“สังคมไทยอยู่รอดเพราะมีพระสงฆ์และวัดเป็นหลักชัย” ปลัด มท. ย้ำ กลไก “1 พระสังฆาธิการ 1 ภาคราชการ” ขอพระสงฆ์เมตตานำภาคราชการลงพื้นที่ไปสงเคราะห์ดูแลประชาชน

วันที่ 26 เม.ย. 66 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมดำรงธรรม อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นวิทยากรถวายความรู้พระสังฆาธิการ เรื่อง ข้อตกลงความร่วมมือวัดชุมชนสร้างสุขให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ผ่านระบบ Video Conference โดยได้รับเมตตาจาก พระราชธรรมเมธี เจ้าคณะจังหวัดจันทบุรี พระราชวัชรบัณฑิต ผู้อำนวยการสถาบันโพธิยาลัย พระบุรเขตธรรมคณี เจ้าคณะจังหวัดตราด พระมหาชนก เขมะกาโม รองเจ้าคณะจังหวัดจันทบุรี และคณะสงฆ์จังหวัดจันทบุรี ร่วมรับฟังกว่า 300 รูป ณ วิทยาลัยมหาดไทย อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยมี นายพิจิตร บุญทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายวิสุทธิ์ ประกอบความดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายเปลี่ยน แก้วฤทธิ์ รองอธิบดีกรมที่ดิน นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะทำงาน Change for Good กระทรวงมหาดไทย ร่วมรับฟัง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า “สังคมไทยเป็นสังคมที่มีประวัติศาสตร์ผูกพันยึดโยงกับพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน โดยจะเห็นได้ว่าสังคมไทยมีความสุขความร่มเย็นอยู่ได้เพราะมีคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนาช่วยเป็นหลักชัยในการช่วยเหลือเกื้อกูลดูแลเพื่อให้ผู้คนในสังคมอยู่กันด้วยความสุข จนเรียกได้ว่า “วัดและพระสงฆ์ เป็น ครู คลัง ช่าง หมอ” โดยความเป็น “ครู” เมื่อลูกผู้ชายเติบโตเข้าสู่วัยที่บวชเรียน ก็มีพระสงฆ์เป็นพระอุปัชฌาย์ เทศนาสอนให้ประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ รวมถึงเป็นผู้อบรมสั่งสอนญาติโยมศิษยานุศิษย์ของวัดให้มีคุณธรรมจริยธรรม และในปัจจุบันยังช่วยเหลือเจือจานดูแลคนในสังคม ดูแลนักเรียน ด้วยการนำข้าวสารอาหารแห้ง กับข้าวกับปลาจากบาตรมอบให้กับโรงเรียน มอบให้กับคนยากไร้ ความเป็น “คลัง” คือ ในยามที่ชาวบ้านมีงานกิจกรรมที่บ้านเรือนหรือที่วัดก็ดี ก็จะมีวัดเป็นเหมือนคลังข้าวของเครื่องใช้ที่สามารถติดต่อหลวงพ่อเพื่อหยิบยืมไปใช้ในกิจกรรมงานการต่าง ๆ โดยไม่ต้องเสียเงินทอง ความเป็น “ช่าง” ที่พระสงฆ์จะเป็นผู้มีความสามารถในงานช่างอย่างหลากหลาย ทั้งช่างปูน ช่างปั้น ช่างแกะสลัก จนสามารถก่อร่างสร้างวัดวาอารามได้สวยงามวิจิตรบรรจง และความเป็น “หมอ” ที่เด่นชัด เพราะตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน พระสงฆ์คือผู้ทรงคุณวุฒิในด้านตำรับตำราแพทย์แผนไทย ยากวาด ยาสมุนไพร หรือแม้แต่เทคนิคการนวดแผนไทยก็ก่อเกิดกำเนิดจากวัด คือ วัดโพธิ์ หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ที่สืบทอดสืบสานสืบต่อกันมาจวบจนถึงวันนี้ จนกล่าวได้ว่า “ความอยู่รอดของสังคมไทยเรามีพระสงฆ์ เรามีวัด เป็นหลัก”

