๆกันว่าข้อมูลรั่วไหล อันนี้ไม่ต้องกลัว เพราะที่เราสำรวจเป็นข้อมูลพื้นฐาน เพื่อสิทธิประโยชน์ของพระภิกษุสามเณรเอง  เช่นเรื่องสุขภาวะ การรักษาพยาบาล การเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆของรัฐ

 

◊ เคยมีกรณีพระภิกษุ -สามเณร จะไปทำบัตรประชาชน เจ้าหน้าที่บอกต้องสึกก่อน ตรงนี้ได้ประสานกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยแล้วหรือยัง

 (พระราชวรมุนี)   ตอนนี้เข้าใจหมดแล้ว เมื่อก่อนอาจจะมีบ้าง แต่ปัจจุบันเข้าใจหมดแล้ว

(พระราชวรเมธี)  หลังจากเราทำวัดให้เป็น 5 ส. แล้วตอนหลัง สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ก็เข้ามาสนับสนันร่วมกับคณะสงฆ์คือโครงการ “วัดประชารัฐ สร้างสุข”  กิจกรรมการวัด 5 ส.เราทำทั่วประเทศ แต่วัดประชารัฐ สร้างสุข อันนี้ต่อยอดจากวัด 5 ส. งบประมาณของ สสส. ผ่านมายังมหาจุฬา ฯ  (มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)

 

◊ ตอนนี้เวลาคนมองพระพุทธศาสนาเขามองไปที่พระสงฆ์ ตอนนี้เราจะแก้ปัญหาอย่างไร ทั้งก่อนบวชและหลังบวชแล้ว คณะปฎิรูปได้คิดถึงเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

(พระราชวรเมธี)   มีอยู่ 2 ส่วน ถ้าเราสามารถขับเคลื่อนไปตามแผนทีคณะสงฆ์คิดกันไว้นี้ได้ มันสามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้แน่นอน เช่น ด้านการปกครอง ทำอย่างไรให้เราจึงจะปกครองให้อยู่ในพระธรรมวินัย กฎหมายบ้านเมือง กฎมหาเถรสมาคม รวมทั่งทำอย่างไรทำอย่างไรให้คนเข้ามาบวชแล้วได้เรียนหนังสือ อันนี้มันก็โยงเข้ามาสู่การศึกษาคณะสงฆ์ที่พึ่งผ่านครม.ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้  เดิมการศึกษาของเราทั้งบาลี พระปริยัติธรรม เราก็เรียนตามที่เราคิดว่าเราเรียนมาแล้วมีประโยชน์ แต่ไม่มีกฎหมายรองรับ ที่จะต่อยอดหรือพัฒนาแบบก้าวกระโดดได้ หลังจาก ร่างพ.ร.บ.นี้ผ่าน เราก็ไปต่อยอดได้ อย่างเช่น ตอนนี้คนบวชพระนวกะ 15 วันหรือ 30 วัน ก็ต้องเรียน ซึ่งเราทำหลักสูตรเสร็จเรียบร้อยแล้ว   ต่อไปหลักสูตรเรียนนักธรรม ปริยัติสามัญ ก็คงต้องปรับ ส่วนบาลี ระยะสั้นอาจจะยัง แต่อนาคต คงต้องปรับ หากการปกครองเข้มค้น บวกกับพระภิกษุสามเณรมีความรู้  ปัญหาพฤติกรรมเหล่านี้ก็ลดน้อยถอยลง

 

