ปลายปีนี้หากไม่ผิดพลาดประการใด คณะสงฆ์คงจักได้ “กรรมการมหาเถรสมาคม” ชุดใหม่ ซึ่งยังไม่ทราบว่า “ใครมาจะมา -ใครจะไป” เพราะเป็น “พระราชอำนาจ” แล้วแต่จะทรงโปรดเกล้า ฯ ดังเว๊ปไซต์ “ilaw.or.th” เคยลงรายละเอียดไว้ ดังนี้
พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ซึ่งผ่านการแก้ไขมาแล้วสี่ครั้ง กำหนดโครงสร้างของมหาเถรสมาคม ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานกรรมการ และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูป ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทำหน้าที่สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม
กรรมการมหาเถรสมาคม ล้วนมีที่มาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคม มาจากการสถาปนาโดยพระมหากษัตริย์ มีนายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ นอกจากบทบาทในการเป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคม สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัยและกฎมหาเถรสมาคม
“มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”
“มาตรา 8 สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัยและกฎมหาเถรสมาคม”
ขณะที่กรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูป พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือ พระภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควร และมีจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์ กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละ สองปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ (ชุดปัจจุบันได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2564)
“มาตรา 12 มหาเถรสมาคมประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราชซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกินยี่สิบรูปซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควร และมีจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์”
“มาตรา 14 กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้”
นอกจากพระมหากษัตริย์จะมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม ยังทรงมีพระราชอำนาจประกาศพระบรมราชโองการให้กรรมการมหาเถรสมาคมออกจากตำแหน่ง แต่กรรมการมหาเถรสมาคมอาจพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพระบรมราชโองการก็ได้ ได้แก่ มรณภาพ พ้นจากความเป็นพระภิกษุ และลาออก
ภายหลังจากการประกาศใช้พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 ที่ผ่านการพิจารณาโดยสนช. 14 ตุลาคม 2562 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม โดยเนื้อความคือพระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม 20 รูป โดยอาศัยอำนาจจากพ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 โดยพระภิกษุซึ่งพระมหากษัตริย์แต่งตั้งให้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมนั้น ล้วนสังกัดวัดที่อยู่ภายในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

เปิดอำนาจมหาเถรสมาคม ปกครองคณะสงฆ์ ออกกฎ ข้อบังคับ คำสั่งได้ เท่าที่ไม่ขัดกฎหมายและธรรมวินัย
พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 15 ตรี กำหนดอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคมไว้
1. ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม โดยการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม
2. ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร
3. ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์
4. รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา
5. ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น
เพื่อการดำเนินการให้ลุล่วงไปได้ตามอำนาจที่กฎหมายกำหนด มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ วางระเบียบ ออกคำสั่ง มีมติหรือออกประกาศ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัยใช้บังคับได้ และจะมอบให้พระภิกษุรูปใดหรือคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ทั้งห้าประการข้างต้นก็ได้
นอกจากอำนาจทั้งห้าประการข้างต้น มาตรา 15 จัตวา กำหนดว่า มหาเถรสมาคมยังมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม เพื่อกำหนดโทษหรือวิธีลงโทษทางการปกครอง สำหรับพระภิกษุและสามเณรที่ประพฤติให้เกิดความเสียหายแก่พระศาสนาและการปกครองของคณะสงฆ์ เพื่อรักษาหลักพระธรรมวินัยและเพื่อความเรียบร้อยดีงามของคณะสงฆ์

Leave a Reply