กก.มส.ชื่นชม’คปพ.’ปฏิรูปสงฆ์ก้าวหน้า แนะปรับให้สอดรับ 4.0 เชื่อมโยงผ่านสื่อออนไลน์

‘พระพรหมบัณฑิต’กรรมการ มส. มอบนโยบาย คปพ. ชื่นชมปฏิรูปสงฆ์ก้าวหน้า แนะปรับให้สอดคล้องไทยแลนด์ 4.0 สื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ เน้นบูรณาการเชื่อมโยงเพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด หวังขับเคลื่อนงานกิจการคณะสงฆ์และพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน ด้วยกรอบเศรษฐกิจพอเพียง พลัง บวร.และ SDGs

เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2562 ที่ห้องประชุมสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ อาคารหอสมุดพระพุทธศาสนามหาสิรินาถ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐมได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการประสานงานแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา (คปพ.) พระเทพปวรเมธี,รศ.ดร. ประธานคณะกรรมการ คปพ. และรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า การประชุมวันนี้เป็นการประชุมนัดแรกของคณะกรรมการฯ ชุดใหม่ ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากมหาเถรสมาคม โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม สั่ง ณ วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2562 เพื่อประโยชน์ในการประสานงานได้มีการเพิ่มเติมสัดส่วนผู้แทนคณะสงฆ์จากส่วนภูมิภาคระดับจังหวัดและรองจังหวัด สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยผู้อำนวยการ พศ. ได้มอบหมายให้รองผู้อำนวยการ พศ. ทุกคนเป็นกรรมการ ผู้แทนคณะสงฆ์ธรรมยุติ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง

การประชุมในวันนี้มีกรรมการฯเข้าประชุมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ พระเทพเวที,รศ.ดร. รักษาการแทนเจ้าคณะภาค 6 และรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มจร, พระเทพสุวรรณเมธี รองเจ้าคณะจังหวัดกรุงเทพฯ พระเทพปริยัติโมลี วัดโมลีโลกยาราม พระเทพปริยัติมุนี วัดหงส์รัตนาราม, ผู้แทนคณะสงฆ์ธรรมยุต พระราชดิลก วัดอาวุธวิกสิตาราม,พระราชมงคลดิลก วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, พระราชวัชราภรณ์ วัดชูจิตรธรรมาราม,พระมงคลธรรมวิธาน วัดบวรมงคล, ผู้แทน พศ. นายณรงค์ ทรงอารมณ์ และนายจีรวิชญ์ นิยมธรรม รองผู้อำนวยการ พศ., ดร.สายพิรุณ เพิ่มพูล และนางนงลักษณ์ ไชยเสโน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น

ในการนี้พระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. กรรมการมหาเถรสมาคม รักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ประธานศูนย์ปริยัตินิเทศแห่งคณะสงฆ์ไทย ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ปรึกษา คปพ. เป็นประธานกล่าวนำมอบนโยบายและเปิดการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการชุดใหม่นี้ มีสาระสำคัญว่า แนวทางในการขับเคลื่อนการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนามี 2 แนวทาง คือ มาตรการทางกฎหมายกับมาตรการทางการบริหาร ระหว่างปี พ.ศ. 2558-2559 ที่ผ่านมาในช่วงของการทำแผนการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนายังไม่มีมาตรการทางกฎหมายเพิ่มเติม ทำให้การกำหนดแนวทางการปฏิรูปไม่เน้นใช้มาตรการทางกฎหมาย

หลังจากการทำแผนปฏิรูปฯ ปี พ.ศ. 2561 มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2561 และมีการตรากฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาพระปริยัติธรรมขึ้นมาบังคับใช้ ซึ่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 มีประเด็นเรื่ององค์ประกอบของมหาเถรสมาคม การแต่งตั้งเจ้าคณะผู้ปกครอง ระดับเจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค ในการปฏิรูปต้องเข้าใจวัตถุประสงค์จริง ๆ ของกฎหมายว่าเป็นการปฏิรูปเรื่องอะไร ถ้าเราไม่เข้าใจและไม่นำมาตรการทางกฎหมายมาใช้ก็จะทำให้งานของเราหนักขึ้น ส่วนกฎหมายฉบับที่ 2 ต้องมีการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งหลังจากนี้การศึกษาพระปริยัติธรรมมีองค์ประกอบและคณะกรรมการที่ชัดเจนตามกฎหมายอยู่แล้ว เมื่อคณะกรรมการประชุมแล้วคงมีความชัดเจนในเรื่องนี้ ร่วมถึงอนุบัญญัติต่าง ๆ ด้วย

แนวทางในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปฯ เชิงนโยบายสู่การปฏิบัติจะต้องมีการบูรณาการเชื่อมโยงทั้งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม ที่สำคัญยิ่งปีนี้เป็นปีที่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีจุดเน้นอะไรจากพระปฐมบรมราชโองการจะต้องสืบสาน รักษา ต่อยอดงานกิจการคณะสงฆ์ทั้ง 6 ด้าน ภาษาเหล่านี้จะต้องนำไปปรับปรุงแผนที่ท่านจะดำเนินการ
นอกจากนี้การที่มีรัฐบาลใหม่เชื่อมโยงรัฐบาลเก่าที่มีแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ทั้งหมดนี้มีที่มีทางอยู่ตรงไหน ลักษณะของการขับเคลื่อนจะทำให้ก้าวหน้าได้นั้นจะต้องพายเรือตามน้ำ แผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นกระแสน้ำ แผนการปฏิรูปกิจการคณะสงฆ์เป็นเรือ ร่วมถึงอื่น ๆทั้งหมดด้วยทั้งมาตรการทางกฎหมาย พระปฐมบรมราชโองการ ยุทธศาสตร์ นโยบายรัฐบาล นำมาปรับให้สอดคล้องกัน

อย่างไรก็ตามในฐานะผู้ใช้แผนฯ ฐานะผู้รักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่หนกลาง และกรรมการมหาเถรสมาคม ขอเสนอแนวทางในการขับเคลื่อนแต่ละด้านดังนี้

(1) ด้านการปกครอง การปกครองตามพระธรรมวินัย และใช้มาตรการทางกฎหมายสงฆ์เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมการบริหารตามหลักธรรมาภิบาล ธรรมาภิบาลไม่เฉพาะด้านการปกครอง แต่รวมถึงงานกิจการคณะสงฆ์ทั้ง 6 ด้าน ที่ผ่านมาเราเอาธรรมาภิบาลเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต่อไปต้องเป็นจุดเน้น ตัวอย่างเรื่องการแต่งตั้งเจ้าอาวาส คณะสงฆ์ดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาล มีการเลือกสรรโดยกระบวนการมีส่วนร่วม โปร่งใส มีผู้รับผิดชอบ ตรวจสอบได้ ปฏิบัติตามกฎหมาย ฝ่ายปกครองต้องพัฒนาคู่มือพระสังฆาธิการ อบรมพระสังฆาธิการและพัฒนาศักยภาพพระสงฆ์ให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง หลักธรรมาภิบาล ก็คือ มาตรการ 7 ข้อตามหลักอปริหานิยธรรมประยุกต์ธรรมะมาใช้

(2) ด้านการศาสนศึกษา อยากเห็นผลของการปฏิรูปก็คือ เอกภาพในความหลากหลาย การศึกษาพระปริยัติธรรมมีระบบ 3 ระบบตามพรบ. บาลี นักธรรม และสามัญ ร่วมถึงอุดมศึกษาศึกษาถ้ามีการต่อยอดก็จะเชื่อมมหาวิทยาลัยสงฆ์ด้วยทั้งมัธยมตอนต้น ตอนปลาย และอุดมศึกษา เอกภาพในการจัดการ ลดความซับซ้อน และสิ่งที่ต้องใส่ใจมากคือคุณภาพในการศึกษา จะจัดการศึกษาให้มีคุณภาพได้อย่างไร เป็นการศึกษาทางเลือกให้กับประชาชน บ้านเมืองมีประกันคุณภาพ คณะสงฆ์จะประกันคุณภาพกันอย่างไร การผลิตมีความคุ้มทุนไหม แผนยุทธศาสตร์จะนำไปสู่การสร้างคุณภาพในเรื่องนี้ได้อย่างไร เอกภาพในความหลากหลายไปสู่การมีคุณภาพ

(3) ด้านการเผยแผ่ และด้านการสาธารณูปการ การเผยแผ่เป็นเรื่องการนำผลของงานทุก ด้านมาสื่อสารทั้งในช่องทางเดิมและยุค 4.0 เช่น การเผยแผ่เรื่องจิตอาสาทำอย่างไร หรือสาธารณูปการ โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข (กิจกรรม 5 ส.) หน่วย อปต. หมู่บ้านรักษาศีล 5 จะดำเนินการบูรณาการอย่างไรให้ไปเชื่อมโยงกับเรื่องอื่น ๆ กระแสแผนยุทธศาสตร์ชาติ ส่งเสริมประเทศให้มีรายได้สูง จากประเทศรายได้ปานกลาง ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ประเทศไทยภายใน 20 ปีต้องการส่งเสริมให้ประเทศมีรายได้สูง ซึ่งงานกิจการคณะสงฆ์ จะเอื้อต่อแผนยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างไร ตัวอย่าง สาธารณูปการ 5 ส. ท่องเทียวเชิงวัฒนธรรมได้อย่างไร ไทยแลนด์ 4.0 คือบทสรุปคือแผนยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพเทคโนโลยีที่เหมาะสม นำสารสนเทศ 4.0 ออกมาใช้ตั้งแต่การปกครอง เรื่องการจัดทำฐานข้อมูลในฐานะเป็นเจ้าคณะปกครองมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลที่เป็นฐานข้อมูลสารสนเทศประกอบการตัดสินใจด้วย ช่องทางการสื่อสารเป็นถนน เรามีเนื้อหา (Content) พร้อมสำหรับคนรุ่นใหม่ เหมาะสมสอดคล้องกับยุคสมัย ช่องทางการสื่อสารทุกวันนี้ถูก พุทธมณฑลเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาเพราะเป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารสารสนเทศด้านพระพุทธศาสนา ข้อมูลพระไตรปิฏกทุกภาษา สื่อออนไลน์ที่ทีวีเขาทำนำมาเชื่อมให้หมด ขณะนี้รัฐบาลมีโครงการเฉลิมพระเกียรติปีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแปลภาษาอังกฤษ 45 เล่ม เฉลิมพระเกียรติ

