“อธิการบดี มจร”แนะวิทยากรต้นแบบสันติภาพ ควรบริหารจิตให้มีวุฒิภาวะดุจ”ดิน น้ำ ลม ไฟ”

“อธิการบดี มจร” แนะวิทยากรต้นแบบสันติภาพมีวุฒิภาวะด้านอารมณ์ บริหารจิตให้หนักแน่นเหมือนมหานที เย็นดุึจมหานที กว้างเฉกเช่นนภา ยืดหยุ่นรองรับอารมณ์ ยึดวจีสุจริตสื่อสารเปลี่ยนทัศนคติและวิธีคิดสังคมให้เกิดสันติสุขได้

วันที่ 8 ตุลาคม 2562 พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. วิทยากรต้นแบบสันติภาพ หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 3-6 เดือนตุลาคม พ.ศ.2562 มีการจัดโครงการฝึกอบรมพัฒนาวิทยากรต้นแบบสันติภาพ หลักสูตร “วิทยากรต้นแบบสันติภาพ” รุ่นที่ 4 ที่ศูนย์ฝึกอบรมวิทยาลัยพทธศาสตร์นานาชาติ มจร เพื่อพัฒนาวิทยากรให้เกื้อกูลสังคมให้เกิดสันติสุข ด้วยการเรียนรู้เครื่องมือพุทธสันติวิธีในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยมุ่งพัฒนาวิทยากรให้เผยแผ่คำสอนด้วยหลักการอุดมการณ์วิธีการตามแนวทางของพระพุทธเจ้า เพราะจากการบูรณาการผ่านงานวิจัยระดับปริญญาเอก

พระปราโมทย์ กล่าวต่อว่า วันที่ 6 ตุลาคม 2562 พระราชปริยัติกวี,ศ.ดร. อธิการบดี มจร ได้เป็นประธานมอบวุฒิบัตรผู้สำเร็จการฝึกอบรมวิทยากรต้นแบบสันติภาพรุ่นที่ 4 จำนวน 22 คน ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้นตอบโจทย์บุคคลทุกช่วงวัย ที่ห้องประชุมวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร โดยมีพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส รศ.ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติและหลักสูตรสันติศึกษา มจร ในฐานะประธานโครงการฝึกอบรมวิทยากรต้นแบบสันติภาพกล่าวถวายรายงาน

“ในการนี้พระราชปริยัติกวีกล่าวตอนสำคัญว่า ขอชื่นชมยินดีกับวิทยากรต้นแบบสันติภาพรุ่นที่ 4 ทุกคน ซึ่งสังคมปัจจุบันมีความไม่ปกติสุขจากความขัดแย้งในมิติต่างๆ เราทุกรูป/คนจึงเป็นเหมือนแพทย์ที่รักษาโรคทางใจคนในสังคม ถือว่าเป็นผู้นำในการสร้างปรโตโฆสะที่เปลี่ยนทัศนคติและวิธีคิด เปลี่ยนกระบวนการทำงานของจิตให้มีความเป็นสัมมาทิฐิถือว่าเป็นความหวัง

วิทยากรต้นแบบสันติภาพจะต้องมีความพร้อมทางด้านจิตใจเป็นประการสำคัญที่สุด มีความเป็นผู้มีวุฒิภาวะทางด้านอารมณ์ มีสัมมาทิฐิ มีความสามารถบริหารจิตของตน ไม่ว่าจะถูกสภาพแวดล้อมบีบคั้นลักษณะใดก็ตาม ทั้งน่าพอใจและไม่น่าพอใจ ในรูปแบบของการสื่อสารต่างๆ เราต้องบริหารจิตให้มีความหนักแน่นเหมือนมหาปฐพี บริหารจิตให้เยือกเย็นเหมือนมหานที บริหารจิตให้มีความกว้างเหมือนท้องฟ้านภากาศ และบริหารจิตให้สามารถรองรับอารมณ์ทั้งส่วนที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจมีความยืดหยุ่น เข้ากับทุกสถานการณ์ วิทยากรต้นแบบสันติภาพต้องมีความตระหนัก

วิทยากรต้นแบบสันติภาพต้องยึดวจีสุจริตเป็นที่ตั้ง ในการสื่อสารเป็นความเข้มแข็งส่วนตน นอกจากนั้นต้องออกไปสร้างสัมมาทิฐิให้เพื่อนมนุษย์ ซึ่งฝนตกวันเดียวไม่สามารถทำให้ทุ่งหญ้าเขียวขจี แต่ขอให้เราสร้างบารมีเหมือนพระโพธิสัตว์ สิ่งสำคัญต้องสามารถควบคุมตนเองให้ได้ จึงต้องระวังโทสะความโกรธ เพราะสามวินาทีสามารถเปลี่ยนแปลงในทางที่ไม่ดี จึงต้องพัฒนาวุฒิภาวะทางอารมณ์ เราจึงต้องจุดเทียนเพื่อส่งต่อให้คนในสังคมเกิดสันติสุข” พระปราโมทย์ กล่าวและว่า

ทั้งนี้วิทยากรต้นแบบต้องยึดโอวาทปาติโมกข์เพราะถือว่าเป็นคุณสมบัติเป้าหมายหลักการพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าที่ได้วางรากฐานไว้เพื่องานพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เป้าหมายหรือกรอบในการเผยแผ่ธรรม พระธรรมทูตนักเผยแผ่พระพุทธศาสนาต้องยึดหลักการ 3 ประการ คือ (1) การไม่ทำบาปทั้งปวง การละความชั่วทั้งปวง (2) การทำความดีให้เพียบพร้อม การทำความดีให้สมบูรณ์ (3) การทำจิตของตนให้บริสุทธิ์ให้ผ่องแผ้วให้ผ่องใส ถือว่าเป็นหลักการของวิทยากรต้นแบบ โอวาทปาติโมกข์จึงเป็นเข็มทิศสู่เป้าหมายนโยบายการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าทรงประกาศไว้แก่พระสาวกออกไปประกาศพระพุทธศาสนาเป็นนโยบายที่มีประสิทธิภาพ เพราะมีหลักการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิทยากรต้นแบบธรรมะโอดีโดยพุทธสันติวิธีต้องยึดตามหลักการของพระพุทธเจ้าด้วยการไม่ทำชั่ว ทำความดี และทำจิตใจให้สงบด้วยปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน วิทยากรต้นแบบจึงต้องเริ่มต้นด้วยความสงบเพราะสุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี จึงสามารถบูรณาการรูปแบบการพัฒนาวิทยากรต้นแบบตามแนวทางพระพุทธศาสนา

วิทยากรต้นแบบต้องยึดอุดมการณ์การเผยแผ่ธรรมตามแนวทางของพระพุทธเจ้าอุดมการณ์พระพุทธเจ้าทรงเน้นย้ำมาก คือ หลักขันติธรรมทางพระพุทธศาสนา จึงทำให้พระพุทธเจ้ามีพระนามว่า“ขันติวาที” เป็นผู้สอนเรื่องความอดทนอดกลั้น ด้วยการไม่นิยมใช้ความรุนแรงเป็นลักษณะสำคัญของพระพุทธศาสนาในหลักของโอวาทปาติโมกข์ มีความอดทนอดกลั้นต่อกิเลสที่มากระตุ้นเร้าในรูปแบบต่างๆ วิทยากรต้นแบบต้องไม่ทำร้ายใคร ไม่เบียดเบียนใครไม่ว่าร้ายใคร ไม่ทำอันตรายใคร วิทยากรต้องรู้จักเอาชนะความรุนแรงด้วยสันติวิธีมีความอดทน มีขันติธรรมทางศาสนาด้วย“การอนุญาต (Permission) การอยู่ร่วม (Coexistence)การเคารพ (Respect) การยอมรับ(Appreciation/Acceptance)”

วิทยากรต้องมีอุดมการณ์ 2 ลักษณะ คือ 1)การเเลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Discovery of Others) ด้วยการเรียนรู้คนอื่นให้มาก เรียนรู้ศาสนาอื่น ทำความเข้าใจกัน เคารพในพหุวัฒนธรรม 2) แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง (Projects of Shared) ยิ่งต่างยิ่งต้องเคารพและเรียนรู้กัน ขันติธรรมจึงเป็นของสันติภาพและฐานของวิทยากรต้นแบบ

ดังนั้นอุดมการณ์ถือว่าเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของพระวิทยากรต้องยึดมั่นอยู่ในอุดมการณ์ 4 ประการคือ (1)มีขันติธรรม มีความอดทนต่อความลำบากความตรากตรำ มีความอดกลั้นต่อกิเลส เป็นคนใจเย็นสุขุมรอบคอบ เก็บอารมณ์ (2) ไม่นินทาใคร ถ้ามีความจำเป็นจะต้องพูดถึงความไม่ดีของคนอื่น ก็พูดเพื่อหาทางแก้ไข (3) เบียดเบียนใคร ไม่กระทบกระทั่งใคร (4) มีสมณสัญญา คือ ความสำนึกรู้สึกตัวอยู่เสมอว่า “เราเป็นสมณะ เป็นผู้สงบระงับ เราเป็นพระ เป็นผู้ประเสริฐ เราเป็นปูชนียบุคคลเป็นผู้ที่คฤหัสถ์เคารพนับถือบูชา”

วิทยากรต้นแบบต้องยึดวิธีการสื่อสารเผยแผ่พระพุทธศาสนาเพราะเป็นวิธีการในการสร้างสัมพันธ์กับสังคม พระวิทยากรต้องประพฤติปฏิบัติตนดำรงมั่นอยู่ใน วิธีการประกาศพระศาสนาของพุทธสาวก 6 ประการ คือ (1)ไม่ตำหนิ ไม่ติเตียนใคร (2)ไม่เบียดเบียนใคร (3) สำรวมระวังเคร่งครัดต่อพระวินัยระเบียบ (4) ไม่เห็นแก่ปากท้อง ไม่เป็นคนเห็นแก่กิน (5)ยินดีพอใจอยู่ ณ สถานที่สงบสงัด (6)มีความขยันหมั่นเพียรในการเจริญสมาธิภาวนา วิทยากรในทางพระพุทธศาสนาจึงหมายถึง ธรรมทูต หรือ สมณทูต โดยเป็นผู้นำสันติภาพไปสู่ชาวโลกด้วยการเผยแผ่คำสอนในทางพระพุทธศาสนา โดยมีวิธีการในการเผยแผ่ตามหลักโอวาทปาติโมกข์ที่พระพุทธองค์ทรงใช้เป็นแนวทางในการเผยแผ่สำหรับธรรมทูตหรือสมณทูต คือ“อนูปวาโท อนูปฆาโต ไม่ว่าร้ายใคร ไม่กระทบกระทั่งใคร วิทยากรต้องเป็นมิตรกับทุกฝ่าย มีความสำคัญมากเพราะเป็นงานการเผยแผ่เป็นงานที่มีอายุยืนยาวและอาวุโสมากที่สุด พระพุทธเจ้าทรงสถาปนาขึ้นด้วยพระองค์เองและปฏิบัติด้วยพระองค์เองเพียงพรรษาแรกทรงหมุนกงล้อแห่งธรรมจัดขบวนทัพขับเคลื่อนหมู่สงฆ์ทั่วชมพูทวีปโดยใช้หลักธรรมทูตเพื่อเกิดสันติสุขในสังคม วิธีการการเผยแผ่พระพุทธเจ้าจึงใช้วิธีการนุ่มนวล ให้โอกาสมนุษย์ทุกคนเข้าถึงคำสอนของพระองค์ พระองค์ทรงใช้วิธีการ “ธรรมะสะอาด ฉลาดประยุกต์”ตามบริบทนั้นๆ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม แต่สิ่งหนึ่งที่พระองค์ทรงเน้นมากคือ การไม่พูดร้าย การไม่ทำร้ายใครๆ พระพุทธเจ้าจึงใช้วิธีการนุ่มนวลเพื่อนำไปสู่สันติสุข

วิทยากรต้นแบบต้องมีความเป็นนักสื่อสารตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า และมีคุณสมบัติของความเป็นครูผู้สอนตามหลักกัลยาณมิตร ในทางพระพุทธศาสนาไม่ใช้คำว่าวิทยากร แต่ พระพุทธศาสนาใช้คำว่า “ธรรมทูต หมายถึง ผู้ส่งสาส์นแห่งธรรม ผู้สื่อสารแห่งธรรม หรือ สมณทูต หมายถึงผู้นำสันติภาพไปสู่ชาวโลก ธรรมะ” ธรรมทูตชุดแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าส่งพระพระอรหันตสาวก 60 รูป ไปประกาศพระพุทธศาสนา จึงทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง เพราะการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในฐานะวิทยากรหรือธรรมทูตชุดแรกของโลก จึงแสดงว่า“พระพุทธเจ้าในฐานะวิทยากรต้นแบบของโลก” วิทยากรจึงมีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่ธรรมอันตั้งอยู่รากฐานของความเมตตาความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ ทำให้พระวิทยากรต้นแบบมีหน้าที่เผยแผ่ธรรมต้องอาศัยเครื่องมือทางพระพุทธศาสนา วิทยากรในฐานะผู้ส่งสารต้องมีคุณสมบัติตามสัปปุริสธรรม วิทยากรสื่อสารธรรมจะต้องมีสัจจะ ตถตา กาละ ปิยะ อัตถะ วิทยากรใช้ช่องทางสื่อสารธรรมผ่านอายตนะภายนอกและภายใน วิทยากรต้องคำนึงถึงผู้ผู้สารตามบัว 4 เหล่า ระดับสติปัญญาของผู้รับสาร และวิทยากรต้นแบบจะต้องยึดหลักธรรมเทสกธรรม อันเป็นธรรมของนักเผยแผ่ วิทยากรใช้ภาษาที่เป็นวาจาสุภาษิต วิทยากรนักเผยแผ่ยังต้องยึดหลักในมงคลสูตรตามพระบาลีว่า “พาหุสจฺจญจ สิปฺปญฺจวินโย จ สุสิกฺขิโต สุภาสิตา จ ยา วาจา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ”

วิทยากรต้นแบบต้องพัฒนาตนจนเกิดสันติภายในก่อนจะออกไปทำงานรับใช้เพื่อนมนุษย์ เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาวิทยากร คือ “การสร้างวิทยากรต้นแบบสันติภาพ” วิทยากรที่ใช้เครื่องมือของพระพุทธเจ้าในการเผยแผ่ธรรมด้วยพุทธสันติวิธีในการจัดการความขัดแย้งในองค์กรสังคม ถือว่าเป็นเครื่องมือที่พระพุทธเจ้าใช้จนสำเร็จผล หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นพุทธสันติวิธี เช่น สาราณียธรรม อปริหานิยธรรม เป็นต้น รวมถึงวิทยากรต้องอาศัยเครื่องมือของสันติวิธีคือ การไกล่เกลี่ย การสานเสวนา การขอโทษอย่างจริงจัง สันติวิธีจึงเป็นหนทางหรือแนวทางที่จะกระทำสู่วิธีที่จะก่อให้เกิดความสงบ ส่วนพุทธสันติวิธีจึงเป็นการบูรณาการการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยเป็นแนวคิดระหว่างตะวันตกและพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข วิทยากรต้นแบบจึงต้องอาศัยเครื่องมือด้านสันติวิธีและพุทธสันติวิธีในการเสริมสร้างองค์กรและสังคมให้เกิดสันติสุข ผู้จะพัฒนาตนเป็นวิทยากรด้านสันติภาพจึงต้องสร้างจากสันติภายในเท่านั้นวิทยากรสันติภาพจึงควรตระหนักว่า “พระพุทธศาสนาไม่มีประวัติแห่งการบีบคั้น การจำกัด หรือขัดแย้งกับศาสนาอื่น” มีแต่มุ่งพัฒนาสันติภายในตน

ดังนั้น วิทยากรต้นแบบสันติภาพจึงเป็นทูต พระพุทธศาสนาไม่ใช้คำว่าวิทยากร แต่ใช้คำว่า “ธรรมทูต หมายถึง ผู้ส่งสาส์นแห่งธรรม ผู้สื่อสารแห่งธรรม หรือ สมณทูต หมายถึงผู้นำสันติภาพไปสู่ชาวโลก” ธรรมทูตชุดแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าส่งพระอรหันตสาวก 60 รูป ไปประกาศพระพุทธศาสนา จึงทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง เพราะการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในฐานะวิทยากรหรือธรรมทูตชุดแรกของโลก จึงแสดงว่า “พระพุทธเจ้าในฐานะวิทยากรต้นแบบสันติภาพของโลก”เราจึงเดินตามรอยของพระองค์

Leave a Reply