หนุ่มสาวชาวจีนหันหน้าเข้าหา ‘รสพระธรรม’ ที่พึ่งทางใจ หนีแรงกดดันจากการงานที่นับวันยิ่งแข่งขันสูง

วันที่ 10 พ.ค. 66  การแข่งขันในระบบธุรกิจนับวันยิ่งสูงขึ้นประเภท “ปลาใหญ่ กินปลาเล็ก” ทำให้คนวัยทำงานหรือเด็กรุ่นใหม่เครียดกันทั่วโลก โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ที่มี “ภูมิคุ้มกัน” ทางใจยังไม่แข็งแกร่ง ผนวกกับคนยุคปัจจุบันมีความอดทนน้อย มีทางเลือกในชีวิตมากกว่าในอดีต ความกดดันที่ถาโถมเข้ามาจากการแข็งขันในระบบธุรกิจที่ไม่หยุดนี่เอง! จนทำให้วัยหนุ่มสาวจำนวนมากทั่วโลกหันเข้าหาศาสนา หนึ่งในนั้นคือคนวัยหนุ่มส่วนในประเทศจีนหันหน้าเข้าวัดและบูชาทางศาสนากันมาก เพื่อหลีกหนีความกดดันจากหน้าที่การงานที่นับวันยิ่งเครียดและแข่งขันสูง

“รู้ไหมว่าฉันอายุ 27 ปี ยังไม่มีบ้าน ไม่มีรถ และไม่มีแฟน ฉันไม่ต้องการอะไรมาก ฉันต้องการแค่เงิน 1.5 ล้านดอลลาร์ และที่สำคัญที่สุด ฉันต้องการแฟนสาวที่สวยและรักฉันมากกว่าเงิน” Zhang กล่าว

South China Morning Post รายงานว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าการหันหน้าเข้าวัดเพื่อบูชาเทพเจ้ากลายเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ในจีน เพราะต้องการหลีกเลี่ยงจากความกังวลและความเครียดจากหน้าท่ีการงาน ที่นับวันยิ่งมีแต่ความกดดันและการแข่งขันที่สูงขึ้นทุกวัน ซึ่งการอธิษฐานมีหลายรูปแบบ แต่ส่วนใหญ่หลายคนก็มักขอพรที่พึ่งพาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก

Zhang กล่าวต่อไปว่า การขอพรตรงกับช่วงปรากฏการณ์ทางโหราศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นเพียง 3-4 ครั้งต่อปี ทำให้เราตัดสินใจขับรถโดยใช้เวลา 12 ชั่วโมง เดินทางจากมณฑลเจ้อเจียงที่อยู่ทางตะวันออกของจีน ไปยังวัดที่มณฑลเสฉวนที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้

ทั้งนี้ พระพุทธรูปเล่อซาน สูงกว่า 71 เมตร ถูกแกะสลักขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 713-803 ในสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหินที่สูงที่สุดในโลก

 

อย่างไรก็ตาม สื่อจีนรายงานว่า วิดีโอการขอพรของชายชาวจีนถูกสตรีมมิงลงบนโซเซียลมีเดีย จนทำให้ผู้คนให้ความสนใจอย่างมาก โดยมีคนดูมากกว่า 5 แสนคน เพราะเขาประกาศใส่ลำโพงขนาดใหญ่ เพื่อต้องการให้พระพุทธรูปได้ยินสิ่งที่ปรารถนา

ซึ่งก่อนหน้านี้  สถานีโทรทัศน์ไทยอย่าง PPTV รายงานว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้เกิดเทรนด์ที่น่าสนใจในหมู่ชาวจีนรุ่นใหม่ เมื่อพวกเขาหันหน้ามาพึ่งพา “วัดพุทธ” และ “ลัทธิเต๋า” กันมากขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จนกลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับหนุ่มสาวชาวจีนที่ต้องการหลีกหนีจากแรงกดดันในชีวิตและอธิษฐานขอโชคลาภ

หนึ่งนั้นคือ ลู่ จื่อ วัย 25 ปี ซึ่งหลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในปี 2021 เธอก็ได้งานทำในบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซ แต่ 1 ปีต่อมา เธอได้ละทิ้งทุกอย่างและมาเป็นอสาสมัครอยู่ที่วัดพุทธแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกของจีน

เธอเล่าว่า เธอเรียนจบปริญญาภาษาจีน และมองเห็นอนาคตในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ แต่หลังจากทำงานแรกได้ 12 เดือน เธอต้องการหยุดพักและตัดสินใจเป็นอาสาสมัครที่วัดในเมืองเจียซิง มณฑลเจ้อเจียง

ลู่ จื่อ เป็นหนึ่งในบัณฑิตจบใหม่จำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่รู้สึกท้อแท้หรือหมดไฟ ซึ่งได้ตัดสินใจถอยตัวเองออกจากตลาดงานที่มีการแข่งขันสูงเป็นการชั่วคราว เพื่อทบทวนเส้นทางชีวิตของพวกเขาใหม่

