เยี่ยมชมแปลง “โคก หนอง นา” อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ชู “ศาสตร์ของพระราชา”  

“ยุทธศาสตร์ชาติ 20”  เริ่มนับตั้งแต่ พ.ศ. 2561-2580 ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว โดยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”  ซึ่งแนวทางยุทธศาสตร์นี้ทุกรัฐบาลจำเป็นต้องขับเคลื่อนเพื่อให้ประเทศไปสู่เป้าหมายตามที่กำหนดไว้

“กระทรวงมหาดไทย” เป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาลและเป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคงปลอดภัย เกิดความสงบสุขในสังคมอย่างยั่งยืน

อำเภอ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เป็นนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงมหาดไทยโดยระยะแรกตั้งเป้าหมายคัดสรรอำเภอนำร่องจำนวน 10 อำเภอทั่วประเทศเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับอำเภอต่าง ๆ อีก 878 อำเภอในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชนโดยมี“นายอำเภอ”เป็นหัวหน้าทีมในการขับเคลื่อนภารกิจเปรียบเสมือน “นายกรัฐมนตรี” ในพื้นที่ โดยการบูรณาการสร้างเครือข่ายกับทุกภาคส่วนอย่างน้อย 7 เครือข่าย  อันได้แก่ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาคผู้นำวิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชนภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน ให้เกิดการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทุกมิติในอำเภอและชุมชน ที่ส่งผลนำไปสู่ความรู้รักสามัคคี การเป็นอันหนึ่งอันเดียว รู้จักการเสียสละ มีจิตอาสา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อันเป็น “รากเหง้า” วัฒนธรรมเดิมของบรรพบุรุษไทย ซึ่งสอดคล้องกับ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ราชกาลที่ 9 และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ  20 ปี ด้วยที่มีเป้าหมายสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

อำเภอ “โนนสะอาด” จังหวัดอุดรธานี แบ่งการปกครองออกเป็น 6 ตำบล 66 หมู่บ้าน เป็นอำเภอหนึ่งที่ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงมหาดไทยให้เป็น “อำเภอนำร่อง” ให้เป็นอำเภอแบบอย่างในการขับเคลื่อนการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับประชาชน มี 10,057 ครัวเรือน จำนวนประชากร 32,333 คน เพศชาย 15,667 คน เพศหญิง 16,666 คน  ประชาชนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ ทำนา ปลูกอ้อย และมันสำปะหลัง รวมทั้งการรับจ้างทั่วไป

สำหรับอำเภอโนนสะอาดชูกิจกรรมเพื่อเป็นอำเภอนำร่องเรื่อง“การส่งเสริมอาชีพเพื่อคุณภาพชีวิตคนโนนสะอาด ตามศาสตร์ของพระราชา สู่ความยั่งยืน”

“ทีมข่าวพิเศษ” ติดต่อนายอำเภอโนนสะอาด “ชวิศ ป้องขันธ์”  เพื่อขอสัมภาษณ์ แต่เนื่องด้วยท่านติดภารกิจ จึงขอติดต่อไปยัง  “สุรศักดิ์ อักษรกุล”  รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีความคุ้นเคยกับทีมงานเป็นอย่างดีตั้งแต่อยู่ “กรมการพัฒนาชุมชน” เพื่อแจ้งท่านว่าจะขอไปดูแปลง “โคก หนอง นา” ภายใต้การสนับสนุนของกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งท่านรับอาสาขอเป็น “ไกด์กิตติมศักดิ์” ลงพื้นที่เพื่อไปสร้างขวัญและให้กำลังใจกับประชาชนในพื้นที่ด้วย

เมื่อถึงกำหนดวัน “ทีมงาน” เดินทางออกจากกรุงเทพมหานครและ “นัดพบ” กับรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีพร้อมคณะ เพื่อพาไปดูแปลง “โคก หนอง นา”  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนของ “กรมการพัฒนาชุมชน” ซึ่งความจริงแล้วทุกจังหวัดทุกอำเภอเวลาทีมงานลงพื้นที่ “หน่วยงาน” ที่พาลงพื้นที่พบประชาชนเกือบทุกที่เป็นคนของกรมการพัฒนาชุมชนทั้งนั้นในฐานะเป็นข้าราชการ “ฝ่ายบุ๋น” ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี

