เปิดยุทธการ : จาโปตาแง แก้จน คนเมืองยะลา

 “ใต้สุดแดนสยาม เมืองงามชายแดน” คือคำขวัญประจำเมืองจังหวัดยะลา จังหวัดที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีการวางผังเมืองที่ดีและสวยงามแห่งหนึ่งในประเทศไทย อยู่ในเขตเทศบาลนครยะลา ขนาดพื้นที่ 19 ตารางกิโลเมตร มีถนนกว่า 400 สาย ตัดเชื่อมต่อกัน ส่วนหนึ่งเป็นใยแมงมุม มีวงเวียนซ้อนกัน 3 วง คล้ายกับกรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส โดยออกแบบให้ถนนทุกสายไปรวมกันที่วงเวียนหลักเมือง เป็นการแบ่งพื้นที่ใช้สอยเป็นโซนนิ่งที่ชัดเจน เช่น สถานศึกษา สถานที่ราชการ ย่านธุรกิจการค้า บ้านพักที่อยู่อาศัย และสวนสาธารณะหรือพื้นที่สีเขียวของเมือง อีกส่วนหนึ่งตัดกันเป็นตารางหมากรุก คล้ายกับนครลอสแอลเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา มีทางเท้าควบคู่รางระบายน้ำ ช่วยให้แนวของอาคารเป็นแนวเดียวกัน ส่งผลให้เมืองยะลามีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นเมืองที่สวยงามร่มรื่น สะดวกในการพัฒนาทุกด้าน จนได้รับการกล่าวขานจากหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ อยู่เสมอ

สำหรับผังเมืองยะลานี้ สร้างในสมัยพระรัฐกิจวิจารณ์ ประมาณปี พ.ศ.2480 – 2488  โดยมีที่ปรึกษาเป็นชาวอังกฤษมาออกแบบผังเมืองในรูปแบบวงเวียน สำหรับวงเวียนชั้นที่ 1 เป็นหน่วยงานราชการ , วงเวียนชั้นที่ 2 เป็นบ้านพักข้าราชการ , วงเวียนชั้นที่ 3 เป็นโรงพยาบาล โรงเรียน สวนสาธารณะ และชั้นนอกสุด เป็นย่านการค้า และที่อยู่อาศัย ด้วยการวางผังเมืองแบบนี้ทำให้เมืองยะลาได้รับชื่อเสียงว่าเป็นเมืองที่สวยงามและน่าอยู่เล่าขานกันจนถึงปัจจุบัน

“ทีมข่าวพิเศษ” ลงพื้นที่ในลักษณะแบบนี้ เพื่อไปพูดคุยกับชาวบ้านครั้งนี้มิใช่ครั้งแรก ปีที่แล้วลงไปพูดคุยกับ “ป้าผิว เสาะสุวรรณ” แห่งบ้านเจาะตีเมาะ ต.สะแอ อ.ยะหา จ.ยะลา ตามคำขอของ “ปลัดเก่ง” สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมกับได้ให้ “ป้าผิว” พูดคุยกับปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้กำลังใจในฐานะป้าผิวเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเลี้ยงลูก 3 คน หลังปี 2547 มีคนในหมู่บ้านหนีออกจากพื้นที่  ป้าผิวไม่คิดย้าย “ปากกัดตีนถีบ” เลี้ยงชีวิตด้วยสัมมาชีพส่งลูกเรียนจนจบ ป้าผิว “ไม่คิดแก้แค้น แต่คิดแก้ไข” ตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดึง “ไทยมุสลิม-พุทธ” ทำกล้วยน้ำว้าแปรรูป ส่งออกทั่วประเทศ..ทำโคก หนอง นา สร้างแหล่งอาหารให้ชุมชน ภายใต้การสนับสนุนของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย รวมทั้งภาครัฐอื่น ๆ สร้างกิจกรรมสานสัมพันธ์ไทยพุทธ-มุสลิม ผ่าน “กิจกรรมในแปลงโคก หนอง นา”  แบบอย่างของคนชายแดนใต้ที่ดึง “คนกลับถิ่น” ได้หลายครัวเรือน เธอคือสตรีที่น่ายกย่องเป็น “สตรีต้นแบบแห่งสันติภาพ” ไม่คิดแบ่งแยก มีแต่การแบ่งปันและเกื้อกูลระหว่างคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