“การแพร่ระบาดไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแค่เศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชีวิตของเราด้วย ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการว่างงานที่เพิ่มขึ้นทำให้หลายคนในวัยเดียวกับฉันวิตกกังวลอย่างมาก ด้วยความไม่แน่นอน หลายคนเลือกที่จะยึดอาชีพที่ปลอดภัยและมั่นคงไว้ แต่ก็มีบางคนที่เป็นเหมือนฉันที่ต้องการหยุดชั่วคราวและทบทวนสิ่งที่ฉันต้องการอย่างแท้จริงในชีวิต” เธอกล่าว

ข้อมูลจาก Trip.com ผู้ให้บริการท่องเที่ยวออนไลน์ระบุว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2023 ที่ผ่านมา อัตราการเดินทางไปวัดทั่วประเทศจีนเพิ่มขึ้นถึง 310% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยครึ่งหนึ่งเป็นคน Gen Y และ Gen Z

ก่อนหน้านี้ วัดจะมีคนมาไหว้มากเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญและวันหยุดเท่านั้น แต่เทรนด์กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การไปวัดกลายเป็นกิจกรรมยอดนิยมสำหรับคนหนุ่มสาวที่ไม่ได้ต้องการบวช แต่ต้องการลดความกดดันจากงานและชีวิตผ่านวิถีชีวิตแบบพุทธหรือเต๋า

หนุ่มสาวชาวจีนหลายคนไปวัดเฉพาะในวันหยุดสุดสัปดาห์ ขณะที่หลายคนอยู่เป็นอาสาสมัครของวัดนานหลายเดือน โดยคอยช่วยงานวัดและเข้าร่วมการฟังธรรมเทศนา

วัดลามะหรือพระราชวังหย่งเหอในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นวัดพุทธทิเบต เป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีคนหนุ่มสาวไปเยือนมากที่สุด ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีผู้มาเข้าแถวรอคิวยาวนอกวัดเป็นประจำ แม้แต่ในวันธรรมดา ก็มีผู้คนมาเยี่ยมชมมากถึง 40,000 คนต่อวัน

คนที่มาวัดยังใช้จ่ายเงินเฉลี่ย 200-1,000 หยวน (1,000-5,000 บาท) เพื่อซื้อ “วัตถุมงคล” เช่น กำไลลูกปัดเสริมโชค และยังทำให้ความต้องการวัตถุมงคลจากวัดที่มีการขายต่อทางออนไลน์บนแพลตฟอร์มช้อปปิ้งเช่น เถาเป่า เพิ่มขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ กระแสการไปวัดที่เพิ่มขึ้นยังทำให้เกิดแอปพลิเคชันใหม่ ๆ ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถจุดธูปออนไลน์และสวดมนต์ได้ ยังมีแอปเสียงเคาะไม้ที่ตีตามจังหวะเวลาสวดมนต์ แอปฯ หนึ่งบนแอปสโตร์ของหัวเว่ยถูกดาวน์โหลดมากกว่า 5.7 ล้านครั้ง โดยผู้ใช้หลายคนบอกว่ามีประโยชน์มากเวลาที่รู้สึกเครียด

ปรากฏการณ์เหล่านี้ของคนหนุ่มสาวชาวจีนได้รับความสนใจจากสื่อของรัฐ ซึ่งออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า “คนหนุ่มสาวบางคนใช้เส้นทางที่ผิดในการจัดการกับแรงกดดัน” และกระตุ้นให้คนหนุ่มสาวชาวจีนทำงานหนักมากกว่าฝากความหวังไว้กับพระกับเจ้า

ความสนใจใหม่ในการไปวัดเป็นที่พูดถึงมากในสื่อสังคมออนไลน์ของจีนด้วย ในแอปฯ เสี่ยวหงชู (คล้าย ๆ อินสตาแกรม) เพียงแอปฯ เดียว ปัจจุบันมีการโพสต์เกี่ยวกับการไปวัดเกือบ 900,000 ครั้ง โดยมีผู้ใช้มาแบ่งปันประสบการณ์การไปวัดให้กัน

เหยา เฟินเฟิน วัย 23 ปี บัณฑิตอีกคนที่เพิ่งจบการศึกษามา กล่าวว่า เธอตัดสินใจใช้เวลา 2-3 วันที่วัดในเซินเจิ้นหลังจากอ่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ในแอปฯ “ฉันถูกเลิกจ้างเมื่อต้นปีนี้และต้องการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เพื่อหาประสบการณ์เพิ่มเติมและผ่อนคลายก่อนที่จะเริ่มงานใหม่ ฉันเห็นบางโพสต์ในเสี่ยวหงชูเกี่ยวกับการเป็นอาสาสมัครที่วัด และคิดว่านี่จะเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม”

เธอเสริมว่า “ฉันได้เพื่อนใหม่มากมายระหว่างการเป็นอาสาสมัคร หลายคนอายุเท่าฉันและเพิ่งออกจากงาน พวกเขามาสัมผัสชีวิตในวัดหลังจากอ่านโพสต์ที่คล้ายกัน”

อ้างอิง: PPTV 36 และ https://www.scmp.com/…/i-want-us15-million-and…

Leave a Reply