มาแล้ว!! พระในตำนาน “alittlebuddha” เขียนครั้งแรก “พระพุทธเจ้าทรงห่มจีวรสีอะไร?”

ชื่อเสียงของ “พระมหานรินทร์ นรินฺโท” เจ้าอาวาสวัดไทย ลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา เจ้าของเวปไซต์ “อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ” ในรอบ 10 กว่าปีมานี้ คนในแวดวงชาวพุทธ นอกจากพระพุทธรูปในพระอุโบสถที่ได้แต่ยิ้มแล้ว ชาวพุทธน้อยคนนักไม่รู้จักเวปไซต์ “alittlebuddha” ซึ่งปัจจุบันปิดตัวไปแล้วโดยไม่ทราบสาเหตุ

“พระมหานรินทร์” คือ “จอมคุ้ย -จอมแฉ” แม้กระทั้งอาสนะ “สมเด็จพระสังฆราช” ยังลุกเป็นไฟ “มหาเถรสมาคม” ผวากันเป็นแถว  “พระนอกรีต” ที่ยังพอมี หิริโอตัปปะ ยังต้องเก็บตัวอยู่ในกุฎิ ไม่กล้าทำอะไรผลีผลาม  “เจ้าคณะปกครอง” ยังต้องยอม!!

การกระตุกจีวรแต่ละครั้งของพระมหานรินทร์  “สะเทือน” ไปทั่วสังฆมณฑล เปิดประเด็นแบบ “ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม” รักษามาตรฐานอุดมการณ์ของ “นักเขียนมือหนึ่ง” ในแวดวงคณะสงฆ์ไว้อย่างเหนี่ยวแน่นตลอดมา

ข้อมูลของ “อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ” ทุกประเด็น ทุกข้อความที่เปิดออกมา “แม่นยำ” เสมือนตนเองอยู่ในเหตุการณ์ “คม -ลึก-ลับ ” ทุกวันนี้ยังไม่มีใคร “ลบตำนาน” ดังกล่าวนี้ได้

บางประเด็นรู้ลึกยิ่งกว่าคนนั่งร่วมประชุม หรืออยู่ในเหตุการณ์เองด้วยซ้ำไป

ล่าสุด พระมหานรินทร์ นรินฺโท ได้ออก “บทความ” ชิ้นแรกในรอบหลายปีมานี้ ในหัวข้อ “”พระพุทธเจ้าทรงห่มจีวรสีอะไร?”  ยังทิ้งร่องรอย ความคม ลึก  จิก แซะ เหมือนเดิม

เวปไซต์ “Thebuuddh” ขออนุญาตมาเผยแพร่ต่อ ดังนี้

เป็นคำถามที่คาใจชาวพุททไทยไม่น้อย ที่มองเห็นพระไทย “ห่มผาสีต่างกัน” บ้างห่มเหลือง บ้างห่มแดง บ้างไม่หลืองไม่แดง เป็นที่กรัก แถมปัจจุบันยังมีสีนิยมเพิ่มเติมเข้ามาเรียกว่า “สีราชนิยม” ซึ่งสีนี้มีเรื่องเล่าว่า ในหลวงรัชกาลก่อน ทรงเห็นพระไทยทั้งสองนิกายห่มผ้าสีต่างกันไกล มหานิกายเหลืองจ๋า ธรรมยุตก็คล้ำจนใกล้สีกากีไปทุกที จึงทรงโปรดให้นำเอาทั้งสองสีมาผสมกัน ได้สีออกกรักอ่อน ๆ เหลือบเหลืองอีกเล็กน้อย แล้วทรงโปรดให้เย็บถวายพระสงฆ์ที่อาราธนาเข้าวัง ตั้งแต่นั้นก็เลยเกิดสีนี้ขึ้นมา ตีเสียว่าไม่เกิน 30-40 ปีที่ผ่านมานี้เอง ความจริงน่าจะเรียกตามสีผ้าเช่น เหลือง แดง กรัก แต่กลับเรียกว่า “สีราชนิยม” นับว่าแปลก แต่ก็เป็นอันรู้กันในแวดวงพระสังฆทั้งสองนิกาย รวมทั้งพ่อค้าผ้าเสาชิงช้าว่า สีพระราชนิยมนั่นเป็นสีอะไร  เพราะพูดไปก็คงไม่เข้าใจ ต้องใช้สายตาดูเอา

เรื่อง “จีวร” นั้น นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ในวงการพระพุทธศาสนามาเนิ่นนานมาก แบบว่าแตกแยกนิกายกันก็เพราะสี หรือใช้สีแบ่งแยกนิกาย เพราะมันเห็นง่ายกว่าการตอบปัญหาธรรมะไหนๆ

สมัยเชียงใหม่เป็นราชธานีของอาณาจักรล้านนา (ประมาณ พ.ศ.1800 -2300) ก็เกิดกรณีพิพาทเรื่องสี โดยที่ตอนนั่นเมืองเชียงใหม่มีพระสงฆ์ 2 นิกายหลัก คือ นิกายวัดสวนดอกกับนิกายวัดป่าแดง
นิกายสวนดอกนั่นมีพระสุมนะ ซึ่งพระเจ้ากือนาโปราอาราธนามาจากสุโขทัย ในสมัยพระยาลิไท โปรดให้สร้าง “วัดบุปผาราม-สวนดอก” ถวาย นิกายนี้ แต่เดิมก็คือ นิกายสุโขทัย แต่เรียกตามนามวัดที่ท่านพระสุมณะจำพรรษาว่า “นิกายสวนดอก”

