สุรพศ ทวีศักดิ์: การสร้าง ‘มายาคติ’ ของบทบาทมหาเถรสมาคม

กรณีพระผู้ใหญ่ 5 รูป ที่ถูกศาลพิพากษา “คดีเงินทอนวัด” ซึ่งอยู่ระหว่างรอลงอาญาแล้วกลับครองจีวรใหม่ แต่มหาเถรสมาคม (มส.) มีมติให้พ้นจากความเป็นภิกษุ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) จะแจ้งความดำเนินคดี “ฐานแต่งตัวเลียนแบบสงฆ์” ตามที่เป็นข่าวนั้น

เกิดประเด็นถกเถียงในกลุ่มชาวพุทธทั้งพระและฆราวาส ปัญญาชนพุทธแถวหน้า เช่น ศาสตราจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ และศาสตรจารย์ ดร.สมภาร พรมทา ให้เหตุผล (โดยสรุปสาระสำคัญ) ว่าการกลับครองจีวรของพระทั้ง 5 รูป เป็นสิทธิชอบธรรมตามธรรมวินัย มหาเถรสมาคมและสำนักพุทธฯ ควรเคารพและปกป้องสิทธิอันชอบธรรมดังกล่าว ผมจะไม่ร่วมถกเถียงในประเด็นนี้ เพราะตามที่เห็นมาตลอด การอ้างธรรมวินัยภายใต้อำนาจมหาเถรฯ มักมากด้วยความย้อนแย้ง

ประเด็นที่ผมสนใจคือปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและบทบาทของมหาเถรฯ ตามคำอธิบายของสมภารที่ว่า

“…มหาเถรสมาคมมีบทบาท 2 อย่าง คือ “บทบาทในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ” และบทบาทนี้ถูกกำหนดโดยกฎหมายทางโลก อีกบทบาทหนึ่งคือ “บทบาทในฐานะผู้ปกครองสงฆ์” บทบาทนี้ถูกกำหนดโดยธรรมวินัย” (ดู http://thebuddh.com/?p=51637&fbclid=IwAR3a7m98BZJsnrGblJvvfQ-AiV2911dhP-DYsUotzh-SQWVQB3ekC0K0jr4#.YH2pgD3jpuB.facebook)

แต่เมื่อพลิกดู พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 จะเห็นนิยามของ “คณะสงฆ์” ในมาตรา 5 ทวิว่า

“คณะสงฆ์ หมายความว่า บรรดาพระภิกษุที่ได้รับบรรพชาอุปสมบทจากพระอุปัชฌาย์ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายที่ใช้บังคับก่อนพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะปฏิบัติศาสนกิจในหรือนอกราชอาณาจักร

คณะสงฆ์อื่น หมายความว่า บรรดาบรรพชิตจีนนิกายหรืออนัมนิกาย”

ดังนั้น คณะสงฆ์ไทยจึงไม่ใช่ “คณะสงฆ์ตามนิยามของธรรมวินัย” ในไตรปิฎกโดยตรง แต่เป็น “คณะสงฆ์ตามนิยามของกฎหมาย” ที่ไม่ครอบคลุมถึงพระสงฆ์ตามธรรมวินัยกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มสันติอโศก, ภิกษุณี และ/หรือกลุ่มอื่นใดที่อาจมีได้ 

พูดอีกอย่าง แม้จะเป็นที่รับรู้กันว่าคณะสงฆ์ไทยตามกฎหมายสงฆ์ ก็คือคณะสงฆ์ที่ถือธรรมวินัยแบบเถรวาท แต่ย่อมจำกัดเฉพาะเถรวาทภายใต้กฎหมายสงฆ์นี้เท่านั้น เถรวาทกลุ่มอื่นๆ ที่มีอยู่หรืออาจจะมีในสังคมไทย ย่อมไม่ถูกจัดเข้าในคณะสงฆ์ตามกฎหมายนี้

