อีกไม่กี่วันข้างหน้าในปลายเดือนนี้ เราจะได้ย้อนถึงวัน “จิตอาสา” เพราะเป็นวันที่การเสียสละของเหล่าจิตอาสาทั่วประเทศไทยและต่างชาติแบ่งบาน หลังจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิถล่ม ๖ จังหวัดชายฝั่งอันดามันของไทยเกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมหาศาล เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ เหตุการณ์นั้นได้ทำให้เกิดคลื่นจิตอาสาเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเกินคาดคิดและถือเป็นปรากฎการณ์ครั้งสำคัญอีกครั้งของสังคมไทย โดยเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้เกิดคำนิยามของคำว่า “จิตอาสา” ชัดเจนที่สุด คือ ”เป็นผู้ที่ทำจิตอาสาโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน”“ไม่ต้องมีกล้องทีวี มีรูปภาพถ่ายไว้ ไร้ไมค์โครโฟน สปอร์ตไลท์ส่องไม่ถึง แทบจะไร้ตัวตนให้ใครยกย่องเชิดชู” เขาเหล่านี้ทำด้วยเหตุผลที่เราเข้าใจได้เองว่า “ทำแล้วสุขใจ” “ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ” ฯลฯ แม้โศกนาถกรรมจะนำความเศร้าเสียใจอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง แต่ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเรายังมีคนที่พร้อมเสียสละ ทำดีปิดท้องหลังพระ และไม่ทอดทิ้งกันในยามทุกข์ในคราครั้งนี้
แต่มองอีกด้านหนึ่ง “จิตอาสา” ที่ทำทุกอย่างด้วยหัวใจ หรืออาศัยใจในการทำ อาจจะใช้ไม่ได้อีกแล้วในสังคมสมัยนี้ เมื่อกฎหมายเริ่มถามหาว่า “จิตอาสาเหล่านั้นมีใบอนุญาตหรือเปล่า” เราอาจเห็นได้ว่าในต่างประเทศ การจะทำจิตอาสาไม่ใช่ง่ายเนื่องจากว่ามีกฎหมาย อย่างถ้ากำลังขับรถไป เจอคนรู้จักกำลังเดินอยู่ เขาจะไม่หยุดรับขึ้นรถ ไม่ใช่ว่าเขาแล้งน้ำใจหรือไม่มีจิตใจอยากช่วยเหลือ แต่มีกฎหมายว่าเมื่อรับใครขึ้นรถก็ต้องรับผิดชอบชีวิตคนนั้น ถ้าไปเกิดอุบัติเหตุ ถือเป็นความผิดของคนขับ หรือหากเราเดินไปเห็นคนหกล้มแล้วรีบเข้าไปช่วย เราอาจมีความผิดก็ได้ เพราะเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่หน่วยพยาบาลช่วยเหลือ ถ้าเราช่วยแล้วเขาเป็นหนักขึ้นก็อาจซวยที่เราต้องรับผิดชอบ จึงเป็นที่มาของการที่ใครจะช่วยเหลือใครได้ต้องมีใบอนุญาตตามกฎหมาย
ถ้ามองจากมุมมองของกฎหมายก็มีเหตุผลแต่ถ้าจะนิยามจิตอาสาแบบกฎหมายแล้ว แทบเป็นไปไม่ได้ที่เราจะนิยาม “จิตอาสา” ว่า “ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ” “สุขใจที่ได้ทำ” อีกต่อไป แต่ก่อนใครหกล้มเราเข้าไปช่วยคือมีน้ำใจ แต่มุมมองของกฎหมายจะถามว่า “ใครใช้ให้คุณทำ” “คุณมีหน้าที่หรือเปล่า” “มีใบอนุญาตไหม” อาจเป็นได้ที่สังคมไม่ต้องการคนทำดีแบบปิดท้องหลังพระ ทำดีไม่หวังผลตอบแทนอะไร ทุกคนทำดีต้องมีประกาศนียบัตรรับรองความรู้ ความสามารถในการเป็นจิตอาสา ทำดีแล้วต้องประกาศให้สังคมรู้ มีสปอร์ตไลท์คอยส่อง มีไมค์โครโฟนประกาศชื่อเสียง และมีรูปถ่าย กล้องทีวีรับรู้ ให้โลกได้รับรู้เป็นสักขีพยานว่ากำลังทำดีอยู่
อย่างนี้การทำดีด้วยใจบริสุทธิ์คงเป็นเรื่องยาก และจิตอาสาคือคนที่ทำด้วยใจบริสุทธิ์ หรือทำแล้วสุขใจ ก็คงใช้ไม่ได้อีกต่อไป และที่น่าเสียดายยิ่งกว่า คือความเสียสละของจิตอาสาในสังคมนี้จะค่อยๆ เลือนหายไป ไม่ใช่ไม่มีใครอยากช่วยเหลือใครอื่น แต่เพราะสังคมกำลังบอกว่า “อย่ายุ่งเรื่องชาวบ้าน” เท่านั้นเอง
คอลัมน์ : ตื่นข่าว
ผู้เขียน : กิตติเมธี
Leave a Reply