ปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนา “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ”

วันที่ 2 เมษายน 2566  เมื่อเร็ว ๆ นี้  ที่ห้องประชุมอาคารหอสมุด อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม พระเทพเวที เจ้าคณะภาค 6 รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต และประธานคณะทำงานโครงการฯ เป็นประธานการประชุมเวทีรับฟังความคิดเห็นกับกลุ่มเจ้าคณะผู้ปกครองหรือผู้แทน ผู้แทนคณะกรรมการปฏิรูปกิจกรรมพระพุทธศาสนา และผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่ายระดับนโยบาย โดยมีผู้แทนเจ้าคณะภาค 18 ภาค และผู้แทนคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะทำงานโครงการฯ เข้าร่วมเวทีโดยพร้อมเพรียงกัน

พระเทพเวที กล่าวว่า ตามที่ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ได้มีคำสั่งที่ 1/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานวิชาการธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560  โดยมีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และองค์กรองค์กรความร่วมมือ จัดทำโครงการทบทวนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560  สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และกำหนดจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประจำภาคมาแล้ว 4 ครั้ง และวันนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นในกลุ่มเจ้าคณะผู้ปกครองหรือผู้แทน ผู้แทนคณะกรรมการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา และผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่ายระดับนโยบาย โดยสาระสำคัญของธรรมนูญฯ ฉบับปรับปรุงยังคงให้ความสำคัญใน 3 เป้าหมาย คือ

(1) พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักธรรมวินัย  (2) ชุมชนและสังคมกับการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย (3) บทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคมรวมถึงกลไกการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติสู่การปฏิบัติ การดำเนินการจัดทำและขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติมีความก้าวหน้าและประโยชน์ต่อคณะสงฆ์หลายเรื่อง เช่น สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พระคิลานุปัฎฐาก สื่อด้านสุขภาพเกี่ยวกับพระสงฆ์ การให้ความรู้ การตรวจคัดกรองสุขภาพ พระสงฆ์เข้าถึงกองทุนตำบลฯ เป็นต้น เบื้องต้นต้องขออนุโมทนาขอบคุณผู้แทนของเจ้าคณะภาคทุกภาคที่ได้สละเวลาเข้าร่วมประชุมและให้ความเห็น เช่น พระเทพวรมุนี ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 พระเทพมุนี รองเจ้าคณะภาค 4 พระเมธีวรญาณ รองเจ้าคณะภาค 10 พระมงคลธรรมวิธาน รองอธิการบดี มมร เป็นต้น

พระเทพเวที กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การดำเนินงานที่ผ่านในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เกิดรูปธรรมความสำเร็จหลายเรื่อง เช่น (1) พัฒนาระบบฐานข้อมูลพระสงฆ์ (พศ./สปสช.)จากการตรวจสอบสิทธิ์พระสงฆ์และสามเณร จำนวน 164,004 รูป พบว่า มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ จำนวน 141,757รูป (2) พัฒนาพระคิลานุปัฏฐาก(กรมอนามัย) มีการตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์แล้ว จำนวน 81,542 รูป และอบรมพระคิลานุปัฏฐากรวมทั้งสิ้น 9,588 รูป  (3) วัดส่งเสริมสุขภาพ/พลังบวร โดยมีวัดส่งเสริมสุขภาพผ่านเกณฑ์ 13,968 แห่ง มีเครือข่ายวัดเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ “พลังบวร”จำนวน 4,911 วัด  (4) การจัดทำชุดสื่อสิ่งพิมพ์ในโครงการสงฆ์ไทยไกลโรค 4.0 พัฒนาองค์ความรู้ด้านสถานการณ์ด้านสุขภาวะของพระสงฆ์และความรู้เรื่องงานสาธารณสงเคราะห์ เป็นต้น (5) ขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพ (สสส.) โดยได้พัฒนาแกนนำพระสงฆ์ในการสร้างเสริมสุขภาพ /พระสงฆ์นักพัฒนาการสาธารณสงเคราะห์กับพื้นที่ต้นแบบการสร้างสังคมสุขภาวะ 20 พื้นที่ต้นแบบ เป็นต้นนอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ร่วมลงนามกับ 7 หน่วยงาน ร่วมสร้างสุขภาวะพระ สามเณร โรงเรียนพระปริยัติธรรม ให้รอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อดำเนินการ ดังนี้ (1)จัดทำธรรมนูญสุขภาพโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ระดับนโยบาย 1 ฉบับ ระดับเขต 14 ฉบับ และโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา จำนวน 402 โรงเรียน/ฉบับ (2) ขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา สู่การปฏิบัติ (3) ติดตามผลการดำเนินงาน และสรุปบทเรียนการสร้างสุขภาวะในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ซึ่งธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาตินี้นับเป็นการดำเนินงานที่สำคัญ ขับเคลื่อนงานอย่างมีเป้าหมายและเกิดการบูรณาการ ที่ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

สรุปก็คือว่า “การปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนา คณะสงฆ์ยังทำอยู่ มิได้หยุดอยู่แค่แผน 1 ซึ่งคณะสงฆ์ทำมาตั้งแต่ปี 2560-2564 เท่านั้น ตอนนี้เราเข้าสู่การปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ตามแผนพัฒนากิจการคณะสงฆ์ ฉบับที่ 2 (2565-2269) แล้ว โดยเฉพาะด้านสาธารณะสงเคราะห์มีการขับเคลื่อนต่อเนื่อง..” พระเทพเวทีกล่าวทิ้งท้าย

Leave a Reply