ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม คำสำคัญ ๓ คำที่ต้องทำความเข้าใจในการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนา

คำ ๓ คำนี้ พบว่าเป็นคำที่ไทยบัญญัติใช้

ศีลธรรม (ในพระไตรปิฎกพบมีแต่ว่า เอวังสีโล เอวังธัมโม แปลว่า ภิกษุมีศีลอย่างนี้ มีธรรมอย่างนี้) มาจากคำ ๒ คำ คือ ศีล กับ ธรรม โดยเข้าใจว่า นำคำ เบญจศีล (คำบาลี ปญฺจ สีลานิ = ศีล ๕ ) มารวมกับคำ เบญจธรรม (คำบาลี ปญฺจ ธมฺมา = ธรรม ๕) แล้ว เบญจศีลเบญจธรรมก็กร่อนเหลือเป็น ศีลธรรม ซึ่งต้องแปลว่า ศีลกับธรรม
ทำไมศีลกับธรรมต้องมาคู่กัน ? ในสังคมมนุษย์ ตามที่กล่าวไว้ในอัคคัญญสูตร (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑) เดิมที มีธรรมเป็นศีล (ศีล แปลว่า ปกติ) คือ

๑) มีเมตตา ความรักความปรารถนาดี ไม่มีการฆ่า ๒) มีสัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตชอบ และ มีจาคะ การแบ่งปัน ไม่มีการลักขโมย ๓) มีกามสังวร การระมัดระวังเรื่องเพศ ไม่มีการประพฤติผิดในกาม ๔) มีวจีสัจจะ การพูดคำจริง ไม่มีการพูดเท็จ ๕) มีสติ มีสติครองตน ไม่มีการทำลายสติด้วยการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย
การมีธรรมอย่างว่ามานี้เป็นปกติ จึงจัดว่า มีธรรมเป็นศีล

ต่อมา เมื่อสังคมขยายใหญ่ขึ้น มีคนมาอยู่รวมกันมากขึ้น ความเป็นศีลหรือปกติดังกล่าวหายไป เพราะธรรมหายไป เนื่องจาก มีการฆ่า มีการลักขโมย มีการประพฤติผิดในกาม มีการพูดเท็จ มีการทำลายสติด้วยการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย ทำให้สังคมปั่นป่วน จึงมีผู้รู้พยายามสอนให้สังคมกลับเข้าสู่ความมีศีลคือความเป็นปกติโดยเริ่มต้นจากมีเจตนางดเว้นจากความไม่ปกติ และมีธรรมคอยเกื้อหนุนการงดเว้นให้มั่นคง

ศีล – ปกติ ธรรม – ความดีเกื้อหนุน
เว้นจากการฆ่า < เมตตา
เว้นจากลักขโมย < สัมมาอาชีวะ, จาคะ
เว้นจากประพฤติผิดในกาม < กามสังวร
เว้นจากพูดเท็จ < วจีสัจจะ
เว้นจากดื่มน้ำเมาคือสุราเมรัย < สติ

โดยนัยนี้ จึงพิจารณาได้ว่า

1. ศีลจึงกลายเป็นสิกขาบทหรือบทฝึกหัดที่ต้องตั้งเจตนางดเว้น ด้วยวิธีการที่เรียกว่า สมาทาน

2. มีธรรม คือ ความดี เช่น เมตตา ตามหนุนตามหล่อเลี้ยงเจตนางดเว้น จนกระทั่งเมื่อธรรมเกิดขึ้นเป็นประจำก็ทำให้ศีลเกิดโดยธรรมชาติไม่ต้องสมาทาน

3. ถือเป็นความบกพร่องของสังคมไทยที่ในเวลาต่อมา กำหนดให้แต่สมาทานศีลจนกลายเป็นประเพณี แต่ไม่มีการสอนว่าจะมีธรรมคอยเกื้อกูลหล่อเลี้ยงศีลได้อย่างไร ผลก็คือ ชาวพุทธไม่เข้าใจ การรักษาศีลทำได้ยาก ชาวพุทธรักษาศีลไม่ได้ เกิดตวามรู้สึกแต่ว่าศีลเป็นข้อห้ามที่น่าเบื่อ

4. ดังนั้น ในการปลูกฝังน่าจะปลูกฝังธรรมให้เกิดชึ้นควบคู่กับศีลหรือนำศีล แล้วศีลจะเกิดตามโดยอัตโนมัติ

เพราะอะไร การศึกษาไทยในอดีตจึงสนใจคำ ศีลธรรม ? เพราะต้องการให้ใช้คู่กับคำว่า หน้าที่พลเมือง กลายเป็นวิชา หน้าที่พลเมืองและศีลธรรม ซึ่งก็เป็นนัยบอกให้รู้ว่า หน้าที่ของพลเมืองต้องทำคู่ไปกับศีลธรรม สังคมจึงจะสงบสุข

เมื่อคำ ศีลธรรม หายไป เกิดมีคำ คุณธรรม จริยธรรม ขึ้นมาแทน สังคมได้อะไร ?

