“เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการ Colors of Buriram และการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 18 มีนาคม 2567 เวลา 13.11 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทอดพระเนตรนิทรรศการ Colors of Buriram และการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมภูมิปัญญาชุมชนตะวันออกเฉียงเหนือ ตามโครงการพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงภูมิปัญญาชุมชนไทย ณ ที่ว่าการอำเภอนาโพธิ์ ตำบลนาโพธิ์ อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ พลตรี สันทัด จันทน์มาลา ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 26 พลตำรวจตรี รุทธพล เนาวรัตน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ นางสาวธนนนท์ นิรามิษ ภริยารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นางกุลทรัพย์ ชื่นโกสุม ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นางวาทิณี โฆษาศิวิไลซ์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมด้วยข้าราชการและประชาชน กว่า 5,000 คน เฝ้ารับเสด็จ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานอันมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมผ้าไทยและงานหัตถกรรมไทยให้เป็นเครื่องมือพัฒนาอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน โดยพระองค์พระราชทานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก และเสด็จไปพระราชทานแนวทางแก่สมาชิกกลุ่ม OTOP และศูนย์ศิลปาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งตรวจติดตามความก้าวหน้าของแต่ละกลุ่ม แต่ละจังหวัดเป็นรายภาค ซึ่งในวันนี้เป็นการเสด็จทรงงานเพื่อตรวจติดตามความก้าวหน้าการน้อมนำพระดำริสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ OTOP และสมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ 9 จังหวัดในกลุ่มจังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ยโสธร เลย ร้อยเอ็ด และจังหวัดอุดรธานี ก่อให้เกิดรายได้ที่ดีเพิ่มมากขึ้น อันส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน เมื่อเสด็จถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเข้าสู่บริเวณนิทรรศการและการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทอดพระเนตรนิทรรศการวงจรการเลี้ยงไหมจากชุมชนหัวสะพาน อำเภอพุทไธสง นิทรรศการผ้าทอลายพระราชทาน และลายอัตลักษณ์จังหวัดบุรีรัมย์ ภายใต้แนวคิด Colors of Buriram และนิทรรศการผ้าไทยและงานหัตถกรรมภูมิปัญญาชุมชนไทย จำนวน 30 นิทรรศการ ได้แก่ กลุ่มจักสานบ้านห้วยยาง จังหวัดขอนแก่น, กลุ่มทอผ้าบ้านหนองหญ้าปล้อง จังหวัดขอนแก่น, ร้านเมืองไหม จังหวัดขอนแก่น, กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย จังหวัดขอนแก่น, JUTATIP จังหวัดขอนแก่น, ห้องเสื้อดีเทล จังหวัดนครราชสีมา, ไหมทองสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา, คญาบาติก จังหวัดนครราชสีมา, กลุ่มทอผ้าไหมบ้านทุ่งสว่าง จังหวัดบุรีรัมย์, กลุ่มทอผ้าไหมบ้านตาลอง หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งวัง