“UN ชื่นชมผลงานกระทรวงมหาดไทยในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) พร้อมเตรียมนำเสนอผลสำเร็จของกระทรวงมหาดไทยที่สามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นชาติแรกของโลก” ในเวที SDGs Summit 2023 ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ยูเอ็นชื่นชมผลงานกระทรวงมหาดไทยในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) พร้อมเตรียมนำเสนอผลสำเร็จของกระทรวงมหาดไทยที่สามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นชาติแรกของโลก” ในเวที SDGs Summit 2023 ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2566 เมื่อเร็ว ๆ นี้ คุณกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์ชื่นชมกระทรวงมหาดไทยต่อสำนักข่าวองค์การสหประชาชาติ (https://news.un.org/en/story/2023/09/1140617) โดยได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) ร่วมกับประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งคุณกีต้า ได้มีโอกาสหารือข้อราชการร่วมกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลต่อการขับเคลื่อนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับประเทศสมาชิกของ UN ซึ่งคุณคุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงาน UN ประจำประเทศไทย และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีกำหนดการที่จะเข้าร่วมการประชุม SDGs Summit 2023 ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 18-19 กันยายน 2566 ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งการประชุมในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเร่งรัดการพัฒนาความก้าวหน้าที่เร็วขึ้นในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ภายในปี 2030 ของประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) ทั่วโลก

“ดิฉันรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งในความร่วมมือระหว่างสหประชาชาติกับกระทรวงมหาดไทยในเรื่องการคัดแยกขยะครัวเรือน ประมาณ 14 ล้านครัวเรือนที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศได้ถึง 550,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และรวมถึงการขายคาร์บอนเครดิต ชุดแรก ($21,000) ที่ถูกซื้อโดยธนาคารเอกชนของประเทศไทย อันเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นส่วนสำคัญของข้อตกลงการปฏิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งต้องขอแสดงความชื่นชมยินดีต่อความมุ่งมั่นตั้งใจของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดของประเทศไทยทั้ง 76 จังหวัดรวมถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ได้ลงนามในความมุ่งมั่นที่จะสร้างประเทศไทยโดยยึดหลักความยั่งยืนร่วมกับสหประชาชาติประจำประเทศไทย” คุณกีต้าฯ กล่าวด้วยความชื่นชมยินดีและภาคภูมิใจ

คุณกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ยังได้กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ หนึ่งในแนวคิดที่ตนยึดถืออยู่เสมอ คือ “โลกต้องมาก่อน” โดยเครือข่ายภาคีเครือข่ายในประเทศไทยได้ร่วมกับภาคีของสหประชาชาติทั้ง 21 หน่วยงาน ได้ให้คำมั่นที่จะช่วยปกป้องที่ดินและพื้นที่ทางทะเลร้อยละ 30 ทั่วประเทศ รวมถึงความพยายามในการปลูกป่าเพื่อเพิ่มแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและสร้าง ”อ่างคาร์บอนใหม่” โดยปีที่แล้ว ภาคีเครือข่ายยังได้ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้แปดล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งเทียบเท่ากับรถยนต์ 1.6 ล้านคันที่ถูกนำออกจากถนน ซึ่งบทบาทของธนาคาร ของนักลงทุนมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะเป็นภาคส่วนที่จะทำให้เกิดการปลดล็อกการจัดหาเงินทุนภายในประเทศสำหรับการเปลี่ยนแปลงสีเขียวทางชีวภาพของประเทศ อีกด้วย

ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญและมีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อตามนโยบายของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายที่ 17 คือ Partnership หรือ “หุ้นส่วนการพัฒนา” ที่กระทรวงมหาดไทยโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด และท่านนายอำเภอทั้ง 878 อำเภอ ได้ลุกขึ้นมาเป็น “ผู้นำการบูรณาการ” การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีในพื้นที่ อันได้แก่ ภาคีเครือข่ายภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน เพื่อให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายร่วมกันที่ได้ประกาศไว้เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ในพิธีลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน” เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน” ของปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับคุณกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงาน UN ประจำประเทศไทย ซึ่งในการลงนามประกาศเจตนารมณ์ในครั้งนั้น เกิดขึ้นจากการประสานงานและเชื้อเชิญทางสหประชาชาติประจำประเทศไทย โดย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ซึ่งมีนโยบายในการหนุนเสริมบทบาทของกระทรวงมหาดไทยในการขับเคลื่อนงานเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน โดยการลงนามประกาศเจตนารมณ์นี้เองมีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ การมุ่งเน้นในการขับเคลื่อนการดำเนินการด้านสภาพอากาศ อันเป็นการยกระดับบทบาทของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นแนวหน้าและเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อน SDGs ทั้ง 17 ข้อของ UN โดยความร่วมมือกับทีมงานของ UN รวมถึงพี่น้องประชาชนในท้องถิ่นและชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยี ความหลากหลายทางชีวภาพ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดย UN ร่วมสนับสนุนการทำงานในการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนตามธรรมชาติ ทั้งการเผาไหม้ชีวมวลและการลดมลพิษ การทำฟาร์มอัจฉริยะ และการเสริมสร้างความยืดหยุ่นของชุมชนผ่านการปรับตัวและการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งคำแถลงสำคัญของหน่วยงานระดับโลกที่ยืนยันถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของประเทศไทยในการสานพลังทุกภาคีเครือข่ายไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

“จากจุดเริ่มต้นที่ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืนในครั้งนั้น ทำให้เกิดพันธสัญญาทางใจของคนมหาดไทยทุกกลไกในความความมุ่งมั่นทุ่มเทขับเคลื่อนเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบเดียวนี้ให้มีอายุยืนยาว ด้วยการทำให้พี่น้องประชาชนได้ตื่นตัวลุกขึ้นมาเพื่อที่จะใช้ชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดทำ “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” ในทุกครัวเรือน อันเป็นการต่อยอดแนวคิดจากการศึกษาดูงานของสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เมื่อปี 2562 โดย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ดำรงตำแหน่ง ประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้พบเห็นการใช้ไม้ไผ่มาสานเป็นเสวียนสำหรับรวมขยะเปียกและเศษใบไม้ใบหญ้าของเทศบาลตำบลป่าบุก จังหวัดลำพูน ซึ่งทำให้เกิดปุ๋ยหมักหรือสารบำรุงดิน แต่ทว่ายังส่งกลิ่นและก๊าซเสียลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ จึงเกิดแนวคิดที่จะทำถังขยะเปียกที่ปลอดกลิ่น ลดการปล่อยก๊าซเสียขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ จึงได้หารือร่วมกับ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และเชิญภาคีเครือข่ายภาควิชาการ คือ ศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน (อ.นิ๊ค) อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.ประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ร่วมหารือและพัฒนารูปแบบของถังขยะเปียก กระทั่งเกิดนวัตกรรมที่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ได้ตั้งชื่อว่า “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” และได้ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้นำมาใช้ควบคู่กับการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการจังหวัดสะอาดในทุกปี โดยมีการกำหนดเป้าหมายร่วมกันของกระทรวงมหาดไทยและทุกจังหวัดในการทำให้เกิด “1 ครัวเรือน 1 ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” ผ่านกลไกอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) ที่มีระเบียบกระทรวงมหาดไทยรองรับและทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้กลไกนี้เองในการเริ่มต้นปลุกพลัง สร้างกระแส และความตระหนักรู้ของประชาชนในทุกท้องถิ่นให้หันมาใส่ใจในการคัดแยกขยะ และนำขยะเปียก ซึ่งเกิดจากเศษอาหาร เศษไม้ ใบหญ้า มาเทรวมกันในถังขยะเปียกลดโลกร้อนที่มีฝาปิด จนกระทั่งเกิดเป็นความนิยมของชุมชนต่าง ๆ และเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดให้เป็น 1 ในแนวทางการขับเคลื่อนน้อมนำพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ภายใต้ชื่อ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ส่งผลให้ระบบนิเวศ และสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตของพวกเราและลูกหลาน ทำให้สามารถอยู่อาศัยในครอบครัว ในชุมชนได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ข้าราชการทุกส่วนของกระทรวงมหาดไทย ผู้นำท้องที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้นำการบูรณาการภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้ง 7 ภาคี อันได้แก่ ภาคราชการจากทุกกระทรวง ทุกกรม ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ทำอย่างต่อเนื่อง

ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า เพราะ Climate Change เป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก ดังนั้น จึงเป็นระยะเวลากว่า 4 ปีที่กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับสมาคมแม่บ้านมหาดไทยขับเคลื่อนจนเกิดถังขยะเปียกลดโลกร้อนในทุกครัวเรือนทั่วประเทศกว่า 14 ล้านครัวเรือน “ผลแห่งความมุ่งมั่นตั้งใจนี้เอง” สามารถปรากฏผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม “เป็นชาติแรกของโลก” คือ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 กระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้ร่วมประกาศความสำเร็จการจัดการขยะอาหารจากครัวเรือน เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบรรลุเป้าหมายประเทศไทยที่ยั่งยืน (MOI’s Success on Food Waste Management for Climate Action and a Commitment to Sustainable Thailand) ของจังหวัดนำร่องทั้ง 4 จังหวัด คือ จังหวัดลำพูน สมุทรสงคราม เลย และจังหวัดอำนาจเจริญ สามารถทำการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยมี บมจ.ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK เป็นผู้รับซื้อคาร์บอนเครดิตในราคา 260 บาท/ตัน ซึ่งในเฟสแรก สามารถซื้อขายได้จำนวน 3,140 ตัน เป็นเงิน 816,400 บาท กลับคืนสู่พี่น้องประชาชนในท้องถิ่น และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผลแห่งความตั้งใจที่เป็นรูปธรรมได้แผ่ขยายพื้นที่เพิ่มมากขึ้นโดยจากการทวนสอบ “โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน ระยะที่ 2” ใน 22 จังหวัดที่มีกว่า 4.6 ล้านครัวเรือน ของผู้ประเมินภายนอกได้ปริมาณคาร์บอนเดรดิต จำนวน 85,303 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และเมื่อรวมกับปริมาณคาร์บอนเดรดิตที่ได้รับการรับรองไปก่อนแล้ว สามารถเทียบได้กับการปลูกต้นไม้ยืนต้นอายุ 20 ปี จำนวน 7.3 ล้านต้น ทั้งนี้ คณะทำงานฯ มท. ได้จัดส่งเอกสารรายงานการประเมินผลและรายงานการทวนสอบเพื่อขอรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก จำนวน 85,303 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ไปยังองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) แล้ว เพื่อขอความเห็นชอบในการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ในห้วงวันที่ 26 กันยายน 2566 ต่อไป โดยหากได้รับการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกตามจำนวนดังกล่าว จะสามารถทำการซื้อขายให้กับสถาบันการเงินและองค์กรภาคีเครือข่ายภาคเอกชนที่สนใจ ซึ่งถ้าคำนวณจากราคาซื้อขายเดิมที่ 260 บาท/ตัน จะคิดเป็นมูลค่ากว่า 22 ล้านบาท เป็นเงินรายได้กลับไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไปยังพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ผู้เป็นเจ้าของคาร์บอนเครดิต สำหรับใช้พัฒนาพื้นที่ต่อไป”

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า เป็นที่น่ายินดียิ่งที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อน SDGs อันเป็นจุดมุ่งหมายเดียวกันของประชาคมโลก ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะได้นำนโยบายมาผนึกกำลังร่วมกับภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน ตามปณิธานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

Leave a Reply