วิทยาลัยเทคโนฯธนบุรีฯ จับมือวัด-ชุมชน เดินหน้า “โรงเรียนวิถีพุทธ” ปลูกธรรมะนำใจวัยรุ่น

สกู๊ปข่าวโดย…   น.ส. ธนัญญา พิพิธวณิชการ

การสอบธรรมศึกษา ตรี โท เอก สนามสอบ วิทยาลัยเทคโนโลยีธนบุรีบริหารธุรกิจ สำนักเรียน คณะเขตบางบอนเพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อ วันที่ 29  พ.ย.2561   เมื่อพูดถึงการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาความหลงผิดหลงหลงพลาดของเยาวชนวัยรุ่นซึ่งเป็นอนาคตที่สำคัญของชาติหลายคนอาจรู้สึกว่าถือเป็นภาระความรับผิดชอบของแต่ละครอบครัว ที่จะต้องอบรมสั่งสอนคุณธรรมให้กับบุตรหลานในขณะที่หลายคนเชื่อว่า การสั่งสอนนั้นเป็นหน้าที่ของครูบาอาจารย์ที่โรงเรียน และคงมีคนจำนวนไม่น้อยที่หวังพึ่งศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธศาสนา ให้เป็นเครื่องนำทางจิตใจไม่ให้ลูกหลานหลงผิดในช่วงเวลาที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต หากแต่แท้จริงแล้ว ย่อมจะดีกว่าไม่ใช่หรือ หากบ้าน-วัด-โรงเรียน ผนึกพลัง “บ-ว-ร” อย่างเข้มแข็ง โดยไม่มีการผลักภาระให้ส่วนส่วนหนึ่ง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ จึงจะเห็นได้ว่า หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะนำแนวคิดการขับเคลื่อนพลังบวรมาปรับใช้ ซึ่งพบว่า ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง

วิทยาลัยเทคโนโลยีธนบุรีบริหารธุรกิจ นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของโรงเรียนอาชีวศึกษาขนาดเล็กในย่านบางบอน ที่ได้นำหลักการขับเคลื่อนพลังบวรมาช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้กับนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน ภายใต้แนวคิด “โรงเรียนวิถีพุทธ” ปลูกฝังหลักธรรมะนำใจ เพื่อป้องกันและลดปัญหาต่างๆในหมู่เยาวชน โดย นายกิตติพงษ์ เอื้อพิพัฒนากูล รักษาการผู้อำนวยการ วิทยาลัยเทคโนโลยีธนบุรีบริหารธุรกิจ เปิดเผยว่า โรงเรียนคือต้นทางของการสร้างทรัพยากรที่มีคุณภาพให้กับประเทศชาติ โดยเฉพาะโรงเรียนอาชีวศึกษาที่เป็นต้นทางของการผลิตคนป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน แต่ในปัจจุบันต้องยอมรับว่า ภาพลักษณ์ของโรงเรียนอาชีวศึกษาอาจไม่ค่อยดีเท่าที่ควร ดังที่ปรากฏเป็นข่าวบ่อยครั้ง ทั้งการยกพวกตีกัน มั่วสุม หรือก่อปัญหาให้กับสังคมในรูปแบบต่างๆ ประกอบกับวัยรุ่นคือวัยหักศอกของช่วงชีวิต ควบคุมหรือสั่งให้ปฏิบัติตามได้ยาก ดังนั้น นายกิตติพงษ์จึงมองว่า มาตรการที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ดีที่สุดก็คือการให้ธรรมะศึกษาเป็นกระบวนการหล่อหลอมนักเรียนได้พัฒนาจิตใจอารมณ์และเจริญสติปัญญาตามแนวทางพระพุทธศาสนา