“จังหวัดยะลา” เป็นจังหวัดหนึ่งตั้งอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทยมีอาณาเขตทางใต้ติดกับประเทศมาเลเซีย เป็นจังหวัดเดียวในภาคใต้ที่ไม่ติดทะเล และเป็นจังหวัดที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย ดังปรากฏในคำขวัญประจำจังหวัดคือ “ใต้สุดแดนสยาม เมืองงามชายแดน” มีประชากรประมาณ 542,314 คน การปกครองแบ่งออกเป็น 8 อำเภอ 58 ตำบล 341 หมู่บ้าน

จังหวัดยะลาเป็นหนึ่งในสามจังหวัดของไทยที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็เป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธมากที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีชุมชนชาวคริสต์ขนาดย่อมทั้งนิกายโรมันคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ในเขตเทศบาลนครยะลาและเทศบาลเมืองเบตง นอกจากนี้ยังมีชุมชนของผู้นับถือศาสนาซิกข์จำนวนน้อยอาศัยอยู่ในเขตเทศบาลนครยะลา

คำว่า “จาโปตาแง” นั้น มาจากภาษามลายูท้องถิ่น มีความหมาย คือ การร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจกันของคนในชุมชนเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน และนำมาเป็นสโลแกนในการขับเคลื่อนอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ของกระทรวงมหาดไทย

“ธราวุธ ช่วยเกิด” ปลัดจังหวัดยะลา อดีตนายอำเภอเมืองยะลา บอกกับเราช่วงหนึ่งของการพูดคุยเพื่ออธิบายความหมายของคำว่า “จาโปตาแง” พร้อมกับเล่าเส้นทางชีวิตกว่าจะถึงวันนี้ว่า เป็นคนจากนครศรีธรรมราช ที่บ้านมีอาชีพเกษตรกรรม ตอนเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้รับเงินจากพ่อแม่เดือนละแค่ 1,500 บาท ชีวิตตอนเป็นนักศึกษาต้องรับจ้างแจกใบปลิวตามหมู่บ้าน ตามตลาดนัด หาเงินเลี้ยงชีพ หาเงินจ่ายค่าเทอมและห้องพัก  เคยเป็นเซลล์ขายรถยนต์สอง ชีวิตผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายเรื่อง จนวันหนึ่งมีโอกาสมารับราชการในจังหวัดยะลาตั้งแต่ปี 2539 จึงรู้เรื่องปัญหาความยากจนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ บริบทความเชื่อและสังคมไม่เหมือนภาคอื่น ๆ เป็นอย่างดี ประชาชนชายแดนใต้ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวขนาดใหญ่ ลูกหลานอยู่อาศัยกันหลายคน ตามหลักศาสนาอิสลามไม่มีการคุมกำเนิด ส่งผลให้บางครอบครัวมีรายได้ไม่พอรายจ่าย บางครอบครัวปัญหาซ้อนปัญหา กลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ตัวอำเภอเมืองยะลา จากข้อมูล TPMAP หรือที่เราเรียกว่า  ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า มีครัวเรือนตกเกณฑ์ถึง 3,626 ครัวเรือน มีกลุ่มเปราะบาง 1,396 คน ตกเกณฑ์ Thai QM 194 ครอบครัว และผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบด้วย 3,081 คน การแก้ปัญหาเรื่องความยากจนเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ สำหรับตัวเมืองอำเภอยะลา หลังเราเข้าร่วมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข  ผมดำเนินการ 5 ส. คือ  ส. 1 สร้างการรับรู้ ส.2 การสร้างอาชีพ ส.3 สร้างกลุ้ม ส.4 การสร้างเครือข่าย และ ส.5 การสร้างรายได้และเพิ่มมูลค่า ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านโครงการต่าง ๆ