◊ จำเป็นไหมต้องฟื้นพระวินยาธิการหรือตำรวจพระขึ้นมาใหม่

(พระราชวรมุนี)   มี  เราต้องขันน๊อต ทั้งบังคับและส่งเสริม ที่ผ่านมาเราต้องยอมรับเราทำงานไม่บูรณาการทั้งในต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ  เราทำแบบไม่ครบวงจร แต่หลังจากเราปฎิรูปครั้งนี้แล้ว เราจะทำให้ครบวงจร ทั้งการบังคับให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎระเบียบ มติ มส. ซึ่งมันก็โยงมาทีพระวินยาธิการ ตอนนี้ผ่านมส.แล้ว ซึ่งท่านอาจจะทำเป็นระเบียบ มส.ที่แล้วมามันเป็นแค่สำสั่งเจ้าคณะจังหวัด มันไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ  ตอนนี้การตั้งพระวินยาธิการผ่านมส.แล้ว โดยมส.มอบหมายให้พระพรหมโมลี กรรมการ มส. เป็นประธานให้ไปยกร่างระเบียบ

 

◊ อีกเรื่องหนึ่ง คือภาพลักษณ์ คนมองว่าพระสงฆ์ใช้ชีวิตหรู คนนอกดูว่ารวย ตรงนีเราจะแก้ทรรศคติประชาชนอย่างไร

 (พระราชวรมุนี)   ในทัศนะส่วนตัว มองว่า คนมองแบบนี้มโนไปเอง เรามองไปที่วัดใหญ่ ๆ  ไม่ได้มองในภาพรวมเกือบ 4 หมื่นวัดทั่วประเทศ 

 

◊ เขาไม่ได้มองที่วัดแต่เขามองไปที่พระสงฆ์ เช่นใช้รถหรู ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย 

 (พระราชวรมุนี)       ไม่ใช่  พระสงฆ์เป็นบุคคลสาธารณะ มีต้นทุนคือศรัทธา คือ คนที่ศรัทธา มันมีเยอะ คนทำบุญเหมือนแม่น้ำพันสายแล้วไหลมาหาบุคคลคนเดียว มันมาแล้วบางส่วนคือถวายส่วนตัว คือเขาศรัทธา เขาเคารพนับถือมันก็เลยดูว่าพระมีเงินเยอะ โดยหลักการ ก็เป็นสิทธิของท่าน เพราะเขาถวายให้ท่านใช้ เจาะจง คือ เขาให้วัดก็ให้วัด ในส่วนที่เขาถวายส่วนตัว ท่านก็ใช้ส่วนตัว

เมื่อพระเป็นบุคคลสาธารณะ เป็นที่เคารพศรัทธาของญาติโยม บางเรื่อง เช่นเรื่องการอำนวยความสะดวก เคยได้ยินญาติโยมพูดว่าหลวงพ่อไปใช้รถที่ไม่แข็งแรง ไม่ได้ เกิดเป็นอะไรขึ้นไป เดียวญาติโยมคนศรัทธาเขาจะเสียใจ อันนี้มิได้พูดเข้าข้างพระนะ แต่ได้ยินได้สัมผัสมา

(พระราชวรเมธี)    คือ  ที่ญาติโยมเขาตั้งข้อสงสัยเรื่องพระรวย เพราะเขามองเห็นเฉพาะรูปภายนอก โดยไม่ได้ทราบจริง ๆว่าเป้าหมายที่พระสงฆ์ทำนั่นคืออะไร  ความจริงเงินที่ญาติโยมมาถวายพระนั่น พระสงฆ์ก็ไม่ได้ใช้เพ่อตัวเองอย่างเดียว แต่กลับไปพัฒนาท้องถิ่นบ้าง ไปทำประโยชน์เพื่อสังคมบ้าง เมื่อเขาไม่ได้มองตรงนั้น เขาก็มองแบบผิวเผินและในความจริง สมบัติเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นของพระภิกษุรุปนั่น ๆ เมื่อท่านมรณภาพไปมันก็ตกเป็นของวัดตกเป็นของสงฆ์..