แต่ก่อนพระสุมนะจะมาจากสุโขทัยนั้น เชียงใหม่ก็มีพระสงฆ์อยู่แล้ว เป็นพระผสมจากเชียงแสน เชียงราย และหริภัญชัยลำพูน อยู่มานานก็เกิดความหย่อนหยาน พอพระสุมนะมาอยู่แล้วเคร่งครัดกว่า เพราะมีจำนวนน้อยกว่า ก็เลยได้เสียงส่วนใหญ่ไปครอง นั่นคือ บรรดาเจ้าฟ้าพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ของเชียงใหม่ (ส่วนใหญ่) หันไปเลื่อมใสศรัทธาในนิกายสุโขทัยของพระสุมนะ (สถานการณ์ใกล้เคียงกับเรื่องธรรมยุตแซงหน้ามหานิกายในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เลย)

ต่อมาในปี พ.ศ. 1965 พระสงฆ์นิกายเก่า ได้ทายาทรุ่นใหม่เข้ามาบวช ทั้งในเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ลําพูน ลําปาง ลพบุรี อยุธยา สุโขทัย คิดจะปฏิรูปกิจการพระศาสนาในนิกายของตนเอง ให้ทันสมัยกว่านิกายสุโขทัยของพระสุมนะ จึงลงทุนครั้งใหญ่คัดพระหนุ่มๆ มีสติปัญญา (หัวดี) ได้จํานวนหลายสิบรูป รวบรวมเสบียงอย่างพร้อมเพรียง ออกเดินทางผ่าน หัวเมืองมอญ (เมาตะมะ) ข้ามน้ำข้ามทะเลไปศึกษาพระพุทธศาสนายังศรีลังกา แต่ห่มผ้าสีเหลืองไป พระศรีลังกาไม่ปลื้ม ถูกจับบวชใหม่ในสีมาเรือนแพกลางแม่น้ำกัลยาณี เอาจีวร ใหม่ให้ห่มเป็นสีแดง พร้อมกับเปลี่ยนชื่อตั้งฉายาใหม่ให้เสร็จสรรพ กลับมาถึงเชียงใหม่ ก็ได้ชื่อ ใหม่เป็นภาษาต่างประเทศ เช่น พระแก้ว พระคําพระดํา-พระแดง ก็กลายเป็น พระอุบาลี พระสารีบุตร พระสิริมังคลาจารย์ พระรัตนปัญญา พระมหาเมธังกร เป็นต้น และเป็นปฐมแห่ง ประเพณีการตั้งสมณศักดิ์ของพระไทย โดยยึดเอาคติการ “ให้ฉายาใหม่” จากพระเจ้าแผ่นดิน ศรีลังกา ซึ่งต่อมาฉายานั้นเรียกว่า “สมณศักดิ์” ถูกพัฒนาขึ้นอย่างมโหฬาร ทําให้พระไทยมีชนชั้นวรรณะมากที่สุดในโลก ตั้งแต่พระพิธีธรรมไปจนถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้า

พระสงฆ์ไทยในหัวเมืองดังกล่าวเหล่านั้น ครั้นกลับมาถึงบ้านเกิดเมืองนอนแล้ว ก็นําเอาทั้งศาสนาและวิทยาการในต่างประเทศมาสั่งสอนประชาชนพลเมือง พูดไทยคําบาลีคํา จนคล่องปร๋อ คนฟังก็เชื่อเพราะเทศน์เก่งกว่าพระรุ่นเก่า แม้กระทั่งเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ตามหัวเมืองต่างๆ ก็ทรงเลื่อมใสและสนับสนุนอย่างออกหน้ามาแรง นิกายเก่าก็อับเฉาเพราะกินแต่ บุญเก่า บุญใหม่ไม่ยอมสร้าง นิกายใหม่ของพระเหล่านี้มีชื่อเรียกแตกต่างกัน โดยในอยุธยาและหัวเมืองขึ้น เช่น สุโขทัย กําแพงเพชร เป็นต้น เรียกตนเองว่า “นิกายวัดป่าแก้ว” มีสมเด็จ พระพนรัตน์เป็นสังฆราช ขณะที่ในเชียงใหม่นั้นเรียกว่า “นิกายวัดป่าแดง” เพราะมีศูนย์กลาง การปกครองอยู่ที่วัดป่าแดง และนิกายนี้ก็ใช้จีวรสีแดงตามแบบครู คือ พระศรีลังกา ความแตกต่างกันระหว่าง “แก้วกับแดง” นั้น มาจากคําว่า “รตฺต-รตน” โดย รตฺต นั้น แปลว่าแดง ส่วน รตน นั้น แปลว่าแก้ว ใช้เพี้ยนกันอยู่นิดหนึ่ง จึงเรียกแตกต่างกัน ทั้งๆ ที่ไปบวชเรียนมาจากสํานักเดียวกัน

“สีจีวร” ของนิกายวัดสวนดอกนั้น ไม่แน่ชัดว่าสีอะไร เดาว่าถ้าไม่เหลืองก็ต้องกรัก แต่ท่านระบุว่า เป็นนิกายอรัญวาสี คือเป็นนิกายพระป่า ก็น่าจะห่มผ้าสีกรักเหมือนสีธรรมยุต ส่วนนิกายใหม่ของวัดป่าแดงนั้นใช้สีแดง เมื่อสีแดงได้รับความนิยมกว่าสีกรัก ก็เลยเกิดคําพูดประชดจากนิกายวัดสวนดอกว่า “เดี๋ยวนี้ใครห่มผ้าแดงก็กลายเป็นคนหลัก (ฉลาด) ไปหมด”