 

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยเป็นกระทรวงที่มีภารกิจหลักในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เป็นผู้นำการบูรณาการข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ของทุกกระทรวง ทุกกรมในพื้นที่จังหวัด ซึ่งในการบูรณาการดังกล่าวมี “คณะสงฆ์” เป็นภาคีเครือข่ายผู้นำศาสนาที่มีความสำคัญต่อการหนุนเสริมบทบาทของคนมหาดไทย จึงเป็นที่มาของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืนกับเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุขกับเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานกรรมการฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ เพื่อให้พระสงฆ์ได้ช่วยกระตุ้นปลุกเร้าข้าราชการได้ลงไปร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมปรึกษาหารือ ร่วมทำ ร่วมพัฒนา ร่วมทำกิจกรรมงานใดใดในพื้นที่ให้กับพี่น้องประชาชน และทำให้ได้รับประโยชน์จากการสงเคราะห์ อันได้แก่ 1) เชิงนามธรรม คือ ญาติโยมทุกครัวเรือนจะมีจิตใจอ่อนโยนโน้มหาพระคุณเจ้า เข้าหาพระศาสนาเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังส่งเสริมให้ประชาชนได้ยึดมั่นในประเพณีวัฒนธรรมปฏิบัติตนอยู่ในศีลในธรรม ส่งต่อรุ่นสู่รุ่นทำให้ลูกหลานมีความคุ้นชินกับศาสนกิจต่าง ๆ มีจิตใจโน้มหาความดี ด้วยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และ 2) เชิงรูปธรรม สามารถจำแนกได้ 2 ลักษณะ คือ ลักษณะที่ 1 มิติยาฝรั่ง ด้วยการสงเคราะห์ช่วยเหลือบำรุงจิตใจผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง คนที่ยากไร้ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ให้ประทังชีวิตบรรเทาความทุกข์ในระดับหนึ่ง และลักษณะที่ 2 คือ มิติยาไทย เป็นการดำเนินการไปสู่ความยั่งยืน โดยพระสงฆ์เป็นผู้นำข้าราชการลงไปในพื้นที่ ไปกระตุ้นปลุกเร้าให้ลุกขึ้นมาน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและพระราชดำริต่าง ๆ เพื่อทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน โดยไม่รีรอให้คนช่วยอย่างเดียว ทำให้คนเป็นบัวพ้นน้ำ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ช่วยกันดูแลครอบครัว ขยายผลไปดูแลชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด ได้แก่ 1) ทุกครอบครัวมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง แข็งแรง ถูกสุขลักษณะ 2) ทุกครัวเรือนสามารถพึ่งพาตนเอง น้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในด้านการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพรเต็มพื้นที่บ้าน พื้นที่วัด รวมไปถึงสองฝั่งถนนสาธารณะ พื้นที่สาธารณะ เช่น ป่าชุมชน ทุ่งเลี้ยงสัตว์ หนอง คลอง บึง ลำห้วย ที่โรงเรียน ที่วัด ที่อนามัย ซึ่งถ้าที่บ้าน รอบบ้าน เต็มไปด้วยพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ ริมถนน ริมคลอง ในวัด ในโรงเรียน มีแปลงผัก แปลงไม้ยืนต้น ขนุน น้อยหน่า มะม่วง มะพร้าว กล้วย อ้อย บอระเพ็ด ก็มีนัยว่า สิ่งแวดล้อมก็จะดีขึ้น ความสวยงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่ก็จะมีขึ้น 3) ทุกครัวเรือนมีความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อโลกของเรา ด้วยการช่วยเหลือกันดูแลบริหารจัดการขยะ ไม่ทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง ช่วยกันคัดแยกขยะ และนำขยะเปียกไปใส่ถังขยะเปียกลดโลกร้อนเพื่อเป็นปุ๋ยหมัก และทำให้ขยะที่เก็บไว้บ้านไม่ได้ ให้ อปท. เก็บไป ไม่ส่งกลิ่นเหม็น 4) พี่น้องประชาชนรวมตัวกันในการช่วยเหลือดูแลทุกข์สุขซึ่งกันและกัน ที่เราเรียกว่า การสงเคราะห์ หรือจิตอาสา ช่วยสงเคราะห์เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงที่อ่อนแอ และ 5) ลูกหลานเหลนโหลนได้รับการศึกษา มีสุขภาพอนามัยที่ดี มีความร่าเริง มีความแข็งแรง และได้เห็นตัวอย่างที่ดีจากผู้ใหญ่ เช่น เห็นผู้ใหญ่ทำบุญใส่บาตร เห็นการแบ่งปันอาหารการกินกับเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง ช่วยเหลือกันทำรั้วบ้าน ขุดดิน ทำหลุมถังขยะเปียกลดโลกร้อน โดยเมื่อเด็กเห็นเหล่านี้จากการถ่ายทอด อบรม กล่อมเกลา (Socialization) ให้รุ่นต่อรุ่นมีการประพฤติปฏิบัติที่ดีงาม ไม่มีใครยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด อันจะก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ความรักสามัคคี” ยึดถือการปฏิบัติตามประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อและศาสนา  และไม่ลืมรากเหง้าสิ่งที่ดีงามของคนไทย คือ เรื่องจิตใจเสียสละ ยึดสิ่งที่ดีงาม การทำบุญใส่บาตร การบวชเรียน พบปะพูดคุย มีการลงแขก เอามื้อสามัคคี ทำงานส่วนรวม ซึ่งในท้ายที่สุด ประโยชน์ที่เราทำเพื่อส่วนร่วมมันก็จะตกเป็นของทุกคนที่ช่วยกันทำ ซึ่งความสำเร็จของทุกเรื่องจะแนบแน่นได้ ก็โดยพระคุณเจ้าทุกรูปต้องเมตตาเป็นผู้กระตุ้นนำข้าราชการทำงานเชิงคุณภาพในพื้นที่ให้มากขึ้น

