มหาดไทย “ปลื้ม” นายกฯชื่นชมความสำเร็จของการน้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนองนา” เป็นทางรอดของคนในชาติ

 

          วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564  นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า  มีความรู้สึกปลื้มใจและภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง หลังจากนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชื่นชมผลสำเร็จของโครงการ “โคก หนอง นา โมเดล”  ภายใต้การขับเคลื่อนของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่ได้น้อมนำทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคกหนองนา ตามโครงการโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวังและภาพฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอด  จากหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สู่โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา เพื่อพัฒนาคนให้ไปพัฒนาพื้นที่ต้นแบบด้วย การออกแบบพื้นที่เพื่อทำการเกษตรอย่างยั่งยืน เน้นมีแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร เพื่อให้เกิดสมดุลของระบบนิเวศ ตลอดจนการใช้พื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด  สร้างงานสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร บัณฑิตจบใหม่ เป็นหลักประกันในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง

ขณะเดียวกัน โครงการโคก หนอง นา กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ถือว่า เป็นโครงการที่ช่วยรองรับกลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 73 จังหวัด 575 อำเภอ 3,246 ตำบล 25,179 ครัวเรือน วงเงินกว่า 4,780 ล้านบาท  ปัจจุบันได้มีการดำเนินการแล้วใน 73 จังหวัด 566 อำเภอ 22,773 หมู่บ้าน โดยสรุปการใช้จ่ายเงินกู้ 3,962,437,452.99 บาท คิดเป็นร้อยละ 82.76  ซึ่งแยกเป็น การเบิกจ่าย 2,782,674,281.57 บาท  คิดเป็นร้อยละ 58.12 และใบสั่งซื้อ/จ้าง (PO)  1,179,763,171.42 บาท  คิดเป็นร้อยละ 24.64

 

          ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ขับเคลื่อนโครงการ โคก หนอง นา โมเดล ครอบคลุมถึง 7 กิจกรรม คือ 1) การฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรม 2) ปรับปรุงพื้นที่ การสร้างพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ 3) การสร้างงานสร้างรายได้รายเดือนให้แก่เกษตรกร แรงงาน และบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน 4) การกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน 5) การบูรณาการร่วมพัฒนาพื้นที่ระดับตำบล 6) การพัฒนาสร้างมาตรฐานผลผลิต การแปรรูป และการตลาด ตามมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทย และ 7) การพัฒนาระบบดิจิทัลรองรับ Local Economy ด้วยการสร้างระบบโปรแกรมและระบบฐานข้อมูลที่สามารถใช้ต่อยอดในประโยชน์ด้านต่าง ๆ ในอนาคต  ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดมีภาคีเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ดำเนินการอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างแท้จริง

       นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กระทรวงมหาดไทย ยังยึดมั่นที่จะขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา”เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน บนฐานของการพอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น รวมทั้งตั้งเป้าหมายที่ขยายผลสู่เขตเศรษฐกิจพอเพียง(Sufficiency Economy Development Zone-SEDZ)เพื่อต่อยอดไปสู่ความมั่งคั่ง มั่นคง อย่างยั่งยืน และขอขอบคุณภาคีเครือข่าย เช่น สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารพลาดกระบัง (สจล.) มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ฯลฯ และผู้มีส่วนร่วมทุกท่าน ที่โครงการนี้ก่อให้เกิดความความสำเร็จจนนำมาซึ่งความชื่นชอบของผู้เข้าร่วมโครงการและประชาชนในวงกว้างซึ่งในห้วงเวลาเจอวิกฤติการณ์จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 และเจอภาวะวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าหลายครอบครัวอยู่รอดปลอดภัยได้ด้วยหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่  “โคก หนอง นา โมเดล”

 

Leave a Reply