(4) ด้านศึกษาสงเคราะห์ งานศึกษาสงเคราะห์ที่เป็นการสร้างคุณธรรมจริยธรรมให้กับคฤหัสถ์ ประชาชน เด็กและเยาวชน คุณภาพของโรงเรียนการกุศล โรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ให้ทุนการศึกษาเป็นการให้ธรรมะเป็นคุณภาพชีวิต จะประสานความหลากหลาย จุดเน้นแต่ละด้านในที่สุดนำไปสู่อะไร ทั้งสืบสาน รักษา และต่อยอด

(5) ด้านสาธารณสงเคราะห์ สาธารณะสงเคราะห์ จะเชื่อมโยงกับการใช้ธรรมะไปสังเคราะห์สังคม ใช้กรอบเศรษฐกิจพอเพียง กรอบของพลัง บวร. และ SDGs คือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ซึ่งเป็นกรอบทิศทางการพัฒนาของโลก มาเป็นกรอบของการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร ทั้งในระดับโลก ระดับชาติ ระดับท้องถิ่น SDGs มีเป้าหมาย 17 ข้อ ข้อสุดท้ายเขาเรียกว่าการมีส่วนร่วม เขาเรียกร้องให้องค์กรศาสนาเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม บทบาทศาสนากับการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงจิตอาสาในรัชกาลปัจจุบันของเราด้วยจะเป็นอย่างไรเป็นก้าวสำคัญของการประสานขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปฯหลังจากนี้

หลังจากนั้น พระเทพปวรเมธี,รศ.ดร. ประธาน คปพ. ได้เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการฯ โดยมีวาระพิจารณาที่สำคัญ คือ การรายงานผลการดำเนินงานของแต่ละฝ่าย การทบทวนแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา การทบทวนโครงการเชิงยุทธศาสตร์ตามแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา และทบทวนกระบวนการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา

ที่ประชุมได้ร่วมกันอภิปรายให้ข้อคิดความเห็นอย่างหลากหลาย โดยมีประเด็นสรุปเป็นสาระสำคัญ คือ การทบทวนแผนและโครงการเชิงยุทธศาสตร์ที่ประชุมเห็นว่า ควรดำเนินการให้ถึงที่สุดตามแผนที่กำหนดไว้ และในอนาคตหากมีสถานการณ์หรือโครงการ/กิจกรรมใดที่จำเป็นและเป็นสถานการณ์เฉพาะก็อาจมีการปรับแผนหรือโครงการให้เป็นไปตามสถานการณ์ ส่วนกระบวนการขับเคลื่อนแผนฯ เห็นว่า หลายโครงการมีการขับเคลื่อนและมีผลความสำเร็จเป็นที่น่าชื่นชมอนุโมทนารูปแบบกระบวนการในการดำเนินการโดยส่วนใหญ่มีการแต่งตั้งอนุกรรมการขับเคลื่อนและความร่วมมือการทำงานร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย จึงเห็นควรให้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ของคณะกรรมการแต่ละฝ่าย

อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการเชิงยุทธศาสตร์ที่มีความเชื่อมโยงกับฝ่ายอื่น ๆ มีลักษณะเฉพาะและสำคัญ ซึ่งคณะกรรมการที่รับผิดชอบได้ดำเนินการและมีความก้าวหน้ามาโดยลำดับ คือ โครงการพระพุทธศาสนา 4.0 Smart Card (ข้อมูลศาสนบุคคล) แต่เนื่องจากเป็นการจัดการข้อมูลที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย มีความสำคัญ เห็นควรมีการแต่งตั้งอนุกรรมการขับเคลื่อนเฉพาะกิจ โดยเสนอคณะกรรมการฝ่ายปกครองพิจารณาดำเนินการ ทั้งนี้ให้ใช้ประเด็นมติจากที่ประชุมเป็นหลักในการขับเคลื่อน

Leave a Reply