จังหวัดบุรีรัมย์, กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักตบนางอนงค์ สายกระสุน จังหวัดบุรีรัมย์, กลุ่มผาสาทแก้ว ผ้าทอลายโบราณ จังหวัดมหาสารคาม, กลุ่มทอผ้าบ้านบรบือ จังหวัดมหาสารคาม, กลุ่มทอผ้าฝ้ายมัดหมี่บ้านนาเฮือง จังหวัดยโสธร, กลุ่มพัฒนาอาชีพหัตถกรรมหวายและผ้าทอ จังหวัดเลย, กลุ่ม Mantra Crafts จังหวัดเลย, กลุ่มทอผ้าจันทร์โสมา จังหวัดสุรินทร์, บ้านไหมทองสะเร็น ศูนย์เรียนรู้วิถีชุมชนคนกับไหม จังหวัดสุรินทร์, วิสาหกิจชุมชนตลาดไหมใต้ถุนเรือน จังหวัดสุรินทร์, ร้านเรือนรักร้อย จังหวัดสุรินทร์, กลุ่มตินทอง ไหมไทย จังหวัดสุรินทร์, กลุ่มเย็บผ้าด้วยมือศูนย์การเรียนรู้ขวัญตา จังหวัดหนองบัวลำภู, ธ.มณโฑ จังหวัดอุดรธานี, กลุ่มเสงี่ยมจิตรไหมทอง จังหวัดอุดรธานี, แบรนด์ PHEN (นางพิชญากร เพ็ญพิชัยพงษ์) จังหวัดอุดรธานี, กลุ่มทอผ้าบ้านโนนกอก จังหวัดอุดรธานี, กลุ่มหัตถกรรมพื้นเมืองบ้านผาสิงห์ จังหวัดอุดรธานี และนิทรรศการสมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จากนั้น เสด็จไปประทับในห้องทรงงาน พระราชทานพระวโรกาสให้กลุ่มผู้เฝ้ารับเสด็จขอพระราชทานคำแนะนำ จำนวน 20 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม PIMNADA-พิมพ์นาดา จังหวัดขอนแก่น, กลุ่มทอผ้าไหมบ้านแฝกโนนสำราญ จังหวัดนครราชสีมา, กลุ่มหัตถกรรมผ้าไหมบ้านคู่ จังหวัดนครราชสีมา, กลุ่มสหกรณ์ผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านหัวสะพาน จังหวัดบุรีรัมย์, ร้านณัฏฐาผ้าไหม จังหวัดบุรีรัมย์, กลุ่มจักสาน ปู่สอนสาน จังหวัดบุรีรัมย์, กลุ่มทอผ้าไหมบ้านกำพี้ จังหวัดมหาสารคาม, กลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านโคกล่าม ม.10, จังหวัดมหาสารคาม, วิสาหกิจชุมชนทอผ้าจันทวาห้องแซง จังหวัดยโสธร, กลุ่มจันทร์ฉายผ้าไทย จังหวัดยโสธร, กลุ่มสตรีทอผ้าฝ้ายพื้นเมืองไทดำ (ฟื้นฟู) จังหวัดเลย, กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าไทเลย (PIMPILA) จังหวัดเลย, กลุ่มจักสานไทเลย จังหวัดเลย, ครุฑสุวรรณไหมไทย จังหวัดสุรินทร์, จันตะ ผ้าไหมทอมือ จังหวัดสุรินทร์, กลุ่มเรือนผ้าไหมคุณระพีพรรณ จังหวัดหนองบัวลำภู, กลุ่ม LOOMPHU จังหวัดหนองบัวลำภู, กลุ่มสองศรผ้าขิดไหม จังหวัดหนองบัวลำภู, กลุ่มเยาวชนทอผ้าบ้านหนองแก จังหวัดอุดรธานี, ทอผ้าชุมชนคุณธรรมวัดโนนสว่าง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งทุกกลุ่มได้ใช้สีและวัตถุดิบจากธรรมชาติตามแนวพระดำริแฟชั่นยั่งยืน (Sustainable Fashion) ที่พระราชทานแนวทางไว้ในการเสด็จเยี่ยมเยียนในปีที่ผ่านมา อันเป็นการลดปัญหาภาวะโลกร้อน โดยผลงานทุกชิ้นมีตราสัญลักษณ์ Sustainable Fashion ที่ทรงออกแบบและพระราชทานให้กระทรวงมหาดไทยเชิญไปมอบให้ทุกกลุ่มที่ดำเนินการพัฒนาผลงานตามพระดำริ นอกจากนี้ ยังทรงมุ่งเน้นในการนำแนวความคิด Zero Waste ซึ่งเป็นการส่งเสริมการหมุนเวียนทรัพยากรให้นำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นการลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นให้เหลือน้อยลง ทั้งการใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ทั้งนี้ ในระหว่างการทรงงาน ทรงพระกรุณาโปรดให้คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกในพระดำริ ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นดีไซเนอร์และผู้มีความรู้ความสามารถด้านการออกแบบ ตัดเย็บ ถักทอ และด้านสีธรรมชาติ เป็นวิทยากรให้ความรู้และคำแนะนำแก่กลุ่มทอผ้าและสมาชิกกลุ่มศิลปาชีพเพื่อเพิ่มมูลค่าของผืนผ้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยังผลทำให้มีรายได้ในการดูแลตนเองและสมาชิกในครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนอีกด้วย โดยภายหลังจากทรงมีพระวินิจฉัยและพระราชทานคำแนะนำเสร็จสิ้นแล้ว เสด็จไปทอดพระเนตรการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นจังหวัดบุรีรัมย์ ชุด “สี่เผ่าไทยบุรีรัมย์ น้อมจงรัก” เป็นการแสดงที่ถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมอารยธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ชาวบุรีรัมย์ ทั้ง 4 กลุ่ม คือ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยส่วย (ไทยกูย) กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมร กลุ่มชาติพันธุ์ไทยโคราช และกลุ่มชาติพันธุ์ไทยลาว ผสมผสานผ่านนาฏยลีลาการทำผ้าไหมที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการทอผ้าไหม ตั้งแต่ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ย้อมผ้ามัดหมี่ และทอผ้า จนครบกระบวนการ เพราะบุรีรัมย์เป็นเมืองแห่งผ้าไหมที่ได้ถูกสืบสาน รักษา ต่อยอด จากรุ่นสู่รุ่น โดยการแสดงได้นำเอากันตรึมพื้นบ้านมาผสมผสานท่วงท่าร่ายรำจังหวะสนุกสนาน ทำนองอีสานใต้ รังสรรค์ผ่านกลุ่ม LGBTQ เพื่อแสดงออกถึงความสามารถรอบด้านและความเท่าเทียมกันในสังคม เพื่อสร้างสังคมแห่งความสุขใต้ร่มพระบารมี แสดงโดยนักเรียนโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาบุรีรัมย์ จากนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ บ้านนาโพธิ์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (กลุ่มผ้าตุ้มทอง) ตำบลนาโพธิ์ อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ ทอดพระเนตรนิทรรศการความเป็นมาและผลิตภัณฑ์ผ้า ศูนย์ศิลปาชีพ ฯ พิเศษ (กลุ่มผ้าตุ้มทอง) พร้อมทั้งทอดพระเนตรผลงานเยาวชนโอทอป และกระบวนการย้อมสีธรรมชาติ การเขียนผ้าบาติกอีสาน โดยชื่อ “กลุ่มตุ้มทอง” มาจากชื่อ ตาตุ้มทอง ครูสอนทอผ้า ซึ่งผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเน้นผ้าทอมือ ได้แก่ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ผ้าถุง ผ้ามัดหมี่ลายสร้างสรรค์ ลักษณะของการทอผ้าสะท้อนให้เห็นถึงการทอผ้าในกลุ่มคนรุ่นเก่า คือ รุ่นแม่ และกลุ่มคนรุ่นใหม่ คือ รุ่นลูก อีกทั้งเส้นใยผ้าไหมนี้ยังเป็นไหมพื้นบ้าน สาวด้วยมือ ซึ่งยังใช้กระบวนการทำแบบดั้งเดิมผสมผสานกับการมัดลายแบบสมัยใหม่ที่เป็นลายไม่มีทิศทาง มีความใหญ่ของลาย แต่มีความลงตัวและสวยงาม กลายเป็น Signature ของกลุ่ม และลายสร้างสรรค์เน้นจำหน่ายให้ชาวต่างชาติ ทั้งนี้เพื่อเกิดความยั่งยืนกลุ่มผ้าตุ้มทองได้สร้างเยาวชนรุ่นใหม่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด ซึ่งได้ขึ้นทะเบียน Young OTOP จำนวน 2 กลุ่ม คือ 1) ฟืมไหมบ้านแม่ และ 2) กลุ่มทอตะวัน ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา สำหรับนิทรรศการ “Colors