เปิดมุมมองคดีห้าม นร. คลุมฮิญาบ : “นอกจากทำร้ายจิตใจ มันยังตัดโอกาสทางการศึกษา”

วันที่ 24 เม.ย. 65  หลังจากศาลปกครองพิพากษาให้นักเรียนหญิงสวมฮิญาบ หรือผ้าคลุมศีรษะของชาวมุสลิมไปโรงเรียนอนุบาลปัตตานีซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่วัดหรือที่ธรณีสงฆ์ได้ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะก่อนหน้านี้มีคำสั่งห้าม “BBC” ภาคภาษาไทย ได้ไปเปิดมุมมองของผู้ปกครองนักเรียนมุสลิมซึ่งมีมุมมองที่น่าสนใจ ดังนี้

“อาจจะเป็นจุดเล็ก ๆ ที่เปลี่ยนแปลง เริ่มต้นตรงนี้ แต่อนาคตผมเชื่อว่ามันดีแน่นอน” อรุณ เหมมินทร์ บอกกับบีบีซีไทย

ชาวปัตตานีผู้นี้เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ปกครอง 20 คน ที่ยื่นฟ้องศาลปกครองตั้งแต่ปี 2561 หลังโรงเรียนอนุบาลปัตตานีออกคำสั่งห้ามไม่ให้นักเรียนหญิงสวมฮิญาบ หรือผ้าคลุมศีรษะของชาวมุสลิม ไปโรงเรียน และมีการหักคะแนนเด็กที่ฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว

ต้องใช้เวลากว่า 4 ปี กว่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลง “จุดเล็ก ๆ” ที่ว่า โดยเมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมา ศาลปกครองพิพากษาให้นายอรุณและพวก ชนะคดีที่ฟ้องกระทรวงศึกษาธิการและโรงเรียนอนุบาลปัตตานี

แม้ว่าตอนนี้ลูกสาวของอรุณจะจบการศึกษาจากโรงเรียนนี้ไปแล้ว แต่เขาบอกว่าดีใจแทนเด็กอีกหลายคน เพราะ “เด็กมุสลิมที่โดนจำกัดด้วยการห้ามคลุมฮิญาบเป็นปัญหามายาวนาน”

“ต้องขอบคุณศาลที่เข้าใจบริบท และเห็นว่าการคลุมฮิญาบมันมีความจำเป็น” อรุณกล่าว

อรุณ เหมมินทร์

 ข้อพิพาทยาวนานนี้เกิดขึ้นจากการที่โรงเรียนตั้งอยู่บนที่ธรณีสงฆ์ของวัดนพวงศาราม

ผู้ปกครองอย่างอรุณอ้างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 ที่ระบุว่า นักเรียนหญิงซึ่งนับถือศาสนาอิสลามในสถานศึกษาอื่นนอกจากสถานศึกษาเอกชนหรือสอนศาสนาอิสลาม สามารถสวมผ้าคลุมศีรษะได้ ขณะที่คำสั่งห้ามคลุมฮิญาบที่โรงเรียนอนุบาลปัตตานีกำหนดนั้น เป็นการอ้างอิงระเบียบกระทรวงศึกษาในเรื่องเดียวกัน ฉบับปี พ.ศ. 2561 ที่บอกว่า ให้เครื่องแบบนักเรียนของสถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่วัดหรือธรณีสงฆ์เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างสถานศึกษากับวัด

ตื้นตันใจ

อรุณเล่าว่า ลูกสาวถึงกับร้องไห้เพราะภูมิใจและตื้นตันใจกับคำพิพากษานี้ เพราะย้อนไปเมื่อลูกสาวยังอยู่ ป.5 เธอเป็นคนริเริ่มความคิดว่าจะคลุมฮิญาบไปโรงเรียนเอง

การสวมฮิญาบเป็นสิ่งที่ผู้หญิงมุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติหลังเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ หรือเมื่อมีประจำเดือน

“ตอนนั้นโรงเรียนไม่มีใครคลุม [ฮิญาบ]… [ลูกบอกว่า] ถึงแม้ว่าเขาเป็นคนเดียวที่คลุมในโรงเรียน เขาบอกว่าเขาก็ต้องคลุม เราเคยปลูกฝังว่ามุสลิมที่ดีต้องเป็นยังไง อะไรบ้างที่ศาสนาบังคับ อะไรที่ทำได้ทำไม่ได้ ทีนี้เขาก็จำ”

อรุณบอกว่า ในเมื่อลูกมีความตั้งใจและเป็นสิ่งที่คิดถูกแล้ว เขาเลยเริ่มหาช่องทางพูดคุยกับโรงเรียน

เขาเล่าว่าในช่วงแรก ปฏิกริยาและท่าทีต่อเรื่องนี้เปลี่ยนแปลงอยู่หลายครั้ง จากที่ผู้บริหารโรงเรียนตอบตกลงด้วยความยินดี มีการประท้วงหยุดสอนโดยครู ไปจนถึงการบรรลุข้อตกลงประนีประนอมให้เด็กนักเรียนหญิงที่มีประจำเดือนแล้วสามารถคลุมฮิญาบมาเรียนได้

จุดเปลี่ยนสำคัญคือการที่โรงเรียนออกหนังสือแจ้งว่าถ้าเด็กคนไหนยังคลุมฮิญาบมาเรียน จะถูกตัดคะแนนและให้ออกจากโรงเรียน นี่ทำให้อรุณตัดสินใจไปยื่นเรื่องต่อศาลปกครองสงขลา และเมื่อเดือน ต.ค. ปี 2561 ศาลก็มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามลงโทษเด็กนักเรียนกลุ่มนี้

เมื่อถามว่าอะไรคือแรงจูงใจให้ต่อสู้คดีมาอย่างยาวนาน อรุณบอกว่า “เราเป็นมุสลิม แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่ประเพณี เรื่องนี้เป็นข้อบังคับของมุสลิมทุกคน”

ชาวปัตตานีรายนี้บอกว่า อีกเหตุผลสำคัญคือในปัตตานี มีคนรวยไม่ถึง 5% “ที่สามารถส่งลูกไปโรงเรียนดี ๆ ทัดเทียมเพื่อนได้” และโรงเรียนอนุบาลปัตตานีก็เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ดีไม่กี่โรงเรียนในจังหวัดที่พ่อแม่ส่งลูกเรียนไหว การมีข้อบังคับเรื่องฮิญาบจึงเป็นการจำกัดสิทธิเด็กจำนวนหนึ่งให้ขาดการศึกษา

อรุณอธิบายว่าโรงเรียนลักษณะนี้ที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรม เปิดโอกาสให้เด็กต่างศาสนาเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันได้

“ถ้าเราไม่เรียกร้องแบบนี้แล้ว เราจะให้เด็กไปเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาของมุสลิม มันทำให้เด็กหายไปจากความเป็นเพื่อน [กับคนต่างศาสนา] ซึ่งมันเป็นอันตรายในการใช้ชีวิตของเด็ก”

คดีห้าม นร. คลุมฮิญาบ

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมา ศาลปกครองพิพากษาให้นายอรุณและพวก ชนะคดีที่ฟ้องกระทรวงศึกษาธิการและโรงเรียนอนุบาลปัตตานี

Leave a Reply