“นิยม” ถาม “อนุชา” ตอบ เรื่อง “นิตยภัต”

วันที่ 6 ม.ค. 66 วานนี้ ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ดร.นิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร เขต 2 พรรคเพื่อไทย ได้กระทู้สดสอบถามในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 กรณีพระธรรมทูตที่ปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศ ไม่ได้รับค่านิตยภัต (เงินเดือนหรือค่าตอบแทน) ตั้งแต่ ตุลาคม ปี 2564 โดยมี นาย อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ชี้แจง ซึ่งรายละเอียดมี ดังนี้

 

ทั้งนี้ดร.นิยม ได้ถามนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับค่านิตยภัตของพระภิกษุสงฆ์ จากกรณี พระธรรมทูตต่างประเทศรุ่นแรก ในสหรัฐอเมริกาได้ร้องเรียนเกี่ยวกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ไม่ได้จ่ายเงินนิตยภัต มานานกว่า 1 ปีแล้ว นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน วันที่ 5 มกราคม 2566 ซึ่งพระธรรมทูตที่ได้รับความเดือดร้อนได้มีการทวงถามไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในเรื่องดังกล่าว แต่ก็ได้รับการบ่ายเบี่ยงจากเจ้าหน้าที่โดยครั้งแรกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้คำตอบว่าเงินนิตยภัตที่เคยได้รับ ได้โอนย้ายให้กับพระรูปอื่นไปแล้ว จึงไม่สามารถจ่ายเงินนิตยภัตให้กับพระที่ร้องเรียนได้เหมือนเดิม ต่อมา เจ้าหน้าที่ได้แจ้งกับพระที่ร้องเรียนอีกครั้งว่า เงินดังกล่าวได้คืนให้กองคลังไปเรียบร้อยแล้ว จึงเกิดความสงสัยว่า เหตุใดจึงคืนเงินไปที่กองคลัง ทั้ง ๆ ที่พระสงฆ์หลายรูป ก็ยังไม่ได้รับเงินนิตยภัตเช่นเดียวกัน

โดยดร.นิยม ได้อภิปรายว่า เงินนิตยภัต คือ เงินค่าภัตตาหารที่พระมหากษัตริย์ถวายแก่พระภิกษุ สามเณร โดยเงิน “นิตยภัต” มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายโบราณเรียกว่า “เบี้ยหวัด” เป็นโบราณราชศรัทธาที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชศรัทธาถวาย ภัตตาหารอัฐบริขารถวายให้พระภิกษุสงฆ์โดยถวายเบี้ยหวัดเป็นรายปี และต่อมาต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จึงปรับจากเบี้ยหวัดรายปี เป็นรายเดือน และในสมัยรัชกาลที่5 ได้เปลี่ยนมาใช้คำว่า “นิตยภัต” จนถึงปัจจุบัน ทรงโปรดให้วางอัตรานิตยภัตตามลำดับชั้นสมณศักดิ และหน้าที่เบิกจ่ายนิตยภัตเป็นของรัฐบาล โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

จุดประสงค์ก็เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติศาสนกิจ ด้านการบริหาร การปกครอง การศาสนศึกษา การเผยแผ่พระพุทธศาสนา และด้านสาธารณูปการ ต่อมาพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์มีมากขึ้นและอยู่ตามหัวเมืองต่างๆซึ่งมีความไม่สะดวกแก่การจัดอาหารถวาย แม้จะเปลี่ยนเป็นเงินแล้ว ก็ยังคงเรียกว่า”นิตยภัต” เหมือนเดิม ดังนั้น นิตยภัต ถือว่าเป็นเครื่องสักการะที่พระเจ้าแผ่นดินถวายแก่พระสงฆ์ผู้ทำคุณประโยชน์แก่พระศาสนาและบ้านเมือง โดยในปัจจุบันเงินนิตยภัต หรือที่ชาวบ้านมักเรียกว่า เงินเดือนพระ จึงเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินที่สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลเป็นประจำทุกปี เพื่อเบิกจ่ายถวายอุปถัมภ์แก่พระภิกษุผู้ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระสังฆาธิการ เลขานุการ พระ ป.ธ.9 ประโยค พระภิกษุผู้ปฏิบัติหน้าที่ พิเศษตามพระบรมราชโองการในรัชกาลก่อน รวมทั้งบรรพชิตจีนนิกายและอนัมนิกาย

