ยุคทอง “มจร”  มองโกเลียกระชับสัมพันธ์ร่วมลงนาม MOU หวังร่วมมือ ด้าน “การศึกษา -เผยแผ่ศาสนา”

วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2567 วานนี้ ณ ห้องประชุมอาคารพระราชรัตนโมลี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา พระพรหมวัชรธีราจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ Most Venerable Lovsandorj Tseetsee, The Recor of Buddhist University of Mongolia ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ หรือ MoU ระหว่าง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนามองโกเลีย โดยมี พระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ และ Venerable Jambal Byaruuzana, The Vice Rector of Buddhist University of Mongolia ลงนามเป็นสักขีพยาน

การนี้ มี H.E.Mr.A. Tumur Amarsanaa, Ambassador Extraordinary and Plenipotentiary of Mongolia in Thailand, Mr.K.Ashok Wangdi, The First Secretary Consular in Embassy of India, Bangkok, Most Venerable Shi Jianyun เจ้าอาวาสวัดจงไถซาน กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ มจร และ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนามองโกเลีย ได้แก่ Mr. Burenbayar Chanrav, Senior Manager, the Asian Buddhists Conference for Peace (ABCP) และ Mr. Tsedenjanchiv Shiirev chogdonLecturer of Buddhist Art at Buddhist University of Mongolia ให้เกียรติเป็นสักขีพยาน

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนามองโกเลีย ได้เจริญสัมพันธไมตรีต่อกัน โดยสืบเนื่องมาจาก คณะผู้บริหาร มจร ในอดีต ได้เดินทางเยือนมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนามองโกเลีย ต่อมา พระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มจร เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีตามคำอาราธนาของมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนามองโกเลีย ในเดือนกรกฎาคม 2567 จากนั้น มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาทั้ง 2 แห่ง ได้ติดต่อประสานงานและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด

เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ส่งเสริมการศึกษาและการวิจัย รวมทั้ง การแลกเปลี่ยนคณาจารย์และนิสิตของทั้ง 2 มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลดังกล่าว มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนามองโกเลีย จึงได้ลงนาม MOU.

สำหรับ “มจร” หรือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์สังกัดฝ่าย “มหานิกาย” ที่เคยได้รับการจัดอันดับจากองค์กรต่างประเทศให้อยู่ในอันดับที่ 29 จาก 123 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทย

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มี พระพรหมวชิราธิบดี ดำรงตำแหน่ง นายกสภามหาวิทยาลัย พระพรหมบัณฑิต ดำรงตำแหน่ง อุปนายกสภามหาวิทยาลัย และมี “พระพรหมวัชรธีราจารย์” ดำรงตำแหน่งอธิการบดี จัดการศึกษาแบ่งออกเป็น 5 คณะ ประกอบด้วย บัณฑิตวิทยาลัย คณะพุทธศาสตร์ ครุศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์

ปี พ.ศ. 2566 มี 11 วิทยาเขต 30 วิทยาลัย 1 โครงการขยายห้องเรียน และ 1 หน่วยวิทยบริการ นอกจากนี้ ยังมีสถาบันสมทบในต่างประเทศ 5 แห่ง มีจำนวนทั้งหมด 293 หลักสูตร โดยจำแนกเป็น ปริญญาตรี 170 หลักสูตร ประกาศนียบัตรบัณฑิต 2 หลักสูตร ปริญญาโท 78 หลักสูตร ปริญญาเอก 43 หลักสูตร
ปีการศึกษา 2567 นี้ มีนิสิตสำเร็จการศึกษารวมทั้งสิ้น 4,602 รูป/คน จำแนกเป็นปริญญาตรี 2,921 รูป/คน ปริญญาโท 1025 รูป/คน และปริญญาเอก 512 รูป /คน ประกาศนียบัตรอภิธรรม 144 รูป/คน ใน 4,602 รูป/คนนี้ แยกเป็นบรรพชิต 2,129 รูป และคฤหัสถ์ 2,473 คน ในขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทั้งภายในประเทศและนานาชาติมีจำนวน 91 ท่าน มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน 4 ท่าน และเข็มเกียรติคุณอีก 48 ท่าน รวมเป็น 143 รูป/คน

ในปี 2567 มีนิสิตนานาชาติจำนวน 2,333รูป/คน จาก 27 ประเทศ ประเทศที่มาเรียน “มจร” 4 อันดับเรียงจากมากไปหาน้อย คือ เมียนมา จำนวน 1,514 รูป/คน,ลาว 237 รูป/คน,เวียดนาม 167 รูป/คนและจีน มี 154 รูปคน

Leave a Reply