พระมาโปรด! พระพิพัฒน์วชิโรภาส ที่ปรึกษาปลัด มท. สานพลัง “บวร” ขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ)

 

วันที่ 28  พฤศจิกายน 2564  พระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ และที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.บุญฟ้า ลิ้มวัธนา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านวังอ้อ (ยอดสังข์วิทยาคาร) เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ  (นพต.) ตลอดจนข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ผู้นำชุมชน และคณะวิทยากรจากศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ร่วมจัดเวทีประชุมเพื่อสำรวจพื้นที่และรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ในพื้นที่ตำบลไร่ใต้ อำเภอพิบูลมังสาหาร  จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายในแผนการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ของจังหวัดอุบลราชธานี

โอกาสนี้ พระพิพัฒน์วชิโรภาส ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เมตตากล่าวถึงแนวทางในการเข้าร่วมโครงการฯ ว่า เป็นการขยายผลโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งรัฐบาลได้มีแนวทางการขับเคลื่อนแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ภายใต้การนำของ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่มีบทบาทสำคัญในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่ประชาชนตามแนวทางของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงได้เสนอการขับเคลื่อนแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ โดยภาครัฐจะได้สนับสนุนการจ้างงาน โครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์พื้นฐาน อำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ ที่จำเป็น ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่างๆในพื้นที่ ภาควิชาการใน  โดยมีภาคเอกชนร่วมสนับสนุนการบริหารงานโครงการ วางแผน พัฒนาและต่อยอดผลผลิตต่าง ๆ เป้าหมายการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เพื่อขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเสริมสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ภายในปี 2030  ซึ่งประชาชน ตำบลไร่ใต้ อำเภอพิบูลมังสาหาร สนใจรับฟังแนวทางการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ หลายร้อยครัวเรือน

กระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดขั้นตอนการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่  9 ระดับ ทั้งการกำหนดพื้นที่ พัฒนาบุคลากรร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย ต่อยอดผลผลิตร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน ร่วมทั้งสร้างนวัตกรรมจากฐานการวิจัยเพื่อพัฒนาตลาดและธุรกิจในพื้นที่ ผ่านแนวทางระบบเกษตรสองขา “พอเพียง แบ่งปัน แข่งขันได้” โดยใช้รูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” มาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการดำเนินการ ผ่านกลไกการมีส่วนร่วมและภาคีการพัฒนาจากทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายตามบริบทของพื้นที่ที่กำหนดร่วมกัน และส่งผลต่อการยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มพื้นที่จัดเก็บคาร์บอนและความสมดุลของสิ่งแวดล้อม เป็นการนำการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกต่อไป

โอกาสนี้ พระพิพัฒน์วชิโรภาส ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังได้กล่าวถึงการสนับสนุนโครงการฯ ของทุกจังหวัดและทุกหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงมหาดไทย นั้นจะสามารถพิจารณากำหนดรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสมร่วมกับภาคประชาชนและภาคเอกชนในพื้นที่ ที่สามารถส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ช่วยการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ และการเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนา ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงหรือทฤษฎีใหม่ หลัก “บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน/ราชการ) “บรม” (บ้าน โรงเรียน/ราชการ มัสยิด) “ครบ” (คริสต์ โรงเรียน/ราชการ บ้าน) รวมถึงแนวพระราชดำริต่าง ๆ การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) การพัฒนาและการรังสรรค์นวัตกรรมในรูปแบบใหม่ Policy Sandbox ภายใต้การปฏิรูประบบราชการ และแนวทางการพัฒนาโดยใช้ศาสตร์อื่น ๆ เพื่อมาเป็นแหล่งเรียนรู้ตามแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจและเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ ที่ถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินข้าร่วมโครงการภายใต้เงื่อนไขสำคัญที่พื้นที่ที่เข้าร่วมนั้น ต้องพัฒนาให้สามารถประโยชน์สุขร่วมกันตามนโยบายของรัฐบาลในการขจัดปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นพื้นที่มีความพร้อมในการดำเนินงานได้ทันที และต้องได้รับการยินยอมให้ใช้พื้นที่และจดทะเบียนการใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยจังหวัดอุบลราชธานี จะจัดส่งข้อมูลในพื้นที่มายังกระทรวงมหาดไทย ภายในวันที่ 13 ธันวาคม 2564 นี้

 

Leave a Reply