การพนันในวัด: จริงจัง จริงใจ แก้ไขได้

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2561 เฟซบุ๊ก Phramaha Boonchuay ได้โพสต์ข้อความว่า “การพนันในวัด: จริงจัง จริงใจ แก้ไขได้”

วันนี้ ก็มีเหตุให้ต้องเดินทางมาร่วมประชุม “เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ – คสสน” ณ วัดคลองกระจง จังหวัดสุโขทัย ที่นัดหมายล่วงหน้าไว้เดือนกว่ามาแล้ว เพื่อรวมพลังพระสงฆ์นักพัฒนาในการร่วมดำเนินโครงการ “วัดปลอดการพนัน” สร้างรูปธรรมพื้นที่การทำงานให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในเรื่องการจัดการปัญหาการพนันในสังคมไทยต่อไป

“การพนัน” ในมิติทางสังคมอาจเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นพฤติกรรมที่มีอยู่เป็นปกติธรรมดาในสังคมมนุษย์ แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันและทุกส่วนของสังคม แต่นั่นก็มิได้นำไปสู่ความเห็นพ้องต้องกันในทางวิชาการในอันที่จะสนับสนุนให้การพนันดำรงอยู่ในสังคมอย่างชอบธรรมและเปิดเผย โดยนักวิชาการได้พยายามชี้ให้เห็นความสำคัญของการพนันในแง่สังคม มักจะเน้นไปที่ความสำคัญของการพนันในฐานะ “ลิ้นระบาย” หรือ “ช่องทาง” สำหรับผู้คนในสังคมที่จะแสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่ถูกเก็บกดปิดกั้นไว้ ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่กดดัน เช่น ความกดดันในหน้าที่การงาน ความกดดันจากปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว ฯลฯ

ถึงแม้ “การพนัน” จะเป็นสิ่งที่สวนทางกับหลัก “ศีลธรรม” ตามคำสอนของศาสนา และอาจนำมาซึ่งผลลบต่อสังคม เช่น ปัญหาคนหมกมุ่นไม่ทำงาน ปัญหาหนี้สิน ปัญหาอาชญากรรม ฯลฯ แต่ในหลายประเทศที่อนุญาตให้การเล่นการพนันเป็นสิ่งถูกกฎหมายก็เชื่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมิใช่ผลกระทบทางตรง หากแต่เป็นผลทางอ้อมซึ่งสามารถควบคุมได้ ยิ่งไปกว่านั้น ผลจากการทำให้การพนันเป็นธุรกิจขนานใหญ่ยังมีส่วนส่งเสริมในเชิงเศรษฐกิจด้วยอีกทางหนึ่ง

ในประเทศไทย ผลการศึกษาทางด้านพฤติกรรมการเล่นการพนันของประชาชนในเขตประเทศไทย พบว่า กลุ่มประชาชนในทุกระดับการศึกษา ทุกอาชีพ ยังคงเล่นการพนันอยู่อย่างสม่ำเสมอ และยังเล่นการพนันในหลากหลายรูปแบบ -ด้านความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยข้อมูลส่วนบุคคลกับการเล่นการพนัน พบว่า กลุ่มประชาชนเพศชายมีการเล่นการพนันมากกว่าเพศหญิง ประชาชนผู้เล่นมีอายุน้อยแต่มีการเล่นการพนันมากขึ้น -ด้านรายได้ พบว่า ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมีแนวโน้มที่จะเล่นการพนันมากกว่าประชาชนผู้มีรายได้สูง

จึงจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวล หากผู้เล่นการพนันมีช่วงอายุที่น้อยลงและมีรายได้น้อย พฤติกรรมนี้อาจส่งผลกระทบและทำให้เกิดปัญหาต่อสังคมในวงกว้าง เช่น ปัญหายาเสพติด การคอรัปชั่นในหน้าที่การงาน หรือการลักเล็กขโมยน้อย