และดร.นิยม ยังได้ทวงถามอีกว่า อัตรานิตยภัตที่ถวายให้พระภิกษุสงฆ์นี้เป็นอัตราที่ใช้มาเป็นเวลากว่า 11 ปีมาแล้ว ไม่ได้มีการปรับปรุงอัตรานิตยภัตให้ เหมาะสมกับยุคสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยอัตรานิตยภัตที่ใช้อยู่ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงและประกาศล่าสุดจากคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2554 เพื่อถวายให้แก่พระที่มีสมณศักดิ์ ทั้งหมด 76 สมณศักดิ์ ตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า จะได้รับเงินนิตยภัตที่ประมาณ 37,700 บาท ไล่เรียงลงไปตามความเหมาะสมจนถึงเลขานุการเจ้าคณะตำบล ซึ่งถ้าเริ่มต้นตำแหน่งเลขานุการเจ้าคณะอำเภอจะประมาณ 2,200 บาท พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ 1,800 บาท พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ 1,800 บาท เลขานุการรองเจ้าคณะอำเภอ 1,800 บาท พระอธิการ 1,800 บาท และเลขานุการเจ้าคณะตำบลหรือเจ้าอาวาสวัด จะประมาณ 1,200 บาท เพื่อแก้ไขปัญหาเงินนิตยภัตของพระสงฆ์ รัฐบาลในฐานะที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นส่วนราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี จะมีมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างไร

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ได้มาชี้แจ้งต่อในที่ประชุมรัฐสภาว่า เงินนิตยภัต ที่รัฐบาลได้จัดสรรเงินงบประมาณประจำปีให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จ่ายเงินอุดหนุนอุปถัมภ์นิตยภัตพระสังฆาธิการ พระสมณศักดิ์ พระเปรียญธรรม 9 ประโยค มีอยู่ในบัญชีทั้งหมด 48,439 รูป เป็นเงินงบประมาณประจำปีทั้งสิ้น 1,318,729,200 บาท ( หนึ่งพันสามร้อยสิบแปดล้านเจ็ดแสนสองหมื่นเก้าพันสองร้อยบาท) แต่ได้มีพระภิกษุที่มีอยู่ในบัญชีรายชื่อได้ด้รับการจัดสรรเงิน นิตยภัต แล้ว 44,466 รูป เป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 1,235,163,600 บาท ( หนึ่งพันสองร้อยสามสิบห้าล้านหนึ่งแสนหกหมื่นสามพันหกร้อยบาท ) และยังมีพระภิกษุที่มีบัญชีรายชื่อรอการจัดสรรเงินค่านิตยภัต อีก 3,973 รูป เนื่องจากเงินงบประมาณที่ได้การจัดมาไม่เพียงพอในการจ่าย และยังมีพระที่ไม่มีการแจ้งชื่อมาเพื่อรับเงินนิตยภัต เมื่อไม่มีรายชื่อทางสำนักงบประมาณก็ตัดงบไป

เนื่องจากการจ่ายเงินอุดหนุนอุปถัมภ์นิตยภัตมีหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานโดยยึดระเบียบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติว่าด้วยการเบิกจ่ายนิตยภัตพระภิกษุที่มีรายชื่อในบัญชีรับเงินอุปถัมภ์นิตยภัตฯ โดยพระภิกษุต้องส่งแบบขอรับเงินนิตยภัตฯ ภายในวันที่ 31 สิงหาคม ของทุกปี เพื่อยืนยันสิทธิ์และสถานะที่ถูกต้องหากไม่ส่งภายในกำหนดถือว่าไม่ประสงค์จะรับเงินนิตยภัต ซึ่งมีพระภิกษุจำนวนหนึ่งที่ไม่แจ้งรายชื่อเพื่อขอรับสิทธ์ ทางสำนักงบฯก็ถือว่าท่านสละสิทธิ์ ในกรณีของพระธรรมทูตต่างประเทศพระครูสุตญาณวิเทศ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และ พ.ศ. 2565 ไม่พบเอกสารการยื่นแบบยืนยันสิทธิ์เพื่อขอรับเงินนิตยภัตเพราะท่านไม่ได้แจ้ง สำหรับเงินที่พระภิกษุไม่ขอรับเงินนิตยภัตหรือสละสิทธิ์ หรือไม่แจ้งรายชื่อตามเวลาที่กำหนด

“จึงได้นำเงินดังกล่าวนี้ ไปจัดสรรให้พระภิกษุที่มีบัญชีรายชื่อรอการจัดสรรเงินค่านิตยภัต 3,973 รูป และในเรื่องการจัดสรรงบประมาณในปีนี้ มีพระภิกษุสงฆ์ ถึง 5,000 รูปเพราะมีวัดที่ตั้งขึ้นใหม่อีกกว่า 500 วัด ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องจ่ายอีก 500 แห่งโดยที่ไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ และมีพระภิกษุที่ได้เลื่อนสมณศักดิ์เพิ่มขึ้นต่อปีอีกกว่า 1,000 รูป มีพระที่สอบพระเปรียญธรรม 9 ประโยค อีก 60 กว่ารูป โดยที่ไม่ได้เตรียมงบประมาณไว้ และสำหรับนโยบายที่จะปรับอัตราเงินนิตยภัต เพื่อให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพ ที่มีการปรับตัวขึ้นตามยุคปัจจุบันนั้นเรื่องนี้ก็มีการพูดคุยปรึกษาและเพื่อพิจารณากันอยู่” นายอนุชากล่าว

Leave a Reply