 

“เฉกเช่นที่จังหวัดจันทบุรี มีคณะสงฆ์ภายใต้การนำของพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระราชธรรมเมธี เจ้าคณะจังหวัดจันทบุรี เป็นต้นแบบในการทำให้พี่น้องคนจันทบุรีได้มีแนวทางการดำเนินชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนผ่านความสำเร็จของ “กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์” อันเป็นแนวทางว่า พระสามารถทำให้โยมเป็นคนดี คือ มีสัจจะ รู้จักการบริหารชีวิต ทำงาน หารายได้ จัดสรรรายได้ที่ได้สำหรับสะสมหรือออมทรัพย์ไว้บางส่วน และหาแนวทางในการที่จะทำให้เงินที่สะสมนั้นไปเป็นต้นทุนสำหรับเอาไปใช้ในการลงทุน อันเป็น “ความเมตตาของพระ” ที่เกิดจากการพูดคุยให้สมาชิกกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์มีแนวทางการดำเนินชีวิตที่ดี ที่ถูกต้อง และมีระบบระเบียบในการบริหารจัดการกลุ่มที่โปร่งใสและเป็นธรรม ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะทำให้ต้นแบบความสำเร็จนี้เกิดความยั่งยืน คือ การขยายผลความสำเร็จไปสู่การขับเคลื่อนงานสาธารณสงเคราะห์ ลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียน ทำให้วัดเป็นศูนย์กลางการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มาดำเนินการให้เข้ากับหลักภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่ ด้วย “ทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” ที่มีนายอำเภอทุกอำเภอเป็นผู้นำในการบูรณาการระดับอำเภอ และปลัดอำเภอเป็นผู้นำการบูรณาการระดับตำบล ด้วยแนวทาง 3 ประการ คือ 1. ต้องมี “ทีมพระ” ลุกขึ้นมายืนเคียงข้าง “1 พระสังฆาธิการ 1 ภาคราชการประจำตำบล ทุกตำบล” และให้ทุกอำเภอจัดทำบัญชีรายชื่อพระสงฆ์พร้อมข้อมูลเพื่อจัดทำฐานข้อมูลภาคีเครือข่าย 2. ต้องมีการ “พูดคุย-วางแผน” ร่วมกันของพระสงฆ์ ข้าราชการ และภาคีเครือข่ายอย่างสม่ำเสมอ และ 3. ต้องลงพื้นที่จริงร่วมกันอย่างน้อย 1 พื้นที่/เดือน เพื่อทำให้มีบรรยากาศของการที่ชาวบ้านได้ร่วมกันพบปะ พูดคุย ปรึกษาหารือ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์เกิดขึ้นเต็มผืนแผ่นดินไทย สอดคล้องกับสิ่งที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดที่ได้ลงนาม MOU ร่วมกับ UN ประจำประเทศไทย ประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) “76จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา” เพื่อแสดงความมุ่งมั่นทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) ทั้ง 17 ข้อ โดยเฉพาะข้อที่ 17 การเป็นหุ้นส่วน Partnership มีความช่วยเหลือร่วมมือกันโดยมีพระสงฆ์เป็นหลักชัย อันจะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ดีงาม ผู้คนมีความสุขทั้งกาย และใจ มีความปลอดภัย มั่นคงทางร่างกายและจิตใจ เป็นสังคมแห่งการให้ เป็นสังคมแห่งความรัก ความเมตตา เพราะมีคณะสงฆ์เป็นที่พึ่งหลัก มีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ทำให้สิ่งที่ดีงามได้กระจายความหวังของกระทรวงมหาดไทยที่อยากเห็นประชาชนทุกคนในประเทศไทยของเราได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” ปลัด มท. กล่าวในช่วงท้าย

