ผู้ว่าฯสุราษฎร์ธานี ถวายการต้อนรับ คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 เน้นย้ำพัฒนาสู่ “หมู่บ้านคุณธรรม”

วันที่ 19 ก.ย.66   ณ ที่พักสงฆ์บ้านคลองวัว  หมู่ที่ 4 ตำบลท่าเคย อำเภอท่าฉาง  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  นายวิชวุทย์  จินโต  ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี  พร้อมด้วยนายสุกิจ  มีพริ้ง  นายอำเภอท่าฉาง หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด อำเภอ ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น  และประชาชน  ร่วมถวายการต้อนรับ พระธรรมวชิรานุวัตร ประธานคณะกรรมการบริหารกลาง คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ หมู่บ้านรักษาศีล 5 ในโอกาสลงพื้นที่ตรวจติดตามผลการดำเนินงานโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์  โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5” จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยได้รับเมตตาจาก พระพรหมวชิรเมธาจารย์ เจ้าคณะภาค 16 เจ้าอาวาสวัดไตรธรรมารามพระอารามหลวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี พระครูปริยัติคุณาวุธ รองเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี เจ้าอาวาสวัดกลางใหม่ พระด้วยพระสังฆาธิการ พระเถระ ร่วมในการตรวจเยี่ยม

นายวิชวุทย์  จินโต  ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5” มาอย่างต่อเนื่อง  และส่งเสริมการบูรณาการกิจการงานคณะสงฆ์  และการพัฒนาหมู่บ้านตามโครงการหมู่บ้านยั่งยืน โดยส่วนราชการทุกภาคส่วนได้ร่วมกับคณะสงฆ์  ส่งเสริมให้ประชาชนได้มีความตระหนักในการคิดดี ปฏิบัติดี ด้วยการนำของผู้นำชุมชน  และการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน  น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  และหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา  โดยเฉพาะการยึดถือศีล 5 มาประพฤติปฏิบัติจนเป็นวิถี  อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข  สามารถช่วยกันแก้ปัญหาสังคมได้อย่างยั่งยืน เพื่อทำให้เป็นหมู่บ้านคุณธรรม อย่างยั่งยืน

ด้านนายกรรณรงค์  เนียมมีศรี  ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 4 บ้านคลองวัว  ในฐานะประธานคณะกรรมการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ระดับหมู่บ้าน  กล่าวว่า  บ้านคลองวัว ได้ดำเนินการโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ประจำปี พศ.2566  อย่างเป็นรูปธรรม  โดยมีการร่วมประชุมในหมู่บ้าน มีการแต่งตั้งคณะกรรมการรักษา ศีล 5 ระดับหมู่บ้าน  เพื่อร่วมคิดร่วมทำร่วมแก้ไขปัญหาในการจัดทำโครงการฯ  ให้สอดคล้องกับหลักศีล 5 ในทุกมิติ  บูรณาการกิจกรรมการดำเนินงานร่วมกับคณะสงฆ์ ภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน  ควบคู่กับการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  มีการประชุมคณะกรรมการหมู่บ้านและชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมความสามัคคีของหมู่บ้าน  แก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งของหมู่บ้าน  ตลอดจนการมีส่วนร่วมของหมู่บ้านในการส่งเสริมอนุรักษ์ประเพณีท้องถิ่นวิถีวัฒนธรรมชาวพุทธ  กำหนดกิจกรรมส่งเสริมศีล 5 เช่น  กำหนดเขตอภัยทาน การปล่อยปลา  ส่งเสริมความสุจริตโปร่งใส  ป้องกันความรุนแรงของครอบครัว ส่งเสริมความยุติธรรมของชุมชน  งดเหล้าเข้าพรรษา  วันพระงดเหล้า  เป็นต้น  ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้สอดคล้องกับศีลทั้ง 5 ข้อ นอกจากนี้หมู่บ้านยังแต่งตั้งคณะกรรมการ  เพื่อรับผิดชอบกิจกรรมศีลแต่ละข้ออย่างจริงจัง  และมุ่งให้เกิดประโยชน์ต่อหมู่บ้าน และก่อให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่

Leave a Reply