วิพากษ์สงฆ์ไทย : เปรียบเทียบสงฆ์ลาวและเกาหลีใต้ : ผ่านมุมมองร้อยเอกสมญา มาลาศรี “อนุศาสนาจารย์พุทธ” คนไทยคนแรกในกองทัพบกสหรัฐฯ             

 

         “ร้อยเอกสมญา มาลาศรี” นอกจากเป็นความภาคภูมิใจให้กับครอบครัวและวงศ์ตระกูลแล้ว ในฐานะศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย คณะมนุษย์ศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ รุ่น 46  ก็ได้สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสถาบันการศึกษาของสงฆ์แห่งนี้ได้ไม่น้อย ในฐานะคนไทยที่เคยผ่านบวชเรียนมาในประเทศสหรัฐอเมริกา ในบาทบาทของ “อนุศาสนาจารย์พุทธ” คนแรกที่เข้าไปประจำในกองทัพบกของสหรัฐอเมริกา มีเพื่อนรุ่นเดียวกันตามไปเป็นด้วย อย่างน้อย 1 คน คือ ร้อยเอกอเล็กเเซนเด้อ อเนก

         การเป็นอนุศาสตร์ของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา “สมญา” ต้องใช้ชีวิตเดินทางไปตามประเทศต่าง ๆ  เพื่อประจำอยู่ตามค่ายทหารสหรัฐอเมริกาประจำอยู่  หลายวันที่ผ่านมา ร้อยเอกสมญา มาลาศรี ได้โพสต์ข้อความเปรียบเทียบคณะสงฆ์ไทย กับ คณะสงฆ์ลาวและเกาหลีใต้ แบบตรง ๆ ไม่อ้อมค้อม ซึ่งมีวรรค บางช่วงที่น่าสนใจ ที่เป็นความรู้ควรแก่การศึกษา เพื่อปรับตัว จึงขอนำมาเผยแพร่  ดังนี้

       “เถรวาทไทย” คือ ทั้งมหานิกายและธรรมยุติกนิกายของประเทศไทย  ยังคง “หัวอนุรักษ์”นิยมเกือบครึ่งหนึ่ง คือ ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง แบบเปิดเผย แต่ลับหลังกับกลับยอมรับ “ทำเหมือนจะเคร่ง”  แต่จริง ๆ แล้วไม่ เช่น เน้นผลิตเครื่องรางของขลัง จนเกินพอดี และเถรวาทไทยบอกว่าพระมหายานไม่เคร่งวินัย ฉันสามเวลา

       จริง ๆ แล้วตรงนี้พระเราก็ฉันสามเวลาเยอะแยะไป  ถ้าท่านขึ้นไปทางภาคเหนือถือเป็นเรื่องปกติ แถมบางที่ มีน้ำจันทร์ ด้วยในหลายพื้นที่

       พระมหายานท่านปฏิบัติดีมาก ๆ ก็เยอะ ถ้าเราได้สัมผัส จะรู้ว่าท่านปฏิบัติธรรมดีมาก ๆ ส่วนปลีกย่อย ก็ปล่อยวาง ส่วนเรื่อง “การศึกษา” ของเรา “การศึกษากระจุกอยู่แต่ในเมืองใหญ่” เลยทำให้หลวงตาตามต่างจังหวัด มีการศึกษาทางศาสนาน้อย หรือท่านอาจไม่อยากศึกษา เพราะว่าไม่เห็นคุณว่าจะเรียนไปทำไม สู้ “รอสวดมนต์ฉันเพล” ดีกว่า

      เถรวาทไทยเรา พระที่เก่งก็เก่งมาก ๆ แต่เป็นส่วนน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนพระทั้งหมด การรับเข้ามาบวชเป็นพระ ค่อนข้างหละหลวม จึงทำให้มีเรื่องไม่ดี เกิดขึ้นบ่อย ๆ เด็กข้างวัด หรือในหมู่บ้านถ้าพ่อแม่มีฐานะดีหน่อย ก็จะส่งลูกไปเรียนโรงเรียนคริสต์ ตรงนี้จะทำให้ความผูกพัน ระหว่างวัดกับเด็กลดลง เพราะว่าเด็กได้เรียนรู้อีกแนวหนึ่ง ถ้าพ่อแม่สั่งสอนอบรม เรื่องพระเรื่องศาสนาดี ก็จะดีไป แต่ถ้าไม่หนักแน่นแล้ว เด็กอาจไม่เข้าใจ และอาย ที่จะเข้าวัดได้ เพราะว่าเชย ไม่ทันสมัย

    แต่ข้อดีคือ พระได้ร่วมกิจกรรมทางศาสนากับญาติโยม ตลอดปี เช่น ตอนเช้าตักบาตรพระสงฆ์ ไปถวายสังฆทาน ไปทำบุญที่วัด ไปสวดมนต์ ทำวัดเช้า เย็น ไปปฏิบัติธรรมร่วมกัน ไปบรรยายในสถานที่ต่างๆ ซึ่ง ส่วนหนึ่งมันเป็นวัฒนธรรมชาวพุทธ ทำให้ความสัมพันธ์กันระหว่างบ้านกับวัดยังดีอยู่ และญาติโยมส่วนมากยังเคารพพระสงฆ์อยู่ถึงแม้บางส่วน จะไม่นับถือแล้วก็ตาม พระสงฆ์เราต้องเรียนรู้วัฒนธรรมนอกวัดด้วย และเปิดใจให้กว้าง กว่า 70% ท่านไม่ได้ปฏิบัติเพื่อไปนิพพาน จะต้องติดต่อกับคนนอกวัด ท่านต้องเรียนรู้เพื่อปรับปรุงเพื่อเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ไม่เช่นนั้น ท่านจะตกขบวนแน่นอน