สมัยนั้น ชาวพุทธเชียงใหม่และลานนาแทบจะฆ่ากันตาย เพราะปัญหาเรื่องผ้าเหลือง ผ้าแดงของพระสงฆ์สองนิกาย จนกระทั่ง พระเจ้าลก (ติโลกมหาราช) ทรงโปรดให้ทําการสังคายนารวมกันระหว่าง 2 นิกาย ในปี พ.ศ.2020 แล้วโปรดให้รวมสงฆ์ทั้งสองนิกายเข้า ด้วยกัน นับตั้งแต่นั้นก็หมดปัญหาเรื่องนิกาย เพราะทั้งนิกายวัดสวนดอกและนิกายวัดป่าแดง กลายเป็นนิกายเชียงใหม่ ไปพร้อมๆ กัน แบบว่ายุบรวมทั้งสองนิกายให้เป็นนิกายใหม่ มิให้ใช้ชื่อนิกายเก่าอีกต่อไป ไม่มีเหลืองไม่มีแดง ไม่มีใครได้หรือเสีย (หน้า) มากกว่าใคร ปัญหาเรื่องสีและนิกายในวงการสงฆ์ลานนา ก็ระงับดับหายไป เกิดการสมานฉันท์ปรองดองระหว่างสองนิกายได้อย่างน่าอัศจรรย์ แต่ก็ไม่ทราบว่าหลังจากนั้นพระสงฆ์เหล่านั้นท่านห่มจีวรสีอะไร สงสัยจะเป็นสีราชนิยมของพระเจ้าติโลกมหาราช

ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในปลายรัชกาลที่ 2 ก็ปรากฏว่า เจ้าฟ้ามงกุฎพระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงออกผนวชตามพระราชประเพณี มีฉายาว่า “พระภิกษุวชิรญาณ” สถิต ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์ ต่อมาปรากฏว่า ทรงเกิดความเลื่อมใสในลัทธิใหม่ของพระมอญ จึงทรงย้ายไปประทับ ณ วัดสมอราย (ราชาธิวาส) พร้อมกับทรงทําการอุปสมบทใหม่ เรียกว่า ทําทัฬหีกรรม คือการบวชซ้ำ กับพระมอญจากวัดลิงขบ (วัดบวรมงคล) มีพระอาจารย์ซาย เป็นพระอุปัชฌาย์ ทําพิธีที่เรือนแพในแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าวัดสมอราย แล้วทรงประกาศพระองค์เป็น “ธรรมยุต” มิใช่พระมอญเหมือนพระอุปัชฌาย์ นับว่าแปลก

ที่ไม่แปลกก็คือ เมื่อทรงผนวชใหม่นั้น ก็ทรงเปลี่ยนสีจีวรใหม่ “ตามแบบพระมอญ” รวมทั้งการห่มแบบพาดไหล่ ไม่นุ่มแหวก (พาดมังกร) เหมือนพระสงฆ์ไทยเดิมอีกต่อไป สีใหม่ที่พระภิกษุวชิรญาณทรงใช้นั้น ก็ออกจะดําๆ คล้ำๆ จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นก็ทนไม่ไหว โปรดให้สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร ไปทูลแจ้งให้พระภิกษุวชิรญาณทรงทราบ พระภิกษุวชิรญาณครั้นทรงทราบแล้ว จึงทําหนังสือกราบบังคมทูล ถวายปฏิญาณว่าจงรักภักดี ที่ทําไปก็เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มิได้คํานึงถึงเกียรติยศของบ้านเมือง และยินยอมหันกลับมาห่มผ้าตามพระสงฆ์ไทยตามเดิม

ครั้นเมื่อสิ้นรัชกาลที่ 3 แล้ว พระภิกษุวชิรญาณ ได้ทรงปริวัตรลาผนวชแล้วเสด็จขึ้นครองราชย์ เฉลิมพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทีนี้ก็เกิดความวุ่นวาย ขึ้นในคณะธรรมยุต โดยเฉพาะเรื่องการครองผ้า มีการนําความขึ้นกราบบังคลทูล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งคณะธรรมยุตขึ้นมา เพื่อทรงโปรดมีพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดฯ รับสั่งว่า “การพระสงฆ์จะห่มผ้าอย่างไร แล้วแต่ความพึงพอใจ ข้าพเจ้ามิได้รังเกียจ หรือถือว่าเป็นความสําคัญอันใด” ความหมายว่า แล้วแต่พระจะห่มสีอะไรก็ตามใจ ข้าพเจ้าลาสิกขาออกมาแล้ว ไม่เกี่ยวข้อง

บรรดาพระธรรมยุตวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อได้สดับพระบรมราชวินิจฉัยดังนั้นก็เฮกันลั่น หันไปห่มผ้าตามแบบมอญมาจนกระทั่งปัจจุบัน คําวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้นก็คือ การปล่อยเสรี ในการครองผ้าของพระสงฆ์ไทย ซึ่งซ่อนความหมายไว้อีกนัยยะหนึ่งว่า “นับตั้งแต่บัดนี้ ธรรมยุตไม่ต้องไปห่มตามมหานิกายอีกต่อไป”