ครั้นเปิดไปดูมาตรา 15 ตรี ก็กำหนดว่ามหาเถรฯ มีอำนาจหน้าที่

(1) ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม

(2) ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร

(3) ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์

(4) รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา

(5) ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น

ชัดเจนว่า อำนาจหน้าที่ของมหาเถรฯ ในปกครองคณะสงฆ์ถูกกำหนดโดยกฎหมาย ไม่ใช่ถูกกำหนดโดยธรรมวินัย เพราะไม่มีธรรมวินัยในไตรปิฎกอนุญาตให้มีองค์กรสงฆ์แบบมหาเถรฯ ที่มี “อำนาจทางกฎหมาย” ผูกขาดการปกครองพระเณรได้เป็นแสนๆ 

เมื่อไปดู “ที่มา” ของมหาเถรฯ ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมล่าสุดในสมัยรัชกาลที่ 10) มาตรา 5 ตรี ระบุไว้ชัดเจนว่า

“…พระมหากษัตริย์จึงทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ และแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมตามพระราชบัญญัตินี้”

สรุปให้เห็นชัดๆ คือ คำว่า “คณะสงฆ์” ก็ไม่ใช่คณะสงฆ์ตามธรรมวินัยเพียวๆ แต่เป็น “คณะสงฆ์ตามกฎหมายกำหนด” มหาเถรฯ เองก็ไม่ได้เกิดจากธรรมวินัยกำหนด แต่เกิดจากกฎหมายกำหนดให้เป็นองค์กรปกครองสูงสุดที่ใช้อำนาจตามกฎหมายในการปกครองคณะสงฆ์ ที่สำคัญคือมหาเถรฯ ตั้งขึ้นโดย “พระราชอำนาจ” ตามกฎหมายปกครองสงฆ์

เพราะเริ่มต้นด้วย “นิยามที่ผิด” จากข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ คำอธิบายต่อไปของสมภารจึงหลุดลอยออกไปจากความเป็นจริงและความเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นว่า

“ผมคิดว่าเรื่องนี้มหาเถรสมาคมอาจไม่ต้องแสดงบทบาทในทำนองล้วงลูกได้ เพราะพระธรรมวินัยที่เราปฏิบัติกันสืบทอดมายาวนานได้ให้ช่องทางที่ง่ายและงดงามเอาไว้แล้ว หากอาวาส นั้น ๆ เขาพร้อมใจกันรับพระภิกษุที่ต้องคดีและเชื่อว่าตนพ้นคดีในทางโลกมาแล้ว กลับมาอยู่อารามในฐานะ=สมาชิกคนหนึ่ง มหาเถรสมาคมก็ต้องยอมรับมติของอาวาสนั้น หลักปฏิบัตินี้หากเราใช้กับกรณีอื่นๆ ก็จะช่วยให้ชุมชนพุทธไทยเรารู้ว่าอะไรคือ “เส้นแบ่งระหว่างทางโลกกับทางธรรม” การมีหลักในการอยู่ร่วมกันจะช่วยสนับสนุนให้พุทธศาสนาในบ้านเราเจริญรุ่งเรืองครับ” 

จากข้อความดังกล่าวราวกับสมภารพยายามจะบอกว่า ภายใต้ระบบมหาเถรฯ “มี” หรือสามารถจะมี “การแยกระหว่างทางโลกกับทางธรรม” หรือมี “การแยกรัฐกับศาสนา” ชัดเจนอยู่แล้ว

แต่อันที่จริง ศาสนจักรมีสองประเภท เช่นในยุคกลางของยุโรป มีทั้งศาสนจักรที่พยายามจะมีอำนาจของตนเองเป็นเอกเทศจากอำนาจรัฐ และศาสนจักรของรัฐที่กษัตริย์สถาปนาฐานันดรศักดิ์และอำนาจแก่นักบวช มหาเถรฯ ก็คือศาสนจักรประเภทหลัง เป็นศาสนจักรของรัฐที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยพระราชอำนาจตามกฎหมายปกครองสงฆ์

