“ปลัด มท.”ปลื้มหลัก”บวร” แก้จนได้ยั่งยืน! ยกความสำเร็จ MOU เกื้อหนุนวัดและชุมชนจันทบุรีเป็นตัวอย่าง

ปลัด มท. เผยความสำเร็จในการดำเนินการตาม MOU บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน จังหวัดจันทบุรี ย้ำหลัก “บวร” คือกลไกในการขจัดปัญหาความยากจน และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ชุมชนมีความสุขอย่างยั่งยืน

วันที่ 20 กันยายน 2565 เวลา 16.00 ณ ห้องรับรองปลัดกระทรวงมหาดไทย อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างวัดและชุมชน เพื่อให้เกิดความรักความสามัคคี และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย ผ่านการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีคุณภาพ ภายใต้หลักคุณธรรมและจริยธรรม รวมถึงหลักมนุษยธรรมด้วย โดยมุ่งเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศชาติผ่านเสาหลัก ทั้ง 3 สถาบัน คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ด้วยการนำเอาบทบาทของวัดในฐานะที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่มาเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนภารกิจเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยให้เลือกวัดที่มีศักยภาพในชุมชน พร้อมด้วยส่วนราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหน่วยดำเนินงาน ซึ่งสำหรับการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2565 นั้น ได้ทำการสำรวจคนจนในพื้นที่ที่มีการนำเข้าข้อมูล จปฐ. ในระบบ TPMAP เพื่อกำหนดเป็นกลุ่มเป้าหมายในการแก้จนของแต่ละจังหวัด และให้แต่ละจังหวัดประสานวัดในพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา ค้นหากลุ่มเป้าหมายเดียวกันในการดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนตามมิติด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านรายได้ ด้านความเป็นอยู่ และด้านการเข้าถึงบริการรัฐ โดยกระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชนให้ความสำคัญในการดำเนินงานดังกล่าว ภายใต้หลัก “บวร” (บ้าน วัด ราชการ) “บรม” (บ้าน ราชการ มัสยิด) “ครบ” (โบสถ์คริสต์ ราชการ บ้าน)

ในการนี้ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ผลการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน จังหวัดจันทบุรี มีความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ผ่านหลากหลายกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ (1) โครงการกองบุญพระภิกษุอาพาธจังหวัดจันทบุรี ซึ่งได้ช่วยเหลือพระสงฆ์สามเณรอาพาธ รอบจ่าย 1 มกราคม – 15 กันยายน 2565 รวมจำนวน 2,359,000 บาท แบ่งออกเป็น ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1,050,000 บาท ค่ารักษาในโรงพยาบาล จำนวน 677,000 บาท มรณภาพ จำนวน 460,000 บาท อาพาธติดเตียง จำนวน 132,000 บาท และอุบัติเหตุจำนวน 40,000 บาท (2) กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จังหวัดจันทบุรี ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมดประมาณ 110,000 คน กองทุนรวมกว่า 3.1 พันล้านบาท โดยได้จ่ายปัจจัยช่วยเหลือสมาชิกในปี 2564 จำนวน 100 ล้านบาทเศษ และช่วยเหลือในสถานการณ์โควิด​ ปี 2564 กว่า 30 ล้านบาท ซึ่งมีการขยายเครือข่ายจัดตั้งรวม 217 กลุ่ม ในจังหวัดจันทบุรี และมีแผนช่วยเหลือสมาชิกตลอดทั้งปี ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายที่เข้มแข็งจำนวน 5 จังหวัดในภาคตะวันออกด้วย (3) กองทุนสังฆประชานุเคราะห์ ได้มีการแจกข้าวสาร อาหารแห้งเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยต่างๆ ซึ่งมีผลงานที่โดดเด่น คือ โครงการบ้านพระทำ ซึ่งได้มอบบ้านให้ชาวบ้านแล้ว 20 หลัง ตั้งเป้าหมายไว้ว่า 1 อำเภอ 1 หลัง ต่อ 1 ปี (งบประมาณ 150,000 บาท ต่อหลัง) โดยที่มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด และ อปท. ในพื้นที่ให้การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์สำหรับการก่อสร้าง (4) การดำเนินงานในโซนที่ 1 พื้นที่อำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอมะขาม อำเภอโป่งน้ำร้อน และอำเภอสอยดาว ได้มีการมอบอาหารแก่ผู้ยากไร้ จำนวน 2,115 ราย มอบเครื่องอุปโภค – บริโภคแก่ผู้ป่วยติดเตียง/ผู้สูงอายุ จำนวน 1,159 ราย มอบทุนการศึกษา จำนวน 305 ทุน มอบบ้าน จำนวน 6 หลัง และการบริจาคอื่นๆ จำนวน 2,494 ราย (5) การดำเนินงานโซนที่ 2 พื้นที่อำเภอท่าใหม่ อำเภอแหลมสิงห์ และอำเภอขลุง มีมอบอาหารแก่ผู้ยากไร้ จำนวน 553 ราย มอบเครื่องอุปโภค – บริโภคผู้ป่วยติดเตียง/ผู้สูงอายุ จำนวน 323 ราย มอบทุนการศึกษา จำนวน 151 ทุน มอบบ้าน จำนวน 4 หลังและการบริจาคอื่นๆ จำนวน 19 ราย และ (6) การดำเนินงานในโซนที่ 3 พื้นที่อำเภออำเภอเขาคิชฌกูฏ อำเภอนายายอาม และอำเภอแก่งหางแมว ได้มีการมอบอาหารแก่ผู้ยากไร้ จำนวน 171 ราย มอบเครื่องอุปโภค – บริโภคผู้ป่วยติดเตียง/ผู้สูงอายุ จำนวน 61 รายมอบทุนการศึกษา จำนวน 58 ทุน และบริจาคอื่นๆ จำนวน 31 ราย