“ในตัวอำเภอยะลา เป็นพหุวัฒนธรรมมีหลายศาสนา พี่น้องไทยพุทธ เป็นสังคมผู้สูงอายุอัตราการเกิดน้อย วัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงานมีน้อย แต่หากเป็นพี่น้องไทยมุสลิมแทบจะไม่ส่งผลเพราะทุกครัวเรือนจะมีประชากรทุกช่วงวัยเด็กมี วัยรุ่นเยอะ  วัยทำงาน วัยผู้สูงอายุก็เยอะ   การแก้ปัญหาต้องเริ่มจากตัวนายอำเภอก่อนผู้นำต้องทำก่อน เริ่มจากที่บรรจุเป็น ปลัดอำเภอตั้งแต่ปี 2539 อยู่มาเกือบทุกอำเภอของจังหวัดยะลา เราได้เห็นบริบทของแต่ละอำเภอหลากหลาย การทำงานร่วมกับพี่น้องประชาชนก็น้อมนำศาสตร์พระราชาเข้ามา ประชาชนก็จะดูว่านายอำเภอเป็นคนอย่างไร คบได้หรือไม่ เป็นคนพูดจาน่าเชื่อถือ ถ้าหากเขามั่นใจในตัวผู้นำ การทำงานร่วมกันก็จะทำได้ง่าย เมื่อผู้นำเป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว การสร้างทีมที่มาจากใจพวกเขาว่าตั้งใจจะช่วยนายอำเภอ ตั้งใจช่วยงานภาครัฐ  ถ้าหากเขาศรัทธาเชื่อมั่นในตัวผู้นำแล้ว หลายงานก็จะประสบความสำเร็จ หลักนิยมของพี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะชาวมุสลิมเขาเชื่อผู้นำ

ก่อนปี 2547 สังคมคนชายแดนใต้เราไว้วางใจซึ่งกันและกัน แม้จะต่างศาสนากัน แต่หลังจากปี 2547 เจอสถานการณ์ความรุนแรงมานี้  พอมีเส้นแบ่งบางๆตรงนี้ พี่น้องประชาชนก็มีการแบ่งฝ่าย เราต้องสื่อให้พี่น้องประชาชนเห็นว่าการอยู่ร่วมกันไม่ว่าจะศาสนาใด ก็เป็นคนไทยด้วยกัน มีความเสมอภาคและไม่แบ่งว่าเราเป็นพลเมืองคนละชั้น และหน่วยงานภาครัฐก็ให้ความสำคัญเท่าเทียมกัน เราไม่มีสิทธิเลือกปฎิบัติ..”

ปฎิบัติการเดินหน้ายุทธการ “จาโปตาแง แก้จน คนเมืองยะลา” เริ่มเห็นภาพชัดยิ่งขึ้นเมื่อ “ทีมข่าวพิเศษ” ได้มีโอกาสพูดคุยกับ กัลยดา หฤทัยวรรณ”  พัฒนาการอำเภอเมืองยะลา ซึ่งทุกจังหวัดที่เราลงพื้นที่ในลักษณะนี้คนของ “กรมการพัฒนาชุมชน” ถือว่าเป็น “เสนาธิการ” หรือ “กุนซือ” หลักให้กับ “นายอำเภอ”  เกือบทุกที่ ในการแก้ไขปัญหา “ปากท้อง”  หรือ  “สร้างอาชีพ” ให้กับประชาชน ซึ่งล้วนต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ “กรมการพัฒนาชุมชน” เป็นแม่งานหลักในการขับเคลื่อน

 

 

 

 

 