ต่อมาปรากฏว่า คณะสงฆ์ธรรมยุต ได้รับการสนับสนุนจากราชสํานักไทยอย่างออกหน้า วัดบวรนิเวศวิหาร กลายเป็นศูนย์กลางอํานาจใหม่แทนวัดมหาธาตุท่าพระจันทร์ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ได้เป็นพระสังฆราช มีการสถาปนาสมณศักดิ์ที่ “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า” ขึ้นแทน “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และถวายเฉพาะพระสังฆราชฝ่ายธรรมยุตเท่านั้น (ยกเว้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งเป็นการสถาปนาย้อนหลัง) คณะธรรมยุตได้ยึดครองตําแหน่งสมเด็จพระสังฆราช อย่างยาวนานถึง 80 กว่าปี โดยที่ฝ่ายมหานิกายไม่เคยได้แตะเก้าอี้สมเด็จพระสังฆราชเลย ถ้า ไม่มีปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินใน พ.ศ.2475 ธรรมยุตก็น่าจะครองอํานาจไปเกิน100 ปี

80 ปี ที่ครองอํานาจในวงการสงฆ์นั้น คณะธรรมยุตยึดเอาทุกอย่าง โดยเฉพาะในสมัย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งทรงเป็นพระอนุชา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งทรงดํารงตําแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงมีพระสติปัญญาเฉียบแหลมมาก มีกุศโลบายลึกซึ้ง ทรงปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย ทั้งแผนกธรรมและบาลี ทั้งยังทรงมีส่วนอย่างสําคัญในการ “ออกกฎหมายปกครองสงฆ์ ฉบับแรกเรียกว่า พรบ.คณะสงฆ์ ร.ศ. 121 (พ.ศ.2445) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้อํานาจธรรมยุต ปกครองมหานิกาย ขณะที่มหานิกายไม่มีอํานาจปกครองธรรมยุต และต่อมาธรรมยุตได้ตราหน้ามหานิกายว่า “มีศักดิ์เป็นเพียงสามเณรจะเป็นพระธรรมยุตได้ก็ต้องบวชซ้ำ”

หลังจากนั้น พลพรรคธรรมยุต ก็ทําการรุกคืบ เข้ายึดครองส่วนแบ่งในการปกครอง คณะสงฆ์ไทยในทุกระดับ ทั้งในกรุงเทพ ปริมณฑล และหัวเมืองต่างๆ คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ซึ่งมีจํานวนมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นลูกชาวไร่ชาวนา การศึกษาก็อ่อนด้อย บวชกันตามประเพณี มีไม่น้อยที่คล้อยตามคณะธรรมยุต ทั้งยอมบวชเปลี่ยนนิกาย ทั้งที่ยอมรับเอาการห่มผ้าแบบ ธรรมยุตมาใช้ในวัดของมหานิกาย ส่วนสีนั้นก็ไม่จํากัดเฉพาะสีเหลืองอีกต่อไป ระส่ำระสายขึ้นในฝ่ายมหานิกายไปทั่วประเทศ

แต่พระสงฆ์มหานิกายที่มีสติปัญญาและภูมิธรรมก็พอมีอยู่บ้าง ท่านเหล่านั้นจึงได้ตั้งตัว “เป็นเสาหลัก” ของมหานิกาย อยู่ในวัดก็จัดวางระเบียบ “ห่มดอง-รัดประคตอก” อยู่นอกวัด ก็ห่มคลุมไหล่พาดมังกร และใช้สีเหลืองทองอย่างเคร่งครัด แต่ถึงกระนั้น ก็ยังไม่สามารถจะรั้งให้มหานิกายซึ่งมีอยู่มากมายนับแสนรูปสามัคคีกันได้ เกิดเป็นมหานิกายแท้กับมหานิกายเทียมขึ้นมา มหานิกายเทียมก็คือพระมหานิกาย แต่ไปห่มผ้าตามอย่างธรรมยุต จะเพราะ ประจบสอพลอหรือเกรงกลัวอํานาจหรือไรก็ไม่ชัดเจน แต่ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง หรืออาจจะทั้งสองอย่างก็เป็นได้    เพราะสมัยนั้นใครคล้อยตามธรรมยุตก็ได้เป็นเจ้าคุณ มีตําแหน่งใหญ่โต

มีเรื่องเล่า (มุขปาฐะ) ด้วยว่า คณะธรรมยุต ได้รุกเข้าไปในเขตมหานิกายทุกทิศทาง ทั้งภาคกลาง เหนือ อีสาน และใต้ ครั้นลงไปถึงภาคใต้ ไปชักชวนพระใต้สายของหลวงพ่อพุทธ ทาส (สุราษฎร์ธานี) ก็เจอคําถามดีๆ ว่า “เป็นธรรมยุตแล้วดีอย่างไร” ทางฝ่ายพระผู้ใหญ่ของธรรมยุตก็ประโคมโน้มน้าวว่า ดีอย่างโน้นอย่างนี้ นี่คือนิกายที่บริสุทธิ์กว่านิกายเดิม เป็นธรรมยุตดีกว่ามหานิกายแน่นอน ไม่งั้นไม่มาชวนนะ มาเป็นธรรมยุตด้วยกันดีกว่า ฯลฯ

พระสงฆ์มหานิกายสายใต้ ก็จึงงัดถามคําถามสุดพิสดารขึ้นว่า “ถ้าเป็นธรรมยุตแล้ว ไอ้นั่น… (ชี้ไปที่สบง  ขององค์ธรรมยุต) ยังแข็งอยู่ไหม” หัวหน้าธรรมยุตสมัยนั้นก็อ้อมแอ้มตอบ ว่า “มันก็แข็งบ้างเป็นบางเวลา”