   ซึ่งมุมมองของผมอาจไม่ถูกต้องเพราะว่าห่างจากเมืองไทย 20 กว่าปีแล้ว

ในขณะที่พระสงฆ์ลาว ค่อนข้างจะมีอิสระกว่าพระสงฆ์ไทย พระสงฆ์สามเณร มีสิทธิเสรีภาพ เหมือนกันกับประชาชนทั่วไป พระสงฆ์สามเณร สามเณรเรียนที่โรงเรียน ร่วมกับ เด็กๆ จนถึงที่มหาวิทยาลัยดงโดก และอื่นๆ

        พระสงฆ์ลาว “ไม่ค่อยเก่งทางคัมภีร์ศาสนา” เนื่องจากขาดการต่อเนื่องระยะหนึ่ง ช่วงปลดปล่อยประเทศใหม่ๆ ราว ๆ ปี 2518 ทางพรรครัฐบาล รวบอำนาจทั้งหมดไว้ และบีบบังคับพระสงฆ์ และเสนอตำเเหน่งในทางรัฐการแก่พระสงฆ์ที่มีการศึกษาดี ทำให้พระสงฆ์ที่มีการศึกษาดีสึกออกมาทำรัฐการ และไม่มีการบวชใหม่ และการบวชเป็นเรื่องยุ่งยากในช่วงนั้น

         ประชาชนชาวลาวส่วนมากนับถือพระพุทธศาสนาตามประเพณี ต่อมาช่วงหลัง รัฐบาลลาว ผ่อนคลาย ความเข้มงวดต่อศาสนา และการนับถือของประชาชน ทำให้มีการฟื้นฟูพระศาสนา และทางการส่งเสริมให้พระสงฆ์ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เช่น พม่า เป็นต้น พื้นฐานคนลาวเป็นคน อ่อนโยน มีเมตตา รักสงบ เคารพพระสงฆ์ แต่พระสงฆ์ลาวยังไม่มีความสามารถทางคัมภีร์ทางศาสนาและภาษาบาลี เหมือนกับพระสงฆ์สมัยราชอาณาจักรลาว

       ปัจจุบัน ชาวพุทธลาว เข้าวัดตามประเพณีความเชื่อว่าจะได้บุญ ตายแล้วจะได้ไปสวรรค์ เป็นความและการปฏิบัติที่พ่อแม่เคยสอนมาแล้วทำตาม ด้วยความเคารพ พระสงฆ์ท่านก็เทศน์โดยใช้ใบลานเทศน์เรื่องเล่า เช่น สังข์สินชัย และเทศน์ตามเทศกาลเป็นต้น  ในมุมมองของตนพระสงฆ์ลาวต้องเน้นการศึกษาทางศาสนามากกว่านี้ และไม่เป็นฝ่ายรับอย่างเดียว ต้องทำงานด้านการเผยแผ่และ สาธารณกุศลด้วย จะเป็นการดีต่อ เยาวชนรุ่นใหม่ ถ้าไม่เช่นนั้น พระสงฆ์และพระศาสนาในลาวก็จะเหมือนกับวัดลาวในอเมริกา คือ รอวันที่คนรุ่นพ่อแม่รุ่นเราตาย วัดและพระศาสนาก็จะตายตามไปด้วย เนื่องจากไม่มีคนรุ่นใหม่สานงานต่อ

           และอีกอย่าง ในลาว ชาวคริสต์เกาหลีไปเผยแผ่ศาสนาเยอะมาก ซึ่งงเป็นอันตราย ต่อพระสงฆ์และพระศาสนาโดยตรง เนื่องจากเด็กรุ่นใหม่มีทางเลือกเพิ่ม และเห็นสิ่งดีๆ ที่มิชชั่นนารี นำเสนอ

         ส่วนสงฆ์เกาหลีใต้ หลาย ๆ สิ่งที่สังเกตให้ในวัดเกาหลีหลาย ๆ วัด ทั้งวัดเล็กและวัดใหญ่ในใจกลางกรุงโซล หรือ ประธานสงฆ์ เกาหลี ส่วนใหญ่จะไม่มีศาลาสำหรับ นั่งสมาธิ และมีการติดต่อกับญาติโยม ข่อนข้างจะน้อย ไม่มีกิจกรรมหลัก เช่น วันพระ ญาติโยมจะมาทำบุญที่วัด หรือ จัดกิจกรรม อบรมวิปัสสนา 3 วัน 5 วัน หรือ 7 วัน พระส่วนมากจะมีกิจกรรมหลัก คือ รอญาติโยมมา ทำพิธีสวดอุทิศให้ผู้วายชน เป็นเสียส่วนใหญ่ ทำให้ศาสนาคริสต์เผยแผ่ได้ผลดีมาก ในเกาหลีใต้ มองไปที่ไหนเจอแต่โบสถ์คริสต์ เต็มไปหมดทุกเมือง เด็กวัยรุ่นเข้าวัดน้อยมากๆ เจอแต่คนรุ่นแม่รุ่นยาย เสียส่วนมาก แต่เรื่องเรียนเขาเก่ง

          ปัจจุบันร้อยเอกสมญา มาลาศรี ใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกากับครอบครัว ตามแบบอย่างชาวพุทธที่ดีทั่วไป บทบาทในฐานะอนุศาสตร์ส่วนใหญ่ก็เหมือนกับสมณเพศทั่วไป คือสอนนำกำลังพลทำวัตรสวดมนต์ นั่งสมาธิ สร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน ซึ่งหากจะว่าไปแล้วก็เหมือนกับพระธรรมทูตทั่วไปของไทยที่อยู่ต่างแดนนั่นเอง เพียงแต่สมญาทำในนาม เพศฆราวาส!!

Leave a Reply