จากความสำเร็จในการดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าวของจังหวัดจันทบุรี สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันภายใต้หลัก “บวร” (บ้าน วัด ราชการ) ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายเพื่อบูรณาการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชน นอกจากนี้ยังเป็นการดึงเอาบทบาทของวัดในฐานะเป็นศูนย์กลางแห่งการสาธารณสงเคราะห์ รวมถึงพระซึ่งเป็นที่พึ่งหลักของชุมชน ให้เข้ามาร่วมดำเนินงานกับส่วนราชการ เพื่อช่วยกันขจัดปัญหาความยากจน พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตให้ชุมชนมีความสุขอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม การสร้างความยั่งยืนในพื้นที่จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากว่าคนในพื้นที่ไม่ได้รับการพัฒนา ซึ่งสิ่งสำคัญประการแรกคงหนีไม่พ้นการพัฒนาคนเพื่อให้คนไปพัฒนาพื้นที่ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้สามารถพออยู่ พอกิน พอใช้ โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย และหลักการ กลไก 3 5 7 มาขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ กล่าวคือ 3 หมายถึง 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชุมชน/หมู่บ้าน ระดับจังหวัด และระดับประเทศ 5 หมายถึง 5 กลไก ได้แก่ การประสานงานภาคีเครือข่าย การบูรณาการแผนงานและยุทธศาสตร์ การติดตามหนุนเสริมและประเมินผล การจัดการความรู้ และการสื่อสารสังคม และ 7 หมายถึง 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชนเพื่อช่วยกันพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ สร้างกลไกการรวมกลุ่มเพื่อให้เกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกันในพื้นที่ นอกจากนี้จะต้องยึดหลักเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาด้วย เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของแต่ละพื้นที่ตามความต้องการและภูมิสังคมจากพื้นฐานของแต่ละชุมชน ดังนั้น หลัก “บวร” “บรม” “ครบ” จึงถือเป็นหลักสำคัญ เป็น Key Success ในการขับเคลื่อนภารกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติด้วย จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละจังหวัดยึดเอาความสำเร็จของจังหวัดจันทบุรีเป็นแบบอย่าง เพื่อขยายผลไปสู่การดำเนินงานดำเนินงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืนสืบไป

Leave a Reply