พระมหานิกายก็ตอกกลับบ้างว่า “ถ้าเป็นธรรมยุตแล้วยังแข็งอยู่ก็ไม่เป็นแล้วล่ะ เพราะว่าเป็นมหานิกายก็แข็งเหมือนกัน” (ฮา)  ท่านหัวหน้าธรรมยุตก็หมดภูมิธรรม กลายเป็นตัวตลก ต้องถอนสายบัวกลับกรุงเทพไป ไม่กลับไปใต้อีกเลย

มาถึงปัจจุบัน นึกว่าปัญหาเรื่องผ้าจะหมดจากสังคมสงฆ์ไทยไปแล้ว คือไฟเก่าเรื่อง ธรรมยุต มหานิกาย  มันมอดดับไปนานแล้ว ทะเลาะกันมาไม่รู้กี่รอบ จนล้มหายตายจากไปมากมายหลายรุ่น รุ่นหลังๆเลยมองข้ามเรื่องสีจีวรไป ยิ่งมีสีพระราชนิยมเพิ่มเติมเข้ามา ก็ยิ่งทําให้ธรรมยุตกับมหานิกาย “ใกล้ชิดกัน” มากกว่าเดิม เวลาเข้าวังก็จะห่มสีพระราชนิยมเหมือนกันหมด เพราะถ้าไม่ห่มก็แสดงว่าไม่ฉลองพระราชศรัทธา อาจจะมีปัญหาในเรื่องสมณศักดิ์       และตําแหน่งทางคณะสงฆ์ได้

แต่กลับปรากฏว่า เกิดปัญหาเรื่องสีผ้าขึ้นมาใหม่ เมื่อไม่นานมานี้เอง โดยเมื่อคณะนายทหารสามเหล่าทัพ    เรียกตัวเองว่า “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.” นําโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้ายึดอํานาจ   จากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พอยึดอํานาจจากรัฐบาลเก่าแล้ว ก็หันมายึดอํานาจทางคณะสงฆ์ ซึ่งศูนย์กลางอํานาจ ทางคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายในสมัยนั้นก็คือ วัดสระเกศราชวรมหาวิหารมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร ป.ธ.9) เป็นเจ้าอาวาส และเป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชด้วย

ปรากฏว่า พระสงฆ์มหานิกาย ถูกตามล้างตามผลาญ ด้วยคดี “เงินทอนวัด” อันลือลั่นไปทั่วประเทศ มีการ   จับพระผู้ใหญ่ในฝ่ายมหานิกายสึกถึง 2 รูป คือ พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดสามพระยาและ พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ซึ่งทั้งสองรูปเป็นรองสมเด็จพระราชาคณะ และเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ระดับรัฐมนตรีอีกด้วย ทํากันเป็นกระบวนการ โดยเฉพาะเจ้าคุณเอื้อนนั้น ถูกนิมนต์ไปสอบสวนแล้ว ไม่ยอมให้ประกันตัว ถูกจับถอดผ้าเหลืองยัดห้องขัง ทั้งปลดจากตําแหน่งทางการปกครองสงฆ์ (เจ้าอาวาส เจ้าคณะ กทม. และกรรมการมหาเถรสมาคม) และถอดออกจากสมณศักดิ์ในทุกชั้นภายในวันเดียว เจ้าคุณธงชัยก็ถูกกระทําไม่ต่างกัน ทั้งๆ ที่ท่านเข้ามอบตัวแท้ๆ แต่เจ้าหน้าที่ตํารวจก็คัดค้านไม่ยอมให้ประกันตัว อ้างว่าเกรงจะหลบหนี

เมื่อจับเจ้าอาวาสวัดใหญ่ทั้งสอง “สึก-ยัดห้องขัง” แล้ว ก็ทําการล้างบางอํานาจเก่า เหมือนทหารเคลียร์พื้นที่    มีการตั้งเจ้าอาวาสใหม่ขึ้นมาแทนทันที วัดสามพระยาโชคดีหน่อย ได้พระผู้ใหญ่ในวัดขึ้นมาดํารงตําแหน่งแทน ถึงจะพะอืดพะอมขมปากขมคอก็ยังพออยู่กันได้ แต่สําหรับวัดสระเกศกลับปรากฏว่า มีการนิมนต์พระผู้ใหญ่จากต่างวัด    เข้ามาดํารงตําแหน่งแทน ทั้งๆที่ภายในวัดสระเกศก็ยังมีพระเถระอยู่อีกหลายรูป แต่กลับไม่ได้รับการพิจารณาเหมือนเจตนาจะล้างบางสายสมเด็จเกี่ยวให้สิ้นซาก

เจ้าอาวาสวัดสระเกศรูปใหม่นั้น ท่านใช้ผ้าจีวร “สีกรัก” ขณะที่พระสงฆ์วัดสระเกศ แต่เดิมมานั้น ท่านใช้ผ้าจีวร “สีเหลืองทอง” เจ้าอาวาสรูปใหม่ต้องการให้พระวัดสระเกศเปลี่ยนสีจีวรตามตนเอง (ซึ่งก็เป็นธรรมดาว่า เจ้าอาวาสก็ย่อมจะต้องการให้วัดของตนเองเป็นระเบียบ เรียบร้อย โดยมีตนเองเป็นแม่แบบ) แต่พระวัดสระเกศส่วนใหญ่กลับไม่ยินยอม ยังคงยืนกราน ปฏิบัติตามปฏิปทาของครูบาอาจารย์ คือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) มาจนบัดเดี๋ยวนี้