ต่อมา คำว่า ศีลธรรม หายไปจากวงการศึกษาไทย เพราะมีการตั้งข้อรังเกียจว่า ศีลธรรม จำกัดอยู่แต่เฉพาะหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ไม่เปิดทางให้ศาสนาอื่นเผยแผ่คำสอนในวงการศึกษาได้ เพราะคำว่า ศีลธรรม ไม่มีใช้ในคำสอนศาสนาอื่น จึงเท่ากับว่าขัดกับสิทธิขั้นพึ้นฐานตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ เพราะเด็กนักเรียนในศาสนาอื่นต้องถูกบังคับให้มาเรียนหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาด้วย จึงมีการเสนอให้ตัดคำว่า ศีลธรรม ออกไป แล้วใช้คำ คุณธรรม จริยธรรม แทน ด้วยเหตุผล คือ

๑. มีใช้ในศาสนาอื่น

๒. คุณธรรม แปลมาจากคำ virtue และจริยธรรม แปลมาจากคำ ethics ซึ่งมีใช้ในปรัชญาตะวันตก และใช้ในวงการศึกษาของตะวันตก ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าทั้งรูปแบบและเนื้อหาของการศึกษาตะวันตกมีอิทธิพลเหนือการศึกษาไทยในด้านต่าง ๆ มายาวนาน

๓. ด้วยเหตุนี้ จะทำให้ระบบการศึกษาไทยมีความเป็นสากล

ผล คือ มีตัดคำว่า ศีลธรรม ออกไปจากวงการศึกษาไทย โดยใช้คำว่า คุณธรรม จริยธรรม แทน

ผลกระทบที่เกิดแก่พระพุทธศาสนา

เมื่อตัดคำ ศีลธรรม ออกไป ใช้ คุณธรรม จริยธรรม แทน วิชาพระพุทธศาสนาก็ชะงักงันเพราะต้องมาเสียเวลากับการทำความเข้าใจกับ คำสำคัญ ๒ คำนี้ ซึ่งป่านนี้ก็ยังไม่เห็นการให้ความหมายที่ชัดเจน และยังเป็นการเสียจุดยืนอย่างสำคัญของพระพุทธศาสนา เนื่องจากการที่ตัดคำว่า ศีลธรรมออกไป นักวิชาการไม่กล้าใช้ คำว่า ศีลธรรม ในวงการศึกษาและวงวิชาการ แต่ใช้คุณธรรม จริยธรรม แทน ซึ่งไพเราะได้ความเป็นสากลแต่หน้าตาของคำไม่ชัดเจนและทำให้เกิดความรู้สึกละเลยเรื่องบุญและบาปซึ่งเป็นคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนาที่เป็นต้นกำเนิดศีลธรรมขั้นพื้นฐานของสังคมมนุษย์

ผลตามมาอีกเรื่องหนึ่ง คือ เมื่อพระพุทธศาสนาเสียคำ ศีลธรรม ซึ่งเป็นฐานสำคัญขององค์ความรู้ด้านปริยัติและการปฎิบัติ ก็เท่ากับเปิดทางให้มีการเคลื่อนไหวต่อไปในการตัดความเชื่อมโยงทางกายภาพระหว่างโรงเรียนวัดกับวงการศึกษาไทย จึงมีการเสนอเปลี่ยนคำว่า โรงเรียนวัด เป็นแค่ โรงเรียน เช่น โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ เหลือเป็น โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนวัดวิมุตยราม เหลือเป็น โรงเรียนวิมุตยาราม ดีแต่ว่ามีหลายวัดรู้ทันจึงพยายามยับยั้ง เช่น วัดบวร ไม่ยอมให้ตัด “วัด” ออก จึงยังคงเป็น โรงเรียนวัดบวร อยู่จนทุกวันนี้

ศีลธรรม จะใช้กับ คุณธรรม จริยธรรม ได้หรือไม่ ?