พูดชัดๆ คือ มหาเถรฯ คือศาสนจักรของรัฐภายใต้ปกครองของกษัตริย์ เพราะกษัตริย์ทรงอำนาจเด็ดขาดในการแต่งสมณศักดิ์ชั้นต่างๆ แต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าคณะปกครองระดับสูงอื่นๆ ให้มีอำนาจตามกฎหมายในการปกครองสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร

ภายใต้ระบบเช่นนี้ จึงไม่สามารถที่จะมี “เส้นแบ่ง” ที่ชัดเจนระหว่างทางโลกกับทางธรรม หรือระหว่างรัฐกับศาสนา ยกตัวอย่างเช่น มหาเถรฯ มีอำนาจทางกฎหมายในการออกมติให้พระสงฆ์ทุกวัดทั่วราชอาณาจักรสอนประชาชนให้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และจัดกิจกรรมอื่นๆ เฉลิมพระเกียรติกษัตริย์ ขณะที่ออกมติห้ามสนับสนุนการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยของประชาชน สะท้อนชัดเจนว่า พระเณรไม่มี “เสรีภาพทางการเมือง” และไม่ “มีเสรีภาพทางศาสนา” ด้วย เพราะถูกอำนาจศาสนจักรกำหนดให้ตีความพุทธศาสนาสนับสนุนอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และการจัดกิจกรรรมใดๆ เพื่อเฉลิมพระเกียรติเท่านั้น จะตีความพุทธศาสนาสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยไม่ได้

ยิ่งกว่านั้น เพียงแค่พระภิกษุในวัดแห่งหนึ่งไปเยี่ยม “สมณะดาวดิน” ผู้นั่งอดอาหารประท้วงให้ปล่อยแกนนำที่ถูกขังคุกด้วยมาตรา 112 อย่าง “อยุติธรรม” ก็ถูกเจ้าคณะอำเภอสั่งเจ้าคณะตำบล และเจ้าคณะตำบลก็สั่งเจ้าอาวาสให้ไล่พระรูปนั้นออกจากวัดดังที่เป็นข่าว ราวกับว่าระบบอำนาจศาสนจักรของรัฐไม่อนุญาตให้พระสามารถจะแสดงออกซึ่ง “มนุษยธรรม” ได้เอาเสียเลย 

นี่คือหนึ่งตัวอย่าง (ในอีกหลายตัวอย่างนับไม่ถ้วน) ที่แสดงให้เห็นว่า คณะสงฆ์ภายใต้ศาสนจักรที่ขึ้นต่ออำนาจกษัตริย์ไม่เคยคิดหรือเข้าใจเกี่ยวกับ “บทบาทหน้าที่” แบบที่สมภารอธิบายเลย และไม่เคยมีแนวปฏิบัติแบบ “แยกทางโลกกับทางธรรม” ชัดเจนแต่อย่างใด ถ้าเป็นที่รับรู้หรือเป็นประเพณีกันอยู่แล้วว่าบทบาทหน้าที่ของมหาเถรฯ และเจ้าคณะปกครองทุกระดับเป็นไปตามคำอธิบายแบบสมภาร ก็คงไม่มีเจ้าอาวาส หรือเจ้าคณะปกครองทุกระดับไล่พระเณรออกจากวัด หรือจับพระสึก เพียงเพราะออกมาชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติ

ข้อสังเกตของผมคือ นอกจากนักวิชาการพุทธศาสนาแถวหน้าในบ้านเราจะไม่เคย “call out” ต่อปัญหากรณีพระเณรตัวเล็กตัวน้อยที่ออกมาแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติในทางสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่ถูกเอาผิดโดยอำนาจศาสนจักรอย่างอยุติธรรมแล้ว ในกรณีที่เป็นกระแสในวงการชาวพุทธโดยเฉพาะเกี่ยวกับพระ 5 รูปนี้ พวกเขายังพยายามหาทางออกให้กับระบบศาสนจักร โดยมองข้ามความเป็นจริงว่าระบบศาสนจักรแบบนี้มีปัญหาระดับพื้นฐานสำคัญอะไรบ้างที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามธรรมวินัยตามกรอบคิด “แยกทางโลกกับทางธรรม” ดังที่เสนอตามๆ กันมายาวนาน

