เสียงสะท้อนนิสิตต่างชาติมหาจุฬาฯ “มาตรการรับมือวิกฤติโควิด-19”

      ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

  มีนิสิตนานาชาติพักอาศัยอยู่ ณ หอพักนิสิตทั้งอาคารเก่าและอาคารใหม่ 4-5 อาคาร ทั้งนิสิตชาวไทยและนานาชาติประมาณ 400-500 รูป/คน

    เมื่อประมาณปลายเดือนที่แล้ว มีเหตุการณ์นิสิตชาวรัสเซียเดินทางกลับมาจากอินเดีย แล้วมีอาการไอ น้ำมูกไหล ก่อให้เกิดความวิตกกังวลทั้งเจ้าตัวและเพื่อนนิสิต

    โดยเฉพาะเพื่อนร่วมห้องนอนซึ่งเป็นชาวมาเลเซีย เกิดผวาตกใจ เนื่องด้วยความกลัวว่า เพื่อนชาวรัสเซียจะติดไวรัสโคโรนาหรือโควิด -19 จึงแจ้งผู้ดูแลหอพัก

    ผู้บริหารมหาจุฬา ฯ จึงต้องให้นิสิตชาวรัสเซีย พักกักตัวอยู่ที่อาคารโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยจำนวน 14 วัน มีการดูแลตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข มีเจ้าหน้าที่ตรวจวัดไข้ ส่งอาหารการฉันไม่ได้ออกมาพบผู้ใด  สุดท้ายหลักจากกักตัวครบ 14 วัน โชคดี ไม่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19

     ผมเดินทางไปหาข้อมูลเรื่องนี้จาก พระมหาราชัน จิตฺตปาโล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต ซึ่งกำกับดูแลหอพักและความเป็นอยู่ของนิสิตนานาชาติ พระคุณเจ้า เล่าว่า

ตอนนี้มหาวิทยาลัยมหาจุฬา ฯ ดูแลนิสิตนานาชาติด้วยความเข้มและรัดกุม มีกระบวนการคัดกรอง ก่อนขึ้นตึก มีเจลล้างมือ มีแจกหน้ากากอนามัย มีการวัดอุณภูมิ และมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายอาคารสถานที่ของมหาวิทยาลัยมาพ่นฉีดยาฆ่าเชื้อบ่อย ๆ

การดูแลภายในอาคารพัก เดิมเราให้พักห้องละ 3 รูปบ้าง 4 รูปบ้าง ตอนนี้ให้พักมากที่สุด 2 รูปหรือ 2 คนเท่านั้น และเป็นจังหวะดีคือช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอมมีนิสิตกลับภูมิลำเนา กลับประเทศต้นทางเยอะ ห้องจึงว่าง จึงจัดในลักษณะแบบนี้ได้ ห้ามคนนอกเข้าตึก แต่สำหรับนิสิตหากจะออกไปข้างนอกจะต้องขออนุญาตก่อน และออกจากตึกจะต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกรูปทุกคน ตอนนี้นิสิตตกค้างกลับประเทศไม่ได้  ในช่วงปิดเทอมนี้ประมาณ 400 กว่ารูป/คน

 “ มีญาติโยมนิสิตหลายประเทศนำอาหารแห้ง นำผัก เครื่องครัว ข้าวสารมาให้พระนิสิตทำอาหารฉันกันเอง โดยเฉพาะชาวเมียนมา ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้เราก็อนุโลมให้ตามความเหมาะสม..แต่ก็มีบางรูปตอนเช้าออกไปบิณฑบาต ซึ่งกลับมาเราก็มีการคัดกรองดูแลตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขทุกประการ สำหรับนิสิตรูปใดไม่บิณฑบาต เรามีก็โรงครัวกลางดูแลทั้งอาหารเช้าและเพล  

       หลังพูดคุยกับพระมหาราราชัน จิตฺตปาลโล ผมเดินไปสังเกตอาคารหอพักนิสิตนานาชาติหลังใหม่ ได้พบกับนักศึกษาต่างชาติซึ่งเป็นฆราวาสชื่อ Mr. Paramoi Mon เป็นนิสิตมอญจากประเทศเมียนมา กำลังศึกษาอยู่คณะมนุษยศาสตร์ปี 1  เรานั่งคุยกันถึงมาตการการดูแลหอพักและนิสิตนานาชาติของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย   ซึ่งปัจจุบันมีระบบการคัดกรองและป้องกันอย่างเข้มงวด

   ตอนนี้การเป็นอยู่บนหอพักของนิสิตนานาชาติ คิดว่าปลอดภัยดีหรือไม่

           รู้สึกปลอดภัยมากที่จะอยู่ในหอพักมหาวิทยาลัย  หอพักเขามีคณะกรรมการดูแลหอพัก ซึ่งได้กำหนดกฎเกณฑ์สำหรับให้นิสิตปฎิบัติตัว เช่น การสวมหน้ากากอนามัย เจลล้างมือและการอยู่ห่างจากกัน หอพักไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้ามาภายในหอพัก มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบไข้หรือวัดอุณภูมิที่ประตูทางเข้ามหาวิทยาลัย และหอพัก ในห้องนอนหนึ่งอนุญาตให้พักได้เพียง 2 คนเท่านั้น

การเรียนหนังสือ -การรับประทานอาหาร ตอนนี้มหาจุฬา ฯ ทำอย่างไร

          เราทำการสอบครั้งสุดท้ายทางออนไลน์สำหรับภาคการศึกษาที่สองและเสร็จสิ้นการสอบตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา นิสิตจากคณะอื่น ๆ ยังคงเรียนโดยใช้แอปพลิเคชันซูมทางออนไลน์

         พระต้องกินอาหารกลางวันด้วยบาตรหรือภาชนะของตัวเอง และพวกท่านทุกรูปจำเป็นต้องสวมหน้ากากและตรวจสอบอุณหภูมิเมื่อพวกท่านเข้าไปในโรงอาหารเพื่อรับประทานอาหารกลางวัน หากพระไม่สวมหน้ากากก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในห้องอาหารเพื่อรับประทานอาหารกลางวัน

เพื่อนนิสิต มีความรู้สึกอย่างไร เมื่อเจอกับกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดแบบนี้

        นิสิตทุกคนรู้สึกสบายที่จะอยู่ในหอพัก เพราะคิดว่าพวกเราทุกคนจะปลอดภัย ถ้าไม่ต้องออกไปข้างนอก  และหากอยู่ที่นี่ มั่นใจว่าจะไม่ได้รับเชื้อจากโควิด -19 แน่อน  ดังนั้นพวกรู้สึกเต็มใจและภูมิใจที่ได้พักอยู่ที่นี่ แต่บางครั้งมันค่อนข้างน่าเบื่อที่จะพักที่นี่และสถานการณ์แบบนี้ทุกคนก็เข้าใจได้..

มีอะไรอยากจะพูดกับญาติพี่น้องที่อยู่ในรัฐมอญ ประเทศเมียนมาบ้าง

          ที่รัฐมอญเอง เจ้าหน้าที่ของเราก็ทำงานยังแข็งขันต่อสู้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาหรือ Covid-19 และตอนนนี้ชายแดนระหว่างไทยกับพม่าก็ถูกปิดกั้นจนถึง 15 เมษายนนี้  ใครก็ตามหากข้ามไปยังพม่าก็ต้องถูกกักตัว 14 วันเช่นเดียวกับประเทศไทย ขอเป็นกำลังใจให้ชาวมอญ และเจ้าหน้าที่ในการหยุดไวรัสตัวนี้ พวกเราชาวมอญ จะต้องยอมรับที่จะปฏิบัติตามกฎเมื่อเรากลับบ้านตามประกาศของรัฐบาลเมียนมา

อยากฝากอะไรถึงผู้บริหารมหาจุฬา ฯ บ้างเกี่ยวกับการดูแลนิสิตนานาชาติ

          ขอบคุณผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่พยายามควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนาหรือ covid-19 และขอบคุณที่อนุญาตให้นักเรียนต่างชาติเข้ามาอยู่ในหอพักระหว่างการแพร่ระบาดของเชื้อโรคนี้..

         ณ อาคารหอฉันซึ่งมีนิสิตไปรวมฉันกันจำนวนมาก สอบถามนิสิตและหน้าหน้าที่ทราบว่า พระราชปริยัติกวี อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ท่านจะลงมาฉันร่วมกับคณาจารย์และนิสิตทุกวัน เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่และนิสิต

         จากการพูดคุยกับพระนิสิตนานาชาติชาวกัมพูชารูปหนึ่งชื่อ พระพิสิษฐ์ โบ (Ven.Piseth Bo)  กำลังศึกษาอยู่คณะพุทธศาสตร์ ปี 1 ท่านเล่าว่า ปัจจุบันหอพักนิสิตนานาชาติ ดูแลค่อนข้างเข้มงวด และรู้สึกว่าปลอดภัยดี การฉันอาหารทางมหาวิทยาลัยก็ดูแลเป็นอย่างดี

           “ อาตมาเป็นพระชาวกัมพูชารูปเดียวที่ค้างอยู่ที่มหาจุฬา ฯ เพราะเพื่อน ๆ กลับประเทศไปหมดแล้ว  หลังจากเพื่อนกลับประเทศไปแล้ว ที่ห้องพักอาตมาพักอยู่รูปเดียว ค่อนข้างปลอดภัย ไม่ต้องวิตกกังวลกับไวรัสที่จะติดจากใคร 

               ที่หอพักมีเจ้าหน้าที่มาพ่นยาฆ่าเชื้อหลายรอบ ห้องนอนมีการดูจัดระเบียบใหม่ ห้องหนึ่งนอนได้ไม่เกิน 2 รูป ระหว่างเตียงนอนจะมีเตียงกั้น ก่อนออกจากห้องต้องใส่หน้ากากทุกครั้ง เวลามายังหอฉัน ก็มีการลอดอุโมงค์ฆ่าเชื้อ มีเจลล้างมือ มีการวัดอุณภูมิไข้ และให้ฉันในบาตรหรือภาชนะที่เป็นของเราเอง เจ้าหน้าที่หอฉันให้นั่งห่างกัน 1 เมตรขึ้น

               พ่อกับแม่โทรมาถามเกือบทุกวัน เพราะเป็นห่วง แต่อาตมาก็ยืนยันว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์ที่นี้ดูแลดีมาก หลังวันที่ 30 เมษายนนี้ อาตมาได้รับแจ้งจากสถานทูตกัมพูชาว่าจะเปิดด่านพรมแดนให้ข้ามไปได้ หากเป็นจริง อาตมาก็จะกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ที่ประเทศกัมพูชา..”

          สุดท้าย ได้พูดคุยกับ พระภิกษุณีชื่อ ปุญญะวัตติ เป็นภิกษุญีชาวมาเลเซีย กำลังศึกษาอยู่ระดับปริญญาเอก ณ วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (IBSC) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ท่านพูดเหมือนกับนิสิตรูปอื่น ๆ คือขอบคุณและอนุโมทนาต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่ดูแลนิสิตนานาชาติได้เป็นอย่างดี ท่านเล่าว่า

          “อาจมีเพื่อนนิสิตบางรูปบ้าง ที่รู้สึกไม่สบายใจต่อมาตรการดูแลของมหาวิทยาลัยอย่างเข้มงวด บางรูปเดินลงจากตึกลืมใส่หน้ากากลงมา เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลก็ให้กลับไปที่ห้อง ต้องใส่ออกจากหอทุกครั้ง เป็นเรื่องยุ่งยาก บางคนต้องการไปซื้อของนอกมหาวิทยาลัย ก็ต้องขออนุญาตและกลับมาก็ต้องมีการคัดกรอง บางคนดูแล้วมันน่าเบื่อ หรือบางรูป เคยปฎิบัติกิจวัตรบิณฑบาตบางคนก็ต้องงดออกไป สิ่งเหล่านี้ทำให้นิสิตบางคนเบื่อหน่าย เพราะต้องเจอกับเรื่องยุ่งยาก..”

            ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่านี้ ทั่วโลกพยายามป้องกันและหาทางออกร่วมกันว่า จะหาทางออกอย่างไร เพื่อมิให้มนุษยชาติเสียชีวิตมากไปกว่านี้

             มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในฐานะเป็นสถาบันการศึกษาด้านพระพุทธศาสนา มีนิสิตนักศึกษาจากทั่วโลกมาเรียนและพักอาศัยอยู่มากกว่า 30 ประเทศ  การสร้างความมั่นใจและความอุ่นใจให้กับนิสิตและประเทศต้นทาง เป็นสิ่งที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยควรต้องใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง

******************************

Leave a Reply