เรื่องเล่า : คนพุทธ-มุสลิม “สามจังหวัดชายแดนใต้”

“ผู้เขียน” เดินทางมา 3 จังหวัดชายแดนใต้เพื่อมาติดตามหาข้อมูลพูดคุยกับนายอำเภอ เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา รวมทั้งประชาชนทั้งชาวไทยมุสลิมและพุทธ ตามโครงการอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ของกระทรวงมหาดไทย ภายใต้การนำของ คุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ตอนนี้ผ่านการคัดเลือกแล้วมี 10 อำเภอทั่วประเทศ และใน 10 อำเภอนี้ ในพื้นที่ชายจังหวัดชายแดนใต้มีอำเภอนำร่องด้วย คือ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา และอีกอำเภอนำร่องคือ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา

“อำเภอเทพา” เป็นอำเภอนำร่องระดับยอดเยี่ยม  “ผู้เขียน” ได้ลงพื้นที่ไปดูวิถีชีวิตชาวบ้านในพื้นที่ ๆ “ปลัดอำเภอฝ่ายมั่นคง” บอกว่าเป็นพื้นที่ “สีแดงเข้ม” ได้พูดคุยกับชาวบ้าน ปราชญ์ชุมชน แกนนำหมู่บ้าน รวมทั้งผู้อำนวยการโรงเรียน ทำให้รู้ว่าพื้นที่ตรงนี้แม้จะ “สีแดงเข้ม” แต่วิถีชีวิตชาวไทยพุทธและมุสลิม “อยู่ร่วมกัน” อย่างสันติ โดยมี “กิจกรรม” เป็นตัวเชื่อม ทำให้นึกถืงหลักธรรม “อปริหานิยธรรม 7” หลักการปกครอง ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่เจ้าวัชชีทั้งหลายเพื่อให้เกิดความรู้รักสามัคคี ซึ่งแม้แต่รัฐคู่อริก็มองว่าหากเจ้าวัชชีทั้งหลายใช้หลักธรรม “อปริหานิยธรรม 7 ประการ” นี้ปกครองแคว้นอยู่ยากที่จะตีแตก มีอย่างเดียวที่จะตีแตกทำลายแคว้นวัชชีได้ คือ ต้องหาคนยุแหย่ให้แตกความสามัคคี กัน

สามจังหวัดชายแดนใต้ก็เช่นเดียวกัน..เวลาเราลงพื้นที่จริงไปดูของจริงแบบนี้ มันคนละเรื่องกับภาพ “จินตนาการ” ของคนไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะของคนกรุงเทพมหานคร ที่แม้จะมีการศึกษาดี มีฐานะดี แต่ส่วนใหญ่ “ขี้กลัว” และขี้ระแวง “จินตนาการเก่ง”

“ผู้เขียน” เดินทางมาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งนี้มิใช่ครั้งแรกเดินทางลงพื้นที่แบบนี้มาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง ตั้งแต่ยุค “ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน” เป็นประธานคณะกรรมการอิสระเพื่ออำนวยความยุติธรรมและเสริมสร้างสิทธิเสรีภาพในจังหวัดชายแดนใต้ และล่าสุดเมื่อปีที่แล้วก็ลงพื้นที่ไปดูแปลงโคก หนอง นา ในอำเภอยะหา จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่ “สีแดงเข้ม” เฉกเช่นเดียวกัน

ทุกที่ ๆ ไปสัมผัสทุกที่ ๆ ที่ลงไปพูดคุยกับชาวบ้านทั้งคนมุสลิมและคนพุทธ ในระดับชุมชนและหมู่บ้าน จะถามตรง ๆ หรือ แอบถามอะไรก็ตาม ทุกคนพูดตรงกันว่า พี่น้องพุทธและมุสลิม “พวกเรารักกันดี”  หมายความว่ามันต้องมีอะไร “แปลก” จากที่ชาวคิดและทำ จึงทำให้ปัญหาภาคใต้ “ผิดปกติ” มีเหตุรุนแรงอยู่ร่ำไป

เวลาไปชุมชนคนมุสลิมหรือไปชุมชนคนพุทธ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้พวกเขามีความรักและความสามัคคีส่วนใหญ่ “ผ่านกิจกรรม” และ “การพูดคุย” และ “การแบ่งปัน” การเปิดพื้นที่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน

อย่างเช่น “ไพซอน หนิเร่” ผอ.โรงเรียนกระอาน ต.ท่าม่วง อ.เทพา จ.สงขลา  บอกว่า การทำกิจกรรมและการพุดคุยถือว่าเป็นหัวใจของชุมชนโดยเฉพาะแปลงโคก หนอง นา แปลงนี้ มันคือ วิถีชีวิตหล่อหลอมความเป็นไทยพุทธและมุสลิมทำกิจกรรมร่วมกัน มาจิบน้ำชา กินกาแฟด้วยกัน มีปัญหาอะไรมาพูดคุยกันตรงนี้ ปัญหามันก็จะคลี่คลาย ไม่ตกเป็นเหยือของขบวนการใด ๆ  หรือ แม้กระทั้ง