เวลาสังคมมองว่าก็ต้องมองด้วยว่าพระมีสาย คือ สายคามวาสีกับอรัญญาวาสี พระที่อยู่ฝ่ายคามวาสีท่านได้มาท่านก็เผื่อแผ่ต่อสร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมต่อ เป็นสะพานบุญ หากท่านได้มาแล้วชอบสะสมมิได้สร้างคุณประโยชน์ต่ออันนี้ “น่าตำหนิ”  บางรูปเอาไปสร้างโรงพยาบาล สร้างสะพาน สร้างโรงเรียนโดยอาศัยศรัทธาของชาวบ้าน ผุ้ใหญ่หลายรูปท่านทำแบบนี้ แต่คนไม่เห็น เห็นแต่ฝ่ายนอก

(พระราชวรมุนี)     ต้องมองให้รอบด้านเรื่องนี้ เพราะโยมเขาศรัทธา เขาจะให้พระของเขาจะไปนั่งแท็กซี่ ไปนั่งรถเมล์ ญาติโยมเขาก็คงไม่ยอม  ญาติโยมที่ศรัทธาเขาก็ต้องมองแบบนี้  และญาติโยมเขาก็มองแล้วว่าโลกวันนี้มันเปลี่ยน หากพระคุณเจ้าจะใช้รถที่ปลอดภัย นั่งสะดวก เขาก็คงยินดีได้ โดยเหมาะแก่สมณเพศ  และ เรื่องอรัญญวาสีกับคามวาสี ญาติโยมก็ต้องทำความเข้าใจ มิใช่เห็นพระนั่งอยู่ในถ้ำ สมถะแล้วมาเปรียบเทียบกับพระที่อยู่ในคามวาสี  เขาเป็นคามวาสี ท่านเลือกเดินทางนั้น หรือญาติโยมต้องการให้พระเป็นคามวาสีหมด ไม่ต้องให้อยู่เป็น คามวาสี คืออยู่ในชุมชนหมู่บ้าน ถามว่าหากพระไปหมดใครจะเป็นคนรักษาสถาบันเล่า เราฝ่ายคามวาสี ต้องเป็นยาสามัญประจำบ้านให้โยมได้  โยมมีทุกข์ เขาก็มาปรึกษาเรา สังคมไทยต้องเป็นสังคมอุดมด้วยปัญญา มองให้รอบด้าน..”

(พระราชวรเมธี)    ไม่อยากให้โยมมองมุมเดียว ให้มองรอบด้าน หากมองด้านเดียวมันก็จะเห็นแต่เพียงด้านเดียว

 

คืบหน้าการพัฒนาพุทธมณฑลเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก

(พระราชวรเมธี)    เท่าที่ได้ยิน ได้ทราบก็คือ ตอนนี้กำลังทำแผนแม่บท โดยมี สมเด็จวัดพิชัยญาติเป็นประธาน (สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ )   แต่ก็มีฝ่ายบ้านเข้าร่วมด้วย  คณะนี้เป็นคณะใหญ่รู้สึกแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีมีรองนายกหรือรัฐมนตรีเป็นประธานฝ่ายฆราวาส จะสร้างพุทธมณฑลเป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาโลก

              “โดยตอนนี้เริ่มจ้างคนไปออกแบบแล้วว่าจะปรับภูมิทัศน์ออกแบบอย่างไร แล้วเป้าหมายก็คือให้เป็นศูนย์พุทธศาสนาโลก ในขณะเดียวกันก็รองรับการบริหารกิจการพระพุทธศาสนา งานคณะสงฆ์  เช่น เป็นสำนักงานสมเด็จพระสังฆราช เจ้าคณะหน เจ้าคณะภาค ซึ่งต่อไปในอนาคตอาจจะต้องไปรวมศูนยอยู่ที่นั้นทั้งหมด นี้คือศูนย์ นอกจากนี้ก็ต่อยอดว่าทำให้อย่างให้มีอนุพุทธมณฑลทุกจังหวัด..”