ส่วนสถานการณ์ “การพนันวัด” งานวิจัยเรื่อง “ผลกระทบของการพนันในงานวัดที่มีต่อพฤติกรรมการเล่นพนันของเยาวชนไทยและแนวทางการส่งเสริมการรู้เท่าทันสถานการณ์การพนันสำหรับเยาวชนไทย” ผลการวิจัยพบว่า อิทธิพลทางตรงและทางอ้อมของตัวแปรที่มีผลต่อพฤติกรรมการเล่นพนัน สามารถอธิบายความแปรปรวนของพฤติกรรมการเล่นพนันได้ร้อยละ 20 และงานวิจัยยังได้เสนอแนวทางการส่งเสริมการรู้เท่าทันสถานการณ์การพนันในเยาวชนไทยด้วย

“การพนัน” จัดเป็นหนึ่งในอบายมุข หรือ ช่องทางของความเสื่อม (causes of ruin; ways of squandering wealth) 6 ประการ ที่ควรเว้นให้ไกล เพราะหากบุคคลใดติดการพนัน ก็จะมีโทษ 6 ประการ คือ

1) เมื่อชนะย่อมก่อเวร (As winner he begets hatred.)

2) เมื่อแพ้ก็เสียดายทรัพย์ที่เสียไป (As loser he regrets his lost money.)

3) ทรัพย์หมดไป ๆ เห็นชัด ๆ (There is actual loss of wealth.)

4) เข้าที่ประชุม เขาไม่เชื่อถือถ้อยคำ (His word has no weight in an assembly.)

5) เป็นที่หมิ่นประมาทของเพื่อนฝูง (He is scorned by his friends and companions.)

6) ไม่เป็นที่พึงประสงค์ของผู้ที่จะหาคู่ครองให้ลูกของเขา เพราะเห็นว่าจะเลี้ยงลูกเมียไม่ไหว (He is not sought after by those who want to marry their daughters, for they would say that a gambler cannot afford to keep a wife.)

ในขณะที่มหาเถรสมาคม ได้ออกระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการจัดงานวัด พ.ศ. 2537 ประกาศเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้มี “การพนัน” ในการจัดงานวัดทุกประเภท ไว้ในระเบียบข้อที่ 7 (2) ดังนี้ “การจัดงานวัดทุกประเภท ห้ามมิให้มี ‘การพนัน และการหารายได้โดยวิธีเสี่ยงโชคเลียนแบบการพนัน’” นอกจากนี้ ในระเบียบยังได้ห้ามเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น การแข่งขันมวย การแสดงระบำ การจำหน่ายสุราเมรัย การประกวดสาวงาม เป็นต้น

เพื่อให้เรื่องนี้มีผลในทางปฏิบัติ ระเบียบจึงได้กำหนดโทษพระสังฆาธิการที่ฝ่าฝืน ไว้ในข้อ 20 ว่า “เจ้าอาวาสรูปใด ฝ่าฝืนระเบียบมหาเถรสมาคมนี้ ให้ถือว่าละเมิดจริยาพระสังฆาธิการและต้องได้รับโทษฐานละเมิดจริยาพระสังฆาธิการตามความในหมวด ๔ แห่ง กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ.๒๕๓๕) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ”

อย่างไรก็ตามปัญหา “การพนันในวัด” ก็ยังคงมีอยู่ จนปรากฏเป็นข่าวในสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อีกด้าน ก็มีความพยายามในการแก้ไขปัญหา ตามความคิดและสติปัญญาของเจ้าอาวาสแต่ละรูปไป เช่น การทำประกาศของวัด การทำ MOU กับหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

ในเวทีวันนี้ “เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ – คสสน” ได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางขับเคลื่อน “วัดปลอดการพนัน” อย่างเป็น “กระบวน”

รวมพลังพระสงฆ์ (ที่มีใจ) รวมวัด (ที่มีความพร้อม) ขยับขับเคลื่อน เพื่อให้ “วัดปลอดการพนัน” เพื่อเป็นที่พึ่งของสังคมได้จริง

ขอบคุณข้อมูล ภาพ และสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่:

https://www.tci-thaijo.org/…/…/article/download/74991/60480/
https://www.tci-thaijo.org/…/…/article/download/96923/75542/
http://www.gamblingstudy-th.org/…/1/1/การพนันที่แฝงในงานวัด/
https://www.tci-thaijo.org/…/article/download/143780/106389/
http://pck.onab.go.th/download/workwit.pdf
http://udn.onab.go.th/attachments/139_baihuy.pdf
https://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php…
https://www.winnews.tv/news/18534

Leave a Reply