ด่วน กกต.เปิดรับสมัคร ส.ว.ทั่วประเทศแล้ว..

   สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต.

         ขอเชิญผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือก ส.ว. ขอรับเอกสารการสมัครด้วยตนเองพร้อมบัตรประชาชนแบบ Smart Card ได้ที่สำนักทะเบียนอำเภอ (หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นสำหรับเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร) ที่ประสงค์จะสมัคร ได้ตั้งแต่วันที่ 22 – 30 พฤศจิกายน นี้ เพื่อจัดเตรียมเอกสารและหลักฐานการสมัคร ประกอบด้วย
          1. ใบสมัคร (ส.ว. 17)
          2. เอกสารข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัคร (ส.ว. 18)
          3. หนังสือรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในกลุ่มที่สมัคร (ส.ว. 19)
          4. เอกสารหลักฐานอื่น ๆ ตามประกาศรับสมัคร
          5. เงินสดค่าธรรมเนียมการสมัคร 2,500 บาท
          กรณีสมัครโดยคำแนะนำจากองค์กร (เพิ่มเติม)
          6. หนังสือแนะนำชื่อผู้สมัครจากองค์กร (ส.ว. 20)
          7. หนังสือยินยอมให้แนะนำชื่อ (ส.ว. 21)
          โดยสามารถยื่นใบสมัครที่อำเภอหรือเขตที่ประสงค์จะสมัคร ได้ตั้งแต่วันที่ 26 – 30 พฤศจิกายน 2561
  ตัวอย่างการเรียงชุดเอกสารการสมัคร คลิ๊กที่นี่

วิธีการสมัคร 2 ช่องทาง
  1. สมัครโดยยื่นใบสมัครด้วยตนเอง
  2. สมัครโดยยื่นใบสมัครด้วยตนเองพร้อมหนังสือแนะนำชื่อผู้สมัครจากองค์กร

    ทั้งนี้ ผู้สมัครแต่ละคนมีสิทธิสมัครเพื่อเข้ารับเลือกได้เพียงกลุ่มเดียวและสมัครโดยวิธีการใดวิธีการหนึ่งเพียงวิธีการเดียว รวมทั้งมีสิทธิสมัครเพียงอำเภอเดียว สมัครแล้วจะถอนการสมัครไม่ได้ ซึ่งหากฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 5 ปี

10 กลุ่มอาชีพผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา
รัฐธรรมนูญกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงาน หรือเคยทำงานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยในวาระเริ่มแรกได้กำหนดให้มีกลุ่มจำนวน 10 กลุ่ม ดังนี้
  1. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง
  2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
  3. กลุ่มการศึกษาและการสาธารณสุข
  4. กลุ่มอาชีพกสิกรรม ปลูกพืชล้มลุก ทำนา ทำสวน ทำไร่ ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง
  5. กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน / อาชีพอิสระ
  6. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม
  7. กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม ผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว
  8. กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์
  9. กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา สื่อสารมวลชน ผู้สร้างวรรณกรรม
  10. กลุ่มอื่นๆ (ผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามย่อมมีสิทธิสมัครในกลุ่มอื่นๆ)
ความสำคัญของการเลือกสมาชิกวุฒิสภา
สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นับว่ามีความสำคัญยิ่งต่อคนไทยทุกคนที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมโดยการสมัครเข้ารับเลือก ส.ว. เข้าไปทำหน้าที่ในสภาสูงเป็นตัวแทนของประชาชนคนไทย ในการตรากฎหมายเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติ และคัดกรองบุคคลนักการเมืองหรือคนดีทำงานในองค์กรสำคัญต่างๆ ให้สามารถพัฒนาบ้านเมืองให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้
หน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา
  1. กลั่นกรองกฎหมาย ที่ผ่านการพิจารณาของ ส.ส.
  2. ตรวจสอบและควบคุม การบริหารราชการแผ่นดิน
  3. ให้ความเห็นชอบบุคคล ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
คุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภา
สมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ฝักใฝ่หรือยอมตนอยู่ภายใต้ของพรรคการเมืองใดๆ โดยมีคุณสมบัติดังนี้
  1. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
  2. อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีในวันสมัครรับเลือก
  3. มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี หรือเป็นผู้มีลักษณะตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
  4. เกิดในอำเภอที่สมัคร หรือมีชื่อหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือก หรือทำงานหรือเคยทำงานในอำเภอที่สมัครติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือก หรือเคยศึกษาในสถานศึกษาตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีการศึกษา และ
  5. ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด
ลักษณะต้องห้ามของสมาชิกวุฒิสภา
  1. เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
  2. อยู่ในระหว่างเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดหรือไม่
  3. วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
  4. ติดยาเสพติดให้โทษ
  5. เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
  6. เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด
  7. อยู่ระหว่างถูกระงับสิทธิสมัครเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัคร
  8. ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
  9. เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
  10. เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
  11. เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
  12. เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐหรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญาความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
  13. เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
  14. เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง
  15. เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
  16. เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสิ้นสุดลงยังไม่เกิน 2 ปี
  17. เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจหรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
  18. เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
  19. อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
  20. เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุพิจารณา แปรญัติหรือกระทำด้วยประการใดๆที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา กรรมาธิการมีส่วนโดยตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย หรือเหตุเพราะพ้นจากหน้าที่เพราะต้องคำพิพากษาศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่ามีความผิด
  21. เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
  22. เป็นสมาชิกพรรคการเมือง
  23. เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง เว้นแต่ได้พ้นจากการดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
  24. เป็นหรือเคยเป็นรัฐมนตรี เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นรัฐมนตรีมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
  25. เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาในคราวเดียวกัน หรือผู้ดำรงตำแหน่งใดในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ
ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา
      รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 กำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด จำนวน 200 คน ดำรงตำแหน่งได้คราวละ 5 ปี เป็นได้วาระเดียว มาจากการเลือกกันเองของประชาชนในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จากกลุ่มบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วม หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่างๆที่หลากหลายของสังคม ตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ
ที่มาของสมาชิกวุฒิสภาในวาระเริ่มแรก
      ในวาระเริ่มแรก ตามบทเฉพาะกาลของแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน ซึ่งพระ   มหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถวายคำแนะนำ โดยมาจาก 3 ส่วน คือ
  1. กกต. ดำเนินการจัดให้มีการเลือก ส.ว. จำนวน 200 คน แล้ว นำรายชื่อเสนอต่อ คสช. คัดเลือกจำนวน 50 คน
  2. คณะกรรมการสรรหา ส.ว. คัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมในอันจะเป็นประโยชน์แก่ การปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาและการปฏิรูปประเทศมีจำนวนไม่เกิน 400 คน แล้ว นำรายชื่อเสนอต่อ คสช. คัดเลือก จำนวน 194 คน
  3. ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำนวน 6 คน
โครงสร้างบริหารจัดการการเลือกสมาชิกวุฒิสภา
       การเลือก ส.ว. ในวาระเริ่มแรก จะมีการดำเนินการจัดการเลือกกันเอง ตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ตามลำดับ มีการบริหารงานโดยศูนย์อำนวยการและประสานงานการเลือก ส.ว. ซึ่งจะกำกับดูแลการดำเนินการในภาพรวม และศูนย์ปฏิบัติการและประสานงานการเลือก ส.ว. ในแต่ละระดับ ซึ่งทั้ง 3 ระดับจะมีคณะกรรมการและบุคลากรผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการเลือก ประกอบด้วย คณะกรรมการ 7 คน โดยมีนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด และประธานกรรมการการเลือกตั้ง เป็นประธานกรรมการระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ กรรมการทุกระดับ จะประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการระดับละ 3 คน และผู้ทรงคุณวุฒิระดับละ 2 คน มีปลัดอำเภอ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด และเลขาธิการ กกต. ทำหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการและผู้อำนวยการการเลือกของแต่ละระดับ โดยคณะกรรมการจะมีอำนาจหน้าที่ ช่วยเหลือการปฏิบัติงาน แนะนำ อำนวยความสะดวก และรายงานปัญหาหรืออุปสรรคเกี่ยวกับการเลือก ส.ว. ต่อ กกต. รวมทั้งแต่งตั้งบุคคลเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการการเลือกในแต่ละระดับ นอกจากนี้ยังมีบุคลากรซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับด้านธุรการของศูนย์ฯ และการดำเนินการเลือก ประกอบด้วย
  1. ผู้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานระดับอำเภอ 15 คน ระดับจังหวัด 3-7 คน และระดับประเทศ 20 คน มีหน้าที่ ช่วยเหลือการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการการเลือกในแต่ละระดับ
  2. คณะกรรมการประจำสถานที่เลือก ระดับอำเภอและระดับจังหวัด มีจำนวนแห่งละ 20 คนต่อสถานที่เลือก ส่วนระดับประเทศ จะมีจำนวน 100 คน มีหน้าที่ ดำเนินการลงคะแนนและนับคะแนน
  3. เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ระดับอำเภอและระดับจังหวัด มีจำนวนแห่งละ 4 คนต่อสถานที่เลือก ส่วนระดับประเทศจะมีจำนวน 20 คน มีหน้าที่ รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยภายในบริเวณสถานที่เลือก
  4. เจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยระดับอำเภอ 5 คน ระดับจังหวัด 10 คน และระดับประเทศ 20 คน มีหน้าที่ รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยบริเวณโดยรอบสถานที่เลือก
   โครงสร้างกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ในวาระเริ่มแรกตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฯ
การเลือก ส.ว. ที่มาจากการดำเนินการของ กกต. จะจัดให้มีการเลือกให้เหลือจำนวน 200 คน แล้วนำรายชื่อเสนอต่อ คสช. เพื่อคัดเลือกจำนวน 50 คน โดยกระบวนการจัดการเลือกกันเองภายในกลุ่มอาชีพเดียวกัน 10 กลุ่ม กลุ่มละ 2 วิธีการสมัคร คือ (1) สมัครโดยอิสระ (2) สมัครโดยคำแนะนำขององค์กร เริ่มตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ตามลำดับ โดยผู้สมัครที่มีสิทธิเลือกต้องมาถึงสถานที่เลือกภายในเวลาที่กำหนด ผู้ใดไม่มาหรือมาไม่ทันให้หมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก กลุ่มใดและวิธีการใดไม่มีผู้สมัครหรือมีผู้มารายงานตัวไม่เกิน 3 คน (ในระดับอำเภอ) หรือไม่เกิน 4 คน (ในระดับจังหวัด) ไม่ต้องดำเนินการเลือก แต่ถ้าเกิน 3 คน (ในระดับอำเภอ) หรือเกิน 4 คน (ในระดับจังหวัด) ให้ดำเนินการเลือกระดับอำเภอ และระดับจังหวัด รวมถึงการเลือกในระดับประเทศ ดังนี้
  1. การลงคะแนน เมื่อผู้สมัครมาครบหรือทันเวลาที่กำหนดแล้ว ให้รวมอยู่ในกลุ่มและวิธีการสมัครเดียวกัน เพื่อทำการลงคะแนน โดยการแสดงตนพร้อมบัตรประจำตัวประชาชนและลงลายชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือก ลงลายมือชื่อที่ต้นขั้วบัตรลงคะแนน แล้วรับบัตรลงคะแนน เพื่อนำไปลงคะแนนในคูหาโดยการ “เขียนหมายเลข” ผู้สมัครด้วยตัวเลขอารบิคในช่องเขียนหมายเลข ซึ่งผู้สมัครทุกคนมีสิทธิเลือกได้ไม่เกิน 2 หมายเลข โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนมิได้ เมื่อลงคะแนนเสร็จแล้ว ให้พับบัตรแล้วนำไปใส่ลงในหีบบัตรลงคะแนนด้วยตนเอง แล้วให้รอจนกว่าการลงคะแนนและการนับคะแนนของแต่ละวิธีการสมัครจะแล้วเสร็จ เพื่อรับทราบผลการลงคะแนน
  2. การนับคะแนน เมื่อการลงคะแนนของแต่ละวิธีการสมัครเสร็จสิ้นแล้ว คณะกรรมการประจำสถานที่เลือกจะทำหน้าที่ในการนับคะแนนโดยเปิดเผยและต้องให้เสร็จในรวดเดียว จะไม่เลื่อนหรือประวิงเวลา โดยในการนับคะแนนจะมีกรรมการ 3 คน ทำหน้าที่ วินิจฉัยและอ่านหมายเลขผู้สมัคร ขานทวนหมายเลขและขีดคะแนน และเจาะบัตรที่วินิจฉัยแล้วแยกใส่ภาชนะบัตรดีและบัตรเสีย กรณีกลุ่มใดและวิธีการสมัครใด มีผู้ได้คะแนนเท่ากันเกิน 3 คนในระดับอำเภอ หรือเกิน 4 คนในระดับจังหวัด หรือเกิน 10 คนในระดับประเทศ ให้ดำเนินการจับสลากทันทีเพื่อเลือกว่าผู้ใดจะได้รับเลือก กรณีมีผู้ไม่ได้รับคะแนนเลย มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนผู้สมัครในกลุ่มนั้นและวิธีการสมัครนั้น (แต่ต้องไม่น้อยกว่า 3 คน) ให้สันนิษฐานว่ามีการสมยอมกันในการเลือก ให้จัดการเลือกกันเองใหม่ โดยให้ผู้ที่ไม่ได้รับคะแนนนั้นหมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือกและต้องออกจากสถานที่เลือก สำหรับการจัดการเลือก ส.ว. ระดับอำเภอ ต้องดำเนินการภายในระยะเวลาไม่เกิน 20 วัน นับแต่สิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร การเลือก ส.ว. ระดับจังหวัด ต้องไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันเลือกในระดับอำเภอ และ การเลือก ส.ว. ระดับประเทศ ต้องไม่เกิน 10 วัน นับแต่วันเลือกในระดับจังหวัด
  3. การรายงานผลการนับคะแนน เมื่อการเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ เสร็จสิ้นแล้ว ผอ. การเลือกระดับประเทศ (เลขาธิการ กกต.) จะรายงานผลการนับคะแนนของแต่ละกลุ่มและแต่ละวิธีการสมัครให้ กกต. ทราบ เมื่อ กกต. ได้รับรายงานดังกล่าวแล้ว ให้รอไว้ไม่น้อยกว่า 5 วัน ถ้า กกต. เห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้จัดเรียงลำดับรายชื่อผู้ได้คะแนนสูงสุด 10 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่มและแต่ละวิธีการสมัคร แล้วแจ้งรายชื่อให้ คสช. พิจารณาคัดเลือก จำนวน 50 คน เป็น ส.ว. และคัดเลือกอีก 50 คน เป็นบัญชีรายชื่อสำรอง
กฎหมาย/แบบฟอร์มที่เกี่ยวข้อง
  1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
  2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561
  3. ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561
  4. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง เรื่อง การลงทะเบียนขององค์กรที่มีสิทธิแนะนำชื่อบุคคลเพื่อสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา
  5. แบบคำขอลงทะเบียนองค์กรฯ และหนังสือมอบอำนาจ(แบบ ส.ว. 2 และ แบบ ส.ว. 3)

Leave a Reply