 

◊ เห็นพุทธมณฑลจังหวัดบางหวัดรกร้างเป็นที่เลี้ยงวัว เป็นที่จอดรถ

(พระราชวรเมธี)    เดิมมันเป็นแบบนี้ แต่หลังจากเราปฎิรูป อนาคตต้องไม่มี เพราะมันจะมีแผนพัฒนา และทุกจังหวัดมันจะมีอนุกรรมการจากบอร์ดใหญ่ มันจะมีเป้าหมายว่าแต่ละปีจะพัฒนากี่จังหวัด มีงบลงไปอย่างไรบ้าง ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ตอนนี้ที่ไหนพร้อมก็สร้าง สร้างเสร็จก็อาจไม่มีคน งบประมาณในการดูแล

 

◊ เคยมีคนเสนอบ้างเพื่อสลายความเป็นนิกายของคณะสงฆ์ไทย ต่อไปหากรูปใดขึ้นเป็นสังฆราช ต้องไปอยู่ทีพุทธมณฑล เป็นได้หรือไม่แนวคิดนี้

(พระราชวรเมธี)    ได้นะได้ แต่คณะสงฆ์ท่านมีวินัย ต้องจำอยู่ในวัดต้องอยู่ในอารามต้องสังกัดวัดจะย้ายไปอยู่คงไม่ได้ แต่ไปทำงานชั่วคราวคงได้

(พระราชวรมุนี)       คือคณะสงฆ์ บางเรื่องเราไม่ได้มองแบบฆราวาสอย่างเดียว คณะสงฆ์เรามีพระธรรมวินัยคุ้มครอง  ประเด็นนี้ก็เหมือนประเด็นเรื่องเจ้าอาวาสว่าให้เปลี่ยนทุกๆ  5 ปี จริง ๆ แล้วทำทำไม่ได้ พระสังฆาธิการรูปหนึ่ง ๆ กว่าจะเป็นเจ้าอาวาสได้ มันต้องสะสมความศรัทธา มันต้องปลูกศรัทธากับชุมชน ไม่เหมือนนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด ย้ายทุก 4 ปี ตรงนี้เราต้องเชิดชูพระธรรมวินัย ธรรมปฎิบัติของคณะสงฆ์ที่สืบทอดมาแต่โบราณด้วย

 

◊ แผนยุทธศาสตร์นี้ หากรัฐบาลนี้หมดไป ยังดำเนินการต่ออีกหรือไม่

(พระราชวรมุนี)       คณะสงฆ์ทำต่อเนี่อง 20  ปี ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล มันทำงานเกี่ยวกับการพัฒนากิจการพระพุทธศาสนา คณะสงฆ์ โดยมีวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ตรงกับรัฐบาล  รัฐบาลเขามีการปฎิรูป  คณะสงฆ์ก็ต้องทำ

(พระราชวรเมธี)    คือ แผนยุทธศาสตร์พุทธศาสนานี้เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  แต่ในขณะที่คณะสงฆ์มาทำ คณะสงฆ์ก็มาปรับให้เข้ากับพระธรรมวินัย งานของคณะสงฆ์ โดยสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อพัฒนาไปด้วยกัน  เพราะฉะนั้นรัฐบาลเปลี่ยน คณะสงฆ์ก็ยังทำอยู่ ถามว่าเราทำเพื่ออะไร เรามิได้ทำตามกระแส เราทำเพื่อยกระดับ เพิ่มขีดความสามารถกิจการพระพุทธศาสนา

 

◊ การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ที่ทำอยู่นี่ คณะสงฆ์รู้เรื่องบ้างเปล่า

(พระราชวรเมธี)       ตอนนี้เริ่มเข้าใจแล้ว เดิมอาจจะงงบ้าง และตอนนี้เราให้ท่านมาร่วมคิดร่วมทำ คือแผนนี้เดิมอย่างที่บอก  ก็เริ่มต้นมาจากคณะสงฆ์ จาพระสังฆาธิการนั่นแหละ แล้วเรามาประมวลเสนอ มส.และรัฐบาล ตอนนี้เมื่อมส.และฝ่ายบ้านเมืองเห็นชอบ ก็ลงไปสู่ภาคปฎิบัติระดับล่าง มิใช่เราไปวางกรอบให้ท่านปฎิบัติ มันก็มาจากสิ่งที่พวกท่านเสนอนั่นแหละภายใต้กรอบ 6 ด้านที่ว่ามา