ปัญหาที่เห็นก็คือว่า เวลาลงพระอุโบสถทําสังฆกรรม หรือมีกิจกรรมทางสงฆ์ร่วมกัน ก็จะเห็นพระวัดสระเกศ  “มีสองสี” คือสีเหลืองกับสีกรัก นับเป็นการแบ่งสีภายในวัดเดียวกัน ผิดกับสมัยก่อนๆ ที่แบ่งสีกันคนละวัด แต่นี่ในวัดเดียวกัน แม้แต่กุฏิเดียวกันก็ยังต่างสี นี่มิใช่ปัญหาใหญ่ในคณะสงฆ์ไทยหรืออย่างไร ทําไมมหาเถรสมาคมปล่อยปละละเลยมาจนป่านนี้ เหมือนบ้านเมืองนี้ไม่มีขื่อมีแป

นับตั้งแต่วัดสระเกศมีสมภารใหม่ในปี พ.ศ.2565 เป็นต้นมานั้น ถึงปัจจุบันพระภิกษุ สามเณรวัดสระเกศ ยังคงใช้จีวรแบ่งขั้วออกเป็น 2 สี คือ สีกรักตามเจ้าอาวาสใหม่ ซึ่งมีจํานวนน้อย และสีเหลืองทองตามธรรมเนียมเดิม ซึ่งมีจํานวนมาก วัดสระเกศเลยได้ฉายาว่า “วัดสองสี” เป็นวัดหัวอกแตก แต่การจะสั่งการให้เปลี่ยนสีจีวรนั้นไม่สามารถใช้อํานาจทางการปกครองได้ เพราะเนื่องด้วยพระธรรมวินัย (ดังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยไว้) จึงต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป แบบว่าตามความสมัครใจ แต่ถ้าไม่ยอมสมัครใจมันก็ทําอะไรลําบาก

ยิ่งไม่กี่วันมานี้ พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ กลับคืนมา ปรากฏว่า พระภิกษุสามเณรวัดสระเกศเดิม กระดี้กระด้าเหมือนปลาได้น้ำ เดิมนั้น ก็ไม่ยอมเปลี่ยนสีจีวรอยู่แล้ว พออดีตเจ้าอาวาสพ้นโทษกลับมาก็ยิ่งมั่นใจว่า อาจจะได้ตําแหน่งเจ้าอาวาสวัดสระเกศกลับคืนมาด้วย เพราะถือว่า…ไม่เคยต้องโทษมาก่อน    เรื่องสีจีวรยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย เขาพูดกันแต่ว่า “จะคืนตําแหน่งเจ้าอาวาสให้เมื่อไหร่” ด้วยซ้ำไป ไปไกลเกินสีจีวรแล้ว

แต่ก็ดังที่กล่าวว่า ปัญหาเรื่องอื่นใดนั้นยังเห็นได้ยาก แต่ปัญหาเรื่องสีผ้าของวัดสระเกศ นั้นเห็นได้ง่าย เพราะ  ใช้ตาดู จึงดูไม่ออกว่าวัดสระเกศจะเป็นสีเดียวกันอีกเมื่อไหร่

กลับไปที่นิกเขปบท คือหัวข้อที่ตั้งไว้ในตอนต้นว่า พระพุทธเจ้าทรงห่มผ้าจีวร สีอะไร ? เพราะเมื่อมีปัญหาเรื่องสีผ้าของพระสงฆ์ไทย ก็ต้องหาหลักฐานทางพระธรรมวินัยมาเทียบเคียง เพื่อหาข้อยุติให้ชัดเจนและตรงกับพระไตรปิฎกให้มากที่สุด

ในพระธรรมบทภาคที่ 2 เรื่องจูฬปันถกเถระ มีศัพท์เกี่ยวกับผ้าสุคตจีวร (ผ้าจีวรที่พระพุทธเจ้าทรงห่ม) ดังนี้

อก ภควา ธมุมสภาย อิมํ กถาปวตฺตึ ญตฺวา “อชฺช มยา คนฺตุ วัฏฏตีติ” พุทธเสยฺยาย อุฏฐาย สุรตฺตทุปฏฏํ    นิวาเสตวา วิชฺชุลตํ วิย กายพนธนํ พนฺธิตวา รตฺตกมฺพลสทิสํ สุคตมหาปํสุกุลจีวรํ ปารุปิตฺวา ฯลฯ

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบความเป็นไปแห่งถ้อยคํานี้ (เรื่องที่พระสงฆ์พูดคุยกัน) ในโรงธรรม จึงทรงพระดําริว่า ควรที่เราจะไปในวันนี้ จึงเสด็จลุกขึ้นจากที่บรรทม ทรงนุ่งผ้าสบงสองชั้น ทรงรัดประคตประหนึ่งสายฟ้า  ทรงห่มผ้ามหาบังสุกุลจีวรของพระสุคต อันเช่นกับผ้ากัมพลแดง ฯลฯ

ในเรื่องเดียวกันนี้ ก็มีศัพท์เกี่ยวกับ “สีจีวร” ที่พระสงฆ์ในสมัยพุทธกาลใช้อยู่อีกแห่งหนึ่ง ดังนี้  อถ สายณหสมเย ภิกขู อิโต อิโต จ สโมสริตฺวา รตฺตกมฺพลสาณิยา ปริกฺขิตตา วิย นิสีทิตวา…ฯลฯ แปลว่า ครั้นในเวลาเย็น ภิกษุทั้งหลาย (ซึ่งแยกกันพักผ่อนในเวลากลางวัน) ได้ออกมารวมตัวกันจากที่ตรงนี้และตรงนี้ ได้นั่งรวมกันเป็นวงกลม เหมือนถูกล้อมไว้ด้วยม่านผ้ากัมพลแดง..ฯลฯ

