หลวงปู่ทองวัดพระธาตุศรีจอมทองนำเจริญสติภาวนา งาน 132 ปีแห่งการสถาปนา ‘ม.สงฆ์ มจร’

วันที่ 9 ก.ย.2562  พระเมธีธรรมาจารย์(เจ้าคุณประสาร) รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้กำหนดจัดงานครบ 132 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยระหว่างวันที่ 12 -13 ก.ย.2562 นี้

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงสถาปนามหาธาตุวิทยาลัยขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2430 ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นที่เล่าเรียนของพระสงฆ์​ฝ่ายมหานิกายและคฤหัสถ์​ และเมื่อปี พ.ศ. 2439 ได้พระราชทานเปลี่ยนนามมหาธาตุวิทยาลัย​เป็น มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ​ยศของพระองค์​

คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย​ จำนวน​ 57 รูป โดยพระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตมหาเถร)ได้ประชุมพระมหาเถรานุเถระ ณ ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช วัดมหาธาตุฯ เพื่อดำเ​นิ​นการ​จัด​การศึกษา​ในรูปแบบมหาวิทยาลัย ตาม​พระราชปณิธานของพระองค์ มหาวิทยาลัย​มหา​จุฬา​ลง​กร​ณ​ราช​วิทยาลัย​ จึง​ได้​เปิด​การ​ศึกษา​ในรูปแบบ​มหาวิทยาลัย​ ตั้งแต่​วันที่​ 18 กรกฎาคม​ พ.ศ. 2490 เป็น​ต้น​มา และประกาศ​ให้​มหา​จุฬา​ลง​กร​ณ​ราช​วิทยาลัย​ ดำเนิน​การจัดการ​ศึกษา​พระไตรปิฎก​และวิชาชั้นสูง​ในระดับมหาวิทยาลัย​ และเปิดสอนระดับ​ปริญญาตรี​ คณะ​พุทธศาสตร์​ เป็น​คณะ​แรกและต่อมา​ใน​ปี​ 2505 จึงได้เปิดสอนคณะคุรุศาสตร์​ และคณะเอเชีย​อาคเนย์ เป็นต้น

มีนิสิตรุ่นแรกที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตร 4 ปีจำนวน 6 รูป มีพิธีประสาทปริญญาครั้งแรก ณ พระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กทม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร) เป็นองค์ประธานมอบปริญญา มีจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นเข้าร่วมพิธีด้วยภายในพระอุโบสถ

และในวันที่ 12 -13 ก.ย. 2562 นี้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยครบ 132 ปีแห่งการสถาปนา คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย จึงกำหนดจัดงานเพื่อเป็นการฉลอง เพื่อการบำเพ็ญอุทิศพระราชกุศลถวายแด่พระองค์ผู้ทรงสถาปนา และยังมีงานทางด้านวิชาการระดับนานาชาติพร้อมทั้งการ ระดมทุนจากทุกภาคส่วนเพื่อเข้ากองทุนพัฒนามหาวิทยาลัยอีกด้วย

โดยวันที่ 12 ก.ย.ภาคเช้า พระธรรมปัญญาดี นายกสภามหาวิทยาลัย มจร จะเป็นประธานในพิธีเปิด พระราชปริยัติกวี อธิการบดี มจร ปาฐกถาพิเศษเรื่อง เหลียวหลัง แลหน้า สืบสานต่อยอด เป็นการมองจากอดีตตั้งแต่ยุค พระพิมลธรรม(ช้อย) สมเด็จพระพุฒาจารย์(อาจ) สมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว)สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ปอ.ปยุตฺโต)พระราชรัตนโมลี(นคร) พระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค 2 เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส อดีตอธิการบดี มจร มาจนถึงยุคปัจจุบันและจะสานต่อและต่อยอดกันอย่างไรต่อไป

“สำหรับการอภิปรายทางด้านวิชาการนั้น จะมีทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยจะมุ่งเน้นและการนำผลไปสู่ภาคปฏิบัติเพื่อใช้สำหรับการจัดการศึกษาเพื่อ”ความเป็นเลิศทางด้านวิชาการทางพระพุทธศาสนา”โดยผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น พระเทพปวรเมธี รองอธิการบดี มจร พระเมธีวชิโรคม หรือ พระว.วชิเมธี พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษาและวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ ศ.ดร.บุญทัน ดอกไธสง รศ.ดร.สุรพล สุยะพรหม รองอธิการบดี มจร รศ.ดร.ชลวิทย์ เจียจิตต์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว) เป็นต้น”  พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าวและว่า

“และเวลา 18.00น. มีพิธีสติภาวนาเพื่อการรู้ ตื่น และเบิกบาน โดยพระพรหมมงคล (ทอง สุมังคลมหาเถร) วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร จ.เชียงใหม่ จึงขอเชิญชวนศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ และเข็มเกียรติคุณจากมหาวิทยาลัย รวมทั้งผู้ให้การอุปถัมภ์ ผู้มีอุปการคุณทุกท่านเข้าร่วมงานและร่วมกันบริจาคเพื่อระดมทุนในกองทุนพัฒนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และขอกราบนิมนต์และเรียนเชิญผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นิสิต และศิษย์เก่าทุกรุ่น ร่วมกันเขียนคำอวยพร หรือความประทับใจ สิ่งที่อยากบอกกับมหาจุฬา ในโอกาสครบรอบ 132 ปี ได้ที่ https://padlet.com/dhawara_bhu/apxs11q7apa9

Leave a Reply