“กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ยธ.” ร่วมมือ “มจร” เตรียมเปิดหลักสูตรสิทธิมนุษยชนเพื่อสันติภาพระยะสั้น

วันที่ 15 ตุลาคม 2565 พระปราโมทย์ วาทโกวิโท, ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร อาจารย์ประจำวิชาสิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เปิดเผยที่ห้องสัมมาปัญญา วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร ว่า ได้รับผิดชอบดูแลกระบวนการการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพของนิสิตระดับปริญญาโท หลักสูตรสันติศึกษา มจร รุ่น 10 ในรายวิชา “สิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรมเพื่อสันติภาพ” ซึ่งเป็นรายวิชาที่มีความร่วมมือทางวิชาการ MOU ระหว่างมหาจุฬาฯกับกระทรวงยุติธรรม

ภาคเช้าพระครูปลัดอดิศักดิ์ วชิรปญฺโญ, ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มจร นำนิสิตสวดมนต์เจริญสติสร้างสันติภายในซึ่งเป็นแบรนด์ของหลักสูตรสันติศึกษา มจร จากนั้น ท่าน ดร.ธปภัค บูรณะสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสิทธิและพิทักษ์เสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้หัวข้อ“กระบวนการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเพื่อสิทธิมนุษยชนสู่สันติภาพ” โดยสะท้อนว่า สิทธิมนุษยชนคือสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่เป็นของพวกเราทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครหรืออยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ไม่จะมีความเชื่ออะไร หรือใช้ชีวิตแบบไหนก็ตาม ซึ่งทุกคนย่อมมีเสรีภาพในมิติต่างๆ แต่เราเห็นมิติการละเมิดสิทธินำไปสู่ความขัดแย้งผ่านการบีบบังคับ เพื่อต้องการให้คนอยู่ในกติกาจึงต้องใช้อำนาจในการปกครอง โดยผู้นำจิตทางวิญญาณใช้ความเชื่อเป็นฐาน ซึ่งสิทธิมนุษยชนจึงเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ เพราะเสรีภาพเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของมนุษย์ ต้องจึงเคารพสิทธิ์ของเพื่อนมนุษย์

จึงมีการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนผ่าน “บวร” เป็นการสร้างสังคมรู้หน้าที่ รู้สิทธิ เคารพสิทธิไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น ขับเคลื่อนผ่านวัดในศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม ซึ่งวัดเป็นสถานที่พัฒนาสิทธิมนุษยชน รวมถึงสถาบันการศึกษาผ่านระบบการศึกษาให้เคารพสิทธิมนุษยชนเริ่มจากปฐมวัยถึงอุดมศึกษา โดยเริ่มจากการเคารพกติการ่วมกัน รักตนเองรักครอบครัว รักชุมชน รู้หน้าที่ รับผิดชอบ รู้สิทธิตน มีวินัยใส่ใจคบเพื่อน ยอมรับความแตกต่าง จิตอาสา สามัคคี พอเพียง และระดับอุดมศึกษารู้เข้าใจ เคารพ สิทธิ ร่วมแก้ปัญหา จึงมีหลักสูตรตามระดับชั้นเพื่อนำไปใช้ขยายผลอย่างเป็นระบบสู่ฐานรากต่อไป โดยสันติศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพมุ่งวิจัยสิทธิมนุษยชนเพื่อสันติภาพเป็นการเปิดหลักสูตรระยะสั้น

มิติของสิทธิมนุษยชนสอดรับกับปธาน ๔ ในทางพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย มิติเชิงป้องกัน มิติเชิงแก้ไข มิติเชิงเยียวยา และมิติเชิงรักษาสุทธิมนุษยชน เพราะเรามองมิติของความเหลื่อมล้ำเพราะคนติดคุกเพราะ “นามสกุลไม่ดัง สตังค์ไม่ถึง” ซึ่งกลไกกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักเป็นทางการ เข้าถึงยาก มีค่าใช้จ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์จะต้องมีความเท่าเทียมกัน ซึ่งกระบวนการยุติธรรมไทยจะต้องสร้างมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง จึงมียุติธรรมทางหลักและยุติธรรมทางเลือก เปิดโอกาสเป็นยุติธรรมในชุมชน จึงมีการสร้างหลักประกันสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล เช่น การเข้าถึงความยุติธรรม การชดใช้ค่าเสียหายในคดีอาญา ในกรณีหนองบัวลำภูได้รับการชดเชยความเสียหายโดยรัฐ ในฐานะผู้ถูกละเมิดได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งแต่ละจังหวัดมียุติธรรมจังหวัด ซึ่งรัฐไม่ปรารถนาให้เกิดการละเมิดแต่ถ้าเกิดแล้วรัฐจะต้องช่วยเหลือเยียวยา ซึ่งกรณีหนองบัวลำภูจะต้องแก้ที่ “โครงสร้างทั้งระบบ” เพราะเกิดจากฟางเส้นสุดท้าย

ดังนั้น ดร.ธปภัค บูรณะสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสิทธิและพิทักษ์เสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จึงมองว่าการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเพื่อสันติภาพจะตอบโจทย์สังคมได้ ซึ่งเป็นรายวิชาของระดับปริญญาโท หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งจะเป็นการป้องกันการละเมิดในสิทธิ จึงมีการเตรียมการทำวิจัยระดับปริญญาโท หลักสูตรสันติศึกษา มจร ภายใต้หัวข้อวิจัยเรื่อง “กระบวนการพัฒนาหลักสูตรสิทธิมนุษยชนโดยพุทธสันติวิธี” วิจัยโดย นายวชิระ นันผาด นิสิตระดับปริญญาโท รุ่น 10 จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยมุ่งศึกษาสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล ตามหลักคุ้มครองสิทธิและสรีภาพ และศึกษาสิทธิมนุษยชนในทางพระพุทธศาสนาโดยศึกษาในพระไตรปิฎก เพื่อเป็นฐานการเปิดหลักสูตรระยะสั้นด้านสิทธิมนุษยชน เป็นการป้องกันความขัดแย้ง ป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในสังคมต่อไป โดยมุ่งแก้ปัญหาผ่านอริยสัจโมเดล ประกอบขั้นทุกข์คือประเด็นปัญหา ขั้นสมุทัยคือสาเหตุ ขั้นนิโรธคือเป้าหมาย และขั้นมรรคคือวิธีการ

Leave a Reply