รตฺต นั้น แปลว่า แดง กมพล ก็คือ ผ้ากัมพล เป็นผ้าขนสัตว์ที่ถูกนําไปย้อมจนเป็นสี แดง นิยมนํามาทอเป็นผ้าถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ โบราณถือว่าเป็นผ้าที่สูงค่า ถูกบรรจุเป็นหนึ่ง ในเครื่องสําหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 5 ประการ อันได้แก่ พระมหามงกุฎ พระขรรค์ พระภูษารัตนกัมพล พระเศวตฉัตร และรองพระบาทประดับแก้ว

ก็สรุปเสียเลยว่า ตามหลักฐานที่ปรากฏในพระธรรมบทนี้ ระบุว่า ทั้งพระบรมศาสดาและพระสงฆ์สาวก ล้วน แต่ใช้ผ้าจีวรสีแดง เหมือนผ้ากัมพลแดง (รตตฺกมฺพลสทิสํ สุคตมหาปํสุกุลจีวรํ)

ในพระไตรปิฎก (มหาปรินิพพานสูตร) มีข้อความระบุว่า

อถโข ปุกกุโส มาลปุตโต อญฺญตรํ ปุริสํ อามนฺเตสิ “อิงฆ เม ตวํ, ภเณ, สิงฺคิวณฺณํ ยุมฏฐํ ธารณียํ อาหราติ ฯ  เอวํ ภนฺเตติ โข โส ปุริโส ปุกกุสสฺส มาลปุตฺตสฺส ปฏิสฺสุตวา ตํ สิงคิวณฺณํ ยุคมฏฐํ ธารณียํ อาหริ ฯ

อถโข ปุกกุโส มนฺลปุตฺโต ตํ สิงคิวณฺณํ ยุคมฏฐํ ธารณียํ ภควโต อุปนาเมสิ “อิทํ ภนฺเต, สิงคิวณฺณํ ยุคมฏฐํ ธารณียํ, ตํ เม ภันเต ภควา ปฏิคฺคัณหาตุ อนุกมปํ อุปาทายาติฯ เตนหิ ปุกกุส, เอเกน มํ อจฺฉาเทหิ เอเกน อานนฺทนฺติ ฯ เอวํ ภนฺเตติ โข ปุกกุโส มนฺลปุตฺโต ภควโต ปฏิสฺสุตวา เอเกน ภควนฺตํ อจฺฉาเทสิ, เอเกน อายสุมนตํ อานนทํ ฯ

อถโข ภควา ปุกกุสํ มลฺลปุตตํ ธมมิยา กถาย สนฺทสฺเสส สมาทเปสิ สมุตฺเตเชิส สมฺปหํ เสสิ ฯ

อถโข ปุกฺกุโส มลุลปุตฺโต ภควตา ธมมิยา กถาย สนฺทสฺสิโต สมาทปิโต สมุตฺเตชิโต สมฺปหํสิโต อุฏฐายาสนา ภควันตํ  อภิวเทตฺวา ปทุกขณํ กตฺวา ปกกามิ ฯ

อถโข อายสฺมา อานนฺโท อจิรปกฺกันเต ปุกฺกุเส มาลปุตฺเต ตํ สิงคิวณฺณํ ยุคมฏฐํ ธารณียํ ภควโต กาย อุปณาเมสิ   ภควโต กาย อุปนามิตํ หตจฺฉิกํ วิย ขายติ ฯ

ลําดับนั้น ปุกกุสมัลลบุตร สั่งคนใช้นายหนึ่งว่า เธอจงช่วยนําผ้าเนื้อเกลี้ยงคู่หนึ่งสีทองสิงคีซึ่งเป็นผ้าทรงของเรามา. บุรุษนั้นน้อมรับคําสั่งของเจ้านายแล้ว ได้ไปนําคู่ผ้าเนื้อเกลี้ยงสีทองสิงคีซึ่งเป็นผ้าทรงมาให้แล้ว.

ปุกกุสมัลลบุตร ได้น้อมนําผ้าเนื้อเกลี้ยงสีทองสิงคีซึ่งเป็นผ้าทรง (ของตน) คู่นั้น เข้าไปถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมทั้งกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้าเนื้อเกลี้ยงสีทอง สิงคีคู่นี้เป็นผ้าทรง ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงโปรดอาศัยความอนุเคราะห์ รับผ้าคู่นี้ของข้าพระองค์ไว้ด้วยเถิด.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนปุกกุสะ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงให้เราครองผืนหนึ่ง ให้ท่านพระอานนท์ครองผืนหนึ่ง, ปุกกุสมัลลบุตร น้อมรับพระดํารัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ได้น้อมถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงครองผืนหนึ่ง ถวายท่านพระอานนท์ทรงครองผืนหนึ่ง

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงโปรดปุกกุสมัลลบุตร ให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ และร่าเริง ด้วยธรรมกถาแล้ว, ปุกกุสมัลลบุตร ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ และร่าเริง ด้วยธรรมกถาแล้วนั้น ได้ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทําประทักษิณแล้วจากไป

ต่อจากนั้น ท่านพระอานนท์ เมื่อปุกกุสมัลลบุตรจากไปแล้วไม่นาน ได้น้อมนําเอาผ้าเนื้อเกลี้ยงสีทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงคู่นั้น เข้าไปห่มถวายพระวรกายของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผ้าที่พระอานนท์น้อมเข้าไปห่มถวายพระวรกายของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ปรากฏเปล่งปลั่งดังถ่านไฟที่ปราศจากเปลว

