ประชันว่าที่นายกรัฐมนตรี

โดย..บุญเลิศ ช้างใหญ่

วันที่ 4 – 8 กุมภาพันธ์นี้ เป็นวันเปิดสมัครรับเลือกตั้งส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 เขต ( 350 คน) และแบบบัญชีรายชื่อ 150 รายชื่อ รวมเป็นส.ส. 500 คน เพื่อที่จะให้ประชาชนไปลงคะแนนเสียงวันที่ 24 มีนาคม

การสมัครรับเลือกตั้งนั้น ทั้งผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องเตรียมการให้พร้อม โดยเฉพาะเอกสารหลักฐานต่างๆที่ผู้สมัครจะต้องไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่เลือกตั้งประจำเขต

เมื่อผู้สมัครมีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญและกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยารเลือกตั้งส.ส.กำหนด เบอร์ของผู้สมัครที่จะได้ในวันที่ไปสมัคร เป็นเรื่องสำคัญที่สุด

เพราะจะได้นำเบอร์ไปหาเสียงให้ประชาชนในเขตรับทราบ จดจำได้และไปกาบัตรในคูหาในวันเลือกตั้ง

สำหรับการสมัครแบบบัญชีรายชื่อ พรรคการเมืองจะจัดลำดับเรียงผู้สมัครไม่เกิน 150 คน ไปสมัครไม่เกินวันที่ 8 กุมภาพันธ์ซึ่งเป็นวันสุดท้าย

เช่นเดียวกับการส่งรายชื่อผู้จะเป็นนายกฯ พรรคการเมืองต้องมีมติเห็นชอบ ส่งได้ไม่เกินสามรายชื่อไปยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ก่อนปิดการรับสมัคร (ภายในวันที่ 8 กุมภาพันธ์)

จนถึงขณะนี้  มีพรรคการเมืองราว 10พรรคที่โดดเด่น มีความพร้อมสำหรับการสู้ศึกเลือกตั้ง โดยมีรายชื่อว่าที่นายกฯเป็นจุดขาย ประกอบด้วย

1.พรรคเพื่อไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธ์2.พรรคไทยรักษาชาติ นายจาตุรนต์ ฉายแสง3.พรรคเพื่อชาติ นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ 4. พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 5. พรรคเสรีรวมไทย พล.ต.เสรีพิสุทธิ์ เตมียเวช 6. พรรคอนาคตใหม่ นายธนกร จึงรุ่งเรืองกิจ 7.  พรรคภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล 8.  พรรคประชาชาติ นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา 9.  พรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และหรือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ระหว่างการรณรงค์หาเสียง แต่ละพรรคการเมืองจะนำเสนอความพร้อมของผู้จะเป็นนายกฯ โดยผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯของพรรคจะไปปรากฏตัวขึ้นเวทีปราศรัย พูดจาหาเสียง สัมผัสทักทายกับประชาชนตามสถานที่ต่างๆทั่วทั้งประเทศ

รวมทั้ง การดีเบต ประชันวิสัยทัศน์ว่าที่นายกฯ ที่องค์กร สถาบัน สื่อ และกกต.จัดขึ้น และการให้สัมภาษณ์ตอบคำถามสื่อเพื่อรายงานต่อสาธารณชน

ดังนั้น คนที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯของพรรคการเมือง       จึงต้องพร้อมทั้งความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์     ในการชี้แจงนโยบายในการแก้ไขปัญหาในทุกด้านของประเทศ  มีภาวะผู้นำ ฯลฯ

ไม่เพียงแต่ประชาชนคนไทยเท่านั้นที่จับจ้อง ติดตามข่าวสารของผู้ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯเกือบ 10 คน ก่อนตัดสินใจกาบัตร 1 คะแนนให้กับผู้สมัคร     พรรคใดในเขตเลือกตั้ง

ชาวต่างประเทศก็สนใจใครจะเป็นผู้นำประเทศไทยคนต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือจะเป็นคนอื่น

ผลการสำรวจความคิดเห็นของสำนักต่างๆที่มีเป็นระยะและสื่อสารมวลชนที่ทำหน้า ที่เสนอข่าว สารและการวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ตลอดเวลา    จะเป็นเครื่องชี้วัดว่าใครเหนือกว่าใครและใครมีแนวโน้มจะได้เป็นนายกฯด้วยปัจจัยและเงื่อนไขอะไร

นี่คือ ความวิเศษของกระบวนการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย   ที่มีประเทศเป็นเดิมพันและมีประชาชนเป็นกรรมการตัดสิน

 

 

 

 

Leave a Reply