จากข้อมูลของ “สุรศักดิ์ อักษรกุล”  รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี บอกว่า  จังหวัดอุดรเป็นจังหวัดใหญ่มีการปกครองแบ่งออกเป็น 20 อำเภอ 155 ตำบล และ 1,862 หมู่บ้าน ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตร ปัจจุบันทางกรมการพัฒนาชุมชนได้สนับสนุนงบประมาณให้ประชาชนทำแปลงโคก หนอง นา ทั้งงบปกติและงบเงินกู้ ทั้งหมด 372 แปลง ซึ่งตรงนี้มีประโยชน์ต่อประชาชนมาก ในขณะเดียวกันเท่าที่ทราบจากพัฒนาการจังหวัดมีประชาชนขอเข้าร่วมมาต่อเนื่อง เพราะเห็นว่าโครงการเหล่านี้เป็นที่พึ่งให้พวกเขาได้อย่างจริงจัง บางรายไม่เฉพาะแค่ปลูกผักเพื่อกิน เพื่อขายอย่างเดียว ต่อยอดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้วย..”

จากที่ว่าการ “อำเภอโนนสะอาด” ระยะทางกว่าจะถึงแปลงของ  “สมาน กองสมบัติ”  ที่เป็นแปลงแบบอย่างของอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” และเป็น “ศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง” ของ กรมการพัฒนาชุมชน การเดินทางใช้เวลาประมาณ 30 ชั่วโมง ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ผ่านไร่อ้อยที่บางแปลงกำลังเก็บตัด ในขณะที่ไร่มันสำปะหลัง ซึ่งปีนี้ราคาค่อนข้างดี ส่วนใหญ่ มีการถอนมันไปขายแล้ว เริ่มเตรียมพื้นที่ปลูกใหม่  ผ่านชุมชนหมู่บ้าน สังเกตบ้านเรือนของประชาชน “อำเภอโนนสะอาด” ไม่น่าจะอยู่ในข่าย “ความยากจน” เพราะมีแต่บ้านทรงใหม่ ๆ และเรือนใหญ่ ๆ หลายหลัง   ซึ่งตรงกับจากการที่  “ทีมงานพิเศษ” คุยกับผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้านและประชาชนทั่วไปว่า “ประเทศไทยยุคนี้เปลี่ยนไปมาก หากขยันทำมาหากิน ไม่ติดเหล้า ติดยาเสพติด ปัจจุบันรัฐอำนวยความสะดวกให้เต็มที่ ทั้งเรื่องแหล่งทำมาหากิน การส่งเสริมอาชีพ รวมทั้งเงินทุน ไม่มีทางยากจน แต่ต้องขยัน อย่าใช้เงินเกินตัว ดำรงชีพอยู่ด้วยหลักความพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีกิน มีใช้ แน่นอน..”  ที่บอกว่ายากจน เพราะไม่ใช้ชีวิตแบบนี้

สมาน กองสมบัติ ต.หนองกุงศรี อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี เจ้าแปลงโคก หนอง นา ขนาด  5 ไร่  ที่ดินตั้งอยู่พื้นที่ของ ส.ป.ก. เป็นแปลงโคก หนอง นา ที่สมบูรณ์ที่สุดอีกแปลงหนึ่งเท่าที่เคยเห็นมาเนื่องจากมีพืชผักผลไม้แบบผสมผสานทั้งพริก ข่า กล้วย ฝรั่ง และพืชสมุนไพร มีการเลี้ยงปลา กบ สร้างรายได้ของครอบครัวได้เป็นอย่างงามขั้นต่ำวันละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท ถึง 3,000 บาท