ข้อความนี้ปรากฏอยู่ในมหาปรินิพพานสูตร เล่าถึงเหตุการณ์ในวันสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพของพระสัมมา  สัมพุทธเจ้า ซึ่งมีลําดับเวลาว่า หลังจากทรงรับผ้าเนื้อเกลี้ยงสีทองสิงคี ของปุกกุสมัลลบุตรได้ไม่นาน ตกคืนวันเดียวกันนั้น พระบรมศาสดาของพระพุทธศาสนา ได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน แคว้นมัลละ

ผ้าสีทองสิ่งที่จึงเป็น “ผ้าทรงชุดสุดท้าย” ในพระชนม์ชีพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และผ้าสีทองสิงค์นั้นมีสีเช่นไร ก็ไขความจากพระไตรปิฎกนั่นเองว่า “มีสีเปล่งปลั่ง ดังถ่านไฟ ที่ปราศจากเปลว”

สีทองสิงคีที่ว่านี้ ท่านนําไปเปรียบกับ “เปลวไฟ” เทียบได้กับสีทอง ในขณะที่ก่อนหน้านั้น ทั้งพระบรมศาสดาและพระสงฆ์สาวก จะห่มผ้ามีสีดังผ้ากัมพลแดง

เมื่อนําเอาผ้าทั้งสองสีมาเปรียบเทียบกัน ก็จะได้ข้อสรุปว่า โดยทั่วไปในสมัยพุทธกาล พระบรมศาสดาและพระสงฆ์สาวก จะทรงห่มผ้าจีวรมีสีแดง เหมือนผ้ากัมพลแดง แต่ในท้าย พระชนม์ชีพนั้น พระบรมศาสดาทรงห่มผ้าจีวรสีทองสิงคี แม้จะทรงห่มเพียงเวลาสั้นๆ ก็ยืนยัน ได้ว่า ผ้าสีทองสิงคี เป็นผ้าทรงชุดสุดท้ายของพระบรมศาสดา

ทีนี้ ถ้าจะถามว่า พระภิกษุสามเณร ห่มผ้าสีอะไร จึงจะถูกต้องตามพระธรรมวินัย สีแดงหรือสีทอง ก็ตอบว่า  ถูกทั้งคู่ ทั้งนี้ ว่าโดยหลักใหญ่แล้ว ผ้านุ่งห่มของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาแต่เดิมมานั้น นิยมใช้ผ้าไปย้อมกับน้ำต้มเปลือกไม้ซึ่งมีสีฝาด จึงเรียกรสฝาด หรือสีฝาดนั้นว่า “กาสายะ” หรือ “กาสาวะ” ผ้าของพระสงฆ์จึงนิยมเรียกว่า “กาสาวพัสตร์”

สีย้อมจากเปลือกหรือต้นไม้นั้น ไม่มีมาตรฐานเดียวกัน บางต้นอาจจะอายุปานกลาง สีจึงเหลืองหรือแดงอ่อนๆ บางต้นก็แก่มาก สีที่ได้จากการย้อมจึงเข้มกว่า สุดแต่ว่าจะได้ต้นไม้อายุเท่าไหร่มาทําสีย้อมผ้า ทีนี้ว่า เมื่อทั้งสีเหลืองและสีแดงล้วนแต่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ตามหลักฐานที่ปรากฏและนําเสนอมา การที่พระสงฆ์ไทยไม่ว่าวัดไหนรูปใด  จะใช้จีวรสีอะไร ก็ย่อมจะเป็นสิทธิอันชอบธรรม ตราบใดที่ไม่ผิดพระธรรมวินัย แต่..แต่เพื่อความพร้อมเพรียงและสวยงามของคณะสงฆ์ ดังพระประสงค์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อทรงจะตั้งพระศาสนาขึ้นมานั้น ทรงพระอุตสาหะบัญญัติพระวินัยเอาไว้ เพื่อเป็นระเบียบ เครื่องร้อยพระภิกษุสามเณร ซึ่งออกบวชจากครอบครัวและถิ่นฐานที่แตกต่างกัน ให้สวยงามเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ประหนึ่งนายมาลาการ (ช่างจัดดอกไม้) ใช้เข็มและด้ายร้อยดอกไม้ต่างสีสันต์ให้เข้าเป็นพวงเดียวกัน ก็จะเป็นพวงมาลัยที่สวยงามและไม่กระจัดกระจายไป

พระพุทธศาสนาดํารงคงอยู่มานานถึง 2567 ปี ก็เพราะมีพระธรรมและพระวินัยเป็นหลักใหญ่ให้ศึกษาและปฏิบัติตาม ถ้านําเอา “หลักการ” ของการบัญญัติพระธรรมวินัย อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนามาเป็นหลักใหญ่ แล้วใช้สิกขาบทต่างๆ ให้สอดคล้องกัน ก็ย่อมจะหาข้อยุติได้ไม่ยาก หากแต่ว่าถ้าใช้ทิฐิมานะ นําเอาความเห็นของตนเองเป็นที่อ้าง แล้วนําเอาพระบัญญัติว่าด้วยสีจีวรนั้นๆ มาคัดค้านกัน ก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนาของผู้ที่กระทําว่ามุ่งหมายสิ่งใด เพื่อพระศาสนาหรือว่าเพื่อตัวเอง

พระบรมศาสดาทรงครองจีวรสีอะไรนั้น ประจักษ์ชัดเจนแล้ว เรื่องเล่าเข้าพรรษา ว่าด้วยสีจีวรของพระบรมศาสดา ก็เห็นสมควรแก่เวลา..

 

Leave a Reply