เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2565 ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้าหารือพระสุธีรัตนบัณฑิต ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร มจร ประกอบด้วย พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร,รองศาสตราจารย์ ดร. รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ พระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน, ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร. รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ ณ อาคารรับรองอาคันตุกะ (ศาลาเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ) วัดสุทธิวราราม เขตสาทร กรุงเทพมหานคร
โอกาสนี้ คณะผู้บริหาร มจร ได้เรียนปรึกษาหารือท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงแนวทางการพัฒนาการเรียนรู้ ระหว่างมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่ง คือ
1. การจัดทำ Credit Bank เพื่อรับรองการเรียนรู้แบบสะสมหน่วยกิตของมหาวิทยาลัยและผู้สนใจเรียนข้ามมหาวิทยาลัย
2. การพัฒนาวิทยาลัยหรือสถาบันการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดเวลา เพื่อเปิดโอกาสในการเรียนรู้ของประชาชนในสังคมและนานาชาติ
3. การพัฒนาและสร้างความร่วมมือหลักสูตร 2 ปริญญา โดยเฉพาะสาขาที่ใกล้เคียงกัน คือ สาขาพุทธศิลปกรรมของมหาจุฬา ดับสาขาวิจิตรศิลป์ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
4. การพัฒนาหลักสูตรเสริมความรู้และทักษะพระธรรมทูตและพระธรรมจาริก ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและการพัฒนาสังคม
5. การพัฒนาความรู้และความร่วมมือในการดูสุขภาพพระสงฆ์ ตามธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ การพัฒนาอบรมพระคิลานุปัฏฐากและวัดส่งเสริมสุขภาพ
สำหรับการเรียนแบบสะสมหน่วยกิตหรือ Credit Bank เป็นการเรียนรู้ที่ทุกคนสามารถเข้าเรียนรู้ในสาขาวิชาการต่าง ๆ ในรั้วมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนได้ เพื่อเพิ่มความรู้และทักษะในการทำงาน โดยได้รับวุฒิบัตรเป็นรายวิชา แต่ถ้าต้องการจะรับปริญญาในสาขานั้น ๆ ก็สามารถโอนผลการเรียนไปเข้าตามหลักสูตรที่กำหนด ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนได้ลองเรียนรู้ในสิ่งที่ตนสนใจและนำไปขยายผลต่อในเชิงวิชาการต่อไป
ส่วนการเรียนเพื่อรับปริญญา 2 สาขานั้นเป็นการเรียนการสอนที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยหลายหลายแห่งในสาขาวิชาที่ใกล้เคียงกัน เช่น การเรียนที่ประเทศไทย 2 ปี แล้วไปเรียนหรือศึกษาต่อที่ประเทศจีน 2 ปี ซึ่งจะได้รับปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยทั้งสองประเทศ ในสังคมมีการพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียน นิสิตนักศึกษา ได้รับปริญญา 2 สาขา มากขึ้น เช่น การเรียนในสาขาทางด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ไปพร้อม ๆ กัน
นอกจากนี้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังได้เยี่ยมชมพุทธศิลปะภายในอุโบสถวัดสุทธิวราราม โดยมี ดร.พนิดา เกษมมงคล ลูกศิษย์สาขาการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหาจุฬา เป็นผู้ประสานงาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ของสถาบันระดับอุดมศึกษาสืบต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Suthito Aphakaro พระสุธีรัตนบัณฑิต,รศ.ดร. ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม
Leave a Reply