“พัฒนาการอำเภอเมืองยะลา”ได้เล่าฉายภาพให้เห็นพร้อมเปิดแผนผังการทำงานโดยเดินหน้าแก้จนใน5 ประเด็น คือ เรื่อง สุขภาพ ที่อยู่อาศัย การศึกษา การเข้าถึงบริการภาครัฐ และการสร้างรายได้ให้กับประชาชน ที่อำเภอเมืองยะลาในฐานะอำเภอนำร่องกำลังดำเนินงาน

เพื่อให้เห็นภาพจริงปลัดจังหวัดยะลา “ธราวุธ ช่วยเกิด” รับอาสาพาลงพื้นที่ไปดูแปลงโคก หนอง นา  ขนาด 15 ไร่ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวศาลากลางมากนัก

“ปรีชา สมบูรณ์แก้ว” กำนันตำบลยุโป อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน และชาวบ้านส่วนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชนชาวพุทธมารอต้อนรับ จากข้อมูลของกำนันปรีชา เล่าว่า ชุมชนแห่งนี้เคยมีเหตุการณ์ความรุนแรง แต่นานมาแล้ว  ปัจจุบันไม่มีแล้ว ทุกคนอยู่ร่วมกันด้วยความสันติสุข มีวัด และค่ายทหารมาตั้งอยู่ภายในชุมชน ที่ดินแปลงแห่งนี้เป็นที่ดินของวัด เจ้าอาวาสท่านมอบให้ชุมชนทำแปลงโคก หนอง นา มีขนาด 15 ไร่ คล้ายกับแปลง “ครัวชุมชน” 

“คนที่เข้ามาทำเป็นคนที่ไม่มีที่ดินทำกิน อยากลดรายจ่าย เพิ่มรายได้   ทาง พช. หรือกรมพัฒนาชุมชน เป็นเจ้าภาพหลัก มาดูแล มาช่วยพัฒนาที่ดินในการปรับปรุงดินให้มีธาตุอาหารที่ดี มีเกษตรอำเภอ ศูนย์พัฒนาวิจัยพันธุ์พืช มีองค์ความรู้จากภาครัฐเข้ามาช่วยส่งเสริม ทั้งด้านความรู้และการตลาด ..”

สอดคล้องกับ “จรัญ สินสงวน”  ซึ่งเป็นแกนนำดูแลแปลงโคก หนอง นา บอกว่า “ปัจจุบันมีกลุ่มสตรีมาร่วมทำปลูกผักด้วยจำนวน 9 คน ส่วนใหญ่เป็นคนไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง อยากลดรายจ่ายของครอบครัว และอยากหารายได้เพิ่ม ซึ่งสำหรับผักที่ออกจากแปลงนี้ไม่พอขาย ตลาดต้องการเยอะ โดยเฉพาะตนเอง มีร้านอาหารเล็ก ๆ ขายข้าวแกงด้วย ก็ได้ผลผลิตจากตรงนี้..”

ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาใหญ่ของประชาคมโลกที่องค์การสหประชาชาติระบุว่ามีประชากรที่เข้าข่ายว่าเป็นคนยากจนทั่วโลกถึง 800 ล้านคน อาทิ ขาดการเข้าถึงน้ำดื่มสะอาด ขาดอาหาร สุขอนามัยที่เพียงพอ รวมถึงการอ่านหนังสือไม่ออกเขียนไม่ได้ จึงขอร้องให้ประเทศสมาชิกรวมทั้งประเทศไทยเดินหน้าแก้จน ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาอันดับแรกใน 17 ปัญหาที่ทั่วประเทศทั่วโลกต้องร่วมกันแก้ในทุกรูปแบบให้แล้วเสร็จภายในปีพุทธศักราช 2573  อำเภอ บำบัดทุกข์บำรุงสุข จึงเป็นกลไกยุทธวิธีหนึ่งของกระทรวงมหาดไทยที่เดินหน้าแก้ปัญหาดังกล่าวผ่านโครงการต่าง ๆ สู่ชุมชน หมูบ้าน โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือความสุขแบบยั่งยืนของประชาชนนั่นเอง!!

Leave a Reply