จบด้วยดี! “พระธาตุปลอมไม่เกี่ยวกับพระ” – รองเจ้าคณะโคราชชี้ พระธาตุเป็นของสูงที่ผ่านมาไม่มีใครเขานำไปทดสอบกัน!!

             วันนี้ (8 ก.ย. 2563 ) ที่วัดถ้ำเขาวง ตำบลหนองน้ำแดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับตัวแทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตัวแทนเจ้าคณะจังหวัด นายศิรสิทธิ์  เลิศด้วยลาภ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ ได้เข้ามารับฟังข้อเท็จจริง กรณีมีผู้ร้องเรียนพระธาตุปลอม ที่วัดถ้ำเขาวง พระครูภาวนาวรานุสิฐ เจ้าอาวาสวัดถ้ำเขาวง ได้กล่าวว่า ด้วยวัดมีภารกิจมาก มีพระจำนวนกว่า 85 รูป มีค่าใช้จ่ายประจำเดือนที่ต้องดูแลพระ ที่ผ่านมาในด้านของการเรียนของพระสงฆ์ก็ได้จบนักธรรมจำนวนมาก สำหรับกรณีที่ญาติโยมที่ได้นำพระสารีริกธาตุ มาถวายวัดก็ยังอยู่คงเดิม วัดเพียงรับและได้นำไปประดิษฐานในจุดที่เหมาะสม สำหรับการออกใบอนุโมทนาบัตรนั้น วัดได้ออกใบอนุโมทนาบัตรกับผู้ที่มาร่วมทอดผ้าป่าจริง

               นายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้ตรวจการราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า การออกใบอนุโมทนาบัตร ในปัจจุบันจะมี QR Code สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมสรรพากรได้โดยตรง เนื่องจากในอดีตหากมีใบอนุโมทนาบัตรที่คาดว่าอาจมีการปลอมแปลง กรมสรรพากรจะส่งใบอนุโมทนาบัตรไปยังสำนักงานพุทธศาสนาเพื่อตรวจสอบ โดยขั้นตอนจะนำใบอนุโมทนาบัตรไปให้วัดยืนยัน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง

               สำหรับใบอนุโมทนาบัตร จะมีสาระสำคัญอยู่ 3 เรื่องหลัก  คือ

              1.มีต้นขั้ว2.วัตถุประสงค์การบริจาค  และ 3. ต้องมีรายชื่อผู้บริจาค

    สำหรับประทับตราวัด และการลงลายมือชื่อ หากวัดยืนยันว่าเป็นของจริง ก็จะยึดตามนั้น

             พระสีหราชสมาจารมุนี รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา วัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร กล่าวว่า ตนขอให้ข้อคิดว่า พระธาตุถือว่าเป็นปฐวีธาตุ ดำรงอยู่มาเป็นระยะเวลามานานอาจจะมีส่วนแร่ธาตุต่างๆเป็นส่วนประกอบ  พระธาตุเป็นของสูง เป็นความเชื่อส่วนบุคคล ไม่ควรนำมาทดสอบแล้วแสดงออกว่าเป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้ ที่ประเทศพม่ามีก้อนหินขนาดใหญ่ชาวพม่าเชื่อว่ามีพระเกศาของพระพุทธเจ้าอยู่ในก้อนหิน คล้ายพระสารีริกธาตุ ชาวพม่าต่างเคารพกราบไหว้ ไม่เห็นจะมีใครในพม่าจะมีใจที่จะผ่าก้อนหินเพื่อทดสอบว่ามีเส้นเกศาพระพุทธเจ้าหรือไม่เลย ก้อนหินนี้ชาวไทยเรียกกันว่า “พระธาตุอินทร์แขวน” มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาแสวงบุญกราบไหว้ สร้างเศรษฐกิจที่ดีใหักับชุมชน ผู้มาแสวงบุญก็ต่างหน้าชื่อตาบาน กลับไปด้วยจิตใจอันร่าเริงมีความรู้สึกได้กราบตัวแทนของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น

          ส่วน ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม กล่าวโดยสรุปว่า เมื่อพระครูภาวนาวรานุสิฐ เจ้าอาวาสวัดถ้ำเขาวง ท่านยืนยันใบอนุโมทนาบัตรว่าเป็นของจริงแล้ว ก็ถือว่าใบอนุโมทนาบัตรนั้นเป็นของจริง ส่วนว่ามีการกล่าวอ้างว่านำไปขอคืนภาษีไม่ได้ ผู้ที่แจ้งก็สามารถมาขอใบอนุโมทนาบัตรจากวัดได้ใหม่ หรือหากมีส่วนประกอบของข้อความที่คิดว่าไม่ถูกต้องก็สามารถนำใบอนุโมทนาบัตรนำมาแก้ไขให้ถูกต้องได้ กรณีของพระสารีริกธาตุถือเป็นของสูง ทางกรรมาธิการก็จะเข้าไปดูสถานที่จัดเก็บของพระสารีริกธาตุ ทั้งนี้ก็ถือว่าได้ข้อมูลครบถ้วน ทางตัวแทนคณะกรรมาธิการฯ ก็จะนำข้อมูลทั้งหมดเพื่อนำเข้าที่ประชุมใหญ่ของกรรมาธิการฯ ต่อไป

ทางด้าน  ดร.ณพลเดช มณีลังกา ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม กล่าวเสริมว่า กรณีรูปแบบของใบอนุโมทนาบัตร ตนเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่คณะสงฆ์หรือตัวแทนผู้ออกใบอนุโมทนาบัตรของวัดในปัจจุบันบางวัดยังสับสนถึงมาตรฐานและหลักเกณฑ์การออกใบอนุโมทนาบัตรที่ถูกต้อง อนึ่งระบบมาตรฐานการบัญชี หากมีการยกเลิกใบอนุโมทนาบัตร รวมถึงใบอนุโมทนาบัตรเกิดการสูญหาย ควรจะทำอย่างไร? หากถวายสิ่งที่ไม่ใช่เงินจะลงบันทึกอย่างไร มาตรฐานเหล่านี้ควรจะมีรูปแบบที่ชัดเจน สำนักงานพระพุทธศาสนาควรมีเอกสารหรือคู่มือมาแนะนำวิธีการที่ถูกต้อง ทั้งนี้ตนจะหารือกับคณะกรรมาธิการ เพื่อเชิญสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ , กรมสรรพากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบบัญชี เข้ามาหารือในชั้นกรรมาธิการ เพื่อกำหนดเป็นมาตรฐานไม่ให้ผิดพลาดในแง่กฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติต่อไป

********************************

 

 

 

Leave a Reply