of Buriram” เป็นการนำเสนอบอกเล่าถึงผู้คนในดินแดนที่เปี่ยมไปด้วยสีสัน พลังชีวิต และความรี่นรมย์สมชื่อ บ้านเมืองที่ถูกก่อร่างด้วยเส้นสายแห่งความมุ่งมั่นและภาคภูมิ “บ่งบอกถึงพรสวรรค์ที่ไม่ละพรแสวง” ของเหล่าช่างฝีมือในภูมิภาคอันรุ่มรวยด้วยศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาแต่บรรพกาล ซึ่งผู้เข้าชมจะได้สัมผัสถึงห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ ฟังเสียงสะท้อนจากกาลเวลาที่ถ่ายทอดเรื่องราวอันทรงพลังของความมุ่งมั่น ฝีไม้ลายมือ และวิวัฒนาการอันงดงามของการสาวไหม ย้อมไหม และทอผ้าไหมที่ได้รับการสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นกว่าร้อยปี โดยช่างฝีมือชาวบุรีรัมย์ได้รังสรรค์ผืนผ้าไหมประหนึ่งเป็นผืนผ้าใบ ถักทอสอดประสานความสดใสเบิกบานของวัฒนธรรมอีสาน และบรรยากาศแห่งการสร้างสรรค์ในทุกอณู ซึ่งทุกเฉดสีของไหมล้วนสะท้อนแก่นแท้ของสีสันทิวทัศน์บุรีรัมย์ที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณอันแสนมีชีวิตชีวาของภูมิภาค ผสานความอ่อนโยนของดอกไม้พื้นถิ่น รายละเอียดของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ และความเชื่อที่หยั่งรากลึกของผู้คนในดินแดนที่ราบสูง โดยไฮไลต์ของงาน ได้แก่ ลายผ้าพระราชทานที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงนำพระปรีชาสามารถด้านการออกแบบมาพัฒนาต่อยอดด้านการทอผ้า, พื้นที่ทรงงาน และกิจกรรมที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น กิจกรรมสาธิต การเขียนผ้าบาติก, การเขียนทอง, การทอเสื่อกกยกขิด, มัดหมี่ลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์”, การปักผ้า (นกกระเรียน), การย้อมสีธรรมชาติ และงานผ้า Eco print เป็นต้น “พี่น้องประชาชนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่เรื่องราวอันทรงคุณค่าของผู้คนที่เป็นลมใต้ปีกของ “ผ้าไหมบุรีรัมย์” ซึ่งต่อลมหายใจให้ศิลปะ สิ่งทอ และสร้างความมั่นคงทางอาชีพแก่ชุมชน อีกทั้งเฉลิมฉลองความมุ่งมั่นแน่วแน่ของเหล่าแม่ ๆ พ่อ ๆ ช่างฝีมือบุรีรัมย์ ในการรักษาและเสริมสร้างมรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ ผ่านนิทรรศการ “Colors of Buriram” ชมฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ OTOP อุดหนุนสินค้าของดีขึ้นชื่อของชุมชนมากมายที่ได้รังสรรค์มาให้ได้ช้อปอย่างเพลิดเพลิน ตั้งแต่วันที่ 19 – 21 มีนาคม 2567 เวลา 10.00 – 18.00 น. ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์ หมายเลขโทรศัพท์ 0-4466-6512″ จำนวนผู้ชม : 662 Leave a ReplyFacebook Comments More Articles By the same author พระมหาสมปองปวารณาตนก่อนสึก ขอเป็นอุบาสก ยอยกพระพุทธศาสนาไปตลอดชีวิต อุทัย มณี ธ.ค. 28, 2021 วันที่ 28 ธันวาคม 2564 ตามที่พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต พระนักเทศน์คนดัง… วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์เปิดคลินิกรักษาพยาบาลฟรี ถวายสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง อุทัย มณี ส.ค. 12, 2019 เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2562 เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา… ศูนย์ไกล่เกลี่ยวัดใหม่(ยายแป้น)บางขุนนนท์ เปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยปมสร้างคอนโดติดสถานีรถไฟฟ้า อุทัย มณี ม.ค. 18, 2023 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 ที่ศาลาวัดใหม่ (ยายแป้น) บางขุนนนท์ บางกอกน้อย… “มูลนิธิหลวงพ่อรวย เจ้าคุณประสาร”มอบเครื่องอุปโภคบริโภคช่วยน้ำท่วมอยุธยา อุทัย มณี ต.ค. 07, 2021 วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม 2564 มูลนิธิหลวงพ่อรวย ปาสาทิโก โดยนายสมชาย… “เชื่อมจิต” คดีแรกที่รัฐเป็นเจ้าภาพ คุม ‘ฆราวาส’ สอนธรรมะ อุทัย มณี ก.ย. 01, 2024 วันที่ 1 กันยายน 2567 เรื่องราวเชื่อมจิตที่ผ่านการถกเถียงของผู้คนมาระยะหนึ่ง… อนาคตภายใต้ พ.ร.บ.พระปริยัติธรรม “มหาวิทยาลัยสงฆ์” ใหม่ เกิดแน่!!. อุทัย มณี ต.ค. 09, 2023 วันก่อนนั่งคุยกับ “นักวิชาการพุทธศาสนา” ท่านหนึ่งบอกว่า… มหาดไทยพบ 257,439 ครัวเรือนเดือดร้อนจากยาเสพติด จับมือ “คณะสงฆ์” สร้างชุมชนเข้มแข็งสู้ภัยยาเสพติด เปิดสายด่วนเลิกยาเสพติด” ผ่านศูนย์ดำรงธรรม 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง อุทัย มณี พ.ค. 24, 2022 วันที่ 24 พ.ค. 65 เวลา 13:30 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ อาคารดำรงราชานุสรณ์… ‘สยาดอภัททันตวิโรจนะ’เมียนมาร์๋เข้ากราบสักการะ สรีรสังขารสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ อุทัย มณี ก.ค. 06, 2019 'สยาดอภัททันตวิโรจนะ' แห่งสำนักงุยเตาอูกรรมฐานเมียนมาร์… โปรดเกล้า ฯ พระราชทานนาม ว่า “พระพุทธมงคลชินสีห์วชิรมุนี” อุทัย มณี เม.ย. 23, 2022 วันที่ 23 เมษายน 65 ตามที่ลิขิตอ้างถึง วัดสระเกศ ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยนามพระประธานประจำพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น… Related Articles From the same category พระพรหมบัณฑิตมอบผู้แทนร่วมประชุม จัดกิจกรรมแสดงพระธรรมเทศนาถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2565 วันพุธที่ 6 กรกฎาคม 2565 พระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. กรรมการมหาเถรสมาคม… สืบสานแนวพระดำริ “สมเด็จเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ฯ” ปลัดมหาดไทย – นายกแม่บ้านมหาดไทย เปิดการประกวด “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ระดับประเทศ รอบ Semi Final คัด 50 ผืนสุดท้ายสู่รอบตัดสิน วันที่ 19 ต.ค. 65เวลา 13.00 น. ที่ห้องชมวัง หอประชุมกองทัพเรือ ถ.อรุณอมรินทร์… “อธิการบดี มจร” ส่งสารออนไลน์ มุทิตาอายุวัฒนมงคล 70 ปี “พระอาจารย์ใหญ่สยาดอภัททันตะ วิโรจนะ” วันเสาร์ที่ 8 มกราคม 2565 พระธรรมวัชรบัณฑิต, ศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย… ภูมิปัญญาสร้างสรรค์จาก “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ประยุกต์สู่ “เซรามิก” ในแบบฉบับของคนนคร วันที่ 24 สิงหาคม 2564 นายจรัญ อินทสระ พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช… พระภิกษุสงฆ์พม่า-แม่ชีศาสนาคริสต์ “ร่วมช่วยเหลือชุมชนมุสลิม” หลังบ้านถูกเผากว่า 40 หลังคาเรือน วันนี้ (14เม.ย.64) กลุ่มพระภิกษุสงฆ์และแม่ชีในศาสนาคริสต์…
Leave a Reply