“บ้านบุญปันสุข” พ่อเมืองศรีสะเกษจับมือคณะสงฆ์  ผนึกกำลัง “บวร” สร้างบ้านให้ผู้สูงอายุ

วันที่  10 มิ.ย. 66 นายสำรวย เกษกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า จังหวัดศรีสะเกษมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายกระทรวงมหาดไทยทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนของประชาชนทุกมิติ โดยกลไกศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระดับจังหวัด หรือ ศจพ.จ. มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ และบูรณาการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ซึ่งจังหวัดศรีสะเกษได้รับความเมตตาอย่างสูงยิ่งจากคณะสงฆ์ ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายการแก้ไขปัญหา สอดคล้องกับ MOU บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ที่เป็นการน้อมนำหลักการทรงงานแบบ “บวร” (บ้าน/วัด/ราชการ หรือโรงเรียน)

“จังหวัดศรีสะเกษได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการก่อสร้างบ้านโดยความเสียสละของผู้นำท้องถิ่นท้องที่ ชมรมจิตอาสาพัฒนาชุมชน (อช.) จิตอาสา และพี่น้องประชาชนในหมู่บ้านรังแร้ง พร้อมทั้งได้จัดพิธีมอบบ้านผู้สูงอายุ “โครงการบ้านบุญปันสุข” หลังที่ 7 โดยกองทุนลดความเหลื่อมล้ำอำเภออุทุมพรพิสัยร่วมกับมูลนิธิบุญพระศาสนาสงเคราะห์และผู้มีจิตศรัทธาร่วมก่อสร้างบ้านให้ผู้สูงอายุ จำนวน 1 หลัง คือ ครัวเรือนของนางวงษ์ ฤกษ์ตรี อายุ 73 ปี บ้านเลขที่ 183 บ้านรังแร้ง หมู่ที่ 4 ตำบลรังแร้ง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ โดยได้รับความเมตตาจากพระมหาติ่ง มหิสฺสโร ประธานมูลนิธิบุญพระศาสนาสงเคราะห์ เข้าร่วมพิธี โดยมีนายศราวุธ ทรงโฉม นายอำเภออุทุมพรพิสัย ผู้แทนพัฒนาการจังหวัด ผู้แทนพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดอำเภออุทุมพรพิสัย ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมพิธี ซึ่งครัวเรือนของนางวงษ์ ฤกษ์ตรี เป็นครัวเรือนที่มีฐานะยากจน มีพี่น้อง 6 คน มีบุตร 2 คน แต่ละคนมีฐานะยากจน ประกอบกับที่อยู่อาศัยและหลังคามุงด้วยสังกะสีทั้งหลัง สังกะสีมีสภาพเก่าและผุพังไม่มั่นคงแข็งแรง พื้นบ้านเป็นพื้นดินทั้งหลัง ทำให้ในฤดูฝน เมื่อฝนตกสาดเข้ามายังตัวบ้านทำให้พื้นบ้านเปียก สมาชิกในครัวเรือนไม่มีที่อาศัยนอนได้  ศจพ.อำเภออุทุมพรพิสัย จึงได้ร่วมกับจังหวัดศรีสะเกษ และองค์การบริหารส่วนตำบลรังแร้ง แก้ปัญหาดังกล่าว โดยใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 140,000 บาท และขอรับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์เพิ่มเติม ซึ่งงบประมาณดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากกองทุนลดความเหลื่อมล้ำอำเภออุทุมพรพิสัย มูลนิธิบุญพระศาสนา ตลอดจนส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน” นายสำรวย ฯ กล่าว

นายสำรวย เกษกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า จากความสำเร็จในการดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันภายใต้หลัก “บวร” (บ้าน วัด ราชการ) ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายเพื่อบูรณาการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชน นอกจากนี้จะต้องยึดหลักเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาด้วย เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของแต่ละพื้นที่ตามความต้องการและภูมิสังคมจากพื้นฐานของแต่ละชุมชน ดังนั้น หลัก “บวร” “บรม” “ครบ” จึงถือเป็นหลักสำคัญ เป็น Key Success ในการขับเคลื่อนภารกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ขจัดปัญหาความยากจน พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตให้ชุมชนมีความสุขอย่างยั่งยืน

พระมหาติ่ง มหิสฺสโร ประธานมูลนิธิบุญพระศาสนาสงเคราะห์กล่าวว่า การมีส่วนร่วมของคณะสงฆ์ในครั้งนี้เป็นเป้าหมายที่สำคัญของคณะสงฆ์ในการช่วยเหลือผู้มีความเดือดร้อนได้ยาก ตามนโยบายของฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ซึ่งมีท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม เป็นหลักชัยนำคณะสงฆ์ได้แสดงเจตนารมณ์ของคณะสงฆ์ด้านสาธารณสงเคราะห์ ตามหลักการ 4 ด้าน คือ 1. การสงเคราะห์ 2. การเกื้อกูล 3. การพัฒนา และ 4. การบูรณาการ โดยมีภาคีเครือข่ายในพื้นที่เพื่อร่วมขับเคลื่อนงานร่วมกันให้เกิดผลดีกับสังคม

นายสำรวย เกษกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวในช่วงสุดท้ายว่า ขอกราบขอบพระคุณในความเมตตาของ พระมหาติ่ง มหิสฺสโร ประธานมูลนิธิบุญพระศาสนาสงเคราะห์ ที่ได้ให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือเงินสนับสนุน ตลอดจนส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนที่ได้ให้ความช่วยเหลือ พร้อมมอบสิ่งของ เครื่องอุปโภคบริโภค และเครื่องใช้จำเป็นจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดศรีสะเกษ ชมรมนุ่งผ้าไทยใส่บาตรฯ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด อำเภออุทุมพรพิสัย มูลนิธิบุญพระศาสนาสงเคราะห์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ฯลฯ และขอให้กิจกรรมที่ร่วมกันทำร่วมกันปฏิบัติในครั้งนี้ เป็นต้นแบบให้พื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน

Leave a Reply