(พระราชวรมุนี)       ต้องเข้าใจว่านี้คือขอใหม่ บางครั้งคณะสงฆ์อันชินกับคำสั่งการ ออเดอร์จากส่วนกลาง  คือ พวกเราต้องเข้าใจระบบสงฆ์ เดิมทีระบบมันเป็นแบบนี้ แต่ต่อไปนี้มันต้องคิดเป็นทำเป็นบริหารจัดการเป็น ในหลายส่วนบางทีเขาก็คิดเองทำเองกันแล้ว คือเขาคิดล่วงหน้ากว่าส่วนกลาง ไม่ต้องรออเดอร์  แต่คิดว่าอนาคตคณะสงฆ์จะเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น หลังจากมีแผน 1 ( 5 ปี)  แล้วก็ต่อด้วยแผน 2 อาตมาคิดว่าอนาคตพระสงฆ์จะเข้าใจและเป็น

(พระราชวรเมธี)       คือเดิมเราก็ทำอยู่แล้ว แต่ไม่ได้มียุทธศาสตร์ไม่ได้มีแผน คือต่างคนต่างทำ

 

◊ คาดหวังอะไรจากการปฎิรูปในครั้งนี้ เช่น พระสงฆ์จะมีคุณภาพ ศักยภาพ เป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาและเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนได้

(พระราชวรมุนี)    ในทัศนะส่วนตัว อาตมาหวัง แต่คณะสงฆ์ต้องให้ความร่วมมือและต้องเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์และเดินไปตามนี้ ประสบความสำเร็จแน่นอน

 

◊ คิดไหมว่า หากคณะสงฆ์ไม่เดินตามนี้ เขาจะเข้ามาจัดการเราแน่

(พระราชวรมุนี)    อาตมาไม่คิดแบบนั่น คิดว่าเมื่อเราสร้างบ้านได้อย่างมั่นคงแล้ว ทุกอย่างไม่มีอะไรมากล้ำกรายเราได้หรอก เราทำตัวเราให้ดี เหมือนในพระไตรปิฎกว่าไว้ ” เมื่อเราไม่มีแผลในมือ ยาพิษมาตกก็ไม่สามารถทำอะไรเราได้ “

 

◊ คำถามสุดท้ายเจ้าคุณพระราชวรเมธี ในฐานะประธานคาดหวังกับคณะสงฆ์มากน้อยแค่ไหน

คาดหวังในฐานะมีแผนยุทธศาสตร์นี้คือ คาดหวังให้คณะสงฆ์ทำงานอย่างเป็นระบบ การทำงานให้เป็นระบบนั่นแหละมันจะนำมาซึ่งความสำเร็จและความมั่นคงของคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนา  หนึ่ง สร้างแรงบันดาลใจ  ร่วมคิดร่วมทำ  สอง  ทำอย่างไรให้คณะสงฆ์มีความรู้แต่ละด้าน ให้เชี่ยวชาญ มีศักยภาพ สาม เรื่องโครงสร้าง ปรับอย่างไรเพื่อให้งานคณะสงฆ์มีคุณภาพ  สี่ ทำอย่างไรให้คณะสงฆ์มีทรัพยากรเพียงพอต่อการใช้ ซึ่งเรื่องเงินมิใช่ปัจจัยสำคัญ แต่ที่นี้คือ เรื่องคน และประการสุดท้าย ห้า  คือ การติดตามประเมินผล   ซึ่งสิงเหล่านี้นั่นแหละเปนตัววัดปัจจัยความสำเร็จ หากสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นในหมู่พระสงฆ์ แผนยุทธศาสตร์นี้ก็ถือว่าล้มเหลวไม่ประสบความความสำเร็จ…

                                        *************

Leave a Reply