แท้จริงแล้ว ปัญหาพื้นฐานของระบบศาสนจักรของรัฐ หากจะพูดให้เห็นภาพพจน์ มหาเถรฯ ก็เปรียบได้กับ คสช. ที่มีอำนาจตามกฎหมาย (ซึ่งพวกเขาบัญญัติขึ้น) ให้มีหน้าที่ปฏิรูปประชาธิปไตย แต่เนื่องจากอำนาจ คสช.ไม่มีที่มาจากกระบวนการประชาธิปไตย ดังนั้น ประชาธิปไตยตามการปฏิรูปของ คสช.จึงเป็นไปตามอำนาจนิยามของพวกเขา มหาเถรฯ ก็ไม่ใช่องค์กรซึ่งมีที่มาจากธรรมวินัย หรือธรรมวินัยไม่ได้ให้กำเนิดระบบองค์กรสงฆ์ที่มีอำนาจแบบมหาเถรฯ ดังนั้น แม้มหาเถรฯ จะมีอำนาจตามกฎหมายในการรักษาธรรมวินัย แต่ธรรมวินัยและการรักษาธรรมวินัยย่อมเป็นไปตามอำนาจนิยามของมหาเถรฯ เพราะเป็นเช่นนี้ ถึงพระเล็กเณรน้อยจะยืนยันว่าการออกไปชุมนุมทางการเมืองอย่างสันติไม่ผิดธรรมวินัย มหาเถรก็ยืนกรานว่าผิดอยู่ดี ในกรณีอื่นๆ ก็เช่นกัน (ต่างอย่างไรกับการอ้างเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนแบบ คสช.ที่มีเพียง “คำ” แต่ไม่มี “ความ”)

เนื่องจากสมภารเคยนิยามตนเองว่าเป็น “liberal Buddhist” ในหนังสือที่เขาเขียน ผมในฐานะเป็น “แฟนานุแฟน” อ่านหนังสือเขามายาวนาน อยากจะฝากมุมมองของ ดร.อัมเบดการ์ ถึงสมภารหรือใครก็ตามที่นิยามตนว่าเป็นปัญญาชนพุทธเสรีนิยม

อัมเบดการ์บอกว่ากลุ่มที่เรียกตนเองว่า “ฮินดูหัวเอียงซ้าย” หรือพวกที่แสดงออกว่าตนเอง “เป็นกลาง” หรือ “เสรีนิยม” พร้อมทั้งเชื่อฮินดูศาสตร์ด้วยในเวลาเดียวกันนั้นมันแสนจะ “ย้อนแย้ง” เช่นเดียวกันปัญญาชนพุทธเสรีนิยมในบ้านเราที่ยืนยันประชาธิปไตย และอิสรภาพในการปกครองตนเองตามธรรมวินัยของสังฆะพร้อมๆ กับยืนยันการมีอยู่ของศาสนจักรภายใต้อำนาจกษัตริย์ย่อมย้อนแย้งเสียยิ่งกว่า

ที่ว่ามาทั้งหมด ผมไม่ได้ยืนยันว่ามหาเถรฯ ควรทำตามอำนาจทางกฎหมาย เพราะผมไม่เห็นด้วยกับการมีศาสนจักรของรัฐ แต่ต้องการจะบอกว่า หากจะเกิดเส้นแบ่งชัดเจนระหว่างทางโลกกับทางธรรม หรือระหว่างรัฐกับศาสนาดังที่สมภารเสนอได้จริง ก็ต่อเมื่อแยกศาสนาออกจากโครงสร้างอำนาจและอุดมการณ์รัฐเท่านั้น!   

ที่มา : https://prachatai.com/

Leave a Reply