หากยังเสียดายความเป็นสากลจะคงใช้ คุณธรรม จริยธรรม ก็ได้ แต่ขอให้เพิ่มคำ ศีลธรรม ไปด้วย เป็น ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม และขอให้ตีความ คุณธรรม จริยธรรม เป็นเชิงพุทธซึ่งสอดคล้องกับ ศีลธรรม

ขอเรียนในเบื้องต้นว่า แม้ คุณธรรม จริยธรรม จะเป็นคำบาลีสันสกฤต แต่ก็รูปคำนี้ก็ดูจะไม่มีใช้ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา หากมีแต่ใช้โดดๆ เช่น คุณ, ธรรม, (หรือ หากจะใช้ คุณธรรม ก็พบน้อยมาก ไม่แพร่หลายเลย) จริยา, ธรรม จึงแน่นอว่าเป็นคำที่ไทยเราบัญญัติขึ้น แต่อย่างไรก็พอหาความหมายเชิงพุทธได้

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ศีลธรรม มาจาก ศีล + ธรรม ซึ่ง ธรรม ได้แก่ เมตตา, สัมมาอาชีวะ จาคะ, กามสังวร, วจีสัจจะ, สติ หรือ อัปปมาท (ความไม่ประมาท, ความไม่ขาดสติ)

ธรรมเหล่านี้เอง ความจริงก็คือ คุณธรรม ที่นักการศึกษาไทยหมายถึง และสามารถขยายออกไปให้เป็น คุณธรรม (คือ ธรรมสำหรับเพิ่มคุณค่าให้กับชีวิต (คุณ แปลว่า เพิ่ม, ประโยชน์) ซึ่งขยายออกไปให้เชื่อมโยงกับ ความดีต่างในพระพุทธศาสนา เช่น

1. ธรรมมีอุปการะมาก คือ สติ (ความมีสติอยู่กับขณะปัจจุบัน) สัปชัญญะ (ปัญญารู้ตัวเองชัดเจนต่อเนื่อง)

2. ธรรมคุ้มครองโลกซึ่งเป็นรากฐานของศีล หิริ (ความละอายใจที่จะทำชั่วเพราะคิดถึงคุณค่าของตัวเอง) โอตตัปปะ (ความกลัวผลของความชั่วที่เกิดจากการลงโทษทางกฎหมายและสังคม)

3. และยังครอบคลุมไปถึงชุดธรรมที่คอยกระตุ้นใจ ปรุงแต่งใจ ให้ทำดี เช่น พรหมวิหาร ๔

คุณธรรม ดังว่ามานี้ ในที่สุดก็แสดงออกเป็น จริยธรรม คือ ธรรมที่ต้องประพฤติ หรือ ธรรมที่ต้องทำ

ขอเรียนว่า ในพระพุทธศาสนาไม่มีคำ จริยธรรม มีแต่คำ ธรรมจริยา (บาลี ธมฺมจริยา) แปลว่า การประพฤติธรรม การทำตามธรรม ดังจะเห็นได้ในคำว่า ทสวิธา ธมฺมจริยสมจริยา – การประพฤติธรรมการประพฤติชอบ ๑๐ ประการ และธรรมจริยาในที่นี้คือ กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ แสดงว่า กุศลกรรมบถ ๑๐ คือ จริยธรรมที่ต้องแสดงออกทางกายวาจาใจ ซึ่งมาจากคุณธรรมที่สัมพันธ์กับ

ดังนั้น ในการใช้คำ จึงเสนอขอให้ใช้ว่า ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม (ศีลธรรม >คุณธรรม > จริยธรรม) เพราะศีลธรรมเป็นรากของคุณธรรมจริยธรรม หรือจะใช้ ศีลธรรม จริยธรรม ก็ได้ เพราะถึงอย่างไร คุณธรรม ก็มีอยู่แล้วทั้งในคำทั้ง ๒ นั้น หรือจะใช้ ศีลธรรมคำเดียวก็ได้ เพราะศีล (เท่ากับธรรมจริยา) เป็นตัวแสดงออกของ ธรรม (คุณธรรม)

สรุป

ในคำทั้ง ๓ นี้ หากเราใช้ ศีลธรรม คำเดียวก็น่าจะได้ เพราะ

๑. สามารถอธิบายเชื่อมโยงได้ทั้งเนื้อหาคำสอนและการปฏิบัติ (ปริยัติ+ปฏิบัติ)

๒. สามารถให้เกิดได้ทั้งศีล สมาธิ ปัญญา และเข้าถึง ประโยชน์ ความเจริญ ความสุข (อตฺถาย หิตาย สุขาย) ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
แต่เราคงต้องช่วยกันเอาศีลธรรมกลับมา แล้วปลูกฝังลงไปในใจเราและในใจของสังคมและในใจของเยาวนชน

Cr.FB-Banjob Bannaruji

Leave a Reply