“สันติ ล่ากูด” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ต.ท่าม่วง อ.เทพา จ.สงขลา ก็เล่าว่า เรื่องกิจกรรมเป็นเรื่องสำคัญ ชุมชนหมู่บ้านที่นี้แม้จะเป็นชุมชนมุสลิมประมาณ 95 % ชาวพุทธ 5 % แต่เราให้เกียรติซึ่งกันและกันเหมือนกับปู่ย่าตายายเราเคยทำ อย่างเช่นตนเองในฐานะผู้ใหญ่จะนิมนต์พระภิกษุมาร่วมให้ศีลให้พร ประกอบศาสนกิจให้กับลูกบ้านที่เป็นชาวพุทธเดือนละ 1 ครั้งในศาลาประชาคมหมู่บ้าน เวลาชาวพุทธมีงาน จะมีแม่ครัวคนมุสลิมไปช่วย หรือ งานมุสลิมก็มีคนพุทธมาร่วมด้วยช่วยกัน อย่างงาน “อาซูรอ” ก็จะเชิญคนพุทธมาร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน ทุกอย่างมันต้องพูดคุยและผ่านกิจกรรม ความรู้รักสามัคคีมันจึงเกิดขึ้น

“ผู้เขียน” เดินทางไปพูดคุยกับชุมชนไทยพุทธล้วนอย่างน้อยอีก 2 ตำบล ทุกคนเปิดอกพูดคุยด้วยใจจริงว่า “ผู้ก่อเหตุ” เวลาจะทำใครมีเป้าหมาย ภาพออกไปข้างนอกพื้นที่ในอำเภอเทพาหรือชายแดนใต้อาจจะ “รุนแรง” แต่ความจริงแล้ว สถานการณ์ไม่ได้น่ากลัวดังที่ปรากฏออกไปสู่สังคมกว้างขนาดนั้น ไทยพุทธ ไทยมุสลิม ที่นี้หลายครัวเรือนก็เป็นญาติกัน เดียวดองกัน ไปมาหาสู่กัน ทำกิจกรรมร่วมกันได้ไม่มีปัญหาอะไร

ที่จังหวัดยะลา เจอพระคุณเจ้า 2 รูป ที่มาอบรม “ปรับทัศนคติ”  ณ ศูนย์อบรมของกรมการพัฒนาชุมชน จังหวัดยะลา พระคุณเจ้าชื่นชมกิจกรรมที่กระทรวงมหาดไทยจัดขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะมองว่าทำให้ “พระสงฆ์” มีที่ยืนในสังคมที่ท่านเรียกว่า “สังคมพหุวัฒนธรรม”  พร้อมกับบอกว่า การอบรมแบบนี้นอกจากได้ความรู้ในการทำงานแล้ว ยังทำให้มีเพื่อนเป็นโต๊ะอิหม่ามบ้าง คนมุสลิมบ้าง นายอำเภอบ้าง รู้จักชาวพุทธในพื้นบ้าง ทำให้มีเครือข่าย  กระทรวงมหาดไทยทำแบบนี้ สอดคล้องกับ พระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ว่า “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” มีความหมายยิ่งขึ้น

อำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ถือว่าเป็นผลงาน “ชิ้นโบว์แดง” ของกระทรวงมหาดไทยที่ดึงการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนเข้ามาพัฒนาชุมชนหมู่บ้านผ่านกิจกรรมต่าง ๆ  ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เท่าที่คุยกับนายอำเภอในเขตพื้นที่ “สีแดงเข้ม” ทั้งในจังหวัดสงขลาและยะลา ทุกคนพูดตรงกันว่า “ภาวะผู้นำ” และ ความ “จริงใจ” ของนายอำเภอ ถือว่าเป็น “หัวใจสำคัญ”  และนายอำเภอยุคใหม่ต้องเข้าไปนั่งอยู่ใน “หัวใจ” ชาวบ้านให้ได้ อย่านั่งทำงานอยู่แต่ในห้องที่ว่าการอำเภออย่างเดียว ต้องหมั่นขยันลงพื้นที่สร้างความคุ้นเคยกับชาวบ้าน ทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้าน ไปนั่งคุย กินชากาแฟ ใช้ชีวิตติดดินแล้ว แล้วความไว้วางใจ ความเป็นกัลยาณมิตร ความรู้รักสามัคคี สันติสุขในชุมชนหมู่บ้าน  ก็จะเกิดขึ้นมาเอง!!

Leave a Reply