พระราชธรรมเมธี กล่าวว่า คณะสงฆ์จังหวัดจันทบุรีได้ร่วมกับส่วนราชการจังหวัดจันทบุรี ได้ขับเคลื่อนความร่วมมือตาม MOU ด้วยกลไก 5 กลไก 7 ภาคีเครือข่าย ในการบำบัดความทุกข์ บำรุงความสุขให้กับญาติโยม โดยคณะสงฆ์ร่วมกับส่วนราชการในจังหวัดจันทบุรี โดยได้ดำเนินกิจกรรม 3 โครงการด้วยกัน คือ 1) โครงการกองบุญพระภิกษุอาพาธจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมตั้งกองบุญดูแลพระภิกษุอาพาธเป็นจังหวัดแรก และเป็นจังหวัดนำร่องในการตั้งกองทุนนี้เพื่อดูแลสุขภาพให้พระสงฆ์ในจังหวัดจันทบุรี 2) กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ ทำให้ชุมชนตำบลหมู่บ้านมีความเข้มแข็งเรื่องเศรษฐกิจฐานราก ได้ช่วยเหลือสมาชิกไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบ มีสมาชิก 110,110 คน กองทุนรวม 3.3 พันล้าน และ 3) กองทุนสังฆประชานุเคราะห์ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล วัด โดยมีกองทุนการศึกษาสงเคราะห์สะสม 12,731,375 บาท เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ คือ จิตอาสาของคณะสงฆ์ ที่ไม่งอมืองอเท้า เราเห็นชาวบ้านประสบภัย เดือดร้อน เราก็มีน้ำจิตน้ำใจ เพราะชาวบ้านทุกคนคือผู้อุปการะพระสงฆ์ทุกรูป ดังนั้นเวลาที่ญาติโยมเดือดร้อน มีความทุกข์ พระจะนิ่งดูดายไม่เข้าไปช่วยเหลือแบ่งเบาความทุกข์ไม่ได้ ด้วยพรหมวิหารธรรม พระสงฆ์จึงเป็นจิตอาสาเข้าไปช่วยเหลือ ทั้งวัตถุสิ่งของและการเยียวยาด้านจิตใจ รวมทั้งการบำรุงสุขที่ยั่งยืนร่วมกับภาคราชการโดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยบูรณาการขับเคลื่อนหลักตามเจตนารมณ์ของ MOU ที่ได้ร่วมลงนามกับมหาเถรสมาคม จึงขออนุโมทนา

 

Leave a Reply