ที่ปรึกษาปลัด มท. ผนึกกำลังไตรภาคี “มหานครแห่งโคก หนอง นา”  ตามหลัก “บวร”

วันที่ 11 มกราคม 2565  วานนี้ เวลา 13.30 น. ณ ศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ป่าดงใหญ่วังอ้อ ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี พระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ และที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ประชุมชี้แจงแนวทางการบริหารจัดการแบะตรวจรับครุภัณฑ์ ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” แปลงศูนย์เรียนรู้ระดับตำบล (Community Lab Model for quality of Life : CLM) โดย นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นางสาววิจิตร หลงชิน ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน รักษาราชการแทน พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย พัฒนาการอำเภอ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ เจ้าหน้าที่สำนักงานพลังงานจังหวัด และคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษา ตลอดจนคณะกรรมการตรวจรับครุภัณฑ์ และคณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ รวมถึง ภาคีเครือข่าย และผู้แทนครัวเรือนพื้นที่ต้นแบบแปลง CLM ระดับตำบล และผู้ประกอบการรับจ้าง เข้าร่วมการประชุมฯ ในลักษณะไตรภาคี ที่ประกอบไปด้วยส่วนหลัก ได้แก่ คณะกรรมการตรวจรับครุภัณฑ์ ผู้ประกอบการรับจ้าง และเจ้าของแปลง CLM โดยยึดหลัก “บวร” หรือ บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ ในการสนับสนุนการดำเนินงาน

จังหวัดอุบลราชธานี โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลผ่านทางกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” แปลงศูนย์เรียนรู้ระดับตำบล (Community Lab Model for quality of Life : CLM) กิจกรรมที่ 5 บูรณาการพัฒนาพื้นที่ระดับตำบล กิจกรรมสนับสนุนอุปกรณ์สาธิตในพื้นที่เรียนรู้ระดับตำบล จำนวน 71 แปลง ในพื้นที่ 21 อำเภอ โดยดำเนินการจัดซื้อครุภัณฑ์ ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งมอบครุภัณฑ์ให้กับครัวเรือนพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ทั้ง 71 แปลง โดยดำเนินการจัดซื้อ 3 ครั้ง 2 วิธี คือ 1)วิธีการประกวดราคา E-bidding จำนวน 10 รายงาน ผ่านการประกวดราคา 2)ด้วยวิธีคัดเลือก 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 จำนวน 5 รายการ ครั้งที่ 2 จำนวน 4 รายการ ประกอบด้วย เครื่องคั่วเอนกประสงค์, เครื่องแอลกอฮอล์จากน้ำอ้อย, เครื่องหีบน้ำอ้อยไฟฟ้าพร้อมแบตเตอรี่, ระบบ Solar of Grid Inverter ขนาด 10 KW, เครื่องผสมอาหารสัตว์ DC Motor 3 HP, เครื่องสับย่อยอาหารสัตว์และกิ่งไม้, เครื่องสกัดน้ำมันจากพืช Bio Diesel, เครื่องบรรจุอาหารกระป๋อง, เครื่องขึ้นรูปภาชนะจากวัสดุธรรมชาติ และเครื่องบำบัดน้ำเสียแบบเติมอากาศใช้พลังงาน Solar Cell

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับครุภัณฑ์ รายละเอียด TOR สัญญาผูกพัน และระดมความคิดเห็น ความพึงพอใจในครุภัณฑ์ ความกังวลใจในครุภัณฑ์ ตลอดจนปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการครุภัณฑ์ นอกจากนั้น ยังได้ให้ผู้รับเหมา และช่างมาตอบข้อสงสัยของครุภัณฑ์ต่าง ๆ ตลอดจนเชิญเจ้าหน้าที่จากพลังงานจังหวัดอุบลราชธานี และผู้มีความรู้ในด้านวิศวกรรมมาร่วมให้คำแนะนำอีกด้วย โดยที่ประชุมฯ มีข้อสรุปร่วมกันคือการสนับสนุนและสาธิตเพิ่มเติม รวมถึงชี้แจงการดูแลรับประกันให้แก่แปลงตัวอย่าง ตามสัญญาและ TOR ที่กำหนด ในส่วนของครุภัณฑ์ที่ทางเจ้าของแปลง CLM ได้สอบถามและมีข้อสงสัย ทางผู้รับจ้างก็ได้หาทางออกร่วมกันและยินดีแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นในพื้นที่ตามข้อกำหนดใน TOR ต่อไป

โอกาสนี้ พระพิพัฒน์วชิโรภาส ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เมตตากล่าวกับที่ประชุมว่า “การมาร่วมประชุมของคณะจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ผู้แทนแปลง CLM ผู้รับเหมาครุภัณฑ์ แปลง CLM และคณะกรรมการตรวจรับครุภัณฑ์ แปลง CLM ทุกท่าน ในวันนี้ถือเป็นโอกาสอันดี ดังคำกล่าวที่ว่า “ได้พบกันก็เป็นบุญตา ได้พูดจาก็เป็นบุญปาก” ที่ได้มาพูดคุย เสนอแนะ ปรับปรุง แก้ไข พัฒนาครุภัณฑ์ประจำแปลง CLM ในจังหวัดอุบลราชธานี ให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มประสิทธิผล และมีความปลอดภัยในชีวิต ที่ศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ขออนุโมทนากับทุกฝ่ายที่มาร่วมกันพูดคุย เสนอแนะสิ่งที่เป็นประโยชน์ ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ”

ขณะที่ นางสาววิจิตร หลงชิน ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน รักษาราชการแทน พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ได้เปิดเผยต่อที่ประชุมว่า “จังหวัดอุบลราชธานี มีแปลงที่เข้าร่วมโครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” มากที่สุดในประเทศไทย ถึง 4,044 แปลง ในส่วนของแปลง CLM นั้นมีอยู่ถึง 71 แปลง จนได้รับการขนานนามว่า “มหานครโคก หนอง นา” ดังนั้นจึงต้องเร่งดำเนินการสนับสนุน รวมถึงตรวจสอบและส่งมอบวัสดุครุภัณฑ์ให้เสร็จสิ้น เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชน โดยขอให้ทุกท่านศึกษาข้อมูลครุภัณฑ์ให้ครบถ้วน ชัดเจน และสื่อสารกันให้ตรงประเด็น หากมีข้อสงสัย ขอให้สอบถามเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ทั้งสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ และกรรมการตรวจรับครุภัณฑ์ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ที่ได้รับเชิญมาร่วมสนับสนุน นอกจากนั้นยังขอความร่วมมือผู้ประกอบการรับจ้างในการลงพื้นที่ตรวจสอบและดูแลในกรณีที่ครุภัณฑ์นั้นมีปัญหา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง และคุ้มค่ากับงบประมาณของทางราชการด้วย”

 

Leave a Reply