“ลุงสมาน” พาคณะเราเดินสำรวจแปลงโคก หนอง นา  พื้นที่ดินทั้งหมด 27 ไร่ 3 งาน เป็นที่ดิน ส.ป.ก. แบ่งเป็นพื้นที่ทำเกษตรจำนวน 6 ไร่ ซึ่งวันที่เราเดินทางไปถึงฝนตกพอดี แต่ทุกคนก็ยินดีที่จะเดินชมเนื่องจากบรรยากาศร่มรื่นและลมโชยมาเย็นสบาย ภายในสวนจัดเป็นระเบียบ มีถังขยะฝังดินลดโลกร้อนกระจายอยู่ทั่ว  “ลุงสมาน” เล่าว่า ความจริงสนใจเศรษฐกิจพอเพียงมานานแล้วลูกชายปลูกไม้เศรษฐกิจทั้งยางนา ตะเคียร ประดู่ ไม้แดง  ตอนนั้นยังไม่มีบ่อ เพราะทางครอบครัวไม่มีงบประมาณในการขุด ตอนหลังทางอำเภอเขาประกาศรับสมัครเกษตรกรที่สนใจอยากจะทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ขอให้ไปสมัครที่อำเภอ

ครั้งแรกให้แม่บ้านไปสมัคร แต่ไม่ได้ ตอนหลังมีบางแปลงคุณสมบัติไม่ครบ ทางอำเภอเขาจึงให้เราทำ

“หลังจากเข้าร่วมโครงการทางอำเภอเขาก็มาขุดสระให้ หลังมีสระมีบ่อ ลงมือทำทันที ทุกวันนี้ผมจะมานอนที่นี้ ตื่นมาก็ทำเลย ตอนอำเภอท่านมีโครงการนำร่อง ท่านนายอำเภอเดินทางมาบ่อย  ซึ่งท่านเป็นคนขยันลงพื้นที่มาก ท่านก็ชมนะ ว่าเราทำได้อย่างไร คือ ผมทำพื้นที่ทุกอย่างให้เกิดประโยชน์หมด แบบผสมผสาน ปลูกเต็มพื้นที่ ปลอดสารพิษ มีตลาดทั้งพ่อค้าคนกลาง และตลาดนัดทั่วไป ขายดีมาก วันละไม่ต่ำกว่า 50 -60 กก.จนเราต้องห้ามแม่ค้าคนกลางหรือคนมารับซื้อว่า อย่ามาเลย ตอนนี้พริก 80 บาท บางชนิด 50 -60 บาท  วันหนึ่งหากเฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 3 พันบาท เพราะเราทำไว้ 6 ไร่เต็มหมด ในบ่อประมง ท่านก็มาช่วยสอน เอาปลามาให้ ทำแบบนี้ภูมิใจมาก เดิมผมอยู่แต่ในบ้าน ใจมันอยากทำ อบต.เขาให้ไปดูงานเราก็ไป ไปดูงานไปดูสิ่งดี ๆ แล้วมาปรับปรุงสิ่งที่ตนเอง ทุกวันนี้ลูกชายจากที่ไม่ชอบ ก็ได้เขานี้แหละเป็นกำลังสำคัญ ผมว่าภาครัฐส่งเสริมแบบนี้มาถูกทางแล้ว..”

“โคก หนอง นา” อย่างที่ “นักปราชญ์ชุมชน” ชาวอีสานคนหนึ่งเคยบอกแล้วว่า มันไม่ใช่แค่ปลูกผัก มีกินมีใช้อย่างเดียวแต่โคก หนอง นา ของกระทรวงมหาดไทย คือ การฟื้นฟูและปลูกจิตสำนึกให้คนไทย สังคมไทย ให้คนไทยหวนกลับไปสู่รากเหง้าของตนเองของบรรพบุรุษที่ครอบครัวก็อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข  พร้อมหน้าพร้อมตา ชุมชนมีการเอื้อเฟื้อเผือแผ่ มีจิตอาสา รู้จักแบ่งปัน ซึ่งมันคือวัฒนธรรมดั่งเดิมของประเทศไทย การดำเนินโครงการโคก หนอง นา มันตอบโจทย์ตรงนี้ แม้กระทั้ง “การเอามื้อสามัคคี” หรือ “การลงแขก” ตามภาษาภาคกลาง มันก็คือ การแสดงน้ำใจ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อันนำมาสู่ความรู้รักสามัคคีในชุมชนนั่นเอง

ต่อจากนั้นคณะเดินทางไปอีกตำบลหนึ่งซึ่ง “เจ้าหน้าที่พช.” บอกว่าห่างจากแปลงของ “ลุงสมาน” ประมาณ 40 กม.ใช้เวลาเดินทางประมาณ 50 นาที ซึ่งหากฝนตกอยู่แบบนี้ถนนลื่นอาจใช้เวลามากกว่านี้

“แสวง คำม่วง” พร้อมภรรยา ณ บ้านหน่องไผ่ล้อม ต.ทมนางาม อ.โนนสะอาด จ.อุดร รอรับคณะของเราอยู่แล้ว แต่เมื่อไปถึงโชคร้ายฝนตกหนัก เดินดูแปลงโคก หนอง นา ได้สักพักจำเป็นต้องหลบฝนเข้ามาพักที่บ้าน ซึ่งจากการพูดคุยกับแสวงและภรรยา เล่าให้เราฟังว่า

“เดิมตนทำงานอยู่บริษัทน้ำอัดลมแห่งหนึ่งในจังหวัดชัยภูมิ เมื่อ 3 ปีที่แล้วลาออกมาทำแปลงผักแบบผสมผสาน ตอนนั้นยังไม่มีบ่อน้ำ หลังมีโครงการโคก หนอง นา ผู้ใหญ่บ้านท่านมาชวน ก็ไปสมัครลงโครงการเอาไว้ขนาด 3 ไร่ ตอนหลังกรมการพัฒนาชุมชนมีการขุดบ่อ จึงเลี้ยงปลา ปลูกกล้วย ปลูกผัก ถั่วลิสง ในพื้นที่ เนื่องจากตรงนี้อยากทำเป็นศูนย์เรียนรู้ด้วย แต่ตอนนี้เพิ่งทำได้ยังไม่ถึงปี จึงต้องค่อย ๆ ปรับ ค่อย ๆ ทำ  นอกจากทำศูนย์เรียนรู้แล้ว อนาคตอยากปลูกพวกพืชเศรษฐกิจนอกพื้นที่ เช่น เงาะ ทุเรียน  ยามว่างก็ผลิตไม้กวาดขาย อยู่ได้ ไม่ลำบาก เพราะลูกโตหมดแล้ว อีกอย่างตนเองก็ไม่มีหนี้สินอะไร กลับมาอยู่กับครอบครัว ช่วยกันทำแบบนี้มีความสุขมากกว่าจากบ้านไกลเมืองเกิด ตอนนี้ยังไม่ต้องการความช่วยเหลืออะไรจากภาครัฐ เพราะเพิ่งเริ่ม..”

หลังจากพูดคุยกับ “แสวง คำม่วง” ที่ภรรยาและผู้ใหญ่บ้านการันตีว่าเป็นคนขยันทำมาหากินมาก “เจ้าหน้าที่ พช.” แจ้งว่าจะเดินทางไปรับประทานอาหารกลางวันกันที่แปลงโคก หนอง นา อีกแปลงหนึ่ง ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 นาทีก็ถึง

“พิทักษ์ พลมณี” หมู่บ้านทมป่าข่า ต.ทมนางาม อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี รอต้อนรับคณะของเราพร้อมเชิญให้รับประทานอาหารพื้นบ้าน ซึ่งเมนูดูแล้วหลากหลายชาวบ้านยกกันทำแล้วนำมาเสิร์ฟร้อน ๆ  ด้วยบารมีของ “รองผู้ว่าจังหวัดอุดรธานี” ทำให้ทีมงานได้รับประทานอาหารรสเลิศพื้นบ้านด้วย

“พิทักษ์ พลมณี”  บอกกับทีมงานว่า ตนเองมีอาชีพเป็นภารโรงในโรงเรียนในหมู่บ้าน เดิมทำอ้อย ทำมันสำปะหลัง  พออายุมากขึ้น ลูกก็เรียนจบหมดแล้ว ไม่มีอะไรที่จะต้องเดินหน้าต่อ จึงหาความสุขให้ตัวเอง  จึงสมัครขอทำ โคก หนอง นา ขนาด 1 ไร่ กับกรมการพัฒนาชุมชน  ตรงนี้ทำได้ประมาณ 1 ปี  ด้วยการทำโคก หนอง นา  ได้กินอาหารปลอดสารพิษ มีเพื่อน มีเครือข่าย  ความจริงเรื่องพวกนี้ทำมานานแล้ว

“ แปลงนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 26 ไร่ ผมทำเรื่อย ๆ โดยเฉพาะปลูกไม้เศรษฐกิจทำมาก่อน ตรงคันนา จะปลูกไว้ บ้านไม้ที่เห็นก็นำไม้มาจากที่ปลูกไว้นันแหละมาเลื่อยสร้างบ้าน ปลูกแบบคันนาทองคำ หลังจากอบรมกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้วก็มาทำเป็นศูนย์เรียนรู้ ตอนนี้ก็มีนักเรียนจากโรงเรียนที่ตนเองเป็นภารโรงอยู่มาเรียนรู้ตรงนี้บ้าง คือ ทุกวันนี้อยากเห็นคนอายุน้อย ๆ ทำแบบนี้ เพราะอย่างต้นไม้ที่ปลูกเอาไว้ หากอายุน้อง ๆ ปลูกจะทันเห็น สำหรับเราหากปลูกตอนอายุมาก ไม่รู้ว่าทันเห็นตอนที่มันเจริญเติบโตเต็มที่หรือเปล่า  แปลงนี้จึงอยากให้เป็นแบบอย่างให้น้อง ๆ หนู ๆ มาดู มาเรียนรู้วิธีทำ  แถวนี้คนสนใจทำโคก หนอง นา เยอะอยู่  สำหรับคนอยากทำแปลงโคก หนอง  นา  อันดับแรก ต้องทำแต่อายุน้อย ๆ สำหรับพ่อแม่ต้องให้กำลังใจลูก ๆ ให้เริ่มต้นแบบนี้ โดยภาครัฐต้องเป็นครู เป็นพี่เลี้ยง มาช่วยเสริมเติมแต่ง ยิ่งตอนนี้สบายเพราะการทำโคก หนอง นา เรามีเครือข่าย นายอำเภอ พัฒนาการอำเภอมาเยี่ยมชมบ่อย มาให้กำลังใจ ซึ่งการทำแบบเศรษฐกิจพอเพียงแบบนี้มันสร้างความมั่นคงทางอาหาร ชาวบ้านที่ทำได้กินอาหารปลอดสารพิษ อยากเห็นรัฐบาลหรือกระทรวงสนับสนุนเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเองแบบนี้มาก ๆ เพราะมันมีประโยชน์ต่อชาวบ้านและสุขภาพจริง ๆ..” 

 “ระบบเศรษฐกิจพอเพียง” คือ ระบบที่สร้างความเข้มแข็งจากภายใน สร้างความมั่นคงด้วยปัจจัย 4 สิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ ตั้งอยู่บนฐานขั้นพื้นฐานตามหลักทฤษฎีบันได 9 ขั้น ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์รัชกาลที่ 9 คือ พอกิน พออยู่ พอกิน พอร่มเย็น ที่เหลื้อเอื้อเฟื้อเผือแผ่ทำบุญทำงาน ตรงข้ามกับ “ระบบทุนนิยม” ที่สอนให้มนุษย์มุ่งแข่งขัน เอาเปรียบทุกรูปแบบเพื่อให้ได้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดมาเป็นของตนเอง ซึ่งภาษาพระมองว่า “แนวทางเป็นหนทางแห่งความทุกข์”  เพราะมุ่งสอนให้มนุษย์โลภ อยากมี อยากได้ ตรงข้ามกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง ที่สอนให้มนุษย์รู้จักพอ รู้จักแบ่งปัน  ที่พระมองว่าเป็น “แนวทางแห่งความดับแห่งทุกข์” ปัจจุบันโลกที่เจริญทางวัตถุแล้วหลายประเทศเริ่มหันมาสนใจหลักเศรษฐกิจพอเพียงกันมากขึ้น เริ่มสอนให้มนุษย์รู้จักรักสิ่งแวดล้อม รักเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง รู้จักกันแบ่งปัน ประเทศไทยเราโชคดีที่เรามีสถาบันพระมหากษัตริย์หมั่นเอาใจดูแลประชาชนให้อยู่ดีกินดี และรัฐบาลก็มุ่งมั่นนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยผ่านการปฎิบัติการของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งปัจจุบันมี “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นแม่ทัพใหญ่ในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”  ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ..

Leave a Reply