ย้อนรอย “แผ่นดินไหวเนปาล”ปี 58 ชื่อเสียงสงฆ์ไทย “ก้องโลก”

วันที่ 31 มีนาคม 2568  การเกิดแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมาและส่งผลกระทบถึงประเทศไทยเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 28 มีนาคม 2568 ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตพระภิกษุสามเณรที่กำลังสอบในเมืองมัณฑะเลย์นับร้อยรูป ประชาชน บ้านเรือน และโบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาพังทะลายลงอีกหลายแห่ง

สำหรับประเทศไทยเกิดมีอาคารที่กำลังก่อสร้างถล่มมีผู้เสียชีวิตหลายราย และที่พักอาศัยเสียหายอีกนับพันแห่ง ขณะที่โบราณสถานแม้จะยังไม่มีข้อมูลยังเป็นทางการ แต่ก็มีหลายแห่งเกิดเสียหาย เกิดรอยร้าว

ย้อนรอยการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศเนปาล ในวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2558 เวลา 11:56 น. ตามเวลาในประเทศเนปาล วัดขนาดได้ 7.8 ตามมาตราโมเมนต์ และวัดความรุนแรงได้ IX หรือระดับ 9 ตามมาตราเมร์กัลลี โดยมีจุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากเมืองลัมชุง ประเทศเนปาล ไปทางตะวันออก-ตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 34 กิโลเมตร และศูนย์เกิดแผ่นดินไหวอยู่ที่ระดับความลึกประมาณ 15 กิโลเมตร นับเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดของประเทศเนปาลนับแต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเนปาล–รัฐพิหาร พ.ศ. 2477 จนถึงวันที่ 27 เมษายน เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตตั้งชาวเนปาลและต่างชาติ ประมาณ 8,000 ราย

คณะสงฆ์ไทยได้มีบทบาทและมีชื่อเสียงเป็นที่ชื่นชมของประชาชนและนานาชาติเป็นอย่างมากตอนนั้น เมื่อ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มีบัญชาให้ พระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ และ พระเทพโพธิวิเทศ ปัจจุบันมีสมณศักดิ์ที่  ‘พระพรหมวชิรโพธิวงศ์’ หัวหน้าพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล ได้ดำเนินการช่วยเหลือ ผู้ประสพภัยแผ่นดินไหว ในเนปาล ซึ่งเป็นดินแดนที่พระพุทธเจ้าประสูติ

วัดสระเกศ นำโดย พระพรหมสิทธิ ได้จัดงานแถลงข่าว “HANDS4NEPAL” เพื่อเชิญชวนพี่น้องชาวไทยและองค์การต่างๆ ร่วมบริจาค อาหาร,เสื้อผ้า(ใหม่),ยารักษาโรค นมสำหรับเด็ก รวมทั้งสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีวิต พร้อมตั้งศูนย์ “ช่วยเหลือผู้ประสพภัยแผ่นดินไหวเนปาล ” มีการประชาสัมพันธ์ถ่ายทอดสดการระดมของบริจาค ระดมทุน และส่งสิ่งของบรรเทาความช่วยเหลือให้กับรัฐบาลเนปาล โดยมีภาครัฐ เอกชน และประชาชน ทั่วไปร่วมมือรณรงค์ ช่วยเหลือแสดงถึงน้ำใจประเทศไทย คนไทยที่มีต่อผู้ประสบภัยในประเทศเนปาล

พระพรหมสิทธิ เมื่อได้รับพระบัญชา จากสมเด็จพระสังฆราช ได้ดำเนินการ บริหารจัดการการช่วยเหลือผู้ประสบภัยชาวเนปาลเหตุแผ่นดินไหวของคณะสงฆ์ไทย  ได้แก่

1.ฝ่ายผู้บริหารระดับสูง ประชุม ปรึกษาวางแผน ประสานหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ ด้านการรับบริจาค ระดมทุนการประสานภาครัฐและเอกชนและชาวเนปาลอาสาด้านภาษาสื่อสาร

2.ระดับปฏิบัติการ ส่งหน่วยงานล่วงหน้าลงพื้นที่หาข้อมูลจริง ประสานหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ ผู้ดูแล พระสงฆ์เนปาลท้องถิ่น โดยเน้นจุดที่เดือดร้อน จำเป็นเป็นในเบื้องต้นเป็นอันดับแรก

3.ลงมือปฏิบัติการให้การช่วยเหลือ อย่างเป็นระบบมีขั้นตอน แนวทางการทำงานที่ชัดเจนเช่น การนำเงินบริจาคส่วนหนึ่งมอบให้ภาครัฐบาล การตั้งศูนย์ช่วยเหลือในนามพระธรรมทูตไทย การกำหนดตัวบุคคล หรือครัวเรือนที่เดือดร้อน สิ่งของที่จะมอบ ผู้จะไปทำหน้าที่ส่วนต่าง ๆ ต้องพร้อมเช่น ภาษา ความพร้อม ประสบการณ์ ในหน้าที่ ๆ จะไปปฏิบัตินั้น การจัดการส่งมอบ การช่วยเหลือโดยไม่ให้เกิดความวุ่นวาย ขาดระเบียบ อาจแย่งชิงเกิดขึ้นได้

4.หน่วยล่วงหน้ารายงานความคลื่นไหว สิ่งของช่วยเหลือที่จำเป็นจริง ๆ แจ้งผู้บริหารทราบ พร้อม สืบข้อมูลขยายผลพื้นที่ในวงกว้างและการเข้าสู่พื้นที่ ๆ ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ โดยประสานงานกับ จนท.ทางการในท้องถิ่นให้ชัดเจน

5.การประกาศแจ้งยอดรายรับ-จ่ายที่เกิดขึ้น การส่งมอบการช่วยเหลือทั้งหมดให้ประชาชนผู้บริจาคทราบโดยโปร่งใสและตรวจสอบได้

ขณะที่  พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาพระราชทาน 10 ล้านบาทแก่ผู้ประสบภัย  และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาพระราชทานสิ่งของจำนวน 5 ตัน ซึ่งได้แก่ เต็นท์, ผ้าห่ม, หมอนอิง, เตาแก๊ส และยารักษาโรค  นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยกองทัพ จัดส่งทีมแพทย์และชุดบรรเทาสาธารณภัยเฉพาะกิจ เข้าช่วยเหลือ

แม้กระทั้ง  สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ผู้นำศาสนาคริสต์  ได้นำศาสนิกชนสวดมนต์สำหรับการพักผ่อนแห่งดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิต และสำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุแผ่นดินไหว และ ท่านทรงมอบเงินบริจาค 100,000 ดอลลาร์สหรัฐในงวดแรก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

ข้อมูล.หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์,วิกิพิเดีย

Leave a Reply