นายกิตติพงษ์  เล่าว่า ” เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ของวิทยาลัยฯ เป็นเด็กในชุมชน และอยู่อาศัยในละแวกใกล้เคียง ขณะที่วัดโพธิ์พุดตาล โดชพระเดชพระคุณ พระมหาประกิต ฐิตสีโล เจ้าอาวาสวัดโพธิ์พุดตาล เจ้าคณะเขตบางบอน มีบทบาทในการพัฒนาท้องถิ่นและได้สนับสนุนชุมชนทุกๆด้านมาโดยตลอด บ้านวัดและโรงเรียนจึงมีความผูกพันกันอย่างใกล้ชิด ได้ดำเนินการทำกิจกรรมร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในหลักสูตรธรรมศึกษาของวิทยาลัยฯ จะมีพระอาจารย์ที่ได้เมตตาสลับกันมาทำหน้าที่ผู้สอนธรรมะให้แก่นักเรียน และมาเทศนาธรรมที่วิทยาลัยฯเป็นประจำ มีการร่วมกันปฏิบัติศาสนกิจเนื่องในทุกๆวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา รวมไปถึงล่าสุด ได้มีการจัดสอบธรรมศึกษา ชั้นตรีโท เอก ของนักเรียนในเขตพื้นที่บางบอน ที่สนามสอบวิทยาลัยเทคโนโลยีธนบุรีบริหารธุรกิจ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา อันเป็นกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้พระพุทธศาสนาของเยาวชนอีกด้วย..”

     .. แม้เทคโนโลยีจะพัฒนาไปกี่ยุคกี่สมัยก็ตาม แต่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนายังคงเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่า เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ พร้อมประคับประคองกายวาจาใจให้มีศีลธรรมได้อยู่เสมอ ผมจึงถือเป็นความท้าทายและเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ที่จะต้องให้เด็กยุคใหม่ได้เรียนพระพุทธศาสนา เพื่อที่พวกเขาจะได้เติบโตขึ้นมาเป็นคนเก่งและคนดี ทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ สมดังเจตนารมณ์ของคุณพ่อคุณปู่ผู้ล่วงลับของผม ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยฯแห่งนี้ขึ้นมา นั่นคือที่มาของวิทยาลัยฯ ที่ได้จัดหลักสูตรธรรมศึกษาครับ”    นายกิตติพงษ์ เล่าเพิ่มเติมต่อว่า

 …นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายหลายกิจกรรมที่ทางวิทยาลัยฯได้ส่งเสริมสนับสนุนผลักดันในการเข้าร่วมสนับสนุนกับทางวัด เช่นงานจิตอาสา โดยเข้าร่วมกิจกรรมเดินวิ่งการกุศลรายการก้าวเพื่อธรรม ปี 2560 ของมูลนิธิสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร ที่ทางวิทยาลัยฯ ได้ส่งนักเรียนนักศึกษาไปร่วมงาน เพื่อปลูกฝังให้รู้จักการเสียสละและทำความดีเพื่อสาธารณะโดยไม่หวังผลตอบแทน เพื่อให้ได้รับประสบการณ์พัฒนาการเป็นรากฐานของการพัฒนาตนเองเพื่อเป็นบุคลากรที่ดีของประเทศชาติสืบไป ภายใต้การบริหารงานของคนรุ่นใหม่ ซึ่งมองมุมกลับว่า หากเทคโนโลยีเติบโตไปอย่างก้าวกระโดด แต่คนกลับเดินถอยหลังทางจริยธรรมคุณธรรม ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ?? ทั้งหมดนี้ คงให้เหตุผลได้อย่างดีว่า ทำไมโรงเรียนอาชีวศึกษาต้องให้เด็กได้เรียนธรรมศึกษา ทำไมต้องเปิดวิชาธรรมศึกษาและบรรจุเข้าไปในการเรียนการสอนปีการศึกษา 2561..”

นับว่าวิทยาลัยเทคโนโลยีธนบุรีบริหารธุรกิจเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสถานศึกษาอื่น ๆ ในการนำหลักธรรมะและแบบอย่างโรงเรียนวิถีพุทธไปใช้ร่วมกับชุมชนโดยใช้พลัง “บวร” คือ บ้าน วัด และโรงเรียนในการสร้างความสุขให้